นายจ้างประกาศระเบียบห้ามลูกจ้างชายสวมใส่ตุ้มหูได้ แต่เมื่อลูกจ้างชายบางคนฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวนายจ้างก็มิได้ลงโทษ คงขอลงโทษเฉพาะลูกจ้างชายที่เป็นกรรมการลูกจ้าง จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่มีเหตุสมควรอนุญาต
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๔๐ – ๙๔๒/๒๕๕๘ ผู้ร้องออกประกาศ เรื่อง ระเบียบการแต่งกายของพนักงาน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น โดยผู้ร้องกำหนดระเบียบห้ามพนักงานชายทุกคนใส่ตุ้มหูและไว้ผมยาว ซึ่งผู้ร้องสามารถกระทำได้ ประกาศดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ แต่เมื่อได้ความว่ามีลูกจ้างคนอื่นใส่ตุ้มหูมาทำงานผู้ร้องก็มิได้ลงโทษ คงลงโทษเฉพาะผู้คัดค้าน เพราะเหตุที่ผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้าง จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ กรณีไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านด้วยวาจา ฐานแต่งกายผิดระเบียบของผู้ร้องได้
นิติทัศน์
๑. คดีนี้มีข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่อาจพิจารณาไปได้หลายมิติ
ประการแรก น่าจะต้องพิจารณาว่านายจ้างมีอำนาจออกระเบียบห้ามลูกจ้างชายใส่ตุ้มหูมาทำงานหรือไม่ หรือระเบียบที่ห้ามลูกจ้างชายใส่ตุ้มหูมาทำงานเป็นระเบียบที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (หากนายจ้างไม่มีอำนาจออกระเบียบดังกล่าวหรือระเบียบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลูกจ้างก็ไม่มีความผิด นายจ้างไม่อาจลงโทษได้) ทั้งนี้ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย และชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ในสมัยปัจจุบัน ชายที่ใส่ตุ้มหูแล้วดูดี ไม่ขัดหูขัดตาก็มี การใส่ตุ้มหูไม่ได้ให้ภาพลักษณ์ว่าผู้สวมใส่เป็นคนร้ายแต่อย่างใด โดยหลักการ นายจ้างย่อมมีอำนาจกำหนดการแต่งกายของลูกจ้างเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน และเพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ของลูกจ้างนั้น หากโดยลักษณะการทำงาน การใส่ตุ้มหูไม่ทำให้ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นได้รับอันตราย หรือไม่เกิดข้อขัดข้องในการผลิตหรือการบริการของนายจ้าง นายจ้างก็ไม่มีอำนาจกำหนดห้ามลูกจ้างใส่ตุ้มหูได้ การพิจารณาว่านายจ้างมีอำนาจออกระเบียบดังกล่าวหรือไม่จึงต้องนำข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะงานมาพิเคราะห์ประกอบด้วย
ประการที่สอง น่าจะต้องพิจารณาว่านายจ้างมีสิทธิที่จะลงโทษลูกจ้างแต่ละคนที่กระทำความผิดในเรื่องเดียวกันให้ได้รับโทษหนักเบาแตกต่างกัน และมีสิทธิที่จะไม่ลงโทษลูกจ้างเป็นบางคน ได้หรือไม่ เพียงใด อันที่จริงการลงโทษลูกจ้างที่กระทำผิดวินัยในการทำงานเป็นสิทธิของนายจ้าง (มิใช่หน้าที่ของนายจ้าง) นายจ้างจึงสามารถลงโทษลูกจ้างแตกต่างกันได้หรือจะไม่ลงโทษลูกจ้างบางคนก็ได้ ลูกจ้างที่กระทำผิดวินัยก็ไม่อาจยกความแตกต่างของโทษมาอ้างหรือเกี่ยงให้นายจ้างลงโทษลูกจ้างทุกคนในสถานเดียวกันได้ การลงโทษลูกจ้างแตกต่างกันในบางกรณีก็เป็นการใช้ดุลพินิจที่มีเหตุผลและเหมาะสม มิใช่การเลือกปฏิบัติ และการลงโทษแตกต่างกันก็มิใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรตาม หากข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวข้างต้นฟังได้ว่านายจ้างไม่เคยลงโทษลูกจ้างที่ฝ่าฝืนระเบียบห้ามใส่ตุ้มหูมาก่อนเลย ก็อาจถือได้ว่านายจ้างไม่มีความประสงค์จะลงโทษลูกจ้างที่กระทำผิดวินัยในเรื่องนี้ นายจ้างจึงไม่มีสิทธิที่จะลงโทษลูกจ้างผู้นี้ได้
๒. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๒๔/๒๕๓๘ ลูกจ้างเป็นพนักงานช่างภาคพื้นดิน ได้ลงนามรับรองความสมควรการเดินอากาศไปทั้ง ๆ ที่ใบอนุญาตขาดต่ออายุ ซึ่งพนักงานคนอื่นก็ได้เคยกระทำเช่นเดียวกันแต่ไม่ถูกเลิกจ้าง กรณีของลูกจ้างเป็นเพราะได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจึงถูกนายจ้างตั้งกรรมการสอบสวนและมีคำสั่งเลิกจ้าง การที่นายจ้างเลิกจ้างกรณีนี้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานโดยไม่เท่าเทียมกัน... เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุผลความเป็นธรรม รวมทั้งพฤติการณ์แห่งคดีโดยตลอดแล้วเห็นได้ว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
_________________________
แม้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนายจ้างได้เปลี่ยนจากบริษัทหนึ่งไปเป็นอีกบริษัทหนึ่ง และต่อมานายจ้างได้เปลี่ยนชื่อก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นนิติบุคคลเดิมของนายจ้างเปลี่ยนไป กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่บุคคลภายนอกที่ต้องให้ลูกจ้างยินยอมด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๐๒-๑๐๐๕/๒๕๕๘ แม้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนายจ้างได้เปลี่ยนจากบริษัทหนึ่งไปเป็นอีกบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างนิติบุคคลกันและเข้าครอบงำกิจการของนายจ้างได้โดยผ่านที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้น และต่อมานายจ้างได้เปลี่ยนชื่อก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นนิติบุคคลเดิมของนายจ้างเปลี่ยนไปเป็นนิติบุคคลใหม่แต่อย่างใด กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗ นายจ้างไม่จำต้องให้ลูกจ้างยินยอมด้วย
_________________________
นายจ้างออกคำสั่งลงโทษลูกจ้างด้วยการพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างและระบุคำเตือนในคำสั่งดังกล่าวด้วยได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘, ๑๑๙ (๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๔/๒๕๕๘ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่า “ถ้าพนักงานฝ่าฝืนหรือกระทำผิดวินัยของบริษัทจะถูกลงโทษตามลักษณะความผิดหรือความหนักเบาของการกระทำความผิด การลงโทษจะเป็นไปตามข้อหนึ่งข้อใดหรือหลายข้อรวมกันก็ได้” การที่โจทก์กระทำผิดครั้งแรกและจำเลยลงโทษด้วยการให้พักงาน ๗ วันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่ให้โจทก์กระทำผิดซ้ำอีก หากยังกระทำผิดวินัยไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยจะพิจารณาลงโทษขั้นปลดออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ ตามเอกสารที่จำเลยอ้างซึ่งมีลักษณะเป็นหนังสือเตือนด้วย เป็นการใช้ดุลพินิจในการใช้อำนาจบริหารจัดการของจำเลยที่จะลงโทษโจทก์หลายข้อรวมกันได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่จำเลยลงโทษพักงานโจทก์และขณะเดียวกันในคำสั่งลงโทษก็ยังมีคำเตือนอยู่ด้วย หาทำให้หนังสือเตือนนั้นสิ้นผลไปด้วยการพักงานที่โจทก์ได้รับไปแล้วไม่ เมื่อโจทก์แสดงกริยาวาจาก้าวร้าว และท้าทายต่อผู้บังคับบัญชาจนถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว ต่อมาโจทก์แสดงกริยาวาจาก้าวร้าว หยาบคาย และท้าทายต่อผู้บังคับบัญชาอีกอันเป็นการกระทำผิดลักษณะเดียวกันในหนังสือเตือน และยังไม่เกิน ๑ ปีนับแต่วันที่กระทำความผิด การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
นิติทัศน์
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘ กำหนดให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไปจัดให้มี “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” โดยต้องมีรายละเอียด
เกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้างอย่างน้อย ๘ รายการ รวมทั้งเรื่อง “วินัยและโทษทางวินัย” ด้วย
ในเรื่องเกี่ยวกับโทษทางวินัยนั้น นายจ้างส่วนมากกำหนดโทษไว้ดังนี้
(๑) ตักเตือนด้วยวาจา
(๒) ตักเตือนเป็นหนังสือ
(๓) พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ๑ – ๗ วัน และตักเตือนเป็นหนังสือ
(๔) เลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชย
(๕) เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
ส่วนการพิจารณาว่าจะลงโทษลูกจ้างสถานใดในแต่ละการกระทำความผิดทางวินัยนั้นเป็นดุลพินิจของนายจ้างในแต่ละสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างได้กำหนด
หลักเกณฑ์ในการลงโทษไว้ชัดเจนและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นั้น ก็จะเป็นการลงโทษทางวินัยที่เป็นไปโดยชอบ ดังที่ปรากฏในข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
_________________________
การนับจำนวนลูกจ้างของสถานประกอบกิจการเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานว่าถึงเกณฑ์ที่สหภาพแรงงานจะแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างให้มีจำนวนมากกว่ากรรมการอื่นที่มิได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานหนึ่งคนได้หรือไม่นั้น ต้องนับจำนวนลูกจ้างทั้งหมดของสถานประกอบกิจการนั้นทุกหน่วยงานหรือทุกสาขารวมกัน
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๕
ประกาศกรมแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๗๓/๒๕๕๘ การนับจำนวนลูกจ้างของสถานประกอบการเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานว่าถึงเกณฑ์ที่สหภาพแรงงานจะแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างให้มีจำนวนมากกว่ากรรมการอื่นที่มิได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานหนึ่งคนได้หรือไม่นั้น ต้องนับจำนวนลูกจ้างทั้งหมดของสถานประกอบการนั้นทุกหน่วยงานหรือทุกสาขารวมกัน ไม่ใช่นับเฉพาะจำนวนลูกจ้างของสาขาที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง จำเลยมีโรงงาน ๗ แห่ง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสาขาอื่น มีลูกจ้างทั้งหมดรวมกัน ๒๓,๐๒๓ คน แต่สหภาพแรงงานมีจำนวนสมาชิกเพียง ๒,๒๗๐ คน จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานจึงไม่เกินหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดรวมกัน การแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างเฉพาะส่วนโรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาของสหภาพแรงงานซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน
_________________________
เมื่อนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามกำหนดเวลาก็ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดแล้วทันทีโดยไม่ต้องทวงถาม กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายที่ลูกจ้างจะฟ้องให้นายจ้างรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๐ วรรคหนึ่ง (๑)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๒)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๑๐/๒๕๕๘ การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เพื่อขอบังคับจำเลยชำระหนี้เป็นการอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายของหนี้ค่าจ้างค้างจ่ายตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งนายจ้างย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อถึงกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างนั้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๐ วรรคหนึ่ง (๑) เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่จ่ายตามกำหนดก็ ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดแล้วทันทีโดยไม่ต้องทวงถาม กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้
เมื่อนายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างฯ นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๗, ๑๑๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๓๘/๒๕๕๘ โจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย แต่เมื่อจำเลยมิได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในหนังสือที่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน และไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้าง จำเลยจึงยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามมาตรา ๖๗ ไม่ได้ และยังต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิใช่กรณีตามมาตรา ๑๑๙ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา ๖๗ ให้แก่โจทก์
_________________________
การเลิกจ้างลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕, ๑๐
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๓๙ – ๑๕๔๕/๒๕๕๘ ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ตกลงกันใหม่กำหนดว่า การพิจารณาบอกเลิกจ้างในกรณีดังต่อไปนี้ เมื่อผลงานของพนักงานไม่เป็นที่น่าพอใจหรือคะแนนปฏิบัติหน้าที่ต่ำ และเมื่อลาป่วยเกิน ๓๐ วัน ต่อปีปฏิทิน โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้ ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ ๑ ที่ ๕ และที่ ๗ เพราะเหตุที่โจทก์ดังกล่าวมีผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจและได้รับคะแนนปฏิบัติหน้าที่ในระดับต่ำอันเป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ ส่วนโจทก์ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๖ ลาป่วยเกิน ๓๐ วัน ต่อปีปฏิทิน โดยไม่ปรากฏว่าการลาป่วยของโจทก์ดังกล่าวเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือประสบอุบัติเหตุต้องเข้ารับการรักษาตัวต่อเนื่องในโรงพยาบาลแต่ประการใด การเลิกจ้างโจทก์ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๖ เพราะเหตุที่โจทก์ดังกล่าวลาป่วยเกิน ๓๐ วัน ต่อปี จึงเป็นการเลิกจ้างตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอเช่นกัน มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
นิติทัศน์
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕, ๑๐ ได้กำหนดว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หมายถึง ข้อตกลงระหว่างนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และให้ถือว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘ เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย จากข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้แสดงว่าถ้ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลิกจ้างไว้เช่นใด และนายจ้างปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นั้น ก็จะไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
เมื่อนำข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๔/๒๕๕๘ มาพิจารณาประกอบ ก็จะได้หลักการหรือแนวปฏิบัติในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ นายจ้างควรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยและการเลิกจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
_________________________
นายจ้างไม่คืนหลักประกันการทำงานที่เป็นจริง ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าชดเชย นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๐๔ – ๑๙๐๕/๒๕๕๘ ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนหลักประกันการทำงานที่เป็นจริง ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าชดเชย นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง เมื่อตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าทำงานในวันหยุดและค่าชดเชยกับคืนเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจึงชอบแล้ว
________________________
เมื่อการปรับอัตราค่าจ้างให้แก่พนักงานจะต้องใช้เงินจากงบประมาณของรัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้าง แต่รัฐวิสาหกิจนั้นไม่มีความสามารถที่จะกระทำได้ ทั้งมิได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากรัฐบาล จึงไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๓๑ – ๒๐๔๓/๒๕๕๘ จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ (องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์) จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา ๙ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ แสดงว่าการดำเนินการของจำเลยมิได้ใช้งบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่ใช้งบประมาณที่จำเลยได้มาจากการดำเนินการของจำเลยเอง ดังนั้น การปรับเงินเดือนตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ให้แก่พนักงานของจำเลยจึงต้องเป็นไปตามงบประมาณที่จำเลยมีอยู่ หรือให้รัฐบาลจ่ายเงินให้แก่จำเลยเท่าจำนวนที่จำเป็น เนื่องจากจำเลยประสบภาวะขาดทุนสะสมหลายปี จึงไม่มีงบประมาณสำหรับจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ที่รอการจ่าย และยังมีภาระผ่อนชำระเงินบำเหน็จพนักงานที่เกษียณอายุ เมื่อการปรับอัตราค่าจ้างดังกล่าวจะต้องใช้เงินจากงบประมาณของจำเลยเอง และจำเลยไม่มีความสามารถที่จะกระทำได้ ทั้งมิได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากรัฐบาล การที่จำเลยไม่ปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์หนึ่งร้อยสิบสองคนจึงกระทำได้ และไม่ขัดต่อมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๗) ดังกล่าว และมติคณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗) แต่อย่างใด
_________________________
โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะนายจ้างเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้องในคราวเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานในระหว่างที่คดีแรกอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานจึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๑๔/๒๕๕๘ เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างให้รับผิดต่อโจทก์โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยอ้างว่าเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ กรรมการจำเลยที่ ๒ ซึ่งก็คือจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้มีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งใหม่อันเป็นการลดตำแหน่งโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ จ่ายเงินภายหลังเลิกจ้าง คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งใหม่ จึงเป็นการลดตำแหน่งและค่าตอบแทนในการว่าจ้างของโจทก์ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกร้องค่าเสียหายจากการออกคำสั่งดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองในฐานะนายจ้าง จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุเดียวกันคือเหตุแห่งการออกคำสั่งย้ายงานโจทก์ของจำเลยที่ ๑ โจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแรงงาน การฟ้องคดีทั้งสองเรื่องต่อศาลแรงงานเป็นการเรียกร้องสิทธิในมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องอันเกี่ยวกับการออกคำสั่งของนายจ้างที่มีต่อโจทก์ในคราวเดียวกัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะนายจ้างเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้องในคราวเดียวกันหรือขอแก้ไขคำฟ้องในคดีเดิมภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานในระหว่างที่คดีแรกอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานจึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
________________________
การนำตั๋วโดยสารซึ่งไม่ตรงตามหน้าตั๋วที่มีหน้าที่ต้องขายให้ผู้โดยสาร เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อประสงค์จะได้มาซึ่งประโยชน์จากเงินโดยสารอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ ๖๐ (๑)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๑๘/๒๕๕๘ โจทก์ (ซึ่งเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร) นำตั๋วโดยสารซึ่งเป็นตั๋วโดยสารที่ไม่ตรงตามหน้าตั๋วที่โจทก์มีหน้าที่ต้องขายให้ผู้โดยสารที่ขึ้นรถโดยสารคันเกิดเหตุ ขายให้ผู้โดยสารหญิง ๑ ใบ และผู้โดยสารชาย ๑ ใบ การกระทำของโจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อประสงค์จะได้มาซึ่งประโยชน์จากเงินโดยสารที่ผู้โดยสารหญิงและชายจ่ายให้แก่โจทก์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่โจทก์ฉีกตั๋วโดยสารตามหน้าตั๋วที่โจทก์มีหน้าที่ต้องขายให้ผู้โดยสารชายในภายหลังก็เพื่อปกปิดการกระทำของตนซึ่งเป็นผลสำเร็จไปแล้ว ไม่อาจทำให้การกระทำนั้นกลายเป็นการกระทำที่สุจริตไปได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและเข้ากรณีตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ ๖๐ (๑) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากการเป็นพนักงานด้วยเหตุดังกล่าว จึงชอบแล้ว ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
________________________
เมื่อล่วงเลยกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว นายจ้างก็ไม่อาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามลูกจ้างทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางการค้าได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๒๐/๒๕๕๘ การที่โจทก์ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้านั้น แม้ปรากฏว่าหลังจากจำเลยลาออกแล้ว ภายใน ๒ ปี จำเลยได้ไปทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาซึ่งจำเลยต้องรับผิดด้วยการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยเจตนาของคู่กรณีด้วยคือการงดเว้นทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าซึ่งห้ามจำเลยมิให้ทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าได้ก็ตาม แต่เมื่อการขอให้บังคับห้ามจำเลยมิให้ทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ล่วงเลยไปแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องมีคำสั่งห้ามจำเลยตามคำขอบังคับของโจทก์
_________________________
นายจ้างมีหนังสือเลิกจ้างโดยระบุว่าลูกจ้างกระทำผิดฐานฉ้อโกง ก็ถือว่าได้ระบุข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑) และวรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๕๕/๒๕๕๘ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีทุจริตต่อหน้าที่ โดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้ จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรม คือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยระบุเหตุผลในหนังสือเลิกจ้างว่าโจทก์ได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงจึงเป็นการระบุข้อเท็จจริงที่มีความหมายอยู่ในตัวว่าโจทก์ประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นกรณีทุจริตต่อหน้าที่ด้วย จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ วรรคท้ายแล้ว
_________________________
เมื่อศาลแรงงานเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานเอกสารใดที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ย่อมมีอำนาจสั่งรับและรับฟังพยานหลักฐานนั้นได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๒๘/๒๕๕๘ โจทก์ส่งเอกสารที่ระบุว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยในฐานะที่เป็นผู้แทนโจทก์ และจำเลยดำเนินการถอนการบังคับคดีให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ อันเป็นการนำส่งเอกสารสำคัญแห่งคดีเพื่อใช้ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ เพื่อแสดงว่าจำเลยได้รับเงินจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์แล้วไม่นำส่งเงินแก่โจทก์ และจำเลยดำเนินการถอนการบังคับคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งที่ยังมีหนี้ตามคำพิพากษาที่ลูกหนี้ต้องชำระแก่โจทก์ แม้เป็นการส่งสำเนาเอกสารโดยโจทก์ไม่ยื่นสำเนาต่อศาลและไม่ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันสืบพยานก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานเอกสารดังกล่าวซึ่งสำคัญและเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ย่อมสั่งรับและรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ได้
_________________________
นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างจึงร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างต้องปฏิบัติตาม จะกำหนดและจัดวันหยุดให้ลูกจ้างย้อนหลังแทนการจ่ายเงินมิได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๐, ๖๒, ๖๗
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๗๖ – ๓๒๗๙/๒๕๕๘ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมีข้อความระบุว่า การที่จำเลยไม่ได้จัดให้ลุกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับวันหยุดส่วนที่เหลือนอกจาก ๕ วันที่สะสมไปหยุดในปีถัดไปและไม่ได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๐ มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๗ จึงมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง คำสั่งดังกล่าวมีผลให้จำเลยต้องปฏิบัติตาม คำสั่งดังกล่าวไม่ปรากฏข้อความใดให้สิทธิแก่จำเลยที่จะเลือกกระทำการอย่างอื่นได้โดยอิสระนอกเหนือจากต้องจ่ายเป็นค่าทำงานตามที่ระบุไว้ ดังนั้น การที่จำเลยนำเอาวันหยุดสะสมของลูกจ้างที่ยังไม่ได้ใช้ทั้งหมดมากำหนดและจัดวันหยุดให้ลูกจ้างใหม่ในลักษณะย้อนหลังโดยโจทก์ไม่ตกลงยินยอมด้วยจึงเป็นกรณีที่จำเลยยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยจึงมีหน้าที่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์
_________________________
นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างได้โดยไม่ต้องสอบสวนก่อน เว้นแต่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดไว้ให้สอบสวนก่อน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๓๕/๒๕๕๘ เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่ได้กำหนดว่าต้องมีการสอบสวนก่อนจึงจะสั่งพักงานได้ ดังนั้น การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์จึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว
นิติทัศน์
ข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๔/๒๕๕๘, ๑๕๓๙ – ๑๕๔๕/๒๕๕๘ ให้ข้อคิดและหลักการที่นายจ้างที่ฉลาดและแสนดีควรนำไปปรับใช้ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
_________________________
ลูกจ้างไม่เดินทางไปศาลตามหน้าที่เนื่องจากลูกจ้างทราบว่านายจ้างได้จัดให้บุคคลอื่นไปแทนแล้วถือว่าลูกจ้างมีเหตุที่จะไม่ไปศาลได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๔๐/๒๕๕๘ การที่โจทก์ไม่เดินทางไปศาลตามหน้าที่เนื่องจากโจทก์ทราบว่าจำเลยได้จัดให้บุคคลอื่นไปแทนโจทก์แล้ว ถือว่าโจทก์มีเหตุที่จะไม่ไปศาลได้ และโจทก์ได้เดินทางไปทำงานที่สำนักงานของจำเลยโดยแสดงใบรับรองของแพทย์ถึงสาเหตุการหยุดงานเพราะป่วยต่อจำเลย จึงไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย
_________________________
การแก้ไขข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นให้สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกจากกองทุนโดยไม่ลาออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ แต่ยังคงมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสมในส่วนของตนเต็มจำนวน ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนตามที่ปรากฏในข้อบังคับนั้น ชอบด้วยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐
พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๘)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๘๔-๔๒๘๖/๒๕๕๘ การที่จำเลยแก้ไขข้อบังคับกองทุน ข้อ ๑๐.๗ (๓) ให้สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกจากกองทุนโดยไม่ลาออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ แต่ยังคงมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสมในส่วนของตนเต็มจำนวนนั้น เป็นการแก้ไขให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนตามที่ปรากฏในข้อบังคับ จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๘) ที่แก้ไขใหม่ แม้มาตรา ๕ ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่ากองทุนจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลุกจ้างลาออกจากกองทุนซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนก็ตามแต่การจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพต้องปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ ที่แก้ไขใหม่ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่าเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน ดังนั้น ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้รับเงินสะสม ผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบจากกองทุนหรือไม่อย่างไร จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ผู้จัดการกองทุนของจำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับคือไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบให้สมาชิกที่ลาออกจากกองทุนโดยไม่ลาออกจากงาน
_________________________
นายจ้างมีทุนจดทะเบียนดำเนินการถึง ๙๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นการลงทุนในทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ประกอบกับนายจ้างมีลูกจ้างเป็นจำนวนมาก การเลิกจ้างลูกจ้างเพียง ๓ คนดังกล่าวจากลูกจ้างทั้งหมดจะนำมาอ้างว่าเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของบริษัทมิได้ การเลิกจ้างจึงยังไม่มีเหตุที่สมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๖๑๓/๒๕๕๘ แม้กิจการของจำเลยประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องในปี ๒๕๔๘ ถึงปี ๒๕๕๓ แต่การขาดทุนในปี ๒๕๔๙ จำนวน ๕,๔๒๓,๘๖๑.๙๔ บาท ลดลงอย่างมากจากปี ๒๕๔๘ ที่ขาดทุน ๓๔,๐๔๕,๘๔๗.๒๙ บาท ในปี ๒๕๕๐ ที่ขาดทุนจำนวน ๑๗,๑๖๙,๗๘๕.๑๓ บาท ก็ปรากฏว่ามีรายจ่ายต้นทุนค่าธรรมเนียมขนถ่ายและบริการจำนวน ๒๐๓,๖๙๔,๒๕๒.๘๙ บาท ซึ่งเพิ่มจากปี ๒๕๔๙ ที่มีรายจ่ายต้นทุนค่าธรรมเนียมขนถ่ายและบริการเพียงจำนวน ๑๕๒,๐๖๖,๗๑๓.๓๙ บาท และในปี ๒๕๕๑ กิจการจำเลยมีกำไรก่อนจ่ายดอกเบี้ยจำนวน ๔๐,๗๓๓.๐๗ บาท จำเลยมีทุนจดทะเบียนดำเนินการถึง ๙๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นการลงทุนในทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ประกอบกับจำเลยมีลูกจ้างเป็นจำนวนมาก การเลิกจ้างโจทก์และลูกจ้างอื่นอีกเพียง ๒ คนดังกล่าวจากลูกจ้างทั้งหมดจะนำมาอ้างว่าเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของบริษัทมิได้ จึงต้องถือว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ยังไม่มีเหตุที่สมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
________________________
เมื่อเงินประกันการทำงานตามฟ้องยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่านายจ้างจะระงับการคืนให้แก่ลูกจ้างได้หรือไม่ การที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันการทำงานให้จึงยังมีเหตุอ้าง ยังถือไม่ได้ว่านายจ้างจงใจไม่คืนเงินประกันการทำงานให้แก่ลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๖๗๘/๒๕๕๘ เมื่อคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่คืนเงินประกันการทำงานในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ยังไม่คืนเอกสารสัญญาค้ำประกันการทำงานและยังไม่สามารถเรียกเก็บบิลที่พนักงานขายรับผิดชอบได้ทั้งหมด เงินประกันการทำงานในส่วนที่ขาดจึงยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าจำเลยจะระงับการคืนให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ การที่จำเลยไม่คืนเงินประกันการทำงานในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์จึงยังมีเหตุอ้าง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่คืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
________________________
ลูกจ้างดำรงตำแหน่งผู้จัดการในประเทศไทยทำหน้าที่บริหารงานดูแลด้านการขาย ย่อมมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจในระดับสูง ก่อนเขียนหนังสือลาออกก็ได้ปรึกษากับทนายความแล้ว และเขียนหนังสือลาออกด้วยลายมือของตน จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างสมัครใจลาออกเอง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๗๙/๒๕๕๘ จำเลยได้ไปพบกรรมการบริหารและทนายความของโจทก์ซึ่งได้แจ้งแก่จำเลยว่าจำเลยทำงานผิดพลาดไม่ประสงค์ให้จำเลยทำงานกับโจทก์อีกต่อไปและให้จำเลยเขียนหนังสือลาออก ประกอบกับก่อนที่จำเลยจะเขียนหนังสือลาออกจำเลยได้โทรศัพท์ปรึกษากับทนายความของจำเลยแล้วได้รับแจ้งว่าโจทก์จะบังคับให้จำเลยลาออกไม่ได้ แต่หากเป็นเรื่องจากกันด้วยดีก็สมควรเขียนหนังสือลาออกให้โจทก์ จากนั้นจำเลยจึงได้เขียนหนังสือลาออกให้ แสดงให้เห็นว่าในขณะที่จำเลยเขียนหนังสือลาออกจำเลยดำรงตำแหน่งผู้จัดการในประเทศไทยทำหน้าที่บริหารงานดูแลด้านการขายให้กับโจทก์ จำเลยย่อมมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจในระดับสูง ก่อนเขียนหนังสือลาออกจำเลยได้ปรึกษากับทนายความของจำเลยแล้ว และจำเลยตัดสินใจเขียนหนังสือลาออกด้วยลายมือของตนเอง จึงเป็นกรณีที่จำเลยสมัครใจลาออกจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์เองโดยโจทก์ไม่ได้บีบบังคับจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ได้เลิกจ้างจำเลย โจทก์จึงไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลย
_______________________
เมื่อนายจ้างมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานกลางทะเลทำงานได้วันละไม่เกิน ๑๒ ชั่วโมง และลูกจ้างทำงานกลางทะเลตามที่ได้รับมอบหมายวันละ ๑๒ ชั่วโมง ลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดจากนายจ้าง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๕ (๑)
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ข้อ ๑ (๑)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๐๐/๒๕๕๘ เมื่องานของจำเลยเป็นกิจการก่อสร้างฐานขุดเจาะและท่อส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่ต้องทำกลางทะเล และจำเลยมอบหมายให้โจทก์ทำงานเกี่ยวกับกิจการของจำเลยกลางทะเล จึงเป็นงานที่อยู่ภายใต้บังคับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ข้อ ๑ (๑) ซึ่งกำหนดว่า ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาทำงานปกติโดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงาน แต่วันหนึ่งไม่เกิน ๑๒ ชั่วโมง เมื่อจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานกลางทะเลทำงานได้วันละไม่เกิน ๑๒ ชั่วโมง และโจทก์ทำงานกลางทะเลตามที่ได้รับมอบหมายให้แก่จำเลยวันละ ๑๒ ชั่วโมง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดจากจำเลย
_______________________
ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้เป็นนายจ้างย่อมทราบถึงจำนวนค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้วโดยต้องจ่ายภายใน ๓ วันนับแต่วันเลิกจ้าง อันเป็นหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย แม้ลูกจ้างไม่ทวงถามนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่าย เมื่อถึงกำหนดนายจ้างไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันผิดนัด
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง. ๗๐ วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๓๙/๒๕๕๘ ในกรณีที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้เป็นนายจ้างย่อมทราบถึงจำนวนค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้วโดยต้องจ่ายภายใน ๓ วันนับแต่วันเลิกจ้าง ตามมาตรา ๗๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย แม้ลูกจ้างไม่ทวงถาม นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่าย เมื่อถึงกำหนดนายจ้างไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันผิดนัดตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
_______________________
โจทก์ผลิตเครื่องสำอางซึ่งการประกอบกิจการต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ จำเลยเป็นพนักงานตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงาน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าของโจทก์ได้ ด้วยการห้ามจำเลยประกอบกิจการหรือปฏิบัติงานในกิจการอื่นที่แข่งขันกับโจทก์ เมื่อข้อตกลงมีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่หนึ่งปี อันถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร ไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๙, ๓๘๓
พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๖๔/๒๕๕๘ บริษัทโจทก์ผลิตเครื่องสำอางซึ่งในการประกอบกิจการโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ จำเลยเป็นพนักงานตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าของโจทก์ได้ ด้วยการทำข้อตกลงกับจำเลยในการห้ามประกอบกิจการหรือปฏิบัติงานในกิจการอื่นที่แข่งขันกับโจทก์ เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่หนึ่งปี อันถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร ไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่มีข้อความว่า หากฝ่าฝืนข้อตกลง จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท นั้น ย่อมเป็นข้อสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายจาการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๙ ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้หรือโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓
_______________________
โจทก์มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงาน ไม่ต้องลงเวลาทำงาน ลักษณะการทำงานของโจทก์นั้น โจทก์จะทำงานอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะมีผลงานหรือไม่มีผลงาน อันแสดงว่าการทำงานของโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัท นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัทจึงไม่อยู่ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกัน อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเข้าเป็นผู้ประกันตนได้
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๕. ๓๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๖๖/๒๕๕๘ โจทก์มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงาน ไม่ต้องลงเวลาทำงาน สามารถตัดสินใจในกิจการของบริษัทฯได้โดยลำพัง ไม่ต้องปรึกษาผู้ใด โดยโจทก์มีหน้าที่ชายสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ แสดงว่าลักษณะการทำงานของโจทก์นั้น โจทก์จะทำงานอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะมีผลงานหรือไม่มีผลงาน ก็ไม่มีการให้คุณหรือให้โทษแก่โจทก์ อันแสดงให้เห็นว่าการทำงานของโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัทฯ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัทฯจึงไม่อยู่ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกัน อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๓๓ ได้
_______________________
ค่ารถยนต์และค่าน้ำมันนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการในด้านคมนาคมแก่ลูกจ้างให้ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่และให้มีความเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งระดับสูง มิใช่ค่าจ้าง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๓๘๕ – ๙๓๙๓/๒๕๕๘ ค่ารถยนต์และค่าน้ำมันนายจ้างมิได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคน แม้จะจ่ายเงินดังกล่าวเป็นจำนวนคงที่แน่นอนทุกเดือน แต่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการในด้านคมนาคมแก่ลูกจ้างให้ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่และให้มีความเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งระดับสูง หาได้มีวัตถุประสงค์ในการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรงแต่อย่างใด ค่ารถยนต์และค่าน้ำมันดังกล่าวย่อมมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ จึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
_______________________
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างกรณีพ้นสภาพเพราะลาออกด้วยแตกต่างกับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยที่จ่ายให้แก่เฉพาะลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดเท่านั้น ทั้งได้กำหนดเงื่อนไขไว้แตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องการจ่ายค่าชดเชย วิธีการคำนวณเงินบำเหน็จก็แตกต่างกัน เห็นได้ชัดเจนว่าเงินบำเหน็จที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินประเภทอื่นที่มิใช่ค่าชดเชยตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕, ๑๑๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๗๗๓/๒๕๕๘ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างกรณีพ้นสภาพเพราะลาออกด้วยแตกต่างกับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยที่จ่ายให้แก่เฉพาะลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดเท่านั้น ทั้งได้กำหนดเงื่อนไขไว้แตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องการจ่ายค่าชดเชย วิธีการคำนวณเงินบำเหน็จก็แตกต่างกัน เห็นได้ชัดเจนว่าเงินบำเหน็จที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินประเภทอื่นที่มิใช่ค่าชดเชยตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ระเบียบว่าด้วยสวัสดิการพนักงานของจำเลยจะกำหนดว่า “ให้ถือว่าเงินบำเหน็จนี้เป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย” ก็ไม่มีผลให้เงินบำเหน็จกลับกลายสถานะเป็นค่าชดเชยไปได้
_______________________
การเตือนด้วยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็ถือเป็นการเตือนเป็นหนังสือได้ โดยต้องพิจารณาเนื้อหาเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ลูกจ้างกระทำผิด รายละเอียดเกี่ยวกับการที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพียงพอที่จะทำให้ลูกจ้างทราบถึงการฝ่าฝืนของตน และการเตือนว่าหากลูกจ้างกระทำผิดซ้ำคำเตือนจะถูกลงโทษทางวินัย หรือดำเนินการอย่างใด
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๘๗๓/๒๕๕๘ การเตือนเป็นหนังสือนั้นจะต้องประกอบไปด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ลูกจ้างกระทำผิด รายละเอียดเกี่ยวกับการที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพียงพอที่จะทำให้ลูกจ้างทราบถึงการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของตน และการเตือนว่าหากลูกจ้างกระทำผิดซ้ำคำเตือนจะถูกลงโทษทางวินัย หรือดำเนินการอย่างใด คดีนี้แม้นายจ้างจะเตือนด้วยจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ ก็ถือเป็นการเตือนเป็นหนังสือได้ เมื่อจดหมายดังกล่าวมีเนื้อหาว่าผลงานของลูกจ้างต่ำกว่าเป้าหมาย ไม่ส่งรายงานการขาย โดยอ้างข้อบังคับของนายจ้างข้อ ๓๔ (๑๐) ไร้ความสามารถหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม และระบุว่าหากไม่ปรับปรุงจะใช้มาตรการทางวินัยที่จำเป็น ถ้อยคำในการเตือนดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็นหนังสือเตือนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
_______________________
เมื่อการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย หากจำเลยประสงค์จะขอให้ศาลแรงงานไต่สวนถึงเหตุจำเป็นที่ไม่มาศาลเพื่อจะขอพิจารณาคดีใหม่ จำเลยต้องมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑, ๔๑
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗๓ ทวิ, ๗๖
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๒๕๕/๒๕๕๘ เมื่อการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗๓ ทวิ. ๗๖ ประกอบพระราช บัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ หากจำเลยประสงค์จะขอให้ศาลแรงงานไต่สวนถึงเหตุจำเป็นที่ไม่มาศาลเพื่อจะขอพิจารณาคดีใหม่ จำเลยต้องมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๑
_______________________
เมื่อได้ความเพียงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อพยุงฐานะของจำเลย ทั้งที่ผลประกอบการของจำเลยยังมีกำไร จึงไม่มีเหตุผลจำเป็นและสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๒๖๕-๑๐๒๗๔/๒๕๕๘ เมื่อจำเลยมีผลการประกอบการที่มีกำไรมาโดยตลอด ทั้งในปีที่เลิกจ้าง จำเลยก็ยังมีกำไรมากกว่า ๒๐ ล้านบาทซึ่งนับว่ามีจำนวนพอสมควรทั้งที่สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปในขณะนั้นไม่ดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าแนวโน้มในการดำเนินธุรกิจของจำเลยในปีต่อ ๆ ไปจะต้องประสบภาวะวิกฤตจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อได้ความเพียงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อพยุงฐานะของจำเลย ทั้งที่ผลประกอบการของจำเลยยังมีกำไร จึงไม่มีเหตุผลจำเป็นและสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
_______________________
สิทธิเรียกร้องที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษามีต่อบุคคลภายนอก ไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๗
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๕ (๔)
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๖๘
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๓๔๐-๑๐๓๗๘/๒๕๕๘ จำเลยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ จำเลยจึงไม่เป็นส่วนราชการ แต่เป็นองค์การของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตามมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง จำเลยมีรายได้จากเงินผลประโยชน์จากการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของจำเลยรวมอยู่ด้วย และมาตรา ๖๘ วรรคสองบัญญัติว่า “รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวง การคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ” ทั้งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ไม่มีบทบัญญัติให้ทรัพย์สินของจำเลยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องที่จำเลยมีต่อบุคคลภายนอกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๗ ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๕ (๔)
_______________________
โจทก์เป็นลูกจ้างทำงานให้แก่จำเลยตามข้อตกลงที่โจทก์ต้องได้รับค่าตอบแทนแล้ว แม้ยังไม่มีการกำหนดจำนวนค่าตอบแทนกันแน่นอน คงมีเพียงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าตอบแทนที่จะจ่ายกัน ก็จะตีความว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์ไม่ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕, ๖, ๑๑, ๕๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๒๖๘/๒๕๕๘ แม้ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลย (บริษัทหลักทรัพย์) จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการตกลงเกี่ยวกับอัตราการจ่ายค่าตอบแทนที่แน่นอนเป็นการเฉพาะระหว่างโจทก์และจำเลย คงมีเพียงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าตอบแทนที่จะจ่ายเมื่อรวมกับเงินเดือนประจำแล้ว ผู้จัดการสาขาจะได้รับไม่เกินร้อยละ ๖ ของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของสาขา หรือไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าก็ตาม ก็พึงอนุมานได้ว่าถึงหากจะไม่ทำความตกลงกันในข้อนี้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์ก็จะได้ทำขึ้นสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ส่วนที่ได้ตกลงกันแล้วย่อมเป็นอันสมบูรณ์รวมทั้งข้อที่จำเลยตกลงจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์ด้วย สำหรับจำนวนค่าตอบแทนที่จำเลยจะจ่ายโจทก์เป็นจำนวนเท่าใดนั้น ก็ต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต และตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานให้แก่จำเลยตามข้อตกลงที่โจทก์ต้องได้รับค่าตอบแทนแล้ว แม้ยังไม่มีการกำหนดจำนวนค่าตอบแทนกันแน่นอน คงมีเพียงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าตอบแทนที่จะจ่ายกัน ก็จะตีความว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์หรือโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนไม่ได้ เพราะเป็นการตีความไปในทางที่เป็นผลร้ายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น... เมื่อโจทก์ได้รับเงินเดือนไปแล้ว ๑๒ เดือน เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนส่วนที่เหลืออีกเดือนละ ๘๐,๐๐๐ บาท รวม ๑๒ เดือน เป็นเงิน ๙๖๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยไม่ชำระได้ชื่อว่าผิดนัด จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
_______________________
ข้ออ้างที่ว่าโจทก์ต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาตลอดจึงรวบรวมเงินมาวางศาลไม่ได้นั้น เป็นความบกพร่องในการดำเนินกิจการของโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าคดีมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานจะขยายระยะเวลาวางเงินให้แก่โจทก์
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคสาม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๒๘๗/๒๕๕๘ โจทก์อ้างว่ากิจการของโจทก์ต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาตลอดจึงรวบรวมเงินไม่ได้ (ทำให้ไม่มีเงินที่ต้องจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมาวางต่อศาลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคสาม ตามที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินและศาลได้อนุญาตมา ๒ ครั้งแล้ว) ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวเป็นความบกพร่องในการดำเนินกิจการของโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าคดีมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานจะขยายระยะเวลาวางเงินให้แก่โจทก์ต่อไปอีก
_______________________
ค่าบริการไม่ใช่ค่าจ้างอันจะต้องนำมาเป็นฐานการคำนวณเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๕, ๔๖, ๔๗
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๒๙๒/๒๕๕๘ ค่าบริการเป็นเงินที่โจทก์ซึ่งประกอบกิจการโรงแรม เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ในอัตราร้อยละ ๑๐ ของราคาขายห้องพัก อาหารและค่าใช้บริการอื่น ๆ แล้วนำมาจัดสรรเป็น ๒ ส่วนแรกร้อยละ ๗๕ แบ่งให้ลูกจ้างทุกคนคำนวณจ่ายให้ตามวันที่มาทำงานจริง โดยเงินที่จัดสรรแต่ละเดือนจะไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือจัดสรรไว้ในบัญชีกองทุนเซอร์วิสชาร์จสำรองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งจ่ายให้กรณีที่ค่าบริการต่ำกว่าเดือนละ ๒,๐๐๐ บาทด้วย คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรเงินค่าบริการในแต่ละเดือน ค่าบริการจึงเป็นเงินที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ เพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์เพื่อจูงใจให้ลูกจ้างให้บริการลูกค้าด้วยดี ค่าบริการจึงมิใช่เงินของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง แต่โจทก์ทำหน้าที่เรียกเก็บเงินดังกล่าวแทนลูกจ้างโจทก์และมีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการมาจัดสรรโจทก์ไม่เคยจ่ายเงินของโจทก์เป็นค่าบริการแก่ลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ค่าบริการจึงไม่ใช่ค่าจ้างตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ อันจะต้องนำมาเป็นฐานการคำนวณเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา ๔๖ และ ๔๗
นิติทัศน์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๓๘ – ๕๗๔๒/๒๕๔๘ ค่าบริการเป็นเงินที่นายจ้าง(ในกิจการโรงแรม) เรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราร้อยละ ๑๐ นายจ้างหักเป็นเงินสวัสดิการพนักงานร้อยละ ๒๒ ที่เหลือนำมาแบ่งให้พนักงาน เงินค่าบริการจึงเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการ ไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
_______________________
นายจ้างจะมีสิทธิหักเงินประกันหรือนำเงินประกันไปชดใช้ค่าเสียหายได้นายจ้างต้องได้รับความเสียหายก่อน นายจ้างจะอาศัยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่ง หรือประกาศของนายจ้างมาหักเงินประกันโดยที่ลูกจ้างไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายย่อมไม่ได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๓๔๒/๒๕๕๘ บทบัญญัติมาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ หมายความว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันที่เป็นเงินและลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างจึงมีสิทธินำเงินดังกล่าวไปชดใช้ให้แก่นายจ้างตามเงื่อนไขของการเรียกหรือรับเงินประกัน หรือตามข้อตกลง หรือได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ดังนั้น การที่นายจ้างจะมีสิทธิหักเงินประกันหรือนำเงินประกันไปชดใช้ค่าเสียหายได้นายจ้างต้องได้รับความเสียหายก่อน หากนายจ้างไม่ได้รับความเสียหายก็ย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าว นายจ้างจะอาศัยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่ง หรือประกาศของนายจ้างมาหักเงินประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายของลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายย่อมไม่ได้ มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นว่าวัตถุประสงค์ของการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายจะขยายไปเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือขยายไปตามอำเภอใจของนายจ้าง
_______________________
ในชั้นไกล่เกลี่ยศาลแรงงานยังมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดอันเป็นฐานที่จะไปวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่เพียงใด เงินที่จำเลยตกลงจ่ายให้โจทก์ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นเงินช่วยเหลือ ไม่ใช่ค่าชดเชย การไกล่เกลี่ยของศาลแรงงานจึงมิใช่การไกล่เกลี่ยให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับเงินต่ำกว่าค่าชดเชยตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๓๕๒/๒๕๕๘ บทบัญญัติมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ หมายความว่า ในการไกล่เกลี่ยคดีแรงงานวัตถุประสงค์หลักให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยให้คดีระงับโดยนายจ้างและลูกจ้างมีความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไป ซึ่งการตกลงหรือประนี ประนอมยอมความนั้นต้องตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย หากนายจ้างกับลูกจ้างไม่สมัครใจตกลงหรือประนีประนอมยอมความที่จะให้มีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างต่อไป บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันเป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันเป็นอย่างอื่นซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายก็ย่อมกระทำได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากนายจ้าง ในชั้นไกล่เกลี่ย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์กับผู้รับมอบอำนาจจำเลยตกลงกันได้โดยฝ่ายจำเลยตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์และฝ่ายโจทก์ขอถอนฟ้อง ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนปัญหาว่าศาลแรงงานไกล่เกลี่ยแล้วโจทก์ไม่ได้รับ ค่าชดเชยเลยหรือได้รับเงินจำนวนต่ำกว่าค่าชดเชยที่กฎหมายกำหนดจะเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ในชั้นไกล่เกลี่ยศาลแรงงานยังมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดอันเป็นฐานที่จะไปวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่เพียงใด เงินที่จำเลยตกลงจ่ายให้โจทก์ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นเงินช่วยเหลือ ไม่ใช่ค่าชดเชย การไกล่เกลี่ยของศาลแรงงานจึงมิใช่การไกล่เกลี่ยให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับเงินต่ำกว่าค่าชดเชยตามกฎหมาย
_______________________
ลูกจ้างปฏิบัติผิดหน้าที่โดยเก็บหมายแจ้งอายัดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งให้แก่นายจ้างเพื่อมิให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต และเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙(๒)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๓๕๔/๒๕๕๘ การที่โจทก์มีหน้าที่รับพัสดุและไปรษณีย์ที่ส่งมายังที่ทำการของจำเลยและคัดแยกส่งให้จำเลยและพนักงานของจำเลย แต่โจทก์กลับปฏิบัติผิดหน้าที่โดยเก็บหมายแจ้งอายัดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งให้แก่จำเลยก็เพื่อมิให้จำเลยหักเงินเดือนโจทก์ส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามกฎหมายซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์เอง การกระทำของโจทก์โดยทั่วไปย่อมรู้ถึงผลเสียหายที่จะเกิดแก่นายจ้างได้ว่าการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เจ้าพนักงานตามกฎหมายย่อมมีอำนาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่นายจ้างได้ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลย เพราะจำเลยมิได้ปฏิบัติตามหมายแจ้งอายัด แม้ในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมิได้ยึดทรัพย์ของจำเลยก็เพราะโจทก์นำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้บางส่วน ก็ต้องถือว่าเกิดความเสียหายแก่จำเลยแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙(๒) และเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
_______________________
ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายที่นายจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่นายจ้างเกี่ยวด้วยทรัพย์สินนั้น นายจ้างไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายดังกล่าว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๔๒๙/๒๕๕๘ ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายที่นายจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นเพียงหนี้ที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่ ทั้งค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายกับข้ออ้างเรื่องความเสียหายจากการที่ลูกจ้างไม่ส่งมอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารการทำงานของสถานที่ก่อสร้าง ๑๓ แห่งเมื่อลูกจ้างลาออกจากงานนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่นายจ้างเกี่ยวด้วยทรัพย์สินนั้น ดังนั้น นายจ้างไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๑
_______________________
การที่นายจ้างรับเงินหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างไว้ และต่อมาลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างหักเงินประกันการทำงานของลูกจ้างนำไปชำระค่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของลูกจ้าง ซึ่งเป็นการยินยอมให้นายจ้างมีสิทธิไม่ต้องคืนเงินหลักประกันให้แก่ลูกจ้างทั้งที่ไม่ใช่หนี้ค่าเสียหายจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จึงขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะ นายจ้างมีหน้าที่คืนเงินหลักประกันการทำงานให้แก่ลูกจ้างภายใน ๗ วัน นับแต่วันเลิกจ้างและเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙, ๑๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๖๒๐/๒๕๕๘ การที่นายจ้างรับเงินหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างไว้ ๓,๐๐๐ บาท และต่อมาลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างหักเงินประกันการทำงานของลูกจ้าง ๑,๖๐๐ บาท นำไปชำระค่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของลูกจ้าง ซึ่งเป็นการยินยอมให้นายจ้างมีสิทธิไม่ต้องคืนเงินหลักประกันให้แก่ลูกจ้างทั้งที่ไม่ใช่หนี้ค่าเสียหายจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จึงขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงนี้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ นายจ้างจึงไม่มีสิทธิหักเงินหลักประกันดังกล่าวของลูกจ้างไว้ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างมีหน้าที่คืนเงินหลักประกันการทำงานให้แก่ลูกจ้างภายใน ๗ วัน นับแต่วันเลิกจ้าง แต่นายจ้างไม่ดำเนินการจึงผิดนัดชำระหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
_______________________
การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ศาลแรงงานมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ แล้วพิพากษายกฟ้องไปตามพยานหลักฐานและประเด็นในคดี ไม่ใช่การพิจารณาโดยขาดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑, ๔๐
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๗
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๖๓๕/๒๕๕๘ ศาลแรงงานนัดพิจารณาและกำหนดประเด็นข้อพิพาทในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ เมื่อไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความตกลงกันไม่ได้จึงนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๕ ดังนั้นวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๕ จึงเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ไม่ใช่วันนัดพิจารณาตามาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน ศาลแรงงานมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ แล้วพิพากษายกฟ้องไปตามพยานหลักฐานและประเด็นในคดี ไม่ใช่การพิจารณาโดยขาดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๗ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
_______________________
การที่ลูกจ้างมีเพศสัมพันธ์กับนายจ้างเป็นไปโดยความสมัครใจเป็นการส่วนตัว ทั้งที่ลูกจ้างมีสามีและบุตรแล้วเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินที่นายจ้างสั่งจ่ายเป็นเช็คช่วยชำระหนี้ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการที่นายจ้างใช้อำนาจบังคับบัญชาบีบบังคับลูกจ้างในหน้าที่การงานให้ต้องจำยอมมีเพศสัมพันธ์แต่ประการใด การกระทำของนายจ้างจึงหาใช่เป็นการล่วงเกินทางเพศต่อลูกจ้างตามความหมายในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๖ ไม่
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๖
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๙๓๙/๒๕๕๘ เมื่อปี ๒๕๓๘ โจทก์เสนอขายอาคารพาณิชย์ให้จำเลยที่ ๒ ในราคา ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งสองฝ่ายนัดไปเจรจากันที่โรงแรมม่านรูด ในที่สุดจำเลยที่ ๒ ปฏิเสธไม่ซื้อ แต่เสนอขอจะใช้หนี้แทนโจทก์โดยมีเงื่อนไขให้โจทก์มีเพศสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๒ เป็นข้อแลกเปลี่ยน โจทก์สมัครใจยอมร่วมเพศกับจำเลยที่ ๒ เป็นครั้งแรก โดยจำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ ๑๐๐,๐๐๐ บาท และบุคคลทั้งสองยังคงมีเพศสัมพันธ์ด้วยความสมัครใจกันมาอีกหลายครั้ง เกือบทุกครั้งจำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คมอบให้โจทก์ จนถึงประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๓ โจทก์ไปทำงานกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ได้มีเพศสัมพันธ์กันต่อมาโดยจำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่โจทก์เกือบทุกครั้งเหมือนเดิมจนกระทั่งโจทก์ยื่นใบลาออกจากงานในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ หลังจากนั้นโจทก์ยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๒ อีกเป็นครั้งสุดท้าย โดยครั้งนี้จำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็ค ๑๑ ฉบับ เป็นเงิน ๓.๐๐๐.๐๐๐ บาท มอบให้โจทก์ จะเห็นว่าการที่โจทก์มีเพศสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๒ เป็นไปโดยความสมัครใจเป็นการส่วนตัว ทั้งที่โจทก์มีสามีและบุตรแล้วเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินที่จำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คเพื่อช่วยชำระหนี้ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ ๒ ใช้อำนาจบังคับบัญชาบีบบังคับโจทก์ในหน้าที่การงานให้ต้องจำยอมมีเพศสัมพันธ์แต่ประการใด การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงหาใช่เป็นการล่วงเกินทางเพศต่อโจทก์ตามความหมายในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๖ ไม่ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำฟ้อง
_______________________
ลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยแสดงเจตนาแก่นายจ้าง และเมื่อแสดงเจตนาดังกล่าวแล้วไม่อาจถอนหรือยกเลิกเจตนานั้นได้ก็ตาม แต่กรณีด้งกล่าวหมายถึงลูกจ้างแสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวขอถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมพร้อมใจของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเพื่อยกเลิกหรือถอนการแสดงเจตนาของลูกจ้างที่ขอเลิกสัญญาจ้างแต่อย่างใด
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๖
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๑๔๕/๒๕๕๘ แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๖ ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ ลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยแสดงเจตนาแก่นายจ้าง และเมื่อแสดงเจตนาดังกล่าวแล้วไม่อาจถอนหรือยกเลิกเจตนานั้นได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวหมายถึงลูกจ้างแสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวขอถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมพร้อมใจของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเพื่อยกเลิกหรือถอนการแสดงเจตนาของลูกจ้างที่ขอเลิกสัญญาจ้างแต่อย่างใด เมื่อลูกจ้างขอลาออกโดยให้มีผล ๓๐ วันข้างหน้า ต่อมานายจ้างและลูกจ้างปรับความเข้าใจกันได้แล้ว และทั้งสองฝ่ายตกลงยกเลิกและยินยอมให้ถอนการแสดงเจตนาลาออกของลูกจ้าง กรณีจึงทำให้การลาออกของลูกจ้างถูกถอนไปแล้ว กรณีเช่นนี้หาขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่
_______________________
คดีที่ลูกจ้างเป็นโจทก์ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยเพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้น ศาลแรงงานชอบที่จะเรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๔๑๗/๒๕๕๘ คดีที่ลูกจ้างเป็นโจทก์ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยเพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้น ศาลแรงงานชอบที่จะเรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
_______________________
เดิมสถานประกอบกิจการมีสำนักงานแห่งเดียวที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้เปิดอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสาคร และจดทะเบียนเปลี่ยนสถานประกอบกิจการแห่งใหม่เป็นสำนักงานใหญ่ ส่วนแห่งเดิมเป็นสาขา แล้วทยอยปิดสำนักงานเดิมเป็นแผนก ๆ และย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ จนครั้งสุดท้ายประกาศย้ายลูกจ้างทั้งหมดจากสำนักงานเดิมไปอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ถือเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามมาตรา ๑๒๐
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๕๕๐/๒๕๕๘ เดิมปี ๒๕๓๖ โจทก์ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ให้บริการดูแลผลิตภัณฑ์และจัดส่งและจำหน่ายสินค้า มีสำนักงานเทพลีลาเป็นสถานที่ประกอบกิจการแห่งเดียวซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๕๔๕ ซอยรามคำแหง ๓๗ ถนนรามคำแหง แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ต่อมาในปี ๒๕๔๙ โจทก์ได้เปิดสถานประกอบกิจการอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๓๐/๘๘ หมู่ที่ ๑ ถนนเจษฎาวิถี ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสถานประกอบกิจการแห่งใหม่เป็นสำนักงานใหญ่ (สินสาคร) และสำนักงานเทพลีลาเป็นสำนักงานสาขา แล้วโจทก์เริ่มทยอยปิดส่วนงานเป็นแผนก ๆ ไป โดยย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ (สินสาคร) ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๙ เรื่อยมาจนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒ โจทก์ปิดประกาศย้ายลูกจ้างในแผนกที่เหลืออยู่ที่สำนักงานเทพลีลาทั้งหมดไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ (สินสาคร) โดยปิดสำนักงานเทพลีลานั้น ถือว่าเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๐ แล้ว
_______________________
การนำคดีไปสู่ศาลแรงงานด้วยการฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนนั้น ผู้เป็นโจทก์ย่อมฟ้อง “คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน” เป็นจำเลยได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟ้อง “กรรมการ” แต่ละคนเป็นจำเลย
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๓๑, ๓๒, ๓๖, ๕๒, ๕๓
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘(๒)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๗๒/๒๕๕๘ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๓๑ บัญญัติให้มีคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนโดยให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒ โดยอำนาจหน้าที่ประการหนึ่งตามมาตรา ๓๒ (๕) คือ การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๕๒ ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการนั้น มาตรา ๓๖ บัญญัติให้การประชุมของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม จึงเห็นได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต้องกระทำในรูปของคณะกรรมการซึ่งเป็นคณะบุคคล หาใช่กรรมการแต่ละคนจะมีอำนาจหน้าที่โดยตัวเองไม่ ดังนั้น การฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงเป็นการฟ้องในทางตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่ฟ้องกรรมการในฐานะส่วนตัว การที่ศาลแรงงานจะวินิจฉัยให้เพิกถอนคำวินิจฉัยทั้งหมดหรือบางส่วน หรือไม่เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าว หามีผลกระทบต่อสิทธิของกรรมการรายบุคคลไม่ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ได้
_______________________
เมื่อนายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างมารายงานตัวในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ แต่ลูกจ้างไม่มารายงานตัวและไม่เข้าทำงาน จนกระทั่งนายจ้างมีหนังสือเลิกจ้างในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง, ๑๑๙(๕)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๗๓/๒๕๕๘ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยย่อมต้องอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของจำเลย เมื่อจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์มารายงานตัวในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ และโจทก์ไม่มารายงานตัวและไม่เข้าทำงานกับจำเลย แม้โจทก์จะอ้างว่าใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่หลังจากที่โจทก์ใช้สิทธิดังกล่าวแล้วก็ปรากฏว่าโจทก์ไม่กลับไปทำงานกับจำเลยในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ จนกระทั่งจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙(๕)
_______________________
ค่าคอมมิสชันเป็นค่าจ้างที่นายจ้างต้องนำไปรวมกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามกฎหมายประกันสังคม
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๗๓๐/๒๕๕๘ เมื่อค่าคอมมิสชันเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขายตามหลักเกณฑ์การจ่ายของนายจ้าง อันเป็นเงินที่ลูกจ้างตำแหน่งดังกล่าวได้รับการจำหน่ายสินค้าของนายจ้างซึ่งคิดคำนวณจากยอดสินค้าที่จำหน่ายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งค่าคอมมิสชันนี้ลูกจ้างจะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขายที่ลูกจ้างสามารถขายได้ จึงเห็นได้ว่าค่าคอมมิสชันเป็นเงินส่วนที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างดังกล่าวเป็นการตอบแทนการทำงานโดยตรงในวันและเวลาทำงานปกติโดยคิดตามผลงานที่ทำได้ ดังนั้น ค่าคอมมิสชันจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๕ นายจ้างต้องนำไปรวมกับเงินเดือนลูกจ้างมาเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมด้วย
_______________________
คอมพิวเตอร์ของนายจ้างที่ให้ลูกจ้างใช้ในการทำงานมีคลิปภาพเปลือยของชายหญิง แม้เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยก็ตาม แต่ก็เป็นการประพฤติตนในลักษณะที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นกรณีที่ร้ายแรง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙(๔)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๗๓๕-๑๓๗๓๖/๒๕๕๘ คอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ให้โจทก์ใช้ในการทำงานมีคลิปภาพเปลือยของชายหญิง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจกจ่ายให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่นตามที่จำเลยกล่าวอ้าง พฤติกรรมของโจทก์ดังกล่าว แม้เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบการใช้คอมพิวเตอร์และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยก็ตาม แต่ก็เป็นการประพฤติตนในลักษณะที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นกรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย แต่การกระทำของโจทก์ถือว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้า ทั้งเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรและเพียงพอ ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
_______________________
แม้ข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสภาการเหมืองแร่ซึ่งเป็นนายจ้างจะกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานก็ตาม แต่เมื่อสภาการเหมืองแร่แจ้งต่อลูกจ้างซึ่งจะเป็นเลขาธิการว่าจะไม่ได้รับค่าชดเชย หากลูกจ้างตกลงรับข้อเสนอก็ให้มีหนังสือแจ้งสภาการเหมืองแร่ทราบ ลูกจ้างได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างซึ่งระบุว่าจะไม่ได้รับค่าชดเชย สัญญาจ้างในส่วนค่าชดเชยชอบด้วยกฎหมาย สภาการเหมืองแร่เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔ วรรคสอง
กฎกระทรวง (พ.ศ.๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๖๒/๒๕๕๘ เมื่อข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๗) แห่งพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้จ่ายค่าชดเชยแก่พนักงาน ข้อบังคับดังกล่าวจึงมีผลบังคับใช้ แต่กรณีของโจทก์ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ แจ้งว่าโจทก์ไม่ได้รับค่าชดเชย หากโจทก์ตกลงรับข้อเสนอก็ให้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ ๑ ทราบ โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างซึ่งระบุว่าลูกจ้าง (โจทก์) จะไม่ได้รับค่าชดเชย แสดงว่าโจทก์สมัครใจทำสัญญาจ้างกับจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้รับค่าชดเชย อันเป็นการไม่ใช้บทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ หมวด ๑๑ ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา ๑๑๘ ถึง มาตรา ๑๒๒ ทั้งนี้โจทก์ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง (พ.ศ.๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ข้อ (๓) โจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงสามารถตกลงกันว่าจำเลยที่ ๑ จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ได้ สัญญาจ้างในส่วนค่าชดเชยจึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
_______________________
กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ท่าเรือกรุงเทพไม่ใช่งานขนส่ง
พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๑
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๒๕, ๒๖, ๒๘(๒)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๙๒๑/๒๕๕๘ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย (การท่าเรือแห่งประเทศไทย) ประจำอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพ มีหน้าที่ขับรถเครื่องมือทุ่นแรงซึ่งเป็นรถสำหรับใช้ยกตู้สินค้าจากเรือสินค้าที่เข้าเทียบท่าของจำเลย โดยยกตู้สินค้าจากเรือลงเทียบท่าลานสินค้าของจำเลย และเป็นหัวหน้าหมู่ควบคุมดูแลรักษาเครื่องมือทุ่นแรง ลักษณะงานของโจทก์จึงเป็นเพียงการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าอยู่ในบริเวณของท่าเรือ ไม่ได้ส่งสินค้าพ้นจากบริเวณท่าเรือเพื่อให้ถึงผู้รับหรือเจ้าของสินค้า จึงมิใช่งานขนส่ง อีกทั้งในเรื่องนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๔๓๔-๑๖๖๕๐/๒๕๕๖ วินิจฉัยไว้แล้วว่ากิจการของจำเลยที่ท่าเรือกรุงเทพไม่ใช่งานขนส่ง ดังนี้ งานที่โจทก์ทำจึงมิใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๒๘(๒) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามข้อ ๒๕ และข้อ ๒๖
_______________________
หากนายจ้างเห็นว่าการแจ้งข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมการเจรจาด้วย และหากนายจ้างเห็นว่าคณะกรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานใช้สิทธิแต่งตั้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับการแต่งตั้งดังกล่าว ไม่เป็นกรณีที่นายจ้างจะนำคดีมาฟ้องศาลได้
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓, ๑๖, ๒๑
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๙๒๕/๒๕๕๘ หากโจทก์ (นายจ้าง) เห็นว่าการแจ้งข้อเรียกร้องของจำเลย (สหภาพแรงงาน)ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมการเจรจากับจำเลย และหากมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นโจทก์กับจำเลยก็จะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทแรงงานนั้นตามลำดับขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดก่อน จะด่วนนำคดีมาสู่ศาลไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ขั้นตอนในการแจ้งข้อเรียกร้อง เจรจาและไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ต้องหยุดชะงักหรือถูกประวิงเวลาเพื่อไม่เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และหากโจทก์เห็นว่าคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยใช้สิทธิแต่งตั้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างนั้นไปอย่างลูกจ้างธรรมดา ในชั้นนี้โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
_______________________
นายจ้างปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ ไม่ดูแล บำรุงรักษารถให้บริการเสิร์ฟอาหารให้ดีพอ จนเป็นเหตุให้รถไหลมาชนกระแทกลูกจ้างได้รับความเสียหาย เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวมีอายุความสิบปี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐, ๔๒๐, ๕๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๑๕๕/๒๕๕๘ การที่จำเลยในฐานะนายจ้างปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ ไม่ตรวจสอบ ดูแล บำรุงรักษารถให้บริการเสิร์ฟอาหารให้ดีพอจนเป็นเหตุให้เบรกเสียใช้การไม่ได้แล้วไหลมาชนกระแทกโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น นอกจากเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างแล้ว ยังถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมต้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานได้อีกฐานหนึ่ง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
_______________________
หากโจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อของตน และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินอย่างละเอียดรอบคอบ โจทก์ต้องพบการกระทำที่มิชอบของผู้ใต้บังคับบัญชา อันจะส่งผลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่สามารถทุจริตยักยอกเงินของจำเลยในระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งเป็นจำนวนถึง ๙๒๑,๔๖๔.๕๐ บาท พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นการกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๘, ๑๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๒๖๔/๒๕๕๘ โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน บริหารจัดการในสำนักงานให้เกิดความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามคำสั่งของจำเลย การที่โจทก์ไม่ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบสั่งจ่าย บันทึกอนุมัติค่าใช้จ่าย เอกสารประกอบการเบิกจ่ายต่าง ๆโดยเฉพาะในส่วนที่โจทก์มาทำงานในวันหยุดว่าโจทก์มาทำงานในวันหยุดด้วยหรือไม่ โจทก์ไม่ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายให้รอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหายจากการจ่ายเงินโดยไม่มีหลักฐานการเบิกจ่ายและปลอมแปลงหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินและเบิกซ้ำ จนทำให้นางสาว ล. ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการเงินและการบัญชีภายใน ทำการทุจริตปลอมลายมือชื่อโจทก์ พนักงานจำเลยและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวังอย่างร้ายแรงซึ่งโจทก์จักต้องมีในฐานะผู้อำนวยการ ซึ่งหากโจทก์ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อของตน และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินอย่างละเอียดรอบคอบ โจทก์ต้องพบการกระทำที่มิชอบของนางสาว ล. อันจะส่งผลให้นางสาว ล. ไม่สามารถทุจริตยักยอกเงินของจำเลยในระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งเป็นเงินจำนวนมากถึง ๙๒๑,๔๖๔.๕๐ บาท พฤติการณ์ของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว การที่จำเลย(รัฐวิสาหกิจ)มีคำสั่งให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ ๔๐ ของค่าเสียหายจากการกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ดังกล่าว เป็นเงิน ๓๖๘,๕๘๕.๕๘ บาท ตามความเห็นของกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางอันเป็นไปตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๘ ประกอบมาตรา ๑๐ จึงชอบแล้ว
_______________________
เมื่อครบกำหนดการจ้างแล้ว นายจ้างยังมิได้เลิกจ้างลูกจ้างทันทียังคงให้ทำงานต่อไป ทั้งยอมจ่ายค่าจ้างให้ จึงต้องถือว่าได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาจ้างเดิม การที่โจทก์ไม่ยอมลงนามผูกพันตามสัญญาจ้างที่ปรับปรุงใหม่ ทั้งที่โจทก์เป็นผู้บริหารของจำเลย แต่กลับไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลย จึงเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต และกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๑, ๕๘๓
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๒๗๖/๒๕๕๘ เดิมโจทก์ทำสัญญาจ้างกับจำเลยมีกำหนดระยะเวลา ๒ ปี แต่เมื่อครบกำหนดการจ้างแล้ว จำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ทันทียังคงให้โจทก์ทำงานต่อไป ทั้งยังยอมจ่ายค่าจ้างให้ จึงต้องถือว่าได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาจ้างเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๑ กลายเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างกันไว้ นอกจากนี้ ตามสัญญาจ้างดังกล่าวได้ระบุเงื่อนไขว่า หากครบกำหนดการจ้าง ๒ ปี และโจทก์ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานแล้ว จำเลยจะจ้างโจทก์ต่อไปอีกคราวละไม่เกิน ๒ ปี เมื่อจำเลยแจ้งให้โจทก์ลงนามในสัญญาฉบับใหม่ซึ่งต่ออายุสัญญาจ้างออกไปไม่ถึง ๖ เดือน โจทก์ยอมลงนาม ต่อมาจำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ลงนามในสัญญาจ้างอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีการเพิ่มเงื่อนไขให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์จากเดิม ๑ ครั้ง เมื่อครบกำหนดการจ้าง ๒ ปี เป็น ๓ ครั้ง เมื่อครบกำหนด ๑ ปี, ๑ ปี ๖ เดือน และ ๒ ปี ตามลำดับ หากผลการประเมินครั้งใดไม่ผ่านเกณฑ์ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างก่อนครบกำหนดการจ้าง ๒ ปี ได้ก็ตาม แต่ก็มีการต่ออายุสัญญาจ้างออกไป ๒ ปี และกำหนดเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากสัญญาจ้างฉบับแรกให้เท่ากับเงินเดือนอัตราสุดท้ายของโจทก์ สัญญาจ้างฉบับต่อมาจึงเป็นคุณแก่โจทก์และไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ยังคงไม่ยอมลงนามโดยทำหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่ยอมลงนามทั้งที่ตามข้อบังคับและระเบียบของจำเลยกำหนดให้การจ้างลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการต้องทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือและจ้างเป็นคราว ๆ คราวละ ๒ ถึง ๔ ปี หากครบกำหนดการจ้างดังกล่าวแล้วคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยมีอำนาจขยายระยะเวลาดำรงตำแหน่งผู้จัดการได้อีกคราวละไม่เกิน ๒ ปี มีผลทำให้การจ้างโจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบดังกล่าวด้วย การที่โจทก์ไม่ยอมลงนามผูกพันตามสัญญาจ้างที่ปรับปรุงใหม่ ทั้งที่โจทก์มีตำแหน่งเป็นถึงผู้จัดการซึ่งเป็นผู้บริหารของจำเลย แต่กลับละเลยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยให้ถูกต้อง จึงเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
_______________________
ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร และค่าสวัสดิการช่วยเหลือการเดินทางมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๒๗๗/๒๕๕๘ ค่าเช่าบ้านเดือนละ ๒๕๐๐ บาท นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อช่วยเหลือในการดำรงชีวิตและลดค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง จึงมีลักษณะเป็นสวัสดิการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย สำหรับค่าอาหารเดือนละ ๔๔๐ บาท มีหลักเกณฑ์การจ่ายว่าลูกจ้างต้องทำงานไม่ต่ำกว่าวันละ ๔ ชั่วโมงและใน ๑ เดือนมาทำงานไม่ต่ำกว่า ๒๐ วัน โดยจ่ายเป็นคูปองไปซื้ออาหารในโรงอาหาร ไม่จ่ายเป็นเงินสด ส่วนค่าสวัสดิการช่วยเหลือการเดินทางเดือนละ ๖,๕๓๔ บาท ใช้วิธีจ่ายเป็นค่าน้ำมันรถตามเขตการทำงาน และจะได้รับไม่แน่นอนทุกเดือนขึ้นอยู่กับว่ามาทำงานเป็นจำนวนกี่วัน มีลักษณะเป็นสวัสดิการ เงินทั้งสามประเภทดังกล่าวมิได้จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติจึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
_______________________
การที่นายจ้างใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาเลิกจ้างลูกจ้าง จึงถือว่ามีสาเหตุจำเป็นอันสมควรและเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๖๖๙/๒๕๕๘ จำเลยทั้งสามประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอันเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงแบบสนามบินสุวรรณภูมิหลายครั้ง โดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าจ้าง) ทำให้จำเลยทั้งสามจัดทำแผนงานทางวิศวกรรมที่ต้องส่งให้ผู้รับเหมาหลักไม่ทัน จำเป็นต้องเพิ่มวิศวกรและนักเขียนแบบเพื่อเร่งงานให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็มีโปรแกรมลดทอนค่าใช้จ่าย แม้จะไม่มีรายละเอียดและขั้นตอนหรือหลักเกณฑ์เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ผู้บริหารของจำเลยทั้งสามก็ได้ประชุมถึงปัญหาและการคาดการณ์ที่จะไม่มีกำไรในอนาคต จึงให้มีการปรับปรุงงบประมาณรายจ่าย แม้ขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามขาดทุนก็ตาม แต่ก็แสดงอย่างชัดแจ้งว่าในปีถัดจากนั้นจำเลยทั้งสามขาดทุนจริงติดต่อกันหลายปี ต้องระดมเงินทุนเพิ่ม และการลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นที่ไม่จำเป็น ปรากฏว่าตำแหน่งของโจทก์อยู่ในแผนภูมิองค์กรและบุคคลในระนาบเดียวกับโจทก์นั้น มีโจทก์คนเดียวที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานเอกสารเป็นส่วนใหญ่ การที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์ แต่ไปจ้างวิศวกรและนักเขียนแบบที่ขาดแคลนและเป็นปัญหาอยู่ขณะนั้นเพิ่ม เป็นทางแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของจำเลยทั้งสาม เนื่องจากจำเลยทั้งสามเห็นว่างานหลักของโจทก์ที่เกี่ยวกับเอกสารตามที่ระบุในสัญญาสำคัญน้อยกว่างานด้านวิศวกรที่กำลังเป็นปัญหาสาเหตุหักที่ทำให้จำเลยทั้งสามขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งเลิกจ้างลูกจ้างอื่นคือนายแพทริกซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางเทคนิคและนายซีฮาวซึ่งทำหน้าที่ผู้ประสานงานทางเทคนิค มิใช่โจทก์ถูกเลิกจ้างเพียงคนเดียว ไม่มีลักษณะที่บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสามกลั่นแกล้งโจทก์ เมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสามทำสัญญาให้จำเลยทั้งสามมีสิทธิเลิกสัญญาได้ก่อนกำหนด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามมีตำแหน่งงานอื่นที่เหมาะสมกันทักษะฝีมือความสามารถของโจทก์ ซึ่งในขณะนั้นจำเลยทั้งสามต้องการวิศวกรและนักเขียนแบบ แต่โจทก์ไม่มีความความสามารถในด้านดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสามใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาเลิกจ้างโจทก์ จึงถือว่ามีสาเหตุจำเป็นอันสมควรและเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
_______________________
ตามประกาศของนายจ้างแสดงว่าการที่นายจ้างจะจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานนั้น พนักงานดังกล่าวจะต้องมีฐานะเป็นพนักงานอยู่ในวันครบกำหนดจ่ายเงินโบนัสด้วย เมื่อลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสในงวดการจ่ายเดือนมกราคม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๖๗๓/๒๕๕๘ การจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานนั้นนอกจากจะเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างตั้งใจทำงานแก่นายจ้างแล้วยังเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจอยู่ปฏิบัติงานกับนายจ้างในระยะยาวด้วย เมื่อพิจารณาประกาศของนายจ้างที่ระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเท่านั้น โดยในประกาศยังระบุว่าบริษัทจะจ่ายเงินโบนัสให้เป็นระยะเวลารวม ๖ งวด งวดละเท่า ๆ กัน โดยจะจ่ายพร้อมเงินเดือนในเดือนมกราคม ๒๕๕๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ มีนาคม ๒๕๕๑ เมษายน ๒๕๕๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ และมิถุนายน ๒๕๕๑ จากประกาศดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานนั้น พนักงานดังกล่าวจะต้องมีฐานะเป็นพนักงานอยู่ในวันครบกำหนดจ่ายเงินโบนัสด้วย เมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสในงวดการจ่ายเดือนมกราคม ๒๕๕๑ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์
_______________________
สหภาพแรงงานที่จะยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะต้องมีสมาชิกเป็นลูกจ้างต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดในวันที่ยื่นข้อเรียกร้อง หากในระหว่างดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้องตามขั้นตอนของกฎหมายในการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการวินิจฉัยชี้ขาด สมาชิกของสหภาพแรงงานลดลงเหลือไม่ถึงหนึ่งในห้าของลูกจ้างทั้งหมดในวันใด ข้อเรียกร้องหรือข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นอันสิ้นสภาพลงในวันนั้น
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๙๒๖/๒๕๕๘ การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง โดยจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้างจะต้องมีอยู่ครบจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด หาใช่มีอยู่ครบจำนวนเฉพาะในวันยื่นข้อเรียกร้องไม่ การที่ลูกจ้างระดับบังคับบัญชาลาออกจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานลูกจ้างระดับผู้บังคับบัญชา คงเหลือจำนวนลูกจ้างระดับบังคับบัญชาที่เป็นสมาชิกของโจทก์ไม่ถึงหนึ่งในห้าตามกฎหมายก่อนที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์และนายจ้างเสร็จสิ้นนั้น ข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวจึงสิ้นสภาพลงนับแต่วันที่สมาชิกของโจทก์ไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้ต้องถือเอาจำนวนสมาชิกขณะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาข้อพิพาทแรงงานเป็นสำคัญ
นิติทัศน์
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ กำหนดให้นายจ้างหรือลูกจ้างที่ประสงค์จะเรียกร้องให้มีการกำหนด หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ โดยฝ่ายลูกจ้างสามารถแจ้งข้อเรียกร้องได้สองกรณี คือ
กรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้องเอง ข้อเรียกร้องนั้นต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๕ ของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น
กรณีที่สหภาพแรงงานเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง สหภาพแรงงานนั้นต้องมีสมาชิกเป็นลูกจ้างไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง
ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติและเป็นที่ถกเถียงในทางทฤษฎีกฎหมายก็คือ จำนวนที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว (ร้อยละ ๑๕ หรือ ๑ ใน ๕) นั้น จะต้องมีอยู่ครบในวันที่แจ้งข้อเรียกร้องเท่านั้น หรือต้องคงมีอยู่ตลอดไปจนสิ้นสุดขั้นตอนในการดำเนินการเจรจา ไกล่เกลี่ย ชี้ขาดหรือวินิจฉัยตามที่กฎหมายกำหนด
คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้เป็นที่ยุติ ซึ่งก็คงเป็นไปตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาสองฉบับที่ได้วินิจฉัยไว้เมื่อสามสิบปีก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๑๕/๒๕๒๕ การที่ลูกจ้างผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องถอนชื่อออกจากการสนับสนุนข้อเรียกร้องด้วยความสมัครใจ เหลือจำนวนผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ครบร้อยละ ๑๕ ของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทแรงงานนั้นจึงสิ้นสภาพลงนับแต่วันที่ลูกจ้างผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๐๗-๒๖๐๘/๒๕๒๗, ๓๒๔๑/๒๕๒๗, ๓๙๙๘/๒๕๒๘ ข้อเรียกร้องของลูกจ้างมีลายมือชื่อลูกจ้างไม่ครบร้อยละ ๑๕ ตามมาตรา ๑๓ ข้อเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่มีผลและตกไป แม้ต่อมาตัวแทนลูกจ้างได้ยื่นรายชื่อและลายมือชื่อผู้เรียกร้องเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อรวมกับรายชื่อเดิมที่ยื่นไว้ทำให้ครบจำนวนตามกฎหมายก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับถูกต้องตามกฎหมายได้
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
_______________________
เงินที่นายจ้างมีหน้าที่จะต้องจ่ายเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงยังไม่ใช่เงินที่มีสภาพเป็นค่าจ้างที่นายจ้างจะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปี คงเป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕, ๑๐
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๖๘(๑), ๘๒
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๐๓, ๒๐๔, ๒๔๔
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๒๙/๒๕๕๘ เมื่อองค์การค้าของคุรุสภาปรับขึ้นอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภามาตลอดตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ การปฏิบัติดังกล่าวขององค์การค้าของคุรุสภาซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของจำเลยจึงเป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาก็ยอมรับการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนและได้รับเอาเงินเดือนที่ปรับขึ้นให้มาตลอด จึงเกิดเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ใช้บังคับ เมื่อจำเลยรับโดยกิจการมาจากองค์การค้าของคุรุสภา จำเลยต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย สมาชิกของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาที่ถูกโอนมาเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยจึงยังคงมีสิทธิได้รับการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๘๒ วรรคสอง และเมื่อพิจารณาสถานะขององค์การค้าของจำเลยซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของจำเลย เจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยถือเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยด้วย ซึ่งจำเลยสามารถขอรับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๖๘ (๑) เพื่อใช้ในการดำเนินงานในกิจการทั้งปวงของจำเลยรวมถึงองค์การค้าของจำเลยด้วย แต่หลังจากที่จำเลยรับโอนองค์การค้าของคุรุสภามาเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลย และรับโอนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภามาเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยปรับขึ้นอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานของจำเลย แต่จำเลยไม่ปรับขึ้นอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยทั้งที่ต่างก็เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยเช่นกัน ดังนี้ย่อมไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันตลอดมา จำเลยจะอ้างเหตุที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินแล้วไม่ปรับขึ้นอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ปรับขึ้นอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงเป็นการพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๘ แล้ว แต่ทั้งนี้การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้ปรับค่าจ้างมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ที่ยังมีสถานะเป็นลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจในวันที่คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติ การปรับขึ้นอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยที่นำหลักการของมติคณะรัฐมนตรีมาปรับใช้จึงต้องเป็นไปตามหลักการดังกล่าวนั้นด้วย สมาชิกของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจในแต่ละครั้ง จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีในแต่ละครั้งนั้น จำเลยมีหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยต้องปรับขึ้นอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีครั้งแรกวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ให้มีผลนับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๗ ครั้งที่สองวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙ ให้มีผลนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ และครั้งที่สามวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ ให้มีผลนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ จึงเป็นกรณีที่จำเลยมีหนี้ที่จะต้องปรับขึ้นอัตราเงินเดือนย้อนหลังให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยที่เป็นสมาชิกของโจทก์ถือว่าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ ซึ่งมิใช่หนี้ที่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ดังนี้จำเลยจะผิดนัดก็ต่อได้รับการเตือนหรือทวงถามให้ชำระหนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการเตือนหรือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใด จึงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๐๓ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๐๔ วรรคหนึ่ง เงินที่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์จะได้รับจากจำเลยเป็นเงินที่จำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงยังไม่ใช่เงินที่มีสภาพเป็นค่าจ้างที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คงเป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๔ วรรคหนึ่ง จำเลยต้องรับผิดชำระเงินที่จะได้รับการปรับอัตราเงินเดือนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยที่เป็นสมาชิกของโจทก์
_______________________
เมื่อกระบวนการเจรจาต่อรองตามกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้น การที่ลูกจ้างซึ่งมิได้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องแต่แรก มาลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติมในระหว่างกระบวนการใช้สิทธิตามกฎหมาย ถือว่าลูกจ้างดังกล่าวเป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องด้วยแล้ว จึงเป็นลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและร่วมนัดหยุดงานตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้ได้
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ วรรคสาม, ๓๔
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๓๔๗/๒๕๕๘ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ข้อเรียกร้องนั้นต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น... ” แม้ผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘ จะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อภายหลังจากที่ฝ่ายลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้อง ฝ่ายโจทก์กับฝ่ายลูกจ้างมีเจรจากันตามกฎหมายแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ย แสดงว่ากระบวนการเจรจาต่อรองตามบทบัญญัติของกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การที่ผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘ ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติมในระหว่างกระบวนการใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวนั้น จึงถือว่าผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘ เป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องด้วยแล้ว การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับ ไม่มีผลทำให้ผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘ ไม่อาจใช้สิทธิของตนตามกฎหมายได้ เมื่อผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘ เป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงร่วมนัดหยุดงานตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้ได้ ในระหว่างที่ผู้กล่าวหาที่ ๒ และที่ ๑๕ ถึงที่ ๑๘ ร่วมนัดหยุดงานโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการผละงานหรือละทิ้งหน้าที่ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง
_______________________
เมื่อคำสั่งที่ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนลูกจ้างคนละ ๑ ขั้น ขัดต่อระเบียบว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนที่นายจ้างได้กำหนดไว้ จึงไม่มีผลใช้บังคับ
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๓ (๒)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๔๐๐/๒๕๕๘ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๗ ที่เห็นชอบให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินตามมาตรา ๑๓ (๒) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งสามารถดำเนินการได้เองเมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้ความเห็นชอบแล้ว เป็นเพียงการให้อำนาจคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งในเรื่องการปรับปรุงค่าจ้างในการกำหนดอัตราค่าจ้างแรกบรรจุ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ - ขั้นสูงของลูกจ้างทุกตำแหน่ง การปรับปรุงสวัสดิการยกเว้นค่ารักษาพยาบาล และการปรับปรุงประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้เท่านั้น หาได้มีมติให้การปรับขึ้นอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจไม่ กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่การปรับเพดานหรือฐานเงินเดือนดังที่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกอ้าง โรงงานยาสูบโดยคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจึงไม่อาจอ้างมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมามีมติและคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกเป็นกรณีพิเศษ คนละ ๑ ขั้นได้ การเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกต้องตกอยู่ภายใต้ระเบียบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานยาสูบ พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งตามข้อ ๓ ข้อ ๖ ข้อ ๑๑ และข้อ ๑๓ กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งสรุปได้ว่า การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีให้เลื่อนตั้งแต่วันที่ ๑ ของเดือนแรกของปีที่ได้เลื่อน อันได้แก่ วันที่ ๑ ตุลาคม ของปีงบประมาณภายใต้วงเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนที่ได้รับอนุมัติไว้ในแต่ละปี โดยปกติให้สั่งเลื่อนได้ปีละหนึ่งขั้นทั้งการเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกตามฟ้องก็มิใช่การเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษตามข้อ ๑๔ ถึงข้อ ๑๖ ดังนั้น คำสั่งที่ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ทั้งแปดร้อยหกคนละ ๑ ขั้น ให้มีผลในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๗ จึงขัดต่อระเบียบดังกล่าว ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ แม้คณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจะมีคำสั่งให้ปรับเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกไปแล้วอันอาจมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกมากกว่าก็ตาม แต่สภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยพลการนั้นต้องเป็นสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นโดยชอบเท่านั้น เมื่อคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบมีมติและคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกโดยไม่ชอบตามระเบียบข้างต้น โจทก์ทั้งแปดร้อยหกจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นย่อมไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณ
_______________________
การที่ลูกจ้างรับซองใส่เงินจากลูกค้า ๕๐๐ บาท หลังจากการประเมินราคาหลักทรัพย์ของลูกค้า เพื่อช่วยค่าน้ำมันรถโดยไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ ย่อมเป็นความผิดฐานไม่รายงานเรื่องดังกล่าวเท่านั้น ยังไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙, ๑๑๙
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๖๕๘/๒๕๕๘ การที่โจทก์รับซองใส่เงินจากลูกค้ารายนางสาวจันทิมา ๕๐๐ บาท หลังจากการประเมินราคาหลักทรัพย์ของนางสาวจันทิมาเพื่อช่วยค่าน้ำมันรถโดยไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการตรวจและตีราคาประเมินหลักประกันสินเชื่อนของลูกค้ารายนางสาวจันทิมา โจทก์ได้ตีราคาให้สูงกว่าราคาปกติเพื่อให้ประโยชน์เป็นพิเศษกว่าลูกค้ารายอื่น ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายเรียกเอาเงินดังกล่าวเองเพื่อเป็นค่าตอบแทนหรือค่าอำนวยการความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน กรณีน่าจะเป็นเรื่องที่นางสาวจันทิมาให้รางวัลหรือของขวัญเพื่อเป็นสินน้ำใจแก่โจทก์มากกว่า การที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย (นายจ้าง) ระบุให้พนักงานที่รับของขวัญหรือรับการเลี้ยงรับรองมูลค่าไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท ต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชา ย่อมแสดงว่า จำเลยที่ ๑ ผ่อนปรนให้พนักงานรับของขวัญหรือรับเลี้ยงในวงเงินดังกล่าวได้ แต่ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ กรณีจึงเป็นความผิดฐานไม่รายงานเรื่องดังกล่าวเท่านั้น ยังไม่เพียงพอรับฟังว่าเข้าข่ายติดสินบน หรือรับผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบจากลูกค้าซึ่งจะถือว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่ เป็นเพียงการฝ่าฝืนระเบียบตามนโยบายการให้ของขวัญและการเลี้ยงรับรองมูลค่าไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท แล้วไม่รายงานต่อผู้มีหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่เป็นความผิดร้ายแรง เมื่อจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ วรรคหนึ่ง และเมื่อมิใช่การเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบทั้งจำนวนจากจำเลยที่ ๑ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ... ) และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่รายงานเรื่องการรับเงินของขวัญ ๕๐๐ บาท ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ทั้งที่โจทก์ทำงานเกี่ยวข้องกับการประเมินราคาหลักทรัพย์ซึ่งมีช่องทางจะก่อให้เกิดการทุจริตได้ง่าย และจำเลยเข้มงวดกับการป้องกันการทุจริตโดยกำหนดนโยบายการให้หรือรับของขวัญและรับการเลี้ยงรับรองขึ้น การที่โจทก์ฝ่าฝืนนโยบายดังกล่าวแสดงว่าโจทก์มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตหรือไม่น่าไว้วางใจที่จะให้ทำงานต่อไป การที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและถือว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งของนายจ้างในเรื่องการรับเงินของขวัญเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ ๑ จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ในกรณีที่นายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง นั้น ลูกจ้างซึ่งเป็นโจทก์จะต้องมีคำขอมาในคำฟ้องด้วยศาลจึงจะพิพากษากำหนดให้ได้ เว้นแต่ศาลวินิจฉัยอย่างชัดแจ้งว่ากำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เกินกว่าที่โจทก์มีคำขอเพราะเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ ในกรณีนี้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เท่านั้น และศาลแรงงานกลางกำหนดให้โดยมิได้อ้างเหตุอันสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความตามมาตรา ๕๒ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
_______________________
การที่ลูกจ้างมีคำสั่งระงับการขายสินค้าหุ่นขี้ผึ้งมือกากเพชรโดยไม่มีอำนาจซึ่งทำให้นายจ้างเสียหายย่อมเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ไว้วางใจให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถือว่านายจ้างมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๖๘๘/๒๕๕๘ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) บัญญัติไว้ชัดเจนในวรรคหนึ่งว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน... ” หาได้บัญญัติเรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ไม่ จึงเป็นบทกฎหมายที่ใช้พิจารณาเรื่องค่าชดเชยเท่านั้น ไม่ใช่ข้อที่จะใช้พิจารณาเรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แม้การกระทำของโจทก์ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง แต่ถือได้ว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยในฐานะนายจ้างจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยมีระเบียบข้อบังคีบเกี่ยวกับการทำงานในหมวดที่ ๖ กำหนดเรื่องวินัยและโทษทางวินัย โดยแยกกำหนดวินัยในข้อ ก จำนวน ๓๐ ข้อย่อย และกำหนดโทษทางวินัยในข้อ ข ซึ่งมีโทษ ข้อย่อย คือตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร พักงานเพื่อการลงโทษโดยไม่จ่ายค่าจ้างเป็นเวลาไม่เกิน ๗ วัน และให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก และกำหนดไว้ในวรรคท้ายว่าจำเลยสงวนสิทธิที่จะลงโทษลูกจ้างตามสมควรแห่งความผิดที่ได้กระทำ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับข้างต้นแต่อย่างใด ดังนี้จะเห็นได้ว่าไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อใดที่กำหนดว่าจะลงโทษไล่ลูกจ้างออกจากงานหรือเลิกจ้างได้ต้องเป็นกรณีลูกจ้างกระทำผิดวินัยมีโทษที่ร้ายแรงเท่านั้น ทั้งการที่โจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แม้เป็นกรณีไม่ร้ายแรงก็ตาม แต่การที่โจทก์มีคำสั่งระงับการขายสินค้าหุ่นขี้ผึ้งมือกากเพชรโดยไม่มีอำนาจซึ่งทำให้จำเลยเสียหายย่อมเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถือว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
_______________________
เมื่อข้อบังคับของนายจ้างกำหนดขั้นตอนการลงโทษทางวินัยลูกจ้างโดยให้อยู่ภายใต้การทบทวนของผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปเพื่อให้การลงโทษนั้นเหมาะสม หากผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาแล้วลงโทษเป็นอย่างอื่น กรณีมิใช่เป็นการลงโทษซ้ำสำหรับการกระทำอันเดียว
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘ (๖)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๒๒๘/๒๕๕๘ ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดขั้นตอนการลงโทษทางวินัยพนักงานลูกจ้างโดยให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นมีอำนาจลงโทษพนักงานลูกจ้างสำหรับความผิดเล็กน้อยไม่ร้ายแรงได้ แต่ให้อยู่ภายใต้การทบทวนของผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปเพื่อให้การลงโทษนั้นเหมาะสม โดยระเบียบข้อบังคับกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นที่มีคำสั่งลงโทษในชั้นต้นมีหน้าที่ต้องรายงานการดำเนินการลงโทษทางวินัยนั้นไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงจนถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่เพื่อพิจารณาทบทวนได้ หากผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาแล้วลงโทษเป็นอย่างอื่นก็ให้การลงโทษโดยผู้บังคับบัญชาชั้นต้นถูกยกเลิกเพิกถอนไป กรณีนี้จึงมิใช่เป็นการลงโทษซ้ำสำหรับการกระทำผิดอันเดียวกัน
นิติทัศน์
คดีอุทาหรณ์กรณีลงโทษซ้ำสำหรับการกระทำผิดอันเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๕๑-๓๔๕๒/๒๕๔๙ วันเกิดเหตุลูกจ้างกลุ่มหนึ่งมารวมตัวและไม่ได้เข้าทำงานระหว่าง ๗.๐๐ – ๗.๑๕ นาฬิกา นายจ้างได้ชี้แจงให้ลืมเหตุการณ์และให้เลิกแล้วต่อกันและมีการหักค่าจ้างซึ่งเป็นการลงโทษซึ่งใช้กับกรณีที่มาสาย ถือว่านายจ้างไม่ติดใจลงโทษทางวินัยอย่างอื่นแก่ลูกจ้างแล้ว นายจ้างจะนำเหตุการณ์นั้นมาลงโทษเลิกจ้างอีกไม่ได้
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
_______________________