กฎหมายแรงงาน : บทศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา ย่อคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน ๒๕๕๘ ศ. เกษมสันต์ วิลาวรรณ
นายจ้างออกคำสั่งลงโทษลูกจ้างด้วยการพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างและระบุคำเตือนในคำสั่งดังกล่าวด้วยได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘, ๑๑๙ (๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๔/๒๕๕๘ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่า “ถ้าพนักงานฝ่าฝืนหรือกระทำผิดวินัยของบริษัทจะถูกลงโทษตามลักษณะความผิดหรือความหนักเบาของการกระทำความผิด การลงโทษจะเป็นไปตามข้อหนึ่งข้อใดหรือหลายข้อรวมกัน ก็ได้” การที่โจทก์กระทำผิดครั้งแรกและจำเลยลงโทษด้วยการให้พักงาน ๗ วันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่ให้โจทก์กระทำผิดซ้ำอีก หากยังกระทำผิดวินัยไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยจะพิจารณาลงโทษขั้นปลดออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ตามเอกสารที่จำเลยอ้างซึ่งมีลักษณะเป็นหนังสือเตือนด้วย เป็นการใช้ดุลพินิจในการใช้อำนาจบริหารจัดการของจำเลยที่จะลงโทษโจทก์หลายข้อรวมกันได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่จำเลยลงโทษพักงานโจทก์และขณะเดียวกันในคำสั่งลงโทษก็ยังมีคำเตือนอยู่ด้วย หาทำให้หนังสือเตือนนั้นสิ้นผลไปด้วยการพักงานที่โจทก์ได้รับไปแล้วไม่ เมื่อโจทก์แสดงกริยาวาจาก้าวร้าว และท้าทายต่อผู้บังคับบัญชาจนถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว ต่อมาโจทก์แสดงกริยาวาจาก้าวร้าว หยาบคาย และท้าทายต่อผู้บังคับบัญชาอีกอันเป็นการกระทำผิดลักษณะเดียวกันในหนังสือเตือน และยังไม่เกิน ๑ ปีนับแต่วันที่กระทำความผิด การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
นิติทัศน์
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘ กำหนดให้นายจ้างซึ่งมี
ลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไปจัดให้มี “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” โดยต้องมีรายละเอียด
เกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้างอย่างน้อย ๘ รายการ รวมทั้งเรื่อง “วินัยและโทษทางวินัย” ด้วย
ในเรื่องเกี่ยวกับโทษทางวินัยนั้น นายจ้างส่วนมากกำหนดโทษไว้ดังนี้
(๑) ตักเตือนด้วยวาจา
(๒) ตักเตือนเป็นหนังสือ
(๓) พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ๑ – ๗ วัน และตักเตือนเป็นหนังสือ
(๔) เลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชย
(๕) เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
ส่วนการพิจารณาว่าจะลงโทษลูกจ้างสถานใดในแต่ละการกระทำความผิดทางวินัยนั้น
เป็นดุลพินิจของนายจ้างในแต่ละสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างได้กำหนด
หลักเกณฑ์ในการลงโทษไว้ชัดเจนและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นั้น ก็จะเป็นการลงโทษทางวินัย
ที่เป็นไปโดยชอบ ดังที่ปรากฏในข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
การเลิกจ้างลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕, ๑๐
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๓๙ – ๑๕๔๕/๒๕๕๘ ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ตกลงกันใหม่กำหนดว่า การพิจารณาบอกเลิกจ้างในกรณีดังต่อไปนี้ เมื่อผลงานของพนักงานไม่เป็นที่น่าพอใจหรือคะแนนปฏิบัติหน้าที่ต่ำ และเมื่อลาป่วยเกิน ๓๐ วัน ต่อปีปฏิทิน โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯกำหนดไว้ ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ ๑ ที่ ๕ และที่ ๗ เพราะเหตุที่โจทก์ดังกล่าวมีผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจและได้รับคะแนนปฏิบัติหน้าที่ในระดับต่ำอันเป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ ส่วนโจทก์ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๖ ลาป่วยเกิน ๓๐ วัน ต่อปีปฏิทิน โดยไม่ปรากฏว่าการลาป่วยของโจทก์ดังกล่าวเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือประสบอุบัติเหตุต้องเข้ารับการรักษาตัวต่อเนื่องในโรงพยาบาลแต่ประการใด การเลิกจ้างโจทก์ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๖ เพราะเหตุที่โจทก์ดังกล่าวลาป่วยเกิน ๓๐ วัน ต่อปี จึงเป็นการเลิกจ้างตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอเช่นกัน มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
นิติทัศน์
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕, ๑๐ ได้กำหนดว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หมายถึง ข้อตกลงระหว่างนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และให้ถือว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘ เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย จากข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้แสดงว่าถ้ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลิกจ้างไว้เช่นใด และนายจ้างปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นั้น ก็จะไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
เมื่อนำข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๔/๒๕๕๘ มาพิจารณาประกอบ ก็จะได้หลักการหรือแนวปฏิบัติในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ นายจ้างควรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยและการเลิกจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
เมื่อการปรับอัตราค่าจ้างให้แก่พนักงานจะต้องใช้เงินจากงบประมาณของรัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้าง แต่รัฐวิสาหกิจนั้นไม่มีความสามารถที่จะกระทำได้ ทั้งมิได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากรัฐบาล จึงไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๓๑ – ๒๐๔๓/๒๕๕๘ จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ (องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์) จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา ๙ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ แสดงว่าการดำเนินการของจำเลยมิได้ใช้งบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่ใช้งบประมาณที่จำเลยได้มาจากการดำเนินการของจำเลยเอง ดังนั้น การปรับเงินเดือนตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ให้แก่พนักงานของจำเลยจึงต้องเป็นไปตามงบประมาณที่จำเลยมีอยู่ หรือให้รัฐบาลจ่ายเงินให้แก่จำเลยเท่าจำนวนที่จำเป็น เนื่องจากจำเลยประสบภาวะขาดทุนสะสมหลายปี จึงไมมีงบประมาณสำหรับจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ที่รอการจ่าย และยังมีภาระผ่อนชำระเงินบำเหน็จพนักงานที่เกษียณอายุ เมื่อการปรับอัตราค่าจ้างดังกล่าวจะต้องใช้เงินจากงบประมาณของจำเลยเอง และจำเลยไม่มีความสามารถที่จะกระทำได้ ทั้งมิได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากรัฐบาล การที่จำเลยไม่ปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์หนึ่งร้อยสิบสองคนจึงกระทำได้ และไม่ขัดต่อมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๗) ดังกล่าว และมติคณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗) แต่อย่างใด
เมื่อล่วงเลยกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว นายจ้างก็ไม่อาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามลูกจ้างทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางการค้าได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๒๐๒๕๕๘ การที่โจทก์ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้านั้น แม้ปรากฏว่าหลังจากจำเลยลาออกแล้ว ภายใน ๒ ปี จำเลยได้ไปทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาซึ่งจำเลยต้องรับผิดด้วยการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยเจตนาของคู่กรณีด้วยคือการงดเว้นทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าซึ่งห้ามจำเลยมิให้ทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าได้ก็ตาม แต่เมื่อการขอให้บังคับห้ามจำเลยมิให้ทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ล่วงเลยไปแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องมีคำสั่งห้ามจำเลยตามคำขอบังคับของโจทก์
นายจ้างมีหนังสือเลิกจ้างโดยระบุว่าลูกจ้างกระทำผิดฐานฉ้อโกง ก็ถือว่าได้ระบุข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑) และวรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๕๕/๒๕๕๘ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลุกจ้างในกรณีทุจริตต่อหน้าที่ โดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้ จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรม คือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยระบุเหตุผลในหนังสือเลิกจ้างว่าโจทก์ได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงจึงเป็นการระบุข้อเท็จจริงที่มีความหมายอยู่ในตัวว่าโจทก์ประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นกรณีทุจริตต่อหน้าที่ด้วย จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ วรรคท้ายแล้ว
เมื่อศาลแรงงานเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานเอกสารใดที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ย่อมมีอำนาจสั่งรับและรับฟังพยานหลักฐานนั้นได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๒๘/๒๕๕๘ โจทก์ส่งเอกสารที่ระบุว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยในฐานะที่เป็นผู้แทนโจทก์ และจำเลยดำเนินการถอนการบังคับคดีให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ อันเป็นการนำส่งเอกสารสำคัญแห่งคดีเพื่อใช้ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ เพื่อแสดงว่าจำเลยได้รับเงินจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์แล้วไม่นำส่งเงินแก่โจทก์ และจำเลยดำเนินการถอนการบังคับคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งที่ยังมีหนี้ตามคำพิพากษาที่ลูกหนี้ต้องชำระแก่โจทก์ แม้เป็นการส่งสำเนาเอกสารโดยโจทก์ไม่ยื่นสำเนาต่อศาลและไม่ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันสืบพยานก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานเอกสารดังกล่าวซึ่งสำคัญและเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ย่อมสั่งรับและรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ได้
นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างได้โดยไม่ต้องสอบสวนก่อน เว้นแต่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดไว้ให้สอบสวนก่อน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๓๕/๒๕๕๘ เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่ได้กำหนดว่าต้องมีการสอบสวนก่อนจึงจะสั่งพักงานได้ ดังนั้น การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์จึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว
นิติทัศน์
ข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๔/๒๕๕๘, ๑๕๓๙ – ๑๕๔๕/๒๕๕๘ ให้ข้อคิดและหลักการที่นายจ้างที่ฉลาดและแสนดีควรนำไปปรับใช้ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์
เกษมสันต์ วิลาวรรณ