ย่อคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงาน ปี พ.ศ. ๒๕๕๙
ศ. เกษมสันต์ วิลาวรรณ
_________________________
ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องให้นายจ้างชำระเงินสมทบและเงินสะสมกองทุนประกันและออมทรัพย์ พร้อมดอกเบี้ยในขณะเดียวกันนายจ้างก็ต้องใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่ลูกจ้าง วัตถุแห่งหนี้จึงเป็นเงินที่จะต้องชำระซึ่งกันและกัน ย่อมหักกลบลบหนี้กันได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๒๙/๒๕๕๙ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินสมทบและเงินสะสมกองทุนประกันและออมทรัพย์ ๕๓๑,๘๖๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ในขณะเดียวกันโจทก์ก็ต้องใช้ค่าเสียหาย ๑,๔๗๓,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยตามที่จำเลยขอ วัตถุแห่งหนี้จึงเป็นเงินที่จะต้องชำระซึ่งกันและกัน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้หักกลบลบหนี้กันได้เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี
นิติทัศน์
การหักกลบลบหนี้ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะกระทำได้เมื่อนายจ้างและลูกจ้างต่างมีมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน หนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระ และนายจ้างหรือลูกจ้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แสดงเจตนาที่จะหักกลบลบหนี้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๑. ๓๔๒)
สิทธิเรียกร้อง (หนี้)ใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ นายจ้างหรือลูกจ้างไม่อาจเอามาหักกลบลบหนี้ได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๔)
นายจ้างไม่อาจเอาหนี้ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่ต้องชำระแก่ลูกจ้าง มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ลูกจ้างต้องชำระให้แก่นายจ้างได้ เว้นแต่เป็นการหักตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๖
นายจ้างซึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนไม่อาจเอาหนี้เงินทดแทนมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ลูกจ้างต้องชำระให้แก่นายจ้างได้ (พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๓ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๖)
ในคดีนี้ หนี้ที่ลูกจ้าง (โจทก์)ต้องชำระแก่นายจ้าง (จำเลย) คือค่าเสียหายซึ่งเป็นหนี้ที่นายจ้างฟ้องแย้งเรียกเอาจากลูกจ้างและศาลพิพากษาให้ลูกจ้างชำระแก่นายจ้าง ส่วนหนี้ที่นายจ้าง (จำเลย) ต้องชำระแก่ลูกจ้าง (โจทก์) คือเงินสมทบและเงินสะสมกองทุนประกันและออมทรัพย์ซึ่งเป็นหนี้ที่ลูกจ้างฟ้องเรียกเอาจากนายจ้างและศาลพิพากษาให้นายจ้างชำระแก่ลูกจ้าง หนี้ที่นายจ้างและลูกจ้างต่างต้องชำระแก่กันดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายใดห้ามเอามาหักกลบลบหนี้กัน ดังนั้น หากนายจ้างหรือลูกจ้างได้แสดงเจตนาเอามาหักกลบลบหนี้กันก็กระทำได้โดยชอบ แต่นายจ้างหรือลูกจ้างก็ยังไม่ได้แสดงเจตนาเอามาหักกลบลบหนี้กัน เมื่อหนี้ที่ต่างฝ่ายต่างต้องชำระแก่กันเป็นหนี้ตามคำพิพากษาอันอาจมีการบังคับคดีแก่กันต่อไป ศาลจึงใช้อำนาจกำหนดในคำพิพากษาให้หักกลบลบหนี้กันได้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
-----------------------------------------------------------------------------
นายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๘๒/๒๕๕๙ การที่บุคคลใดถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต้องเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น โจทก์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้หนี้สินรุงรังตามความหมายของระเบียบของนายจ้าง ประกอบกับโจทก์ทำหน้าที่ตัวแทนประกันชีวิตซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่จะเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยรู้ว่าโจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็จะส่งผลให้บุคคลดังกล่าวไม่เชื่อถือในการประกอบธุรกิจของจำเลยไปด้วย จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
-----------------------------------------------------------------------------
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าลูกจ้างมีเจตนาลักทรัพย์ของนายจ้างหรือทุจริตต่อหน้าที่ แต่เมื่อพฤติการณ์ของลูกจ้างเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีสาเหตุมาจากนายจ้างไม่ไว้วางใจลูกจ้าง ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๗๓ – ๙๗๔/๒๕๕๙ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าลูกจ้างมีเจตนาลักทรัพย์ของนายจ้างหรือทุจริตต่อหน้าที่ แต่เมื่อลูกจ้างยอมรับว่าได้ขนของซึ่งเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ล้อเครื่องบินและเบรคที่ชำรุดไม่ได้ใช้งานแล้วออกไปนอกบริษัทนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นชิ้นส่วนที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว นายจ้างจึงเลิกจ้างเนื่องจากสาเหตุดังกล่าว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าลูกจ้างมีเจตนาลักทรัพย์ของนายจ้างหรือทุจริตต่อหน้าที่ แต่ก็ถือว่าลูกจ้างทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จึงเป็นการเลิกจ้างมีสาเหตุมาจากนายจ้างไม่ไว้วางใจลูกจ้างที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
-----------------------------------------------------------------------------
การที่ลูกจ้างได้รับเงินจากการขายเศษวัสดุและหนังสือและเงินที่เหลือจากการขาย แล้วไม่นำเข้าบัญชีของนายจ้าง ถือได้ว่า เป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างจึงเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๐/๒๕๕๙ โจทก์เป็นผู้รักษาการแทนหัวหน้าสำนักงานจัดประโยชน์ จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินที่ได้จากการขายเศษวัสดุและหนังสือเข้าบัญชีของจำเลย (วัด) การที่โจทก์ได้รับเงินจากการขายเศษวัสดุและหนังสือและเงินที่เหลือจากการขายและโจทก์ยังไม่ได้คืนให้แก่จำเลยโดยการนำเข้าบัญชีของจำเลย ตามหลักการที่จำเลยกำหนดไว้ ถือได้ว่าเป็นการประพฤติไม่ซื่อตรงและไม่ตรงไปตรงมาต่อจำเลย เป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าวถือได้ว่ามีเหตุสมควรเพียงพอ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
-----------------------------------------------------------------------------
เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเรื่องการนับอายุของบุคคลไว้โดยเฉพาะแล้วจึงต้องใช้บังคับตามกฎหมายดังกล่าว โดยต้องนับอายุโจทก์ตั้งแต่วันเกิดคือวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๓ เป็น ๑ วันเต็ม โจทก์จึงมีอายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓
พระราชบัญญัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙, ๑๓ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖, ๑๙๓/๑๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๔๕/๒๕๕๙ จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ จำเลยต้องกำหนดสภาพการจ้างไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ส่วนวิธีการคำนวณนับอายุบุคคลสำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจว่ามีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์แล้วเกษียณอายุเมื่อใดนั้น กฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะประกอบการเกษียณอายุของพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๓ ซึ่งจำเลยนำไปออกเป็นข้อบังคับกำหนดว่า “พนักงานคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้ออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” แต่เมื่อวิธีนับอายุของบุคคลว่าจะครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์เมื่อใดนั้น จำเลยไม่มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นประการอื่น เดิมมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๐๙ กำหนดวิธีนับอายุของบุคคลว่าไม่ให้นับวันแรกที่เป็นวันเกิดรวมเข้าด้วย และจำเลยปฏิบัติตามก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บังคับใช้ในขณะนั้น ซึ่งไม่ได้บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องนับอายุตามเกณฑ์ในมาตรา ๑๕๘ และต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๕ โดยมาตรา ๑๖ บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะว่า “การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด” คือต้องนับวันเกิดเป็น ๑ วันเต็ม มติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือที่ นร ๐๒๐๙/ว ๔๒ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๘ ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๐๙ แล้วกำหนดให้ถือปฏิบัติการนับอายุของบุคคลและการพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบำนาญข้าราชการตามหนังสือที่ กค ๐๕๑๓/ว ๕๘ ลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๓๗ คือการนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖ ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีการนับอายุบุคคลเกิดขึ้นสืบเนื่องจากบทกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นซึ่งนำมาใช้ในการวินิจฉัยตีความคุณสมบัติและการพ้นจากพนักงานของจำเลยรวมทั้งโจทก์ด้วย ดังนี้วิธีการนับอายุของบุคคลที่เปลี่ยนไปโดยผลของกฎหมายซึ่งแม้จะมีผลกระทบต่อระยะเวลาการพ้นจากตำแหน่งและออกจากงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖ บัญญัติเรื่องการนับอายุของบุคคลไว้โดยเฉพาะแล้วจึงต้องใช้บังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว โดยต้องนับอายุโจทก์ตั้งแต่วันเกิดคือวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๓ เป็น ๑ วันเต็ม โจทก์จึงมีอายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๕ อันมีผลให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ คำสั่งของจำเลยให้โจทก์ออกจากงานในวันดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับแล้ว กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
-----------------------------------------------------------------------------
ตามคำให้การจำเลยเป็นการยกข้อต่อสู้เพื่อให้ศาลแรงงานวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยกับโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้างในขณะที่มีการยกเลิกสัญญาจ้าง หาใช่อ้างเหตุเกี่ยวกับเรื่องอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานโดยตรงไม่ กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘, ๙
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๔/๒๕๕๙ คดีนี้เมื่อพิเคราะห์จากคำฟ้องและคำให้การซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ตกลงจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเข้าปฏิบัติงานกับจำเลยโดยมีหนังสือสัญญาจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อจำเลยได้ยกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ จึงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยอ้างว่าสัญญาจ้างดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด โจทก์จึงไม่สามารถที่จะฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานได้นั้น ตามคำให้การจำเลยเป็นการยกข้อต่อสู้เพื่อให้ศาลแรงงานวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยกับโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ระหว่างกันในสถานภาพการเป็นนายจ้างลูกจ้างในขณะที่มีการยกเลิกสัญญาจ้าง หาใช่อ้างเหตุเกี่ยวกับเรื่องอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานโดยตรงตามเหตุที่อ้างระบุไว้ในมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ที่จะต้องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยตามมาตรา ๙ วรรคสอง โจทก์มีอำนาจฟ้อง
-----------------------------------------------------------------------------
เมื่อการกระทำของลูกจ้างเป็นการทำตามที่นายจ้างกำหนดไว้เอง จึงมิใช่การฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างในกรณีร้ายแรงลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่มีอำนาจฟ้องให้นายจ้างจ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ตนได้
พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๗/๒๕๕๙ การที่โจทก์แนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาให้ส่งเสริมการขายสินค้าของจำเลยด้วยวิธีการของจำเลย จึงเป็นการทำตามที่จำเลยกำหนดไว้เอง ทั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าโฆษณาสินค้าของจำเลย จำเลยก็กำหนดขึ้นมาเอง ส่วนที่สินค้าของจำเลยล้นตลาด ก็มิใช่สาเหตุจากการเสนอขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าราคาทางการตลาดที่จำเลยกำหนดไว้เพียงประการเดียว แต่อาจมีสาเหตุอื่นอีกหลายประการ การกระทำของโจทก์จึงมิใช่การฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายจ้าง ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๓ กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ นายจ้างจึงไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้นายจ้างจ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ได้
-----------------------------------------------------------------------------
เมื่อศาลล้มละลายมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว หนี้ของโจทก์ที่ยังไม่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้ในคดีดังกล่าวย่อมกลับสภาพเป็นหนี้ที่สมบูรณ์อันทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยได้
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๙/๒๕๕๙ แม้โจทก์มิได้นำหนี้ตามคำพิพากษาไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๑ ก็ตาม แต่เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว หนี้ของโจทก์ดังกล่าวย่อมกลับสภาพเป็นหนี้ที่สมบูรณ์อันทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยได้
-----------------------------------------------------------------------------
เมื่อโจทก์กระทำอนาจารต่อเพื่อนร่วมงานก็เพื่อจะมีเพศสัมพันธ์ แต่เพื่อนร่วมงาน ไม่ยินยอม โจทก์จึงลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงานจนได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นกรณีร้ายแรง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๑๑/๒๕๕๙ แม้ขณะเกิดเหตุที่โจทก์กระทำอนาจารและทำร้ายร่างกายนางสาว ว. จะเกิดนอกบริษัทจำเลยและนอกเวลาทำงานของจำเลย แต่โจทก์และนางสาว ว. ต่างก็เป็นพนักงานของจำเลย ซึ่งจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดว่า พนักงานต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีระหว่างพนักงานทั้งในและนอกเวลาทำงาน... ไม่ใช้กำลังทำร้ายร่างกายทั้งในบริเวณที่ทำการของบริษัทหรือนอกที่ทำการของบริษัท... ต้องไม่ประพฤติชั่วไม่ว่าในหรือนอกเวลาทำงาน... ต้องไม่กระทำผิดกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา... อันเป็นข้อกำหนดเพื่อประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน จึงใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์กระทำอนาจารต่อนางสาว ว. ก็เพื่อจะมีเพศสัมพันธ์ แต่นางสาว ว. ไม่ยินยอม โจทก์จึงลงมือทำร้ายร่างกายนางสาว ว. จนได้รับอันตรายแก่กาย เช่น ศีรษะบวมฟกช้ำบริเวณใบหน้า และบาดแผลแตกในปาก ฟันโยก ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลให้แก่ทันตแพทย์ไป ๗,๐๐๐ บาท การกระทำของโจทก์จึงเป็นกรณีร้ายแรง
-----------------------------------------------------------------------------
เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักจัดหางานและขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละสามสิบของค่าจ้างรายวันไม่เกินเก้าสิบวัน
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๘
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน
พ.ศ. ๒๕๕๗
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๑๔/๒๕๕๙ ทั้งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๕๗ หาได้มีบทบัญญัติตัดสิทธิหรือกำหนดให้งดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงานให้ไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานสำหรับวันที่แปดนับแต่วันที่ว่างงานไปจนถึงวันก่อนวันขึ้นทะเบียนแล้วได้รับประโยชน์ทดแทนเฉพาะเพียงส่วนที่เหลือนับแต่วันขึ้นทะเบียนถึงวันที่เก้าสิบนับแต่วันที่แปดที่ว่างงานแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักจัดหางานและขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละสามสิบของค่าจ้างรายวันไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑(๒) และข้อ ๒
-----------------------------------------------------------------------------
นายจ้างไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันเป็นความผิดร้ายแรงเพื่อจะไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๑๕/๒๕๕๙ เมื่อจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ จำเลยไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอันเป็นความผิดร้ายแรงเพื่อจะไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดเหตุยกเว้นที่จะทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง
-----------------------------------------------------------------------------
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันมิใช่การหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกัน เป็นการประกอบกิจการที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘
กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๕๗-๑๕๕๘/๒๕๕๙ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ได้จัดตั้งโดยมีที่มาจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันมิใช่การหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกัน เป็นการประกอบกิจการที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมิให้นำบทบัญญัติ หมวด ๑๑ ค่าชดเชย มาใช้บังคับตามกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
-----------------------------------------------------------------------------
ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างได้ทำข้อตกลงว่าเมื่อได้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม จะไม่ขอรับสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากนายจ้าง ซึ่งในขณะนั้นลูกจ้างยังไม่ได้กลับเข้ามาทำงาน ลูกจ้างจึงมีอิสระในการตัดสินใจที่จะทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ การทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะและใช้บังคับได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๙๖/๒๕๕๙ โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้างระหว่างวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ โดยใช้อัตราค่าจ้างและเงินเพิ่มค่าครองชีพเป็นฐานในการคำนวณค่าเสียหาย แต่ศาลแรงงานกลับพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและเงินเพิ่มค่าครองชีพนับแต่วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ จึงเป็นการพิพากษานอกฟ้อง ไม่ชอบด้วยมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน และพ้นจากหน้าที่เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ นับแต่นั้นโจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยอีกต่อไป ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาเสร็จ โจทก์ได้ทำข้อตกลงว่าเมื่อโจทก์ได้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม โจทก์ไม่ขอรับสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากจำเลย ซึ่งในขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้กลับเข้ามาเป็นลูกจ้าง โจทก์ย่อมมีอิสระในการตัดสินใจที่จะทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ การทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะและใช้บังคับได้ จึงต้องถือว่าโจทก์สละสิทธิไม่รับสิทธิประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้าง หลังจากนั้นจำเลยมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน และให้โจทก์กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่เดิม โดยให้นับอายุงานต่อเนื่อง แต่ไม่ให้สิทธิประโยชน์ระหว่างที่ถูกไล่ออกจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน ดังนี้ ตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าวประกอบกับโจทก์สละสิทธิไว้ โจทก์จึงไม่อาจนำเอาสิทธิประโยชน์นั้นมาเป็นฐานในการเรียกค่าเสียหายได้ การกำหนดให้นำอายุงานต่อเนื่องเป็นประโยชน์แก่โจทก์ ส่วนที่กำหนดไม่ให้นำอายุงานระหว่างถูกไล่ออก ก็เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยซึ่งไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ทั้งเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยชอบตามขั้นตอนของข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยประมาทเลินเล่อหรือเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์
-----------------------------------------------------------------------------
เมื่อผู้รับเหมาช่วงได้รับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนและค่ารักษาพยาบาลในการที่โจทก์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ยอมรับเงินทดแทนดังกล่าวโดยไม่โต้แย้งคัดค้านว่าจำนวนเงินทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนอีกไม่ได้
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๐, ๑๓, ๑๘ (๑)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๗๑/๒๕๕๙ โจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ผู้รับเหมาช่วงในลำดับถัดขึ้นไปได้รับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา ๑๘(๑)
แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และค่ารักษาพยาบาลในการที่โจทก์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลให้แก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง อันเป็นการจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งโจทก์ยอมรับเงินทดแทนดังกล่าวโดยไม่โต้แย้งคัดค้านว่าจำนวนเงินทดแทนที่ได้รับไปแล้วไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และไม่ปรากฏว่าผู้รับเหมาช่วงยินยอมให้โจทก์ขอรับเงินทดแทนที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากสำนักงานประกันสังคม โจทก์จึงขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนอีกไม่ได้
-----------------------------------------------------------------------------
เมื่อคำฟ้องบรรยายว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากลูกจ้างไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระบบของโจทก์ เป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามมาตรา ๑๑๙(๒) โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของลูกจ้างเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๙(๓) คำวินิจฉัยของศาลแรงงานส่วนที่ว่า การกระทำของลูกจ้างเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๙(๓) จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีนอกประเด็น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๒), (๓)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๘๐/๒๕๕๙ คดีนี้ลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งว่า การกระทำของลูกจ้างไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙(๒) โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากลูกจ้างไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระบบของโจทก์ เป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามมาตรา ๑๑๙(๒) โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของลูกจ้างเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๙(๓) เมื่อจำเลยให้การว่าการปฏิบัติงานของลูกจ้างยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามมาตรา ๑๑๙(๒) โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง คดีจึงมีประเด็นว่าการกระทำของลูกจ้างเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามมาตรา ๑๑๙(๒) หรือไม่ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานในตอนท้ายส่วนที่ว่า การกระทำของลูกจ้างเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๙(๓) จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีนอกประเด็นโดยมิได้อยู่ในคำฟ้องและคำให้การ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ ส่วนคำวินิจฉัยของศาลแรงงานในตอนต้นส่วนที่ว่า การกระทำของลูกจ้างไม่ถึงขนาดเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เป็นการวินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีในคำฟ้องและคำให้การจึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
-----------------------------------------------------------------------------
เมื่อไม่อาจไว้วางใจให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อีก จึงมีเหตุที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๖๗/๒๕๕๙ โจทก์ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญ ซึ่งเป็นการไว้วางใจให้โจทก์กระทำการอันเป็นภาระหน้าที่เสมือนกระทำการแทนจำเลย แต่โจทก์มิได้เอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากจำเลย กลับปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการขออนุญาตก่อตั้งสถาบันจนได้รับอนุญาตล่าช้าเกินสมควร บกพร่องต่อหน้าที่ในการควบคุมการก่อสร้างที่ล่าช้าและไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งขออนุมัติเบิกจ่ายค่าก่อสร้างไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ซึ่งเป็นเหตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อีก จึงมีเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งเป็นกรณีที่ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย
-----------------------------------------------------------------------------
การฟ้องเรียกให้ลูกจ้างชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐, ๕๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๖๗/๒๕๕๙ โจทก์ฟ้องว่าเมื่อต้นปี ๒๕๔๐ จำเลยเป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาค อาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยเจตนาไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและวิธีปฏิบัติของโจทก์ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกให้ลูกจ้างชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ เมื่อได้ความว่าจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่อนุมัติสินเชื่อครั้งสุดท้ายวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๐ อันเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ ทั้งโจทก์ทราบและรู้ถึงการกระทำของจำเลยตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ จนกระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๑ เมื่อนับถึงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นวันฟ้องก็ล้วนแต่เกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ
-----------------------------------------------------------------------------
ศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจของนายจ้างได้ต่อเมื่อนายจ้างใช้ดุลพินิจในการลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ลงโทษพนักงานแต่ละรายตามความร้ายแรงในการกระทำความผิดแตกต่างกันได้ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๑๑/๒๕๕๙ เมื่อลูกจ้างกระทำผิด อำนาจในการพิจารณาโทษทางวินัยย่อมเป็นของนายจ้าง ศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจของนายจ้างได้ต่อเมื่อนายจ้างใช้ดุลพินิจในการลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้นว่าขัดต่อระเบียบข้อบังคับอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ไม่สุจริต กลั่นแกล้ง หรือไม่สมเหตุสมผลอย่างชัดแจ้ง และแม้ลูกจ้างจะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในลักษณะเดียวกันก็ตาม แต่ถ้าพฤติการณ์ในการกระทำผิดของลูกจ้างแต่ละรายมีระดับความร้ายแรงแตกต่างกัน นายจ้างก็ย่อมใช้ดุลพินิจลงโทษลูกจ้างแต่ละรายแตกต่างกันได้หากไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง
เมื่อโจทก์เข้าไปมีส่วนร่วมในการระดมทุนนอกระบบในลักษณะแชร์ลูกโซ่ อันเป็นการทำธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และมีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์จากบุคคลภายนอกเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยโจทก์เป็นผู้ช่วยระดมทุกแชร์สลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่นาง น.ด้วยการชักชวนบุคคลภายนอกและเพื่อนพนักงานให้ร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล จนถูกเพื่อนพนักงานและบุคคลภายนอกร้องทุกข์ดำเนินคดี เป็นข่าวหนังสือพิมพ์ ศาลอาญาพิพากษาว่าโจทก์กระทำผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน การกระทำของโจทก์ย่อมเป็นการทำลายชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ภาพพจน์ และความเชื่อมั่นต่อองค์กรจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำผิดร้ายแรง พฤติการณ์ของโจทก์จึงมีระดับความร้ายแรงแตกต่างจากลูกจ้างอื่น การใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ลงโทษพนักงานแต่ละรายตามความร้ายแรงในการกระทำความผิดแตกต่างกันได้ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ดุลพินิจขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย จึงไม่มีเหตุที่ศาลแรงงานจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษของจำเลย จำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการให้ออกจากงานจึงชอบแล้ว
-----------------------------------------------------------------------------
เมื่อไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้างจึงต้องห้ามไม่ให้ลูกจ้างนัดหยุดงานตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง (๑) ลูกจ้างที่เข้าร่วมในการนัดหยุดงานไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่งตามมาตรา ๙๙ วรรคหนึ่ง (๒) การนัดหยุดงานดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อนายจ้าง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๐, ๑๓, ๓๔, ๙๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๔๑/๒๕๕๙ เมื่อการขึ้นเงินเดือนนายจ้างจะพิจารณาจากผลงานและข้อเท็จจริงอื่นๆ ประกอบด้วย หลักเกณฑ์ในการปรับขึ้นเงินเดือนขึ้นอยู่กับนโยบายในแต่ละปีโดยนายจ้างจะแจ้งให้พนักงานทราบ ส่วนการจ่ายโบนัสเป็นไปตามข้อบังคับที่ระบุว่าขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของนายจ้างในปีนั้น ดังนั้น การที่นายจ้างขึ้นเงินเดือนและจ่ายโบนัสในทุกปีที่ผ่านมาจึงขึ้นกับดุลพินิจของนายจ้าง ไม่เป็นสภาพการจ้างโดยปริยายว่านายจ้างต้องขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างทุกปีในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๔ และต้องจ่ายโบนัสให้ลูกจ้างปีละไม่ต่ำกว่า ๑ เดือนจึงไม่ใช่กรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันจะทำให้ลูกจ้างไม่อยู่ในบังคับห้ามนัดหยุดงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง (๒) ตามข้อเท็จจริงลูกจ้างส่วนหนึ่งไม่พอใจที่นายจ้างประกาศว่าไม่ปรับเงินเดือนและจะจ่ายเงินโบนัสให้ ๒ สัปดาห์ จึงรวมตัวกันขอเจรจากับผู้บริหาร ต่อมากลุ่มสหภาพแรงงาน ๘ สหภาพนำหนังสือไปยื่นต่อบริษัทแม่ของนายจ้างขอให้ปรับขึ้นเงินเดือนร้อยละ ๔ และจ่ายโบนัส ๑ เดือน นายจ้างและบริษัทแม่เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนแยกต่างหากจากกัน การยื่นหนังสือต่อบริษัทแม่ดังกล่าวจึงไม่ใช่การแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้างตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง เมื่อตกลงกับบริษัทแม่ไม่ได้ก็มีการนัดหยุดงานระหว่างวันที่ ๕ ถึงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ การนัดหยุดงานครั้งนี้ไม่ใช่การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานตามความหมายของ “การนัดหยุดงาน” ตามมาตรา ๕ เมื่อไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้างจึงต้องห้ามไม่ให้ลูกจ้างนัดหยุดงานตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง (๑) ลูกจ้างที่เข้าร่วมในการนัดหยุดงานไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่งตามมาตรา ๙๙ วรรคหนึ่ง (๒) การนัดหยุดงานดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อนายจ้าง ลูกจ้างต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น
(คดีนี้นายจ้างฟ้องลูกจ้างที่เป็นแกนนำในการนัดหยุดงาน เรียกค่าเสียหายจากการที่ไม่มีลูกค้าเข้าพักที่โรงแรมของนายจ้าง ศาลแรงงานพิพากษาให้ลูกจ้างชำระเงิน ๑,๓๒๗,๕๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่นายจ้าง ศาลฎีกาพิพากษายืน นอกจากคดีนี้ ภายหลังเกิดเหตุนัดหยุดงาน พนักงานอัยการดำเนินคดีอาญาแก่ลูกจ้าง ๓๖ คนต่อศาลจังหวัดภูเก็ต เรื่องความผิดต่อความสงบสุขของประชาชน คือร่วมกันปิดถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลจังหวัดภูเก็ตพิพากษาว่าจำเลยทุกคนมีความผิด ภายหลังลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงลงโทษจำคุกคนละ ๑๕ วัน และปรับคนละ ๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี)
-----------------------------------------------------------------------------
การกระทำของลูกจ้างทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของนายจ้าง ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ เสียความน่าเชื่อถือและศรัทธาที่ลูกค้ามีต่อนายจ้าง อีกทั้งเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๒๗/๒๕๕๙ ระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์อาศัยงานในตำแหน่งหน้าที่ร่วมกับบุคคลภายนอกกระทำตัวเป็นนายทุนให้ลูกค้าของจำเลยกู้ยืมเงิน และกระทำตัวให้ลูกค้ากู้ยืมเงินนายทุนเพื่อนำมาชำระหนี้จำเลยโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยประกอบกิจการธนาคารอันเป็นสถาบันทางการเงิน การกระทำของโจทก์ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของจำเลย ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ เสียความน่าเชื่อถือและศรัทธาที่ลูกค้ามีต่อจำเลย อีกทั้งเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
แม้หลังจากที่จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออก โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาอุทธรณ์แล้วมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษโจทก์จากไล่ออกเป็นให้ออกแทนก็ตาม แต่คำสั่งไล่ออกกับคำสั่งให้ออกก็มีผลเป็นการเลิกจ้าง ประกอบกับการอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้รอการลงโทษตามข้อบังคับของจำเลย ดังนั้น การเลิกจ้างจึงมีผลนับแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออก โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว
-----------------------------------------------------------------------------