เลิกจ้าง / นำภาพถ่ายร่วมประเวณีออกเผยแพร่เพื่อประจานหญิง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๙/๒๕๕๗ การที่โจทก์นำภาพถ่ายเปลือยของหญิงและภาพถ่ายการร่วมประเวณีระหว่างหญิงดังกล่าวกับโจทก์ที่โจทก์บันทึกไว้ออกเผยแพร่เพื่อประจานฝ่ายหญิงนั้น เป็นการกระทำของผู้ที่มีจิตใจผิดปกติที่คนธรรมดา
จะพึงกระทำ และการกระทำของโจทก์ปรากฏเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์รายวัน โดยในข่าวระบุว่าโจทก์เป็นพนักงานฝ่ายช่างของจำเลย จึงย่อมกระทบต่อเกียรติและชื่อเสียงของจำเลย ถือว่าโจทก์ไม่รักษาเกียรติและชื่อเสียงของจำเลยและยังเป็นการประพฤติชั่ว รวมทั้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีอีกด้วย แม้โจทก์จะกระทำนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาทำงานก็เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรม
นิติทัศน์
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘ ได้กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป ต้องจัดให้มี “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” โดยจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการต่าง ๆ ๙ รายการ โดยเฉพาะรายการที่ “(๖) วินัยและโทษทางวินัย” นั้น เป็นรายการที่ไม่มีหลักเกณฑ์ของกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าจะต้องกำหนดอย่างไร จึงทำให้นายจ้างต่างคนต่างกำหนดตามความรอบรู้หรือประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งยังมีข้อพิจารณาอยู่หลายประการ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ข้อห้ามหรือข้อต้องประพฤติที่นายจ้างกำหนดให้เป็นวินัยแก่ลูกจ้าง จะกำหนดให้ครอบคลุมความประพฤติของลูกจ้างได้เฉพาะในช่วงเวลาใด หรือเฉพาะในสถานที่ใดบ้าง ในทฤษฎีการขายเวลา ลูกจ้างขายเวลามาทำงานให้แก่นายจ้างเฉพาะช่วงเวลาทำงานปกติตามทีกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเท่านั้น ไม่ได้ขายทั้งยี่สิบสี่ชั่วโมง ทั้งวัน หรือทุกวัน ดังนั้น ช่วงเวลาอื่นที่มิใช่เวลาทำงานปกติ ที่ลูกจ้างมิได้ขายเพื่อใช้แรงงานทำงานให้แก่นายจ้าง จึงเป็นเวลาในชีวิตส่วนตัวของลูกจ้าง เป็นประชาชนหรือพลเมืองคนหนึ่ง มีอิสระที่จะกระทำการใดก็ได้ หากกระทำการใดที่ผิดกฎหมาย ก็จะถูกบ้านเมืองหรือรัฐลงโทษ หรือหากกระทำการใดที่ผิดศีลธรรมก็จะถูกสังคมนั้น ๆ ลงโทษ นายจ้างจึงไม่น่าจะมีสิทธิที่จะกำหนดข้อห้ามหรือข้อต้องประพฤติของลูกจ้างในช่วงเวลานอกเวลาทำงานปกติได้ ไม่ถือว่าลูกจ้างนั้นฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง และนายจ้างไม่มีสิทธิลงโทษลูกจ้างสำหรับความประพฤตินอกเวลาทำงานปกติ หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้
โดยปกติ วินัยที่นายจ้างกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น มี ๓ ประเภท คือ วินัยพิ้นฐาน วินัยเฉพาะตำแหน่งหน้าที่ และวินัยเฉพาะสถานประกอบกิจการ ในเรื่องวินัยพื้นฐาน นายจ้างมักนิยมกำหนดไว้ข้อหนึ่งว่า “พนักงานต้องรักษาเกียรติ.. และไม่ประพฤติชั่ว” ลูกจ้างคนใดมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม นายจ้างก็จะอ้างว่าลูกจ้างคนนั้นกระทำผิดวินัย ข้อ “ประพฤติชั่ว” ซึ่งจะมีผลเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง และหากการฝ่าฝืนนั้นเป็นกรณีที่ร้ายแรง นายจ้างก็เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งปรากฏข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาของศาลฎีกาหลายฉบับ เช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๑๒/๒๕๔๖ ลูกจ้างมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถูกพนักงานตำรวจจับกุมฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล ถือว่าลูกจ้างประพฤติชั่วอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๑๗/๒๕๔๓ ลูกจ้างเรียกร้องค่าตอบแทนในการติดต่อให้ผู้อื่นเข้าทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง และเข้าเป็นพนักงานของนายจ้าง ทั้งได้ติดต่อทำเอกสารปลอมเพื่อใช้ในการสมัครงานของผู้อื่นด้วย ถือได้ว่าประพฤติชั่ว เป็นการกระทำผิดวินัยที่ร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๖๐๙/๒๕๔๒ ลูกจ้าง(หญิง)มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนกต้อนรับเป็นชู้กับพนักงาน(ชาย)ช่างประจำโรงแรมของนายจ้าง แม้จะไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นภายในบริเวณโรงแรมหรือในเวลาทำงาน ก็ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาเกียรติและประพฤติชั่ว เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรง
การประพฤติชั่วนอกเวลาทำงานปกตินั้น แม้จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง(ตามที่ได้อภิปรายมาข้างต้น) แต่ลูกจ้างที่ประพฤติชั่วดังกล่าวก็นับว่าเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมหรืออุปนิสัยไม่เหมาะสมที่นายจ้างจะจ้างไว้ให้ทำงานต่อไป นายจ้างย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่จะเลิกจ้างลุกจ้างนั้นได้ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
เลิกจ้าง / มีพฤติกรรมไม่ทำตามคำสั่งของนายจ้างหลายประการ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๐/๒๕๕๗ ความผิดของโจทก์ฐานเปิดสอนพิเศษให้แก่นักศึกษาและรับเงินค่าสอนจากนักศึกษานั้น จำเลยทั้งสองลงโทษโจทก์ในความผิดดังกล่าวด้วยการลดขั้นเงินเดือน ๑ ขั้น จำเลยทั้งสองย่อมไม่อาจนำความผิดนั้นมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้อีก ส่วนความผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาของโจทก์ แม้ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง แต่โจทก์เป็นถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่กลับมีพฤติกรรมไม่ทำตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองหลายประการ (ไม่ไปนั่งประจำหมวดวิชาวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณ ไม่จัดทำเอกสารทางวิชาการให้สำเร็จลุล่วงฯ) กรณีจึงมีเหตุสมควรเพียงพอที่จำเลยทั้งสองจะเลิกจ้างโจทก์ได้การที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ทั้งการกระทำของโจทก์ดังกล่าวยังเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
นิติทัศน์
๑.ตามเรื่องราวที่ปรากฏในคดีซึ่งย่อไว้ข้างต้น แสดงว่าโจทก์ในคดีนี้ฟ้องจำเลยในข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ และในข้อหาเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒
ข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างนั้น หมายถึง การเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งต้องพิจารณาเหตุแห่งการเลิกจ้างในแต่ละกรณี อันมีเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ เหตุทางฝ่ายนายจ้าง เช่น นายจ้างเลิกกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน นายจ้างลดจำนวนพนักงาน เป็นต้น และเหตุทางฝ่ายลูกจ้าง เช่น ลูกจ้างมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ลูกจ้างไม่สามารถทำงานให้แก่นายจ้างอย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิมได้ เป็นต้น
สำหรับเหตุทางฝ่ายลูกจ้างนั้น หากลูกจ้างมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมโดยได้ กระทำการใดอันนายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างก็มีความชอบธรรมที่จะเลิกสัญญาจ้างลูกจ้างได้ ถือเป็น “เสรีภาพในการทำ(และเลิก)สัญญา” ของนายจ้าง โดยเฉพาะกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดเงื่อนไขให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้ ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ พะราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ มาตรา ๕๒ และมาตรา ๑๒๓ เป็นต้น ดังนั้น ในกรณีที่ลูกจ้างมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง และนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว การเลิกจ้างกรณีนี้ย่อมมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ข้อน่าพิจารณาต่อไปก็คือ หากลูกจ้างมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้นายจ้างมีสิทธิไล่(ลูกจ้าง)ออกโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกสํญญาจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว ก็น่าจะเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเช่นกัน
๒.ในข้อหาเกี่ยวกับการเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ บัญญัติว่า
“ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”
พฤติกรรมของโจทก์ในคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และไม่ทำตามคำสั่งของนายจ้างหลายประการ ซึ่งจะถือว่าเป็นการ “จงใจขัดคำสั่ง...” ก็ได้ หรือเป็นการ “ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่ง...เป็นอาจิณ” ก็ได้ แต่เนื่องจากพฤติกรรมของโจทก์มีหลากหลาย หากวินิจฉัยโดยรวม ก็พอที่จะถือได้ว่าเป็น “การกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต” (ซึ่งเป็นศิลปศาสตร์แห่งการวินิจฉัยคดี)
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
เลิกจ้าง / ขาดทุน ขายกิจการ ไม่มีธุรกิจดำเนินการต่อไป
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๑-๖๐๒/๒๕๕๗ แม้จำเลยจะขายหุ้นทั้งหมดให้บริษัทเอ. จำกัด ในราคาสูงโดยไม่ปรากฏว่าก่อนขายจำเลยประสบภาวะขาดทุนและจำเลยเลิกจ้างโดยไม่ได้เป็นความผิดของโจทก์ทั้งสองก็ตาม แต่การที่จำเลยขายกิจการทั้งหมดโดยไม่มีธุรกิจที่จะดำเนินกิจการอีกต่อไป ทั้งบริษัทแม่และบริษัทสาขาในต่างประเทศรวมถึงสาขาในประเทศไทยและจำเลยเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะโจทก์ทั้งสอง ทั้งจำเลยได้จ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษกรณีไม่ได้รับเสนองานจากบริษัทเอ. จำกัด ให้โจทก์ทั้งสองกับเงินพิเศษเนื่องจากทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่มีผลเป็นการเลิกจ้างให้โจทก์ที่ ๑ เป็นจำนวนพอสมควรนอกเหนือจากเงินที่จำเลยต้องจ่ายตามกฎหมายให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกด้วย ในกรณีเช่นนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทั้งสอง
นิติทัศน์
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง หมายถึง การเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ในคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวนหนึ่ง นายจ้างมักอ้างเหตุทางเศรษฐกิจ ผลประกอบการขาดทุน กรณีจึงมีข้อน่าพิจารณาว่า การเลิกจ้างเนื่องจากนายจ้างมีผลประกอบการขาดทุนนั้น เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่
เมื่อได้ศึกษาจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว พบว่าการเลิกจ้างโดยอ้างเหตุว่านายจ้างมีผลประกอบการขาดทุนนั้น อาจเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมก็ได้ หรือมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมก็ได้ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๕๐/๒๕๔๗ แม้ผลประกอบการของนายจ้างจะมีกำไรสุทธิน้อยลง เมื่อไม่ปรากฏว่างานของนายจ้างได้ลดน้อยลงมากหรือประสบภาวะการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่ายและลดจำนวนพนักงานเพื่อพยุงฐานะจำเลยให้อยู่รอด การเลิกจ้างลูกจ้างอ้างว่าเพื่อลดค่าจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๑๒๕๖-๑๒๕๙/๒๕๔๙ นายจ้างเลิกจ้างอ้างว่าคำสั่งซื้อลดลง จำต้องเลิกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่างานของนายจ้างได้ลดน้อยมากหรือประสบการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่ายโดยลดจำนวนพนักงานลง ทั้งในปีที่มีการเลิกจ้างและปีต่อมานายจ้างก็ยังคงมีกำไรสุทธิโดยเฉลี่ยปีละ ๑,๕๐๐ ล้านบาท การเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๙๗๙-๑๕๒๑๒/๒๕๕๓ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างสืบเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยอดสั่งซื้อสินค้าลดลง นายจ้างประกอบกิจการขาดทุนติดต่อกันถึง ๕ ปี ทั้งนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดโดยไม่ปรากฏว่ามีการกลั่นแกล้งแต่อย่างใด เป็นการเลิกจ้างที่มีความจำเป็นและสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
โดยสรุป หากนายจ้างขาดทุนจริง และขาดทุนติดต่อกันหลายปี การเลิกจ้างลูกจ้างก็ได้กระทำไปโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งลูกจ้าง ก็มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
ละเมิด / ชดใช้ค่าเสียหาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๐๒-๑๓๐๓/๒๕๕๗ จำเลย(บริษัทไม้อัดไทย จำกัด)เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น แม้จำเลยจะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ และตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ เนื่องจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ถือหุ้นอยู่เกินกว่าร้อยละ ๕๐ แต่จำเลยก็มิได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา จึงมิได้เป็นหน่วยงานของรัฐ และโจทก์ทั้งสิบก็มิใช่เจ้าหน้าที่ตามความหมายของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔ จึงไม่นำบทบัญญัติตามมาตรา ๘ และมาตรา ๑๐ ของพระราชบัญญัตินี้มาใช้แก่โจทก์ทั้งสิบ ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์ทั้งสิบกระทำการดังที่ถูกกล่าวหาแล้ววินิจฉัยให้โจทก์ทั้งสิบร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงชอบแล้ว
เลิกจ้าง / มีพฤติกรรมลักทรัพย์ ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๐๔/๒๕๕๗ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าในขณะที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่เป็นพนักงานขาย จำเลยได้นำสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ออกจากจุดขายไปให้บุคคลภายนอกโดยไม่มีการขายนำเงินผ่านพนักงานเก็บเงินเป็นมูลค่า ๙๐๙,๐๕๐ บาท และมีสินค้าอื่นสูญหายอีก ๑๒,๕๐๐ บาท รวมเป็นค่าเสียหาย ๙๒๑,๕๕๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้จากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้ในขณะเดียวกันโจทก์จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยข้อหาฉ้อโกงด้วยก็ตาม ในการพิจารณาคดีนี้ศาลแรงงานจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ไม่ต้องจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังข้อเท็จจริงที่จะปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา
เลิกจ้าง / ตกลงเลิกสัญญาจ้างกันด้วยการลาออก ไม่ใช่เลิกจ้าง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕, ๕๘๒
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๐๙/๒๕๕๗ แม้จำเลยเป็นราชการส่วนกลางได้รับยกเว้นมิให้อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๔ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าจ้างที่ค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่วงล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างที่ค้าง ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย และเรียกร้องค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่เพียงอย่างเดียว เมื่อโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิโดยจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินตามฟ้องจากจำเลยโดยมิได้ให้การเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นต่อสู้ให้เป็นประเด็นพิพาทเพื่อจะได้ส่งปัญหาดังกล่าวให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ วรรคสอง ก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาคดี เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้วจำเลยเพิ่งยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการล่วงเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาซึ่งการเลิกจ้างสัญญาจะกระทำได้ต่อเมื่อสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาตามสัญญา หรือตามข้อตกลงให้เลิกสัญญาของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งตามระเบียบข้อการลาออก ระบุว่าการลาออกจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อหัวหน้าโครงการล่วงหน้า ๑ เดือน และโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาจจะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบงานที่รับผิดชอบก่อนอนุมัติให้ออกได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ยื่นใบลาออกแล้วจำเลยโดยนางอมรรัตน์หัวหน้าฝ่ายบริหารและบริการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตกลงให้โจทก์ลาออกนั้น ย่อมเป็นการตกลงกันเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยสมดังประสงค์ของจำเลยที่ต้องการให้โจทก์ออกจากงานตามแบบรายงานผลการปฏิบัติงานแล้ว แม้โจทก์กับนางอมรรัตน์จะมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นวันลาออกก็ตาม แต่ก็หาทำให้ข้อตกลงเรื่องการเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยเสียไปไม่ เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญาจ้างแรงงานต่อกันด้วยการลาออก มิใช่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
เมื่อจำเลยไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ดังกล่าวมาข้างต้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของค่าจ้างค่าจ้างจ่ายในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคสอง จึงไม่ชอบ จำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยของค่าจ้างค้างจ่าย ๔,๖๗๘.๖๖ บาท เพียงอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕), ๒๔๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ / สหกรณ์การเกษตร
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔
กฏกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ข้อ ๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๘ /๒๕๕๗ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การเกษตร มีคณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนกระทำการอันมีผลผูกพันจำเลย จำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักสหกรณ์ จากข้อบังคับและระเบียบต่าง ๆ ของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยกำหนดประโยชน์ในทางธุรกิจไว้แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องดอกเบี้ย ค่าบริการ กิจการของจำเลยจึงเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ กิจการของจำเลยจึงมิใช่นายจ้างซึ่งลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ ไม่อยู่ในข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ ๓ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
เลิกจ้าง / ลักโทรศัพท์ผู้อื่นเป็นประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๗๔/๒๕๕๗ ตามหนังสือเลิกจ้างเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็สืบเนื่องมาจากโจทก์หยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของลูกค้าที่ธนาคาร ท. ไปโดยไม่ได้แจ้งให้ธนาคารดังกล่าวทราบและปิดโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อป้องกันการติดตามของเจ้าของ รวมทั้งพยายามบอกขายโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้อื่น ถือว่าโจทก์มีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แม้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้อื่นที่มิใช่ลูกค้าหรือผู้มาติดต่องานกับจำเลยและมิได้เกิดในสถานที่ทำงาน แต่ก็ยังคงเป็นความผิดอาญา หาเป็นเหตุให้โจทก์หลุดพ้นจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งการประพฤติชั่วนั้นมิได้หมายถึงเฉพาะความประพฤติในขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ย่อมหมายความรวมถึงความประพฤติที่พึงต้องปฏิบัติโดยทั่วไปด้วย ตามพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพฤติกรรมของโจทก์ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง การเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว
นิติอภิปราย
โปรดศึกษาใน “นิติทัศน์” ท้ายย่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๙/๒๕๕๗
ประกอบด้วย
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
การนำคดีไปสู่ศาลกรณีไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔๓ วรรคหนึ่ง, ๑๒๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๐๕/๒๕๕๗ เมื่อแม่บ้านของโจทก์ซึ่งทำงานอยู่ในสำนักงานของโจทก์เป็นผู้รับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ที่ ๔๖/๒๕๕๑ ที่ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๑ เช่นนี้ ต้องถือว่าโจทก์ได้รับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๑ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔๓ วรรคหนึ่ง แม้วันดังกล่าวจะเป็นวันเสาร์และเป็นวันหยุดทำการของบริษัทโจทก์ ทั้งฝ่ายบุคคลของบริษัทโจทก์เพิ่งได้รับคำสั่งดังกล่าวในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๓ ก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่จะยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๑ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ ๘ ที่๔๖/๒๕๕๑ จึงเป็นที่สุด ตามมาตรา ๑๒๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
เลิกจ้าง / ปรับโครงสร้างในการบริหารเพื่อลดการขาดทุน
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๐๘/๒๕๕๗ จำเลยมีปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่องโดยขาดทุนในปี ๒๕๔๘ จำนวน ๓,๐๕๙,๕๐๖,๘๓๕ บาท และขาดทุนในปี ๒๕๔๙ จำนวน ๒,๐๐๓,๔๗๙,๐๒๑ บาท รวมขาดทุนสะสม ๕,๐๖๒,๙๘๕,๘๕๖ บาท แต่จำเลยมีทุนจดทะเบียนดำเนินการเพียง ๔,๔๕๓,๓๔๙,๙๗๐ บาท ปรากฏตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุผลในการปรับโครงสร้างในการบริหารกิจการของจำเลยเพื่อลดการขาดทุนดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่จำเป็นในภาวการณ์ที่จำเลยขาดทุนจำนวนมาก การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรแล้ว ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำให้การ / ข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องหรืออำนาจศาล
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๐/๒๕๕๗ คดีนี้จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงาน เพราะการดำรงตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงาน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นเพียงกรณีที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การถึงอำนาจฟ้องของโจทก์เท่านั้น หาใช่การต่อสู้คดีในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ จำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงานมิใช่การจ้างทำของจึงชอบแล้ว
ค่าจ้าง / เบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ค่าดูแลลูกค้า ค่าพาหนะ ค่าคอมมิชชั่น...
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๓ - ๑๕๑๔/๒๕๕๗ เบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ และค่าดูแลลูกค้า จำเลยจะจ่ายให้โจทก์ทั้งสองตามที่จ่ายจริง หากโจทก์ทั้งสองไปทำงานที่ต่างจังหวัด ซึ่งจะต้องนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายมาแสดงและจำเลยจะจ่ายคืนให้ตามจำนวนเงินในใบเสร็จ เงินดังกล่าวจึงเป็นเพียงค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของโจทก์ทั้งสองเท่านั้น หาเป็นค่าจ้างไม่ สำหรับค่าพาหนะ จำเลยจะจ่ายให้ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองนำรถยนต์ส่วนตัวไปใช้ในการทำงาน หากไม่นำรถยนต์ส่วนตัวไปใช้ จำเลยก็ไม่จ่ายให้ จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อชดเชยกับการที่โจทก์ทั้งสองนำรถยนต์ส่วนตัวไปใช้ในการทำงาน ค่าพาหนะที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงหาได้จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานไม่ ย่อมไม่เป็นค่าจ้างเช่นกัน ส่วนค่าคอมมิชชั่นนั้น จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อให้พนักงานขายที่อยู่ในความดูแลของโจทก์ทั้งสองทำยอดขายเพิ่มขึ้น จึงมีลักษณะเป็นเงินจูงใจในการทำงานเท่านั้น หาใช่เป็นเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรงไม่ จึงไม่เป็นค่าจ้างอีกเช่นกัน โบนัสเป็นเงินรางวัลที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นพิเศษนอกเหนือจากค่าจ้าง หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายโบนัสจึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน สำหรับโจทก์ที่ ๒ เมื่อไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายโบนัสระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสจากจำเลย ส่วนโจทก์ที่ ๑ นั้น สัญญาจ้างแรงงานระบุว่า จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ที่ ๑ หากโจทก์ที่ ๑ ปฏิบัติงานครบ ๑ ปี เมื่อโจทก์ที่ ๑ รับว่าถูกเลิกจ้างก่อนที่จะครบ ๑ ปี และยังไม่ถึงกำหนดจ่ายโบนัสประจำปี โจทก์ที่ ๑ จึงหากมีสิทธิได้รับโบนัสจากจำเลยไม่ จำเลยประสบปัญหาเศรษฐกิจ จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างบริษัท จึงต้องลดจำนวนพนักงานลง นอกจากโจทก์ทั้งสองแล้ว ยังมีพนักงานในแผนกอื่นอีก ๑๕๐ คน ถูกเลิกจ้างเช่นเดียวกัน ซึ่งจำเลยไม่ได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างเฉพาะโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง
นิติทัศน์
กฎหมายแรงงานหลายฉบับได้กำหนดความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยและในการคำนวณเงินประเภทต่าง ๆ ที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายนั้นหรือในการคำนวณจำนวนเงินที่ได้รับการคุ้มครองในกฎหมายนั้น เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ ค่าชดเชยพิเศษแทนการยอกกล่าวล่วงหน้า เงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เงินสมทบกองทุนประกันสังคม และหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน เป็นต้น
เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้แตกต่างจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ ดังนั้น การพิจารณาว่า เงินจำนวนใดเป็น “ค่าจ้าง” ตามความหมายของกฎหมายฉบับใดหรือไม่ นั้น จักต้องพิเคราะห์จากบทนิยามของกฎหมายฉบับนั้น ๆ โดยเฉพาะ กฎหมายแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์ในการบัญญัติหลักเกณฑ์แตกต่างกันและได้กำหนดความหมายไว้แตกต่างกัน กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับก่อน ๆ (เช่น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน) ได้กำหนดความหมายคำว่า “ค่าจ้าง” ให้รวมถึงเงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ( แม้แต่สิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างก็ถือว่าเป็นค่าจ้างด้วย) โดยบัญญัติว่า “ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” เมื่อมีคดีไปสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยว่าเงินจำนวนใดเป็นค่าจ้างหรือไม่ จึงต้องยึดถือบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งมีผลให้เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างหลายประเภท ทั้งที่มีจำนวนเล็กน้อยและที่มีจำนวนมากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นค่าจ้าง ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารกฎหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่และปัญหาในการปฏิบัติตามกฎหมายของนายจ้างและลูกจ้าง เนื่องจากไม่ทราบและไม่อาจวินิจฉัยได้โดยง่ายว่าเงินจำนวนใดเป็นค่าจ้างบ้าง แต่เมื่อมีการยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการกำหนดความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ใหม่ โดยให้หมายความถึงเฉพาะ “เงิน” เท่านั้น(ไม่รวมสิ่งของ) และหมายเฉพาะเงินในส่วนที่ “นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน” ไว้ในสัญญาจ้างเท่านั้น โดยถือเอาเพียงเงินเดือนหรือเงินจำนวนมากที่สุดอันเป็นค่าจ้างหลักที่ได้ตกลงกันไว้ ไม่รวมถึงเงินประเภทต่าง ๆ ที่มีจำนวนเล็กน้อยอื่น ดังนั้น “ค่าจ้าง” ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงมีความหมายแคบกว่าที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเดิม และแคบกว่า “ค่าจ้าง” ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดความหมายไว้ว่า “ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอย่างอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลของงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน...”
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาว่าเงินประเภทต่าง ๆ เป็นค่าจ้างหรือไม่ โดยพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนั้นว่าอยู่ในความหมายดังกล่าวหรือไม่ มิได้พิจารณาเพียงชื่อเรียกเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากแต่ละสถานประกอบกิจการกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการจ่ายเงินประเภทนั้นแตกต่างกัน เช่น ค่าน้ำมันรถ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็น “ค่าจ้าง” ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๗๓/๒๕๒๘ ที่ ๗๓๑๖/๒๕๔๙ ที่ ๗๕๐ – ๗๕๑/๒๕๕๔ และวินิจฉัยว่าไม่เป็น “ค่าจ้าง” ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๐๑/๒๕๒๖ ที่ ๔๘๔๒/๒๕๔๘ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีที่เกี่ยวกับค่าจ้างแล้ว ก็จะได้ได้บทสรุปในการพิจารณาดังนี้
เงินจำนวนใด ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร หากจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ(โดยตรง) หรือจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำ มีอัตราหรือจำนวนที่แน่นอน โดยไม่ปรากฏวัตถุประสงค์การจ่ายเป็นประการอื่น ย่อมถือว่าเป็น “ค่าจ้าง”
เงินจำนวนใด ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร หากจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์แจ้งชัดว่าเพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง หรือเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างทำงานเพิ่มขึ้น หรือเพื่อเป็นรางวัลแก่ลูกจ้าง หรือเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง หรือเพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ลูกจ้างได้ออกไปเพื่อกิจการของนายจ้าง ย่อมไม่ถือว่าเป็น “ค่าจ้าง”
นับวันปัญหาว่าเงินจำนวนใดเป็น “ค่าจ้าง” หรือไม่ คงจะเพิ่มความสับสนและซับซ้อนยิ่งขึ้น หากมีการพิจารณาทบทวนกันใหม่โดยตระหนักถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เปลี่ยนไปดังกล่าวข้างต้น ก็อาจได้หลักการวินิจฉัยที่ทำให้ปัญหาลดลงหรือหมดไปได้
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
ประโยชน์ทดแทน / การส่งเงินสมทบให้ครบตามสิทธิกรณีว่างงาน
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๘/๒๕๕๗ การที่นายจ้างโจทก์มีการจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๐ ของเดือน จึงต้องถือเอารอบค่าจ้างที่จ่ายในวันที่ ๒๐ ของเดือนใดเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบในเดือนนั้น เมื่องวดที่ ๕ นายจ้างได้หักเงินสมทบจากค่าจ้างวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ถึง ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ ส่งจำเลยแล้ว จึงถือว่าจำเลยได้รับเงินสมทบรายเดือนของเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ แล้ว สำหรับเงินสมทบที่คำนวณจากค่าจ้างระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ ย่อมเป็นเงินสมทบสำหรับค่าจ้างเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ มิใช่ของเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ เนื่องจากหากถือว่าเงินสมทบระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ เป็นเงินสมทบของเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ แล้วจะทำให้โจทก์ถูกหักเงินสมทบเกินกว่าร้อยละห้าของเงินเดือนโจทก์เดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท เมื่อโจทก์จ่ายเงินสมทบ ๖ งวด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม ๒๕๔๙ แล้ว ซึ่งตามเอกสารการนำส่งเงินสมทบและตามคำวินิจฉัยที่ ๖๐๑/๒๕๕๐ ของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ก็ได้ระบุว่าการหักเงินในรอบระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ จึงเป็นเงินสมทบที่หักในงวดที่หกของเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ ซึ่งไม่ขัดกับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๖ วรรคท้าย จึงถือว่าโจทก์จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๘ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างรายวันไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑ (๑)
ละเมิด / ผิดสัญญาจ้างแรงงาน / อายุความสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๕๓/๒๕๕๗ การที่ลูกจ้างกระทำละเมิดต่อนายจ้างในระหว่างการทำงานให้แก่นายจ้างนั้น นอกจากจะเป็นการกระทำละเมิดต่อนายจ้างแล้วยังเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานอีกด้วย เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องเรียกให้จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานและให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
สัญญาจ้างระบุเฉพาะระยะเวลาทดลองงาน / เลิกจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๕๔/๒๕๕๗ สัญญาการจ้างงานระบุเพียงระยะเวลาทดลองงานรวมแล้วไม่เกิน ๑๑๙ วัน แต่ไม่ระบุระยะเวลาการจ้างงานไว้ สัญญาการจ้างงานดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา จำเลยอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลสัญญาเลิกกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง เมื่อจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๑ โดยให้มีผลในวันดังกล่าว จึงไม่เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา และให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว
ค้ำประกัน / เงื่อนไขความรับผิดตามสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๖๐/๒๕๕๗ ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ข้อ ๓ ระบุให้โจทก์ต้องยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ ๒ ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการทำงานของโจทก์มิฉะนั้นให้ถือว่าโจทก์สละที่จะบังคับตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ ๒ ระบุไว้ว่าหากผู้รับประโยชน์ซึ่งก็คือโจทก์ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลา หรือผ่อนผันการปฏิบัติการตามเงื่อนไขให้แก่ผู้ให้สัญญาซึ่งก็คือจำเลยที่ ๑ ในลักษณะเช่นนี้ จำเลยที่ ๒ ยอมรับรู้และยินยอมด้วย เพียงแต่โจทก์ต้องแจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่าได้มีการเจรจาตกลงกันที่สำนักงานของจำเลยที่ ๒ เพื่อตรวจสอบและทวงถามให้จำเลยที่ ๑ คืนเอกสารแก่โจทก์ กรณีถือได้ว่าเป็นการผัดหรือผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามเงื่อนไขให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยแจ้งให้จำเลยที่ ๒ ท ราบ และจำเลยที่ ๒ รับรู้และยินยอมด้วยแล้ว ดังนั้น จำเลยที่ ๒ ยกเอาเหตุที่โจทก์ไม่ได้เรียกร้องเป็นหนังสือภายใน ๑๕ วัน ตามข้อ ๓ ของหนังสือสัญญาค้ำประกันมาอ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่
ค่าจ้าง / เงินที่จ่ายให้ในระหว่างหยุดพักรักษาตัว
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๖๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๖๔/๒๕๕๗ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ เจ็บป่วยมาทำงานไม่ได้ โดยระหว่างรักษาตัวพนักงานบริษัทนายจ้างต้องนำเอกสารมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ แต่นายจ้างโจทก์ยังจ่ายเงินเดือนให้ทุกเดือน ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทลี... จำกัด ได้เจ็บป่วยลงจนต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านนั้น แม้โจทก์จะมาทำงานยังสถานที่ทำงานไม่ได้ แต่ระหว่างพักรักษาตัวโจทก์ได้ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารให้แก่บริษัทนายจ้าง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทำงานให้แก่นายจ้างแล้ว เมื่อนายจ้างจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ทุกเดือนตลอดเวลาที่โจทก์เจ็บป่วย เงินเดือนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์ที่ทำให้แก่บริษัทนายจ้างตลอดเวลาที่โจทก์เจ็บป่วยนั่นเอง เงินเดือนที่นายจ้างจ่ายแก่โจทก์จึงเป็นค่าจ้าง เมื่อโจทก์ได้มีการหักเงินจากค่าจ้างจ่ายเป็นเงินสมทบแก่กองทุนประกันสังคมโดยตลอดจนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ และโจทก์เจ็บป่วยจนสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายมากกว่าร้อยละ ๕๐ โจทก์จึงมีสิทธิในฐานะผู้ประกันตนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ
ค่าจ้าง / อายุความและดอกเบี้ยของ เงินที่ต้องปรับขึ้นตามข้อตกลงฯ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐, ๒๒๔
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๐๗/๒๕๕๗ เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เงินส่วนที่ยังขาดอยู่เพราะเหตุยังมิได้ปรับขึ้นค่าจ้างให้จึงมิใช่ค่าจ้างค้างจ่ายซึ่งจะมีอายุความ ๒ ปี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินส่วนที่ยังมิได้ปรับเลื่อนเงินเดือนให้ทั้งหมดเป็นเงิน ๒๑๗,๖๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้อง ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ (กฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) มิได้มีบทบัญญัติเรื่องเวลาผิดนัดและดอกเบี้ยในกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างไว้ แต่ค่าจ้างเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้เพียงร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง นับแต่วันผิดนัด เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามหรือจำเลยผิดนัดวันใด จึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ที่เห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจในอัตราร้อยละ ๓ และให้ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราที่ปรับเพิ่มร้อยละ ๓ ตามอัตราค่าจ้างใหม่อีก ๒ ขั้นนั้น เป็นเพียงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบในการปรับปรุงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๓ วรรคสาม ไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ส่วนการที่จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจะพิจารณาปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือไม่เพียงใดย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่จะพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยมิได้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างตามที่มติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ล่วงหน้าโดยเห็นว่าจำเลยขาดทุน ไม่มีเงินปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างครบถ้วนตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ จึงไม่มีเงินส่วนที่ยังไม่ได้ปรับค่าจ้างที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์
เลิกจ้าง / ปรับโครงสร้างยุบตำแหน่ง / ไม่จัดหางานอื่น / ไม่ให้โอกาส
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๐๘/๒๕๕๗ การจัดโครงสร้างองค์กร การปรับเปลี่ยนองค์กร การวางระบบ การบริหาร การวางกลยุทธ์ในการประกอบการ หรือการตลาด ย่อมเป็นเอกสิทธิ์ของบริษัทหรือนายจ้างผู้เป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้ลงทุน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มกำไร หรือเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนก็ตาม แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรหรือการปรับเปลี่ยนการบริหารงานมีผลกระทบต่อลูกจ้าง ทำให้ต้องเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างต้องมีเหตุผลอันสมควรและจำเป็นจึงจะทำให้การเลิกจ้างนั้นไม่เข้ากรณีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แม้กิจการของจำเลยจะขาดทุนสะสมต่อเนื่องมา แต่หลังจากมีการปรับโครงสร้างองค์กร และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารงาน และกลยุทธ์ทางการตลาดมาแล้วในปีที่ผ่านมาก่อนมีการเลิกจ้างโจทก์ กิจการของจำเลยเริ่มมีกำไรแม้จะไม่มากนัก และยังมีการจ่ายเงินโบนัสเพื่อเป็นรางวัลประจำปีอันแสดงว่ากิจการของจำเลยมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อกิจการของจำเลยมีแนวโน้มดีขึ้น หากจำเลยต้องการแก้ไขปัญหาการดำเนินกิจการต่อไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยการเลิกจ้างโจทก์ แม้จำเลยจะยุบตำแหน่งของโจทก์แล้ว ก็ยังคงเนื้องานที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ไว้ แต่กระจายแบ่งให้แก่หัวหน้างานคนอื่น ๆ และเลื่อนระดับหัวหน้างานที่ได้รับงานส่วนของโจทก์ มีการเพิ่มตำแหน่งงานและรับพนักงานเพิ่มในแผนกที่ได้รับงานส่วนของโจทก์ด้วย แสดงว่าลักษณะงานของโจทก์ยังมีความจำเป็นในการประกอบกิจการของโจทก์ต่อไป และแม้จะดูเหมือนว่าจำเลยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนของโจทก์ แต่จำเลยก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาลักษณะงานที่โจทก์เคยรับผิดชอบให้แก่พนักงานระดับสูงอื่นและการจ้างพนักงานเพิ่ม ทำให้เห็นว่าการเลิกจ้างโจทก์มิได้ช่วยให้จำเลยประหยัดค่าใช้จ่ายจนมีนัยสำคัญที่จะทำให้จำเลยลดค่าใช้จ่ายได้มาก ส่วนที่จำเลยอ้างว่าการยุบตำแหน่งและเลิกจ้างโจทก์โดยส่งมอบงานของโจทก์ให้พนักงานอื่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดูแลงานในเชิงลึก จะทำให้ระบบงานของจำเลยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพราะโจทก์มีความรู้ความสามารถกว้าง ๆ ก็เป็นความเห็นของจำเลย ซึ่งดูจะไม่สอดคล้องกับการประเมินผลการทำงานของโจทก์ในอดีตหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งโจทก์ได้รับการประเมินที่น่าพอใจและได้รับการชมเชยจากจำเลย ได้เลื่อนตำแหน่งเพิ่มค่าตอบแทน ได้รับโบนัสและหุ้นตอบแทนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ข้ออ้างดังกล่าวจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ อย่างไรก็ตาม หากจำเลยยังคงเห็นว่านโยบายและแนวทางในการจัดองค์กรและการบริหารงานใหม่ด้วยการยุบตำแหน่งของโจทก์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมสำหรับจำเลย ย่อมเป็นสิทธิของจำเลย แต่จำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องดูแลและปฏิบัติต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วยความเป็นธรรมควบคู่ไปด้วย ในสถานการณ์เช่นนั้นจำเลยยังไม่มีเหตุสมควรถึงขนาดจะต้องเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดหางานในตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมให้โจทก์มีโอกาสได้ทำงานกับจำเลยต่อไป หรืออย่างน้อยให้โจทก์ได้มีโอกาสเลือกหรือตัดสินใจว่าจะทำงานกับจำเลยต่อไปหรือไม่ การที่จำเลยไม่จัดหางานที่เหมาะสมในตำแหน่งอื่นให้แก่โจทก์ และไม่ให้โอกาสโจทก์แม้แต่ที่จะสมัครงานตามระบบ global tracking job posting ที่ประกาศแก่พนักงานโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ผ่านการประเมินในเรื่องภาวะผู้นำนั้น การประเมินครั้งหลังสุดที่จำเลยอ้างนอกจากขัดกับผลการประเมินในปีก่อน ๆ ดังกล่าวแล้ว พฤติการณ์ที่จำเลยกำหนดเป้าหมายปรับโครงสร้างองค์กรโดยยกเลิกตำแหน่งของโจทก์ในขณะที่ยังรักษาเนื้องานของโจทก์ไว้ แล้วนำไปปมอบให้พนักงานคนอื่น ทำให้เห็นว่าการประเมินครั้งหลังสุดของจำเลยอาจเป็นการกระทำเพื่อให้สอดคล้องและบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ตัวแทนของจำเลยมีการเจรจาต่อรองกับโจทก์ให้โจทก์เป็นฝ่ายลาออกแทนการเลิกจ้างโดยจำเลยนำผลประโยชน์ในเรื่องโบนัส โบนัสประจำปีมาต่อรองโดยไม่กระทำอย่างตรงไปตรงมาตามนโยบายที่อ้าง ยิ่งทำให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรโดยการยุบตำแหน่งโจทก์ เป็นความตั้งใจของจำเลยที่จะกระทำต่อตัวโจทก์ไม่น้อยกว่าความต้องการที่จะปรับองค์กร การเลิกจ้างโจทก์ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้โดยไม่จัดหาตำแหน่งงานอื่นที่เหมาะสมและไม่ให้โอกาสโจทก์ที่จะสมัครงานในตำแหน่งอื่นตามประกาศที่ใช้แก่พนักงานจึงไม่มีเหตุอันสมควร ที่ศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมจึงชอบแล้ว
แก้ไขคำฟ้อง / สิทธิและกำหนดเวลายื่นคำร้องขอแก้ไข
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๑๑/๒๕๕๗ ในคดีแรงงานถือได้ว่าไม่มีการชี้สองสถานเพราะการกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๙ ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้นโจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน เว้นแต่มีเหตุยกเว้น คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นวันที่ศาลแรงงานกลางนัดสืบพยาน แต่ในวันดังกล่าวทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสืบพยาน โจทก์จึงมีสิทธิแก้ไขคำฟ้องได้โดยชอบเพราะยังอยู่ในระยะเวลาที่โจทก์สามารถแก้ไขคำฟ้องได้
มอบอำนาจ / ปิดอากรแสตมป์ / คิดตามรายบุคคล
ประมวลรัษฎากร บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ ๗
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗๓/๒๕๕๗ แม้ขณะที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์เพียง ๓๐ บาท ซึ่งไม่ครบบริบูรณ์ เนื่องจากโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจ มอบอำนาจให้นางสาวลดาวัลย์ฯ และ/หรือนายสมศักดิ์ฯ มีอำนาจดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา คดีล้มละลายแก่จำเลยแทนโจทก์จนเสร็จสิ้นตลอดจนถึงชั้นบังคับคดี เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยผู้รับมอบอำนาจสองคนจะกระทำการร่วมกันหรือแยกกันก็ได้ ค่าอากรแสตมป์สำหรับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจคนละ ๓๐ บาท รวมเป็น ๖๐ บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ ๗ (ค) แต่เมื่อต่อมาโจทก์ปิดอากรแสตมป์หนังสือมอบอำนาจเพิ่มจนครบในชั้นพิจารณาก่อนที่โจทก์จะอ้างเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของนางสาวลดาวัลย์ หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานแห่งคดีและฟังได้ว่าโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นางสาวลดาวัลย์และ/หรือนายสมศักดิ์เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีฟ้องจำเลยจริง นางสาวลดาวัลย์และ/หรือนายสมศักดิ์จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์
เลิกจ้าง / ละทิ้งหน้าที่ / ถูกตำรวจจับกุมและควบคุมตัว
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗๘/๒๕๕๗ ในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๑ โจทก์หยุดงานโดยมิได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของตนทราบ และการหยุดงานในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑ โจทก์โทรศัพท์แจ้งนายเสรีผู้บังคับบัญชาของโจทก์ นายเสรีไม่อยู่จึงฝากเรื่องไว้กับนายพายุ ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลยหรือได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก็ตาม แต่การที่โจทก์หยุดงานในวันที่ ๙ และวันที่ ๑๐ นั้น สืบเนื่องจากโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและควบคุมตัวกรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงลงโทษโจทก์ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหาได้ไม่ เมื่อการออกหนังสือเตือนเป็นไปโดยไม่ชอบ การลงโทษโจทก์อีกครั้งเพราะเหตุละทิ้งหน้าที่ในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๑ จึงไม่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไม่มาทำงานในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๑ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
ค่ารักษาพยาบาล / ประสบอันตรายถึงบาดเจ็บ / ผ่าตัดหลายครั้ง
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๓
กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลฯ ข้อ ๒, ๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๙๖/๒๕๕๗ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือบาดเจ็บ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๒ กำหนดว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน ๓๕,๐๐๐ บาท ข้อ ๓ กำหนดว่า ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ ๒ ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข ฯลฯ (๓) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ แม้อาการสมองบวมของนายปรีชาจะถือว่าเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามกฎกระทรวงฯ ข้อ ๓ (๑) และเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะตามกฎกระทรวงฯ ข้อ ๓ (๓) ก็ตาม ก็เป็นบาดเจ็บของอวัยวะภายในส่วนเดียวหรือรายการเดียวกัน และแม้จะต้องทำการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะถึงสองครั้งซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ทั้งสองครั้งเพื่อเป็นการรักษาสมองอันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของชีวิตก็ตามก็เป็นบาดแผลรายการเดียวกัน ไม่ถือว่าการประสบอันตรายของนายปรีชาดังกล่าวเป็นการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ ๓ (๑) ถึง (๖) ตั้งแต่สองรายการขึ้นไปตามกฎกระทรวงฯ ข้อ ๔ (๑) แต่อย่างใด คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๑ ที่วินิจฉัยตามมติของคณะอนุกรรมการการแพทย์ครั้งที่ ๙/๒๕๕๑ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ ๓๓๕/๒๕๕๑ ที่อนุมัติให้โจทก์เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพียง ๘๕,๐๐๐ บาท ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ ๓ จึงชอบแล้ว
ค่าจ้าง / เบี้ยกันดาร / ค่าเช่าบ้าน / ค่าเช่ารถ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๓
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๖๗-๒๐๖๘/๒๕๕๗ เบี้ยกันดาร เดือนละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนการที่ลูกจ้างต้องปฏิบัติงานในสถานที่ห่างไกล เป็นงินที่นายจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง ถือว่าเป็นค่าจ้าง ส่วนค่าเช่าบ้าน นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งต้องโยกย้ายไปประจำโรงงานสาขาในต่างจังหวัดและนายจ้างไม่ได้จัดบ้านพักให้ ค่าเช่าบ้านจึงเป็นการจ่ายเพื่อทดแทนสวัสดิการบ้านพัก ไม่เป็นค่าจ้าง สำหรับค่าเช่ารถหรือค่าชดเชยการใช้พาหนะส่วนตัวนั้น นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ต้องใช้รถส่วนตัว เพื่ออำนวยความสะดวกและความจำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน ค่าเช่ารถจึงเป็นการจ่ายเพื่อทดแทนสวัสดิการรถที่นายจ้างต้องจัดให้แก่ลูกจ้าง ไม่เป็นค่าจ้าง
เมื่อระเบียบข้อบังคับในการทำงานของนายจ้างเปลี่ยนแปลงการเกษียณอายุจาก ๖๐ ปีบริบูรณ์เป็น ๕๕ ปีบริบูรณ์ มิได้เกิดจากการยื่นข้อรียกร้อง และลูกจ้างมิได้ให้ความยินยอมในการเปลี่ยนแปลง การแก้ไขระเบียบข้อบังคับในส่วนดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามระบียบข้างต้นจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อนายจ้างได้อนุมัติให้ลูกจ้างเกษียณอายุก่อนกำหนดตามระเบียบของนายจ้างแล้ว จึงเป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างต่อกัน จึงไม่เป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
นิติทัศน์
โปรดศึกษาใน “นิติทัศน์” ท้ายย่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๓ – ๑๕๑๔/๒๕๕๗ ประกอบด้วย
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
เลิกจ้าง / ไม่นำส่งเบี้ยเลี้ยงและค่าล่วงเวลาตามคำสั่งนายจ้าง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๗๑-๒๐๗๓/๒๕๕๗ จำเลยออกประกาศให้พนักงานขับรถที่รับเงินเบี้ยเลี้ยงและค่าล่วงเวลาจากมัคคุเทศก์หรือบริษัทนำเที่ยวส่งให้แก่จำเลยก่อน เพื่อจำเลยจะได้จ่ายเงินนั้นให้พนักงานขับรถ ประกาศดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งเกี่ยวด้วยการเงินซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและเพื่อแก้ปัญหาอันสืบเนื่องมาจากจำเลยถูกพนักงานขับรถฟ้องร้องเรียกค่าล่วงเวลา การที่โจทก์ทั้งสามฝ่าฝืนประกาศคำสั่งและประกาศเตือนของจำเลยเช่นนั้น ย่อมกระทบกระเทือนอำนาจในการบริหารงานและอำนาจในการบังคับบัญชาของจำเลยในฐานะนายจ้าง และเมื่อการออกประกาศคำสั่งและประกาศเตือนของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าล่วงเวลาส่งให้แก่จำเลย ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสามไม่นำเงินค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าล่วงเวลาส่งให้แก่จำเลยตามประกาศคำสั่งและประกาศเตือน จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างในกรณีที่ร้ายแรง
เลิกจ้าง / พฤติการณ์ที่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้าง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๔๕/๒๕๕๗ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์พบนายอุดมศักดิ์และนายพร้อมเมศที่สำนักงานของจำเลย โจทก์ตอบคำถามนายพร้อมเมศว่ายังสูบบุหรี่อยู่ นายอุดมศักดิ์ซึ่งร่วมวงสนทนาอยู่ด้วยจึงพูดกับโจทก์ว่าไม่อยากเสียเวลาเรื่องนี้แล้วเดินออกจากสำนักงานไป พฤติกรรมของนายอุดมศักดิ์เพียงเท่านี้ยังไม่ชัดแจ้งพอให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง ส่วนที่นายพร้อมเมศบอกโจทก์ว่าการที่นายอุดมศักดิ์พูดถึงโจทก์ดังกล่าวข้างต้นเป็นการเลิกจ้างโจทก์แล้วก็เป็นเพียงความเห็นของนายพร้อมเมศซึ่งไม่ใช่ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนจำเลยจึงไม่ผูกพันจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลย
ฟ้องซ้อน / ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลแล้วถอนฟ้องคดีแรก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๕๒/๒๕๕๗ ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๗๖๘๔/๒๕๕๐ แต่อย่างใด การที่ศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๗๖๘๔/๒๕๕๐ นั้น ก็เป็นการสั่งอนุญาตภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว ดังนั้น คดีหมายเลขดำที่ ๗๖๘๔/๒๕๕๐ จึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นฟ้องคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้น ต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีก เมื่อคดีหมายเลขดำที่ ๗๖๘๔/๒๕๕๐ โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยจ่ายคืนเงินสะสม ๖๘๐,๓๐๑.๙๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เรียกร้องให้จำเลยจ่ายคืนเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์โดยอ้างเหตุเดียวกันอีก จึงเป็นการยื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ๗๖๘๔/๒๕๕๐ ของศาลแรงงาน ต้องห้ามตามมาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ค้ำประกัน / หนี้ที่อยู่ในเงื่อนไขแห่งสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๕๕/๒๕๕๗ ตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ ๑ ระบุว่าตามที่บริษัทได้ตกลงจ้างพนักงานเข้าทำงานกับบริษัทฯ ถ้าหากพนักงานได้ก่อหนี้ขึ้นไม่ว่าโดยวิธีหรือสัญญาอย่างใด ๆ กับบริษัทฯ หรือ...ข้าพเจ้าผู้ค้ำประกันขอรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวข้างต้น และยอมชำระหนี้แทน หรือเป็นลูกหนี้ร่วมกับพนักงาน ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ ในฐานะลูกจ้างได้ทำละเมิดต่อนายเภา โจทก์ในฐานะนายจ้างได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปในส่วนที่ไม่อาจเรียกเอาจากกองทุนเงินทดแทนได้เป็นเงินจำนวน ๔๕๒,๑๗๓ บาท โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ ๑ ผู้ทำละเมิดได้ เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในฐานะลูกหนี้ร่วมในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
สัญญา / ห้ามประกอบกิจการแข่งขันกับธุรกิจนายจ้าง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๖๙/๒๕๕๗ ข้อตกลงในการห้ามจำเลยหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์นั้นเป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงนั้นเป็นการห้ามมิให้ประกอบกิจการหรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการใด ๆ เอง ดังนั้น การที่จำเลยเข้าไปเป็นเพียงลูกจ้างของบริษัทซี... จำกัด แม้บริษัทที่เป็นนายจ้างใหม่ของจำเลยจะเป็นบริษัทที่แข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการหรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการอันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ด้วยตนเอง จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาตามนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
ค้ำประกัน / ความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายใช้บังคับ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๗๑/๒๕๕๗ แม้จะมีประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยที่ลูกจ้างได้รับ ซึ่งในกรณีค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ในวงเงิน ๑๘,๐๐๐ บาท ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในคดีฟังยุติได้ว่า ความเสียหายที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์เกิดขึ้นระหว่างต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๐ อันเป็นความรับผิดที่จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดด้วยในฐานะผู้ค้ำประกันนั้นเกิดขึ้นก่อนที่ประกาศกระทรวงแรงงานดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่อาจนำเอาข้อกำหนดจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันมาใช้บังคับกับจำเลยที่ ๒ ได้
เลิกจ้าง / ทุจริตในการสอบคัดเลือกเลื่อนตำแหน่ง
ระเบียบฯ มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๔๖
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๗๙/๒๕๕๗ คดีนี้จำเลยได้ใช้วิธีการสอบคัดเลือกในการเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานจำเลยดำรงตำแหน่งพนักงานระดับ ๗ หรือเทียบเท่าการเลื่อนระดับขั้นของจำเลยจึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของลูกจ้างให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างผู้เข้าสอบคัดเลือกทุกคนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการสอบคัดเลือกของจำเลยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การสอบคัดเลือกเป็นไปโดยความเป็นธรรมและสามารถวัดความรู้ความสามารถของผู้เข้าสอบแต่ละคนได้ อันจะส่งผลให้จำเลยสามารถคัดเลือกลูกจ้างเข้าสู่ตำแหน่งที่เหมาะสมและมีระดับความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะทำงานในตำแหน่งนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่โจทก์ทุจริตในการสอบ (นำกระดาษโน้ตย่อเข้าไปในห้องสอบ) จึงเป็นความผิดร้ายแรง และเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงมีอำนาจให้โจทก์ออกจากงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๔๖ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างด้วยเหตุนี้จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
สัญญาจ้าง / ข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ และ ๑๑๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๔๔/๒๕๕๗ เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างงานแล้วเห็นว่า โจทก์และจำเลยประสงค์จะให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเฉพาะข้อพิพาทที่เกิดจากสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น มิได้ครอบคลุมข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายด้วย เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยค่าค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ และ ๑๑๘ บัญญัติไว้ ไม่ใช่การฟ้องเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่ใช่ข้อโต้แย้งตามข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว โจทก์จึงนำคดีมาสู่ศาลได้โดยไม่ต้องเสนอคดีต่อคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก่อน
เลิกจ้าง / ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาหลายครั้งครา
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๖๐/๒๕๕๗ โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประกันภัยตรงเป็นตำแหน่งในระดับบริหารของจำเลย จะต้องทำงานสนองนโยบายตามแผนงานของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง ทั้งจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัดเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกจ้างอื่น หากปล่อยให้โจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา (ที่สั่งเกี่ยวกับการโยกย้ายพนักงานตามแผนงานและสั่งเกี่ยวกับการประชุมเพื่อแก้ไขในการทำงาน) ไปเช่นนี้ย่อมมีผลเสียต่อระบบการบังคับบัญชาตามสายงาน และมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของจำเลยต่อไปในอนาคต จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปกป้องรักษาผลประโยชน์ของตนโดยการเลิกจ้างโจทก์ได้ อันเป็นการเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ กรณีไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ดอกเบี้ย / สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙, ๑๗
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๖๑/๒๕๕๗ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างในการเลิกสัญญาจ้าง เพื่อปล่อยลูกจ้างออกจากงานเสียทันที มิใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง จึงไม่ใช่ค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ และมิใช่ค่าจ้างตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่นายจ้างจะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี
นิติทัศน์
“สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” หมายถึง เงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างเลิกสัญญาจ้างหรือเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบหรือบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบแต่ไม่ครบระยะเวลาตามที่กฎหมาย(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒) กำหนดไว้
ดังนั้น สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงเป็น “ค่าเสียหาย” ที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากนายจ้างกระทำผิดหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งหากนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างโดยถูกต้องตามกฎหมาย นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง อันที่จริงเงินที่นายจ้างต้องรับผิดในเรื่องดังกล่าว น่าจะเรียกว่า “ค่าสินไหมทดแทน” เนื่องจากบทบัญญัติในมาตราต่อมา คือ มาตรา ๕๘๓ กำหนดว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี ... ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงมิใช่คำที่มีบัญญัติอยู่ในกฎหมาย หากเป็นคำที่ศาลฎีกานำมาใช้ในคดีแรงงาน เริ่มแต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๐๒/๒๕๒๓ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษา “ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย... จ่ายค่าจ้างสำหรับการที่ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะเลิกสัญญา...” ต่อมาในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๗๘/๒๕๒๔ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การเลิกจ้างนี้ย่อมเป็นมูลให้โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยและเรียกสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ...” และต่อมา ก็เรียกว่า “สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า”
เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกาศใช้บังคับ ปรากฏว่าบทบัญญัติมาตรา ๑๗ มีความคล้ายกับบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ วัตถุประสงค์ของการบัญญัติกฎหมายก็เป็นอย่างเดียวกัน แต่ถ้อยคำที่ใช้ต่างกันโดยเฉพาะคำว่า “สินจ้าง” กับ “ค่าจ้าง” ดังนั้น ในกรณีที่นายจ้างมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกสัญญาจ้าง หากมีข้ออ้างว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗ ศาลก็อาจจะพิพากษาให้นายจ้างจ่าย “ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” แก่ลูกจ้างก็ได้ แต่ถ้ามีข้ออ้างว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๘๒ ศาลก็คงต้องพิพากษาให้นายจ้างจ่าย “สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” แก่ลูกจ้าง ข้อสมมุติที่ไม่ควรคิดก็คือ หากไม่มีข้ออ้างทางกฎหมายเลยหรือมีข้ออ้างทั้งสองมาตรา ศาลจะพิพากษาอย่างไร...
สำหรับจำนวนเงิน “สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” ที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น ให้คำนวณจากสินจ้างหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับจากนายจ้าง หากลูกจ้างมิได้ถูกเลิกจ้างและยังคงทำงานตามปกติต่อมา ตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างในลักษณะที่เป็น “ค่าเสียหาย” หรือ “สินไหมทดแทน” ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดว่านายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อใด ดังนั้น ลูกจ้างที่ประสงค์สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องเรียกร้องทวงถามเอาจากนายจ้าง เมื่อได้ทวงถามแล้ว หากนายจ้างไม่จ่ายให้ก็ถือว่านายจ้างผิดนัด ลูกจ้างชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ผิดนัดเป็นต้นไป ในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าได้มีการทวงถามเมื่อใด ศาลจะกำหนดให้นายจ้างชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ฟ้อง
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิใช่เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานฯ จึงมิใช่ “ค่าจ้าง” ตามความหมายในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ และมิใช่เงินประเภทหนึ่งประเภทใดที่นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปีตามมาตรา ๙ ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ลูกจ้างจึงเรียกร้อง ดอกเบี้ยในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าระหว่างผิดนัดได้เพียงร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๕๓/๒๕๒๓)
สิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
เลิกจ้าง / การกระทำผิดซ้ำคำเตือน กรณีไม่อยู่ในที่ทำงาน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๒๕/๒๕๕๗ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา โจทก์ไม่อยู่ในที่ทำงาน และไม่ได้แจ้งให้ใครทราบ ผู้บังคับบัญชาต้องการมอบหมายงานให้โจทก์และรอโจทก์เป็นเวลา ๑๐ ถึง ๒๐ นาที โจทก์จึงกลับเข้ามาพร้อมหนังสือพิมพ์ การกระทำของโจทก์ในส่วนนี้จำเลยเคยมีหนังสือเตือนโจทก์ ฉบับลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ โดยระบุว่าวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๙ โจทก์ไม่ได้อยู่ในที่ทำงานโดยไม่ได้แจ้งหรือบอกกล่าวใคร และเมื่อสอบถามทางโทรศัพท์โจทก์แจ้งว่าอยู่ในห้องน้ำ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบการกระทำของโจทก์ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ จึงเข้าลักษณะเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนแล้ว และเมื่อเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนที่ไม่เกิน ๑ ปีนับแต่วันที่โจทก์กระทำผิด จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) และเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
สัญญาจ้าง / ผิดสัญญาจ้างแรงงานมีอายุความ ๑๐ ปี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๔๐/๒๕๕๗ ขณะเกิดมูลเหตุคดีนี้จำเลยทั้งสามเป็นลูกจ้างของการสื่อสารแห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทยจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสาม (ในข้อหาละเมิด) ต่อศาลแรงงานได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๕) ดังนั้น เมื่อโจทก์ (บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด) รับมาซึ่งกิจการ สิทธิและหน้าที่ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง ย่อมรับมาซึ่งสิทธิในการฟ้องร้องคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแรงงานได้ แม้ขณะยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามมิใช่ลูกจ้างของโจทก์ก็ตาม โจทก์บรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ ๑ ไม่สนใจติดตามผลการซ่อมหม้อแปลง ไม่สั่งให้ทำบัญชีมอบงาน โอนงานและแจ้งให้โจทก์ช่วยติดตามเรื่อง จำเลยที่ ๒ บกพร่องต่อหน้าที่ไม่สนใจติดตามความคืบหน้าการซ่อมหม้อแปลง ไม่จัดทำบัญชีส่งมอบงาน ทรัพย์สินหรือฝากงานให้โจทก์ จำเลยที่ ๓ บกพร่องต่อหน้าที่ไม่ติดตามทวงถามความคืบหน้า ไม่ส่งมอบแฟ้มงานหรือฝากเรื่องให้โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่นนี้เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทาง สำหรับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
สินจ้าง / กรณีที่นายจ้างมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกสัญญาจ้าง / ดอกเบี้ย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๔๓/๒๕๕๗ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ วรรคสอง บัญญัติว่านายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็ได้ และการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา ๕๘๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บอกกล่าวในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า คดีนี้กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๕ ของเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์และให้โจทก์ออกจากงานทันทีวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๒ ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป เมื่อจำเลยจ่ายค่าจ้างของเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ ให้โจทก์ครบถึงเดือนแล้วเท่ากับจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าสำหรับวันที่ ๑๓ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๒ ไปแล้ว จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์อีกเพียงวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๒ เป็นเวลา ๑๕ วัน วันละ ๑,๔๖๓.๓๓ บาท คิดเป็นเงิน ๓๖,๕๘๓.๒๕ บาท
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง แต่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
ใบมอบอำนาจ / แสดงเหตุออันควรสงสัย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๔๙/๒๕๕๗ ใบมอบอำนาจที่คู่ความจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ วรรคสาม จะต้องเป็นใบมอบอำนาจที่ศาลมีเหตุอันควรสงสัยหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นใบมอบอำนาจอันแท้จริงหรือไม่ จึงให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความนั้นยื่นใบมอบอำนาจตามวิธีการในวรรคสาม คดีนี้ศาลแรงงานมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องใบมอบอำนาจว่าเป็นใบมอบอำนาจอันแท้จริงหรือไม่ แสดงว่าศาลแรงงานไม่มีเหตุอันควรสงสัย ส่วนจำเลยให้การเพียงว่าหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้อง ไม่ถูกต้องเพราะมีแต่ตราประทับสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศกัมพูชาและในกรุงพนมเปญ ไม่มีตราประทับของสถานทูตในไทยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ วรรคสาม คำให้การดังกล่าวจึงมิได้แสดงเหตุอันควรสงสัย ทั้งจำเลยมิได้ให้การและนำสืบปฏิเสธว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจมิใช่ลายมือชื่อโจทก์ และโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดี เท่ากับยอมรับว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้แล้ว จึงไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นได้ทำถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ วรรคสาม หรือไม่ ฟังได้ว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริงและโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีแล้ว
ค้ำประกัน / ความรับผิดก่อนกฎหมายบังคับใช้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๖๐/๒๕๕๗ แม้จะมีประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ อันเป็นวันก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดี ซึ่งกำหนดให้วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับก็ตาม ความเสียหายที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์เกิดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ๒๕๔๘ อันเป็นความรับผิดที่จำเลยที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดด้วยในฐานะผู้ค้ำประกันนั้น เกิดขึ้นก่อนที่ประกาศกระทรวงแรงงานดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่อาจนำเอาข้อกำหนดจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันมาใช้บังคับกับจำเลยที่ ๒ ได้
ค่าจ้าง / ระเบียบการจ่ายเงินที่ขัดต่อกฎหมาย
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๓
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๖๒/๒๕๕๗ ระเบียบจำเลย ข้อ ๓ ให้คำจำกัดความว่า รางวัลนำเข้า หมายความว่า เงินที่จำเลยจัดสรรเพื่อประโยชน์ในการขายจากค่าโฆษณาหรือค่าสมาชิกหนังสือข่าวและให้เป็นไปตามสัดส่วนอัตรา หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่กำหนด เงินรางวัลนำเข้าจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เมื่อทำงานตามหน้าที่ของตน โดยกำหนดอัตรา หลักเกณฑ์และเงื่อนไขไว้แน่นอน อันมีลักษณะชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายจ่ายให้โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานตามผลงาน มิใช่จงใจจ่ายเพื่อจูงใจให้โจทก์ขยันทำงานแต่อย่างใด เงินรางวัลนำเข้าตามระเบียบของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้าง โจทก์เป็นผู้หารายได้ขายโฆษณาให้แก่จำเลยและลูกค้าได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยชำระรายได้ให้แก่จำเลยแล้ว แม้จะผิดนัดชำระหนี้เกินกำหนดเวลาแต่จำเลยก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จำเลยจึงมีหน้าที่จ่ายเงินรางวัลนำเข้าดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนตามระเบียบข้อ ๖.๓ ที่กำหนดว่าหากลูกค้าผิดสัญญาหรือผิดนัดชำระเงิน จำเลยทรงไว้ซึ่งสิทธิจะระงับการจ่ายรางวัลนำเข้าได้ทั้งหมดนั้นเป็นการให้สิทธิจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพียงฝ่ายเดียวที่จะไม่จ่ายเงินค่าจ้างซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๓ (๑) ประกอบประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ ๓๑ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบในส่วนนี้จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ที่จำเลยไม่จ่ายเงินรางวัลนำเข้าซึ่งเป็นค่าจ้างแก่โจทก์จึงไม่ชอบ
เลิกจ้าง / กรณีใช้คอมพิวเตอร์ของนายจ้างในเรื่องส่วนตัวในเวลาทำงานเป็นประจำ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๖๔/๒๕๕๗ การที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลย ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง ย่อมเป็นเหตุให้งานในหน้าที่บกพร่องและล่าช้า ต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเลยต้องการและไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่มอบหมายได้ เป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต(ซึ่งนายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า)
นิติทัศน์
คำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ ได้มีผู้นำไปเผยแพร่ทางหนังสิอพิมพ์ ทางโทรทัศน์ และทางเครือข่ายข่าวสารต่าง ๆ ในทำนองว่า ถ้าลูกจ้างใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของนายจ้างติดต่อกับบุคคลอื่นในเรื่องส่วนตัว นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งหากพิจารณาจากคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นก็จะเห็นได้ว่าศาลฎีกาวินิจฉัยเฉพาะปัญหาเรื่องการเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเท่านั้น ส่วนปัญหาเรื่องการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น ศาลฎีกามิได้วินิจฉัยแต่อย่างใด เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องเรียกร้องค่าชดเชย (โจทก์ทำงานได้เพียง ๒ เดือนเศษจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ ลูกจ้างจะมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยต่อเมื่อได้ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ ๑๒๐ วัน) อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ หรือไม่ ซึ่งข้อที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลย ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง “เป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต” นั้น เป็นการวินิจฉัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการบอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกจ้างและข้อยกเว้นที่นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า กรณีจึงไม่อาจนำข้อกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาว่าลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยหรือไม่ การที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลย ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง หากจะพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ ก็อาจพอถือได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง แต่การฝ่าฝืนดังกล่าวก็มิใช่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อน เมื่อนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เคยได้ตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
เลิกจ้าง / กรณีได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๓๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๘๘-๒๖๐๖/๒๕๕๗ นายจ้างได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้ยอดขายและเงินสดหมุนเวียนลดลงอย่างมากและไม่สามารถกู้เงินจากบริษัทแม่ในต่างประเทศได้ นายจ้างได้จัดการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในส่วนของพนักงานได้เปิดโครงการสมัครใจลาออก มีพนักงานเข้าร่วมโครงการ ๗๑๓ คน และมีโครงการเลิกจ้างเพิ่มอีก ๑๗๖ คน มีผู้สมัครใจลาออกเพิ่มขึ้นอีก ๑๕๔ คน ส่วนที่เหลืออีก ๔๔ คน ไม่สมัครใจลาออก นายจ้างจึงเลิกจ้าง เมื่อปรากฏเหตุดังกล่าวว่านายจ้างมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างอย่างแท้จริงแล้วเช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๓๑
สัญญาประนีประนอมยอมความ / ขณะเป็นลูกจ้างแต่ลูกจ้างรับทราบการเลิกจ้างและจำนวนเงินที่นายจ้างตกลงจ่าย
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๑๙/๒๕๕๗ หนังสือแจ้งให้ออกจากงานและข้อตกลงมีข้อความในส่วนแรกเป็นเรื่องแจ้งให้ออกจากงาน โดยระบุว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ผ่านมาไม่เป็นที่พอใจแก่ทางจำเลย จึงไม่ประสงค์ที่จะให้โจทก์ร่วมทำงานกับจำเลยอีกต่อไป จำเลยขอแจ้งให้โจทก์ออกจากการทำงานกับจำเลยนับตั้งแต่วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๑ เป็นต้นไป และจำเลยตกลงจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย เงินทดแทน ให้เป็นเงิน ๑๔๓,๙๓๗.๖๗ บาท ในส่วนที่สองซึ่งเป็นส่วนข้อตกลงมีข้อความระบุไว้ว่า โจทก์ได้รับทราบข้อความดังกล่าวข้างต้นแล้ว และยินยอมตามที่จำเลยได้แจ้งทุกประการ โดยโจทก์ตกลงพอใจรับเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย เงินทดแทนหรือเงินอื่นใดเป็นจำนวน ๑๔๓,๙๓๗.๖๗ บาท จากจำเลย ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนี้จากจำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันนี้ และโจทก์ขอยืนยันว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย เงินทดแทน หรือเงินอื่นใดจากจำเลยอีกต่อไป จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้รับทราบการเลิกจ้างเป็นหนังสือจากจำเลยแล้ว และยังรับทราบว่าจำเลยตกลงจ่ายเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายต่าง ๆ ให้แก่โจทก์เป็นเงินรวม ๑๔๓,๙๓๗.๖๗ บาท แม้ในขณะนั้นโจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ก็ตาม แต่โจทก์ก็มีอิสระที่จะตัดสินใจได้โดยไม่อยู่ในภาวะที่จะต้องเกรงกลัวจำเลย หรือถูกบังคับให้รับเงินต่าง ๆ ตามที่จำเลยเสนอให้ โดยโจทก์สามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าจะตกลงยอมรับเงินจำนวนดังกล่าว หรือไม่ตกลงยอมรับแล้วไปใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกเงินค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายจากจำเลยในภายหลัง ดังนั้น ข้อตกลงที่โจทก์ยอมรับดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ทั้งไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อตกลงดังกล่าวนี้จึงมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยอีก
อำนาจฟ้อง / การว่ากล่าวตักเตือน ผิดอีกจะลงโทษสถานหนัก เป็นการโต้แย้งสิทธิ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๓๓/๒๕๕๗ การที่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งที่ ๓๐๘/๒๕๕๒ เรื่อง ว่ากล่าวตักเตือนพนักงานองค์การ ความว่า โจทก์ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาที่กำหนดโดยไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ ๓ ฯลฯ เป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อ ๔.๓ แห่งข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งของจำเลยที่ ๑ แต่เนื่องจากประวัติไม่เคยกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้มาก่อน จึงให้ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ไว้หากกระทำความผิดในเรื่องเช่นนี้อีกจำเลยที่ ๑ จะพิจารณาโทษในสถานหนักต่อไป คำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อโจทก์โดยตรงเนื่องจากหากโจทก์กระทำความผิดอีก จำเลยที่ ๑ อาจนำข้ออ้างดังกล่าวไปพิจารณาลงโทษโจทก์ในสถานหนักต่อไปได้ ซึ่งหากโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่จำเลยที่ ๑ กล่าวหาดังที่โจทก์ฟ้อง คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวย่อมไม่ชอบ อันถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ โต้แย้งสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ ๓ ได้
เลิกจ้าง / ทุจริตต่อหน้าที่ / นำเงินของนายจ้างไปใช้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๓๔/๒๕๕๗ การกระทำของลูกจ้างคนอื่นของจำเลยจะกระทำผิดคล้ายคลึงกับโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการกระทำที่เหมือนกับการกระทำของโจทก์ การที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่นำเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าชำระค่าไฟฟ้าแก่จำเลยไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์อันเป็นความผิดทางวินัยร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย และจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการที่ระบุไว้ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและได้ลงโทษโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ทั้งจำเลยไม่ได้กระทำการกลั่นแกล้งโจทก์หรือไม่สุจริตแต่อย่างไร การที่จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นคำสั่งที่ชอบ
อุทธรณ์ / สิทธิโต้แย้งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๓๖/๒๕๕๗ ที่โจทก์ที่ ๒ อุทธรณ์ว่าโจทก์ที่ ๒ มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ กรณีตามคำฟ้องเป็นมูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง สืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ที่ ๒ มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะลูกจ้างและจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันต่อศาลแรงงานโดยชอบนั้น เมื่อศาลแรงงานได้ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้ว อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ ๖๐/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ ว่าคดีระหว่างโจทก์ที่ ๒ กับจำเลยทั้งสองไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ วรรคสอง โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
สละสิทธิ / การเรียกร้องค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๔๑/๒๕๕๗ ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกจ้างซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อนั้น โจทก์ลงลายมือชื่อด้วยความสมัครใจไม่ได้ถูกบังคับ ขณะลงลายมือชื่อโจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จึงมีอิสระที่จะตัดสินใจ ค่าเสียหายที่โจทก์สละสิทธิเรียกร้องเป็นค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งไม่ใช่เงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ การที่โจทก์สละสิทธิเรียกร้องในเงินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อความดังกล่าวย่อมแปลได้ว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาแก่จำเลยอีกต่อไปที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในครั้งนี้ และแม้ขณะที่โจทก์ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ทราบว่าโจทก์จะเรียกร้องเงินค่าเสียหายได้ตามกฎหมายก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์กลับมีสิทธิเรียกร้องได้อีกเพราะโจทก์ได้สละสิทธินี้แล้ว ทั้งโจทก์จะอ้างว่าไม่ทราบว่ากฎหมายให้เรียกเงินค่าเสียหายนี้ได้ก็ตาม
ดอกเบี้ย / เงินจ่ายตามสัญญาจ้าง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๔๓/๒๕๕๗ เงินที่โจทก์ได้รับตามสัญญาจ้างกรณีที่โจทก์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเหตุสุขภาพจำเลยจะจ่ายเงินให้เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดชีวิตของโจทก์ เงินดังกล่าวไม่ใช่จ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนครูในการทำงานตามสัญญาจ้างเนื่องจากโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ใหญ่แล้ว เพียงแต่เป็นเงินที่จ่ายตามข้อตกลงในสัญญาจ้างเท่านั้น จึงไม่เป็นเงินเดือนที่ผู้รับใบอนุญาตต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ครูระหว่างผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๔ และข้อ ๑๓ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี คงมีสิทธิได้รับในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง
ขาดนัด / ขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน ๗ วัน
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๔๗/๒๕๕๗ ศาลแรงงานมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาโดยกำหนดวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ และออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันนัดพร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยไปยังภูมิลำเนาตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองโดยชอบแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๗ แล้วเมื่อจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบถึงเหตุที่ไม่มาศาล และศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๐ วรรคสอง จำเลยขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว จึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๑ ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ต้องดำเนินการภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อพ้นกำหนดดังกล่าว กรณีจึงต้องยกคำร้อง
ค้ำประกัน / ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดก่อนกฎหมายใช้บังคับ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๕๐/๒๕๕๗ แม้จะมีประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ซึ่งกำหนดให้วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าความเสียหายที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์เกิดขึ้นในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๑ อันเป็นความรับผิดที่จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดด้วยในฐานะผู้ค้ำประกันนั้น ได้เกิดขึ้นก่อนประกาศกระทรวงแรงงานดังกล่าวใช้บังคับจึงไม่อาจนำเอาข้อกำหนดจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันมาใช้บังคับกับจำเลยที่ ๒
ค่าจ้าง / ค่าโทรศัพท์เหมาจ่ายเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๗๓/๒๕๕๗ จำเลยจ่ายค่าโทรศัพท์อัตราเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท ในลักษณะเหมาจ่ายเป็นเงินเท่ากันทุกเดือน โดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะใช้จ่ายเป็นค่าโทรศัพท์หรือไม่ หรือได้ใช้เป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด ทั้งโจทก์ไม่ต้องแสดงใบเสร็จค่าโทรศัพท์เป็นหลักฐานในการรับเงินค่าโทรศัพท์ จึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
นิติทัศน์
โปรดศึกษาใน “นิติทัศน์” ท้ายย่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๓ – ๑๕๑๔/๒๕๕๗ ประกอบด้วย
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
คำวินิจฉัย / ข้อที่ต้องกล่าวหรือแสดงในคำพิพากษา
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๗๔/๒๕๕๗ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป และคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น” ซึ่งหมายความว่าศาลแรงงานจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นหนังสือและในคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เป็นหนังสือต้องมีส่วนสำคัญสามประการ คือ ประการแรก ต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปเพื่อศาลฎีกาจะได้นำข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานฟังไว้นั้นมาวินิจฉัยข้อกฎหมายหากมีอุทธรณ์ในประเด็นนั้น ประการที่สองจะต้องแสดงคำวินิจฉัยให้ปรากฏตามประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานจดไว้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง และประการที่สามคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นจะต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าศาลแรงงานนำข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการแปลความบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่
ค้ำประกัน / ความรับผิดในค่าเสียหายที่เกิดภายหลังกฎหมายใช้บังคับ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และมาตรา ๑๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๗๕/๒๕๕๗ ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๕๑ ฉบับนี้ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และบทบัญญัติมาตรา ๑๐ นี้ มุ่งประสงค์จะให้การคุ้มครองแก่ลูกจ้างและสังคมทั่วไป โดยห้ามนายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าหลักประกันนี้จะเป็นเงินสด เป็นทรัพย์สินอื่นหรือเป็นการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลูกจ้างที่ทำงานในลักษณะหรือสภาพต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงแรงงานดังกล่าว หากนายจ้างฝ่าฝืนย่อมมีความผิดทางอาญาตามมาตรา ๑๔๔ และการค้ำประกันด้วยบุคคลตามสัญญาค้ำประกันย่อมเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมาย ไม่อาจใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่างานที่จำเลยที่ ๑ ทำนั้นเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของโจทก์ทำให้โจทก์สามารถเรียกหรือรับหลักประกันโดยให้จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันความเสียหายในการทำงานของจำเลยที่ ๑ ได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ ๑ กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานทำให้โจทก์เสียหายนั้นเมื่อระหว่างเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นภายหลังจากประกาศกระทรวงแรงงานฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าวนี้ขึ้นมาวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ให้เป็นไปตามที่ประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าวนี้กำหนดไว้ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สัญญา / ห้ามทำงานกับนายจ้างที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔/๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๗๖/๒๕๕๗ จำเลยทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ มีหน้าที่จัดเตรียมถ่านหินตามคำสั่งซื้อและจัดส่งสินค้าตามที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ ไม่ใช่หน้าที่สำคัญที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อการดำเนินกิจการของโจทก์หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างมาก ข้อสัญญาที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานกับนายจ้างอื่นใดที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันหรือมีลักษณะแข่งขันกับโจทก์ภายในระยะเวลาถึง ๒ ปีหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ เป็นข้อตกลงที่เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์แก่นายจ้างเพียงลำพังฝ่ายเดียว และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของจำเลยให้ต้องรับภาระมากเกินไป ที่ศาลแรงงานกำหนดให้มีผลใช้บังคับได้เพียง ๑ ปี เท่าที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานฉบับเดิมที่ทำไว้ตั้งแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานนั้น จึงชอบแล้ว
ค้ำประกันการทำงาน / หนี้ที่ต้องรับผิด / วันบังคับใช้กฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐
ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๗๘/๒๕๕๗ เมื่อประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง มีผลใช้บังคับในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ กรณีการทำสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐ และตามสัญญาค้ำประกัน เมื่อหนี้ซึ่งจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดเกิดขึ้นในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๓ และวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ อันเป็นวันก่อนที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจนำมาปรับใช้กับประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าวได้ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานดังกล่าว
เลิกจ้าง / ทะเลาะวิวาทกับบุคคลในเวลาทำงานต่อหน้าลูกค้า
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๔๗/๒๕๕๗ การที่โจทก์ทะเลาะวิวาทกับนายวรพงษ์ภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยและอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และเหตุทะเลาะวิวาทได้เกิดขึ้นต่อหน้าลูกค้าของจำเลยเป็นจำนวนมาก ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเสียชื่อเสียง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือหาเหตุกลั่นแกล้งเลิกจ้างแต่อย่างใด การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
เลิกจ้าง / จดทะเบียนบริษัทให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกับนายจ้าง / จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๒) และ (๔)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๔๘/๒๕๕๗ การที่โจทก์ดำเนินการจดทะเบียนบริษัทไทย... จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับกิจการของจำเลย โดยโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและมีชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าว ลักษณะของบริษัทที่โจทก์ดำเนินการจดทะเบียนขึ้นมาย่อมมีจุดประสงค์ที่จะให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับลูกค้าของจำเลยและจะต้องกระทบถึงรายได้ของจำเลยด้วย แม้ไม่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวจะดำเนินการอย่างใดและมิได้มีการหาประโยชน์ ๆ จากสนามกอล์ฟของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยดำรงตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส มีภาระหน้าที่สำคัญในการดูแลกิจการของจำเลยและได้รับเงินเดือนในระดับสูง การที่โจทก์ดำเนินการจดทะเบียนบริษัทไทย... จำกัด ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงอีกด้วย จำเลยมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๒) และ (๔)
ค่าจ้าง / เงินช่วยเหลือค่าที่พักอาศัย เดือนละ ๒๔,๐๐๐ บาท
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๕๕/๒๕๕๗ ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง ๙ เดือน จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานให้โจทก์เป็นเงิน ๓๕๐,๐๐๐ บาท อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จำเลยเพียงแต่นำคำวินิจฉัยของศาลแรงงานที่ได้วินิจฉัยในปัญหาการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมาเป็นเหตุผลในการอุทธรณ์ในกรณีผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นคนละปัญหากัน อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ตามสัญญาจ้างระบุว่า จำเลยจะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าที่พักอาศัยให้โจทก์เดือนละ ๒๔,๐๐๐ บาท หากจำเป็นจำเลยสามารถจัดหาที่พักอาศัยให้โจทก์ โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว และเงินดังกล่าวสามารถถูกยกเลิกได้ โดยจำเลยจะบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเวลา ๑ เดือน ดังนั้น ย่อมเห็นได้ว่าค่าเช่าบ้านที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เดือนละ ๒๔,๐๐๐ บาท นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่ใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเวลาทำงานปกติ อันเป็นสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้าง จึงไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
นิติทัศน์
โปรดศึกษาใน “นิติทัศน์” ท้ายย่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๓ – ๑๕๑๔/๒๕๕๗ ประกอบด้วย
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
ดอกเบี้ย / ไม่ได้เรียกมาในคำฟ้อง ศาลพิพากษาให้จำเลยเสียได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๕๖/๒๕๕๗ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับของโจทก์ได้ หากศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ คดีนี้แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกดอกเบี้ยของเงินเดือน ค่าคอมมิสชัน และเงินประกันความเสียหายในการทำงาน แต่เมื่อจำเลยค้างชำระเงินดังกล่าวซึ่งล่วงเลยกำหนดชำระแล้วโดยจำเลยไม่ยอมชำระเงินแก่โจทก์ ดังนั้น การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าเพื่อความเป็นธรรมและเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเห็นควรให้จำเลยเสียดอกเบี้ยจึงชอบแล้ว
กระทำผิดซ้ำคำเตือน / เลิกจ้าง / ค่าชดเชย
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๕๒/๒๕๕๗ เมื่อหนังสือเตือนมีข้อความว่าจำเลยได้ตักเตือนโจทก์ให้มาทำงานให้ตรงเวลา ไม่ควรนำเพื่อนเข้ามาในสำนักงานหลังเวลางานและไม่ควรอยู่ในสำนักงานจนดึก ภายหลังจากจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือดังกล่าว โจทก์ได้ยอมรับและปฏิบัติตามโดยให้นายฐารออยู่ด้านนอกที่จำเลยจัดไว้สำหรับต้อนรับลูกค้า ซึ่งเป็นบริเวณแยกต่างหากจากห้องที่โจทก์ทำงานอยู่ มิได้อยู่ในห้องทำงานของโจทก์เช่นเดิม และไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนโดยนำนายฐาเข้ามารอในห้องทำงานอีก การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตามมาตรา ๑๑๙ (๔)
ละเมิด / ผิดสัญญา / สิทธิเรียกร้องมีอายุความ ๑๐ ปี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๓๓/๒๕๕๗ คดีนี้โจทก์ฟ้องแสดงโดยแจ้งชัดอ้างว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ มีหน้าที่พิจารณาคำขอสินเชื่อ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลเพื่อให้โจทก์อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่ลูกค้า แต่จำเลยไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่ออนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกค้าไป ต่อมาลูกค้าไม่อาจชำระหนี้ได้ โจทก์จึงต้องฟ้องขอให้บังคับลูกค้าชำระหนี้ต่อศาลแพ่ง ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการบังคับคดี จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้าง ข้อ ๒ และตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนั้นสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้อง จึงมิใช่เป็นเรื่องคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญาจ้างแรงงานด้วย เพราะโจทก์กับจำเลยเป็นนายจ้างลูกจ้างที่มีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
เงินประกัน / ความยินยอมให้หักเงินประกัน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๓๕/๒๕๕๗ เงินที่นายจ้าง (โจทก์) หักจากค่าจ้างของลูกจ้าง (นายกิตติ) เพื่อเป็นประกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ก็เพื่อเป็นหลักประกันความเสียหายในการทำงาน เช่นนี้ในกรณีที่นายกิตติทำให้เกิดความเสียหายในการทำงานแก่โจทก์ไม่ว่ากระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ว่าจะร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมหักเงินประกันเพื่อชดใช้ความเสียหายในการทำงานที่นายกิตติเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งข้อตกลงที่นายกิตติให้ไว้แก่โจทก์ตามหนังสือยินยอมในส่วนที่ก่อให้เกิดความเสียหายมีข้อความว่า “...ในการลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ที่ปฏิบัติอยู่ หรือต้องพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานของบริษัท อันเนื่องจากการทุจริต หรือการกระทำใดก็ตามอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท ข้าพเจ้ายินยอมให้บริษัทงดจ่ายเงินสำรอง (ที่ถูกคือเงินประกันความเสียหายในการทำงาน) คืนแก่ข้าพเจ้า...” จึงเป็นข้อตกลงที่นายกิตติยินยอมให้โจทก์หักเงินประกันชดใช้ความเสียหายในการทำงานที่ตนเองเป็นผู้กระทำ แม้จะเป็นการให้ความยินยอมกันไว้เป็นล่วงหน้าแต่โจทก์ก็ไม่ได้หักเงินประกันดังกล่าวก่อนที่จะมีความเสียหายเกิดขึ้น โจทก์คงนำมาหักเมื่อความเสียหายในการทำงานเกิดขึ้นแล้ว ข้อยินยอมที่นายกิตติให้ไว้แก่โจทก์เพื่อให้หักเงินประกันความเสียหายในการทำงานนี้จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ หากเป็นโมฆะไม่ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นายกิตติเบิกสินค้านำไปขายแล้วโจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้ จึงเท่ากับว่าโจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าอันเนื่องมาจากการกระทำของนายกิตติ มิฉะนั้นแม้นายกิตติมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้เกิดความเสียหาย โจทก์ก็สามารถหักเงินประกันความเสียหายในการทำงานเพื่อชดใช้ความเสียหายที่นายกิตติเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นได้ตามความยินยอมที่นายกิตติได้ให้ไว้ดังกล่าว ที่ศาลแรงงานไม่ให้โจทก์คืนเงินประกันการทำงานแก่นายกิตติเฉพาะในส่วนที่ให้โจทก์จ่ายเงินหลักประกันความเสียหายในการทำงานนั้นชอบแล้ว
พิพากษา / เกินไปกว่าหรือนอกจากปรากฏในคำฟ้อง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๙๐/๒๕๕๗ คดีนี้โจทก์ฟ้องเพียงว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่การตลาดและมีข้อตกลงจะจ่ายโบนัสโดยคิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่โจทก์ทำได้ โดยจ่ายในอัตราโบนัสรวมกับเงินเดือนไม่เกินร้อยละ ๒๕ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๔๘ โจทก์ทำรายได้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๓๐,๓๒๒,๐๗๗.๖๙ บาท ซึ่งเมื่อหักเงินเดือนออกแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเป็นเงิน ๗,๓๔๐,๕๑๙.๔๒ บาท แต่จำเลยไม่จ่าย จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัสจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์เท่านั้น เมื่อศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่ากลุ่มนายอำนวยที่โจทก์ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลบัญชีและระบุชื่อเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดนั้นเป็นลูกค้าที่นายสิทธิติดต่อชักชวนและให้คำแนะนำให้มาซื้อขายหลักทรัพย์กับจำเลยและได้ฝากโจทก์เป็นผู้ดูแลบัญชีกับระบุชื่อโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่การตลาด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทำหน้าที่ติดต่อชักชวนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนแก่กลุ่มนายอำนวยเพื่อให้เกิดการซื้อขายหลักทรัพย์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับโบนัสตามฟ้องในส่วนกลุ่มนายอำนวยรวม ๖ คน ทั้งเมื่อได้คำนวณค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทำได้ในปี ๒๕๔๘ จำนวน ๘๔๔,๕๙๙.๗๗ บาท จากจำนวนร้อยละ ๒๕ จะได้เงิน ๒๑๑,๑๔๙.๙๔ บาท แต่โจทก์ได้ค่าจ้างเงินเดือนประจำตลอดปี ๒๕๔๘ เป็นเงิน ๒๔๐,๐๐๐ บาท จำนวนเงินเดือนของโจทก์ประจำปี ๒๕๔๘ มีมากกว่าเงินที่คำนวณจากค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทำได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้โบนัสตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างงาน ข้อ ๔.๑ และข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามฟ้องของโจทก์แล้ว ดังนั้น การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยเลยไปว่าจำเลยและโจทก์ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการจ่ายเงินโบนัสเพราะเหตุว่าจำเลยเคยจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ในปี ๒๕๔๗ แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายโบนัสแก่โจทก์ ๒ เท่าของเงินเดือนเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒
สัญญารักษาข้อมูลและความลับในทางการค้า / จำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๙๒/๒๕๕๗ เมื่อพิจารณาจากธุรกิจการค้าของโจทก์ที่ต้องอาศัยการแข่งขัน ข้อมูลความรู้ ความลับทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าและลูกค้าของโจทก์ แต่จำเลยมีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้า ประสานงาน ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติสินค้าของโจทก์แก่ลูกค้า โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของโจทก์ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวก็มีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่เพียง ๒ ปี อันถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควรและมีการจำกัดพื้นที่ทำงานเพียงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถือได้ว่าเป็นการจำกัดพื้นที่พอสมควรเช่นเดียวกัน สัญญารักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าในคดีนี้จึงไม่เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่เป็นข้อตกลงที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๕
เลิกจ้าง / ด่าลูกค้าว่าควาย / ค่าชดเชย
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๒)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๙๕/๒๕๕๗ บริษัทจำเลยได้ประกอบธุรกิจให้บริการทางโทรศัพท์ (Call Center) แก่บริษัทสาม... จำกัด ดังนั้น มารยาทของพนักงานของบริษัทจำเลยจึงเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบกิจการตามหน้าที่การงานของจำเลย การที่โจทก์ด่าลูกค้าว่าควายนั้น แม้ว่าลูกค้าไม่ได้ยิน แต่การกระทำดังกล่าวก็เป็นการใช้กิริยาวาจาหยาบคายก้าวร้าวดูหมิ่นเหยียดหยามล่วงเกินลูกค้าในเวลาทำงานและในบริเวณบริษัทจำเลย โดยที่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำที่โจทก์พูดคุยกับลูกค้าก็ไม่ปรากฏว่า ลูกค้าพูดจาหยาบคาย หรือดูหมิ่นโจทก์ในทางเสียหายก่อน การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำที่ร้ายแรงอันเป็นความผิดตามวินัยและการลงโทษทางวินัยของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๒)
ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน / กรณีที่ร้ายแรง / ค่าชดเชย
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๓๓/๒๕๕๗ แม้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยจะระบุว่าการละทิ้งงานของตนเองในหน้าที่อาจถูกพิจารณาให้ออกจากงานได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดมาตรการลงโทษพนักงานที่กระทำผิดเท่านั้น ส่วนจะเป็นความผิดกรณีร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์การกระทำผิด ตลอดจนความเสียหายที่เกิดจากการกระทำผิดว่ามีมากน้อยเพียงใดประกอบด้วยการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่หนีไปนอนระหว่างเวลาทำงาน แม้เป็นการกระทำที่หลีกเลี่ยงการทำงานไปบ้าง แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และไม่ได้ออกไปภายนอกบริษัท ทั้งไม่ปรากฏว่าการกระทำของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยเพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เมื่อโจทก์ไม่เคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือในการกระทำดังกล่าวมาก่อน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ อย่างไรก็ตาม การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีละทิ้งหน้าที่การงานไปเสีย ซึ่งจำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุดังกล่าวอันเป็นความผิดตามข้อบังคับการทำงานก็เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
นิติทัศน์
คำว่า “ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้ แตกต่างไปจากคำว่า “สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” ที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาคดีอื่น ๆ
“สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” มิใช่ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมาย หากเป็นถ้อยคำที่เรียกขานกันในคดีที่ลูกจ้างฟ้องเรียกร้องเงินจากนายจ้างในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่บอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ ซึ่งพอสันนิษฐานได้ว่า คำว่า “สินจ้าง” เป็นคำที่อยู่ในบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ส่วนคำว่า “แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” เป็นคำที่บอกลักษณะของสินจ้างประเภทนี้ว่าจ่ายให้เป็นการทดแทนที่นายจ้างไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย มิใช่สินจ้างที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามมาตรา ๕๗๕ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา ๕๘๓ ซึ่งกำหนดว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือ... ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้” แล้ว น่าจะได้ถ้อยคำที่กฎหมายกำหนดความรับผิดของนายจ้างกรณีที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกสัญญาจ้างว่า “สินไหมทดแทน”
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้นำบทบัญญัติมาตรา ๕๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบัญญัติซ้ำไว้ในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ด้วย ข้อแตกต่างก็คือมาตรา ๕๘๒ใช้คำว่า “สินจ้าง” ส่วนมาตรา ๑๗ ใช้คำว่า “ค่าจ้าง” บทบัญญัติมาตรา ๕๘๒ จึงซ้ำกับมาตรา ๑๗ จึงมีข้อน่าพิจารณาว่าเมื่อลูกจ้างฟ้องนายจ้างในข้อหาไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและเรียกร้องให้ชดใช้เงินเพื่อการนั้น ศาลแรงงานควรนำบทบัญญัติในกฎหมายฉบับใดและมาตราใดมาวินิจฉัยสิทธิเรียกร้องของลูกจ้าง(มาตรา ๕๘๒ และมาตรา ๕๘๓ หรือมาตรา ๑๗) หรือทั้งสองฉบับและทุกมาตรา
โดยบทบัญญัติของกฎหมาย คำว่า “ สินจ้าง” และ “ค่าจ้าง” นั้น แตกต่างกันในทางกฎหมายหลายประการ เช่น ในเรื่องความหมาย “สินจ้าง” หมายถึง สิ่งตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งอาจเป็นเงิน หรือสิ่งของ หรือสิทธิประโยชน์ก็ได้ แต่ “ค่าจ้าง” หมายถึง เงิน เท่านั้น ไม่รวมสิ่งของและสิทธิประโยชน์อื่น ในเรื่องอายุความ “สินจ้าง” เป็นหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาจ้างแรงงานหรือหนี้ตามสัญญาจ้าง ซึ่งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ ส่วน “ค่าจ้าง” เป็นหนี้ซึ่งถือเป็นสิทธิเรียกร้องของ “ลูกจ้างซึ่งรับใช้การงานส่วนบุคคล เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำ...” หรือ “ลูกจ้างม่ว่าจะไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกหัดงานเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น...” จึงมีอายุความ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ ในเรื่องดอกเบี้ย หนี้ “สินจ้าง” คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ ส่วนหนี้ “ค่าจ้าง” เสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ ฯลฯ เป็นต้น
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
ค่าจ้าง / ค่ารับรองลูกค้า ค่าน้ำมันพาหนะ ค่าโทรศัพท์
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๓๔/๒๕๕๗ เดิมจำเลยจ่ายเงินค่ารับรองลูกค้า ค่าน้ำมันพาหนะ และค่าโทรศัพท์ให้แก่ลูกจ้างในแผนกขายซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยตามยอดเงินในใบเสร็จรับเงินที่ขอเบิก แต่ต่อมาจำเลยได้จ่ายให้เป็นประจำตามอัตราที่แน่นอนทุกเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงอีก ดังนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน มิได้จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์โดยตรงแม้จำเลยจะเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยไม่ต้องคำนึงใบเสร็จรับเงินมาแสดงอีก ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินให้เกิดความสะดวกในการบริหารจัดการเท่านั้น มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการจ่ายเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ส่วนค่าคอมมิสชัน โจทก์มิได้บรรยายกล่าวไว้ในคำฟ้อง จำเลยก็ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีถึงค่าคอมมิสชันไว้ อุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับค่าคอมมิสชัน จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้น เมื่อจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้จัดการเขตการขายไปเป็นผู้จัดการประสานงานขายเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับเงินค่ารับรองลูกค้า ค่าน้ำมันพาหนะและค่าโทรศัพท์ จึงมิใช่กรณีที่จำเลยลดค่าจ้างโจทก์แต่ประการใด การที่โจทก์ไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ แต่ยังคงทำงานในตำแหน่งเดิมให้จำเลย และต่อมาจำเลยได้มีหนังสือเตือนแล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลย และเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์
นิติทัศน์
โปรดศึกษาใน “นิติทัศน์” ท้ายย่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๓ – ๑๕๑๔/๒๕๕๗ ประกอบด้วย
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
อำนาจฟ้อง / วันที่กฎหมายใช้บังคับ
กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๓๘/๒๕๕๗ กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๙ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๐ ตามข้อ ๔๖ ระบุให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๙๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๙ จึงเป็นการฟ้องคดีก่อนกฎกระทรวงดังกล่าวบังคับใช้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โอนย้าย / ย้ายระหว่างบริษัทในเครือ มิใช่การเปลี่ยนตัวนายจ้าง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๓๙/๒๕๕๗ แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยกับบริษัทต้า... จำกัด จะมีลักษณะเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีผู้ถือหุ้นเกี่ยวข้องเป็นญาติกันและมีนายสุมิตรเป็นผู้บริหารทั้งสองบริษัทก็ตาม แต่บริษัททั้งสองได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกออกจากกัน การที่โจทก์โอนย้ายจากบริษัทต้า... จำกัด ไปทำงานกับจำเลยแม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการทำงานในลักษณะเดียวกันก็ตาม แต่บริษัทต้า... จำกัด ยังคงดำเนินกิจการของตนเองต่อไปโดยมิได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด เพื่อกลายเป็นจำเลยแต่อย่างใด กรณีที่โจทก์โอนไปทำงานกับจำเลยมิใช่เป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๓ ที่บัญญัติให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ แต่การโอนย้ายของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นตามที่บริษัทต้า... จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างโอนย้ายโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไปเป็นลูกจ้างจำเลยอันเป็นบริษัทในเครือที่เปิดดำเนินกิจการใหม่โดยโจทก์ยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗ วรรคหนึ่ง และมีผลให้โจทก์ต้องเปลี่ยนฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเป็นต้นไป ส่วนปัญหาว่าโจทก์จะมีสิทธินำระยะเวลาทำงานเดิมที่โจทก์เคยทำงานกับบริษัทต้า... จำกัด มานับต่อเนื่องกับระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลยหรือไม่นั้นก็ขึ้นกับข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าได้ทำข้อตกลงดังกล่าวไว้หรือไม่ เมื่อโจทก์กับจำเลยมิได้ตกลงเรื่องการนับระยะเวลาดังกล่าวไว้จึงต้องนับระยะเวลาทำงานของโจทก์เฉพาะเท่าที่โจทก์ทำงานกับจำเลยเท่านั้น
ค่าบริการทางการแพทย์ / กรณีมิได้เข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๕๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๔๑/๒๕๕๗ แม้การเจ็บป่วยของโจทก์ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๘ เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลแรงงานปรากฏว่าระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลดังกล่าว โจทก์มีอาการรู้สึกตัวดี การเต้นของหัวใจ ปอด และหน้าท้องปกติจนแพทย์สามารถส่งตัวโจทก์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลกรุงเทพในวันรุ่งขึ้นได้ ย่อมแสดงว่าหากจะส่งตัวโจทก์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลหัวเฉียวซึ่งเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิของโจทก์ก็สามารถกระทำได้เช่นกัน การที่โจทก์ยินยอมย้ายจากโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลกรุงเทพเพียงเพราะโรงพยาบาลกรุงเทพมีอุปกรณ์และเครื่องมือในการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดพร้อมกว่าโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน โดยไม่ย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลหัวเฉียวอันเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิทั้งที่โรงพยาบาลหัวเฉียวมีศักยภาพเพียงพอที่จะรักษาอาการของโจทก์ได้เช่นเดียวกันนั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่ต้องจ่ายให้แก่โรงพยาบาลกรุงเทพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๕๙
ลาออก / เลิกจ้าง / การสิ้นสุดของนิติสัมพันธ์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๔๒/๒๕๕๗ แม้โจทก์จะระบุในหนังสือลาออกซึ่งลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ว่าให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ ก็ตาม แต่โจทก์ก็มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยว่าได้รับเงินจำนวน ๓๗๐,๕๐๐ บาท ครบถ้วนแล้ว และจะไม่เรียกร้องกันอีกต่อไป ทั้งยืนยันแก่จำเลยใหม่ว่าวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของโจทก์และโจทก์จะไม่กลับมาที่บริษัทจำเลยอีก จึงแสดงว่าเมื่อโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวแล้ว โจทก์ประสงค์ให้การลาออกมีผลในวันเดียวกับวันที่ยื่นใบลาออกคือวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ โดยจำเลยตกลงยินยอมด้วย ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างจึงสิ้นสุดลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ หนังสือเลิกจ้างที่จำเลยจัดทำขึ้นลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ จึงไม่อยู่ในระยะเวลาที่จำเลยกับโจทก์ยังเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่
มอบอำนาจ / ไม่ต้องระบุบุคคลที่จะฟ้อง / การกระทำอันไม่เป็นธรรม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๓ (๔) (มาตรา ๙๓ (๑) เดิม)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๑ (๕)
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ (๒), ๑๒๓ (๓)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๔๓/๒๕๕๗ โจทก์มอบอำนาจให้นายสมดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้อง จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า สำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องไม่ได้ระบุให้นายสมผู้รับมอบอำนาจฟ้องเพิกถอนคำสั่งที่ ๕/๒๕๔๘ ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ ให้จำเลยที่ ๑๑ รับโจทก์กลับเข้าทำงานและให้ชดใช้ค่าเสียหาย เท่ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดยอมรับว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องจริง แต่อ้างว่าตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจนั้นโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายสมฟ้องคดีแทนเท่านั้น จำเลยทั้งสิบเอ็ดไม่ได้ให้การคัดค้าน ความถูกต้องแท้จริงของเอกสารสำเนาหนังสือมอบอำนาจว่าไม่มีต้นฉบับ หรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงไม่มีประเด็นในคดีว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสมตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องหรือไม่ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจ รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับ ศาลย่อมรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานการมอบอำนาจได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๓ (๔) (มาตรา ๙๓ (๑) เดิม) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสม “(๑)... ดำเนินการแทนข้าพเจ้า (โจทก์) ในฐานะโจทก์หรือจำเลยในคดีของศาลแรงงานได้ทุกประการ (๒) ดำเนินกระบวนการพิจารณาแทนข้าพเจ้าไปในทางจำหน่ายสิทธิของข้าพเจ้าได้ เช่น... (๓) แต่งตั้งทนายความ หรือ...” เป็นข้อความที่ระบุให้นายสมมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีของศาลแรงงานไว้โดยชัดแจ้ง เป็นการมอบให้นายสมมีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลแรงงานโดยไม่จำกัดตัวบุคคลที่จะต้องถูกฟ้อง อีกทั้งการมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๑ (๕) ไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นจำเลยทั้งสิบเอ็ดหรือเป็นผู้ใด นายสมจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ดต่อศาลแรงงานแทนโจทก์
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต้องใช้เหตุเลิกจ้างเฉพาะที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างเท่านั้น จะยกเหตุอื่นนอกเหนือไม่ได้ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ (คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) จึงวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างที่ได้จากข้อเท็จจริงที่ได้จากโจทก์(ลูกจ้าง)และจำเลยที่ ๑๑ (นายจ้าง)ได้ ซึ่งต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ดังนั้น จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ จึงยกข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ ๑๑ ขึ้นวินิจฉัยได้ว่าจำเลยที่ ๑๑ เลิกจ้างเพราะโจทก์ใช้วาจาไม่เหมาะสม แสดงกิริยาวาจาไม่เคารพและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีความเห็นขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาโดยตลอด ไม่อาจทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้ แม้จะไม่ใช่เหตุเลิกจ้างที่จำเลยที่ ๑๑ อ้างในหนังสือเลิกจ้างก็ตาม โจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ ๑๑ ต่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ว่าจำเลยที่ ๑๑ เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นประธานอนุกรรมการสหภาพแรงงานสายโรงแรมฮิล... เป็นการยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ ๑๑ กระทำการอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๑๒๑ ๒) ที่บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ไม่ใช่การห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ซึ่งยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างได้ในกรณีลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรงตามมาตรา ๑๒๓ (๓) ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑๑ ไม่ได้เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และไม่ใช่การเลิกจ้างที่อยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ แม้โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ ๑๑ ก็เลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๒๑ (๒), ๑๒๓ (๓)
โอนความเป็นลูกจ้าง / ข้อตกลงให้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดิม
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๕๑๙/๒๕๕๗ บริษัทศรี... จำกัด โอนสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและความเป็นลูกจ้างของโจทก์ให้แก่จำเลย โดยจำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานเดิมทุกประการรวมทั้งให้นับอายุงานต่อเนื่องซึ่งโจทก์ยินยอม ข้อเสนอการจ่ายเงินโบนัสของบริษัทศรี... จำกัด จึงเป็นสิทธิเดิมที่จำเลยตกลงให้แก่โจทก์ เมื่อขณะรับโอนความเป็นลูกจ้าง จำเลยตกลงให้โจทก์ได้รับสิทธิเช่นเดิม จำเลยจึงมีหน้าที่จ่ายเงินโบนัสตามข้อเสนอดังกล่าวแก่โจทก์
ฟ้องซ้ำ / ฟ้องใหม่ด้วยมูลเหตุตามฟ้องเดิม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๕๖๘/๒๕๕๗ การที่ศาลแรงงานตรวจคำฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ ๖๑๕๕/๒๕๕๐ ของศาลแรงงาน แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาจ้างทำขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นบริษัทที่มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และขณะนี้จำเลยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น จึงถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๑ กรณีไม่มีเหตุที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณา เมื่อการฟ้องคดีแรงงานต้องยื่นต่อศาลที่มูลคดีเกิดซึ่งก็คือสถานที่ที่ลูกจ้างทำงาน หรือยื่นต่อศาลแรงงานที่โจทก์หรือจำเลยมีภูมิลำเนา เมื่อโจทก์แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาคดีในศาลแรงงานนั้น จะเป็นการสะดวกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ เท่ากับศาลแรงงานได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ไม่อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลแรงงานดังกล่าว แต่กลับมายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ใหม่ด้วยมูลเหตุตามฟ้องเดิม โดยเพิ่มเติมข้อเท็จจริงว่าสัญญาการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยทำขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้ศาลแรงงานต้องกลับมาวินิจฉัยซ้ำในเหตุเดียวกันอีกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน / วางเงินต่อศาล
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๔, ๑๒๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๐๐/๒๕๕๗ ตามคำฟ้องโจทก์ระบุชัดเจนว่า จำเลยทั้งสองอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๒๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ในการออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ ๓๘/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย ๑๒๕,๐๐๐ บาท ให้แก่นางสาวณัฐ ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวย่อมถือได้ว่าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งนั้นจึงนำคดีมาสู่ศาลภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตามาตรา ๑๒๕ วรรคหนึ่ง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเยทั้งสองไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งเนื่องจากเป็นกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นเพียงเหตุผลที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้ศาลแรงงานพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์จะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดและศาลแรงงานจะพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งตามฟ้องหรือไม่ เป็นเรื่องในชั้นพิจารณาพิพากษาคดี เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีมาศาลตามมาตรา ๑๒๕ วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งจึงจะฟ้องคดีได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๕ วรรคสามด้วย แต่โจทก์ไม่นำเงินมาวางต่อศาล โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ไม่ได้ ที่ศาลแรงงานมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
เลิกจ้าง / ค่าชดเชย / ขับรถผิดเวลา นอกเส้นทาง จอดรถทิ้ง ทรัพย์สูญหาย แจ้งเท็จ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗, ๑๑๙ (๔)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๐๑/๒๕๕๗ การที่โจทก์ขับรถหัวลากบรรทุกสินค้าของจำเลยออกจากสำนักงานแหลมฉบังเวลา ๒๒.๕๐ นาฬิกา ของวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๙ เพื่อไปส่งให้แก่ลูกค้าที่อำเภอบ้านบึงในจังหวัดเดียวกัน เป็นการฝ่าฝืนประกาศของจำเลยที่กำหนดว่ารถที่ไม่ได้แล่นต่างจังหวัดให้รถออกได้หลังเวลา ๔ นาฬิกา และการที่โจทก์ขับรถออกนอกเส้นทางปกติก็เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ ๑๔ อีกทั้งการที่โจทก์ขับรถไปจอดทิ้งที่ตลาดบ้านบึงตั้งแต่เวลา ๒๓.๕๘ นาฬิกาของวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๙ จนถึงเวลา ๖.๕๖ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นเป็นเหตุให้ถูกคนร้ายงัด ทำให้ฝาเกลียวปิดถังน้ำมัน กุญแจล็อกถังน้ำมัน และน้ำมันเชื้อเพลิง ๒๕๐ ลิตร สูญหาย รวมค่าเสียหาย ๗,๙๔๖ บาท โจทก์กลับรายงานต่อผู้บังคับบัญชาและแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านบึงว่าโจทก์นำรถไปจอดที่หน้าบริษัทลูกค้า จึงเป็นการแจ้งหรือให้ข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้บังคับบัญชา และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน เป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ ๑๙ ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมีเหตุเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยกับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
บอกเลิกสัญญาจ้าง / สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๐๕/๒๕๕๗ คดีนี้จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยจะบอกเลิกสัญญาจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างก่อนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๙ อันเป็นวันจ่ายค่าจ้าง จึงมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๐ ชอบแล้ว
ค่าทำงานในวันหยุด / วันหยุดตามประเพณี / วันหยุดพักผ่อนประจำปี
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๙, ๓๐, ๕๖, ๖๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๑๔/๒๕๕๗ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีหน้าที่กำหนดหรือจัดวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง กรณีที่นายจ้างไม่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดและลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดดังกล่าว นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๒ เมื่อศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงมาว่า โจทก์มาทำงาน โดยไม่ได้หยุดตามประเพณีและมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีและจำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน จึงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก ๑ เท่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๒ (๑) ประกอบมาตรา ๕๖ (๒) และ (๓) จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ เพิ่งหยิบยกเรื่องดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
สละสิทธิ / ฟ้องหลังตกลงว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ อีก เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๒๐/๒๕๕๗ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และจำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมแล้ว จำเลยได้เสนอจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โบนัส และเงินเดือนในส่วนที่ ๓ วันสุดท้าย โดยนำไปหักกับเงินค่าสินค้าที่สูญหายก่อนแล้วจะชำระให้ ๒๙๖,๕๓๓ บาท แต่มีเงื่อนไขว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องสิทธิใดจากจำเลยอีกแล้ว โจทก์ลงชื่อยอมรับข้อเสนอในเอกสารการจ่ายเงินและรับเงินดังกล่าวจากจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยขอให้ยกฟ้อง ซึ่งจากคำให้การจำเลยเท่ากับว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่คดีนี้ศาลแรงงานมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไว้ และมิได้นำมาพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงเป็นการมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีอย่างครบถ้วน ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ซึ่งในการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นอำนาจฟ้องนี้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.๘ ซึ่งระบุว่าโจทก์ยืนยันว่าได้รับเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เช็คเลขที่ ๒๐๘๐๒๕๙ เป็นเงินจำนวน ๓๗๐,๐๓๓ บาท เป็นยอดเงินค่าจ้างคงค้างและค่าชดเชยจนถึงวันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด โจทก์ตกลงรับเงินจำนวนดังกล่าวและจะไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไปนั้น เมื่อก่อนเลิกจ้างโจทก์ได้มีการตกลงจ่ายเงินจำนวนสุดท้ายให้แก่โจทก์ ๓๗๐,๐๓๓ บาท โดยได้มีการตกลงให้หักเงิน ๗๓,๕๐๐ บาท ซึ่งเท่ากับเงิน ๒๑๐,๐๐๐ เยน ที่หายไปออกไปด้วย โจทก์ได้ตรวจสอบเงินดังกล่าว และลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.๘ กับรับเช็คดังกล่าวมาจากจำเลยครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์มีตำแหน่งเป็นพนักงานขายอาวุโส ทำงานกับจำเลยมากว่า ๑๐ ปี จบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี โจทก์ย่อมเข้าใจในสิทธิและหน้าที่หากมีการลงนามในเอกสารหมาย ล.๘ เมื่อจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ และโจทก์ลงนามรับเงินจากจำเลยและตกลงจะไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ จากจำเลยอีก การสละสิทธิของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.๘ จึงเป็นการกระทำโดยสมัครใจมีผลใช้บังคับผูกพันโจทก์ได้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
เลิกจ้าง / กรณีที่ร้ายแรง / ทุจริตต่อหน้าที่
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑), (๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๒๒/๒๕๕๗ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีและพฤติการณ์ของโจทก์ในการเรียกเก็บเงินค่าระวาง แต่มิได้นำเงินดังกล่าวไปเสียค่าธรรมเนียมบริการ(ค่าระวาง) กรณีจึงเป็นการประพฤติผิดเกี่ยวกับเรื่องการเงิน ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว
อำนาจฟ้อง / ไม่จัดการให้คนหางานได้ทำงาน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๒๓/๒๕๕๗ ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดหางานและเป็นตัวแทนนายจ้างทำผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วยการจัดการไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป และส่งโจทก์กลับประเทศไทยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ แล้ว
ค่าจ้าง / เงินรางวัลการขายประจำเดือน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๘๔/๒๕๕๗ จำเลยมีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลการขายตามระเบียบเงินรางวัลการขายประจำเดือนฉบับลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ตำแหน่งพนักงานขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๗,๕๗๐ บาท และมีเงินรางวัลการขายสินค้ารวมทั้งแผนก กำหนดจ่ายค่าจ้างเดือนละหนึ่งครั้งทุกวันสุดท้ายของเดือน ส่วนเงินรางวัลการขายจะคำนวณจ่ายในงวดเดือนถัดไป โจทก์ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๓ ให้มีผลในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ แต่โจทก์ทำงานถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๓ เท่านั้น ซึ่งระเบียบเงินรางวัลการขายประจำเดือนฉบับลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ ระบุว่า จำเลยพิจารณาปรับระบบการจ่ายเงินรางวัลการขายประจำเดือนเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่พนักงานขายในการให้บริการลูกค้าและเพื่อให้พนักงานขายมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงเห็นควรให้เปลี่ยนระเบียบการจ่ายเงินรางวัลการขายประจำเดือนสำหรับพนักงานขายตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ จำเลยจะกำหนดเป้าขอดขายขั้นต่ำรายแผนกสำหรับสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงาน ข้อ ๒ พนักงานจะได้รับเงินรางวัลการขายประจำเดือนเมื่อขายสินค้าที่รับผิดชอบรวมกันได้เกินเป้ายอดขายของแผนก ข้อ ๕ พนักงานจะได้รับเงินรางวัลการขายประจำเดือนในอัตราที่จำเลยกำหนดคูณด้วยยอดขายรวมของพนักงานขายในแผนก โดยเงินรางวัลการขายจะถูกนำมาเฉลี่ยให้พนักงานตามจำนวนวันที่มาปฏิบัติงานในเดือนนั้น ข้อ ๖ จำเลยจะจ่ายเงินรางวัลการขายประจำเดือนไม่เกินวันสุดท้ายของเดือนถัดไปโดยจ่ายรวมเข้ากับเงินเดือน ข้อ ๘ พนักงานที่ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยก่อนการจ่ายเงินรางวัลการขายประจำเดือนจะไม่ได้รับเงินรางวัลการขาย ยกเว้นพนักงานที่ลาออกล่วงหน้า ๓๐ วัน ตามระเบียบการลาออกของจำเลย ดังนั้น เมื่อเงินรางวัลการขายประจำเดือนมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การจ่ายดังที่ระบุไว้ในระเบียบเงินรางวัลการขายประจำเดือนดังกล่าว การจ่ายเงินรางวัลการขายจึงมีเจตนาเป็นการจ่ายเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ลูกจ้างที่ทำงานในตำแหน่งพนักงานขายในการให้บริการแก่ลูกค้าและเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากค่าจ้างที่จำเลยได้จ่ายเงินเดือนให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งเงินรางวัลการขายเป็นเงินที่จ่ายไม่แน่นอนทุกเดือน หากเดือนใดผลงานต่ำกว่าเป้ายอดขายขั้นต่ำรายแผนก พนักงานขายในแผนกนั้นก็จะไม่ได้รับเงินรางวัลการขายประจำเดือนนั้น จากเงื่อนไขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเงินรางวัลการขายประจำเดือนนี้มิได้เกิดจากผลการทำงานหรือผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยจากการขายสินค้าที่โจทก์ทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานของโจทก์โดยตรง เงินรางวัลการขายประจำเดือนจึงไม่เป็นค่าจ้างตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
นิติทัศน์
โปรดศึกษาใน “นิติทัศน์” ท้ายย่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๓ – ๑๕๑๔/๒๕๕๗ ประกอบด้วย
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
อุทธรณ์ / ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ / อ้างเหตุผลในคำร้องขอ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๙๕๔/๒๕๕๗ คดีนี้ศาลแรงงานอ่านคำพิพากษาวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓ หากจำเลยเห็นว่าคำวินิจฉัยข้อกฎหมายส่วนใดไม่ถูกต้องและยังประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาก็จะต้องยื่นอุทธรณ์เสียภายในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ ส่วนการที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อไปหรือไม่นั้น จะต้องเป็นกรณีตามมาตรา ๒๖ ซึ่งบัญญัติว่า “ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” ศาลแรงงานจึงต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยอ้างเหตุผลว่า จำเลยมีความเห็นกับทนายจำเลยคนเดิมไม่ตรงกันและยังไม่ได้รับคำพิพากษาและเอกสารประกอบในการเขียนอุทธรณ์ หากจำเลยมีความเห็นไม่ตรงกับทนายจำเลยคนเดิมดังที่อ้าง จำเลยก็ชอบที่จะตัดสินใจเสียแต่เนิ่น ๆ มิใช่รอจนถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ แล้วจึงค่อยมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก การที่จำเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ เสียแต่แรก กลับเพิ่งขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หลังจากสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ไปแล้วหลายวันเช่นนี้ จึงเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยเอง ถือไม่ได้ว่าคดีมีเหตุจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ศาลแรงงานไม่อนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ชอบแล้ว
การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางแพ่ง / ละเมิด / อายุความ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๒, ๑๙๓/๓๐, ๔๒๐
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๒๙/๒๕๕๗ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางแพ่งเป็นวิธีการโดยทั่วไปที่โจทก์(รัฐวิสาหกิจ)หรือหน่วยงานใดสามารถดำเนินการได้อยู่แล้วโดยจะมีกฎหมายออกมารองรับหรือไม่ก็ได้ เมื่อผลการสอบสวนเป็นอย่างไรต้องใช้สิทธิทางศาลต่อไป (แม้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ จะมีผลใช้บังคับหลังจากที่จำเลยที่ ๑ อนุมัติให้ลูกค้ากู้เงิน ก็มิใช่การใช้กฎหมายย้อนหลังแต่อย่างใด)
เมื่อคดีก่อนจำเลยที่ ๑ (ลูกจ้าง)ฟ้องโจทก์(รัฐวิสาหกิจ)ขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางวินัย แต่คดีหลังโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหาย จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน โจทก์มีอำนาจฟ้อง
แม้คดีนี้นี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดโจทก์โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ฟ้องโจทก์ก็ได้ระบุเป็นกรณีที่จำเลยทั้งห้าผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย การพิจารณาปัญหาเรื่องอายุความจึงต้องพิจารณาถึงอายุความตามเหตุแห่งการฟ้องคดีทั้งสองเหตุด้วย การที่โจทก์ในฐานะนายจ้างฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกจ้าง การกระทำดังกล่าวจึงอยู่ภายใต้บังคับของอายุความผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไป ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ การนับอายุความให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้อง หรือถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการให้นับแต่เวลาที่ฝ่าฝืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๒ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุละเมิดเกิดในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งสอบสวนแล้วให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์และแจ้งให้กรรมการผู้จัดการรับทราบเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๖ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๗ จึงไม่เกินกำหนดระยะเวลา ๑๐ ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๓ จัดการทำนิติกรรมการกู้เงินของลูกค้าสามรายตามที่จำเลยที่ ๑ อนุมัติมา โดยจำเลยที่ ๓ รู้อยู่แล้วว่ามีการแก้ไขราคาขายและราคากลางที่เห็นสมควร ซึ่งเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับคำสั่งทางปฏิบัติของโจทก์ แต่จำเลยที่ ๓ ก็ยังคงปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๓ แต่ก็ยังมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปอีกคือกรรมการผู้จัดการ ซึ่งมิใช่ผู้อนุมัติโครงการที่มีการแก้ไขราคาดังกล่าว จำเลยที่ ๓ เป็นผู้จัดการสาขาย่อมมีความรู้เพียงพอที่จะเลือกปฏิบัติได้ว่าไม่ควรทำนิติกรรมทันที ควรทักท้วงต่อโจทก์เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ ๓ มิได้กระทำการทักท้วง ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามที่จำเลยที่ ๓ ต้องมีตามหน้าที่ของตนอย่างร้ายแรง ถือได้ว่าจำเลยที่ ๓ กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
จำเลยที่ ๔ ให้ความเห็นชอบควรรับโครงการตามที่ได้มีการเสนอราคาขายและราคากลางที่เห็นควรที่แก้ไขแล้วโดยที่จำเลยที่ ๔ รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๔ ได้เคยให้ความเห็นชอบควรรับโครงการในราคาที่ยังไม่มีการแก้ไข การกระทำของจำเลยที่ ๔ จึงเป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างร้ายแรงในการปฏิบัติงานของตน ทั้งเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ ๔ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
จำเลยที่ ๕ ทราบถึงการแก้ไขในเอกสารการกู้เงิน ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวไม่ถูกต้องตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์ จำเลยที่ ๕ สามารถเห็นได้ชัดแจ้งถึงข้อบกพร่องไม่ถูกต้องดังกล่าวอย่างง่ายดาย การที่จำเลยที่ ๕ ให้ความเห็นชอบควรรับโครงการซ้ำเป็นครั้งที่สองโดยอ้างว่าจำไม่ได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ ๕ ย่อมไม่สมเหตุสมผล แม้จำเลยที่ ๕ จะมีงานมากก็ตาม เพราะจำเลยที่ ๕ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถย่อมจะไม่ให้ความเห็นไปโดยไม่รู้ถึงความบกพร่องไม่ถูกต้องดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๕ ให้ความเห็นรับโครงการที่มีการแก้ไขราคาโดยไม่ถูกต้อง จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
เมื่อฟังว่าจำเลยที่ ๑ จงใจทำละเมิดโจทก์ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ กระทำละเมิดโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยทั้งห้าจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ กรณีไม่อาจวินิจฉัยว่าความเสียหายของโจทก์รับฟังไม่ได้จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายให้ได้ เนื่องจากเมื่อมีการกระทำละเมิดแล้วย่อมทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งต้องมีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐
นิติทัศน์
ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีนี้ โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจประกอบกิจการธนาคาร จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารโจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นหัวหน้างานสินเชื่อฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาค จำเลยที่ ๓ เป็นผู้จัดการสาขา จำเลยที่ ๔ เป็นหัวหน้าพนักงานสินเชื่อสาขา จำเลยที่ ๕ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา จำเลยทั้งห้ามีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงต้องนำสืบพยานหลักฐานให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยแต่ละคนมีหน้าที่อย่างไร บกพร่องในหน้าที่หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างใด ส่วนจำเลยนั้น หากจำเลยคนใดนำสืบพยานหลักฐานให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าตนได้ปฏิบัติตามหน้าที่โดยถูกต้องตามระเบียบหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยคนนั้นก็ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย เมื่องานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อต้องผ่านการพิจารณาของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องหลายคน ผู้ที่มีหน้าที่แต่ละคนจึงต้องพิจารณาโดยระมัดระวังและละเอียดรอบคอบ ไม่ว่างานนั้นจะมีผู้อื่นพิจารณามาก่อนแล้วหรือมีผู้อื่นพิจารณาภายหลังสักกี่คนก็ตาม และหากผู้ที่พิจารณาเห็นข้อบกพร่องหรือการปฏิบัติโดยไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ต้องบันทึกแสดงความเห็นหรือทักท้วงไว้ ซึ่งหากได้บันทึกแสดงความเห็นหรือทักท้วงไว้แล้ว ก็ถือได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยของผู้ปฏิบัติงานนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
ค่าชดเชย / กรณีที่ร้ายแรง / ไม่ไปเปิดและอยู่ประจำบูธขายรถยนต์
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๕๔/๒๕๕๗ การที่โจทก์ไม่มาปฏิบัติงานประจำบูธตามที่ได้รับคำสั่งจนนางสาวพนิดามาพบเข้าจึงโทรศัพท์สอบถาม โจทก์จึงมาเปิดบูธเวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา ล่วงเลยกำหนดเวลาเปิดไปถึง ๒ ชั่วโมงครึ่ง ย่อมทำให้จำเลยเสียผลประโยชน์ที่จะพืงได้จากการขายรถในช่วงเวลาดังกล่าวทั้งที่จำเลยต้องเช่าพิ้นที่เพื่อเปิดบูธดังกล่าว และยังเสียภาพพจน์ของบริษัทและสินค้าด้วย ทั้งตามพฤติการณ์ยังส่อว่าหากนางสาวพนิดาไม่มาพบและโทรศัพท์สอบถามโจทก์ โจทก์คงจะทิ้งบูธไม่มาปฏิบัติงานทั้งวันซึ่งอาจทำให้ทรัพย์สินของจำเลยสูญหายได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นความผิดวินัยหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ / ทราบเมื่อใดเพิกถอนได้โดยไม่มีเงื่อนไข /ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด / ขอรับได้แม้หนี้ละเมิดที่ยังกำหนดจำนวนไม่ได้แน่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒, ๒๕, ๒๗, ๙๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๕๖/๒๕๕๗ บทบัญญัติในเรื่องการเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เป็นบทบัญญัติที่ใช้ในการกระทำทั้งหลายทั้งปวงในคดีไม่ว่าในขั้นตอนใด ซึ่งเหตุแห่งการผิดระเบียบอาจเกิดจากการดำเนินการไปโดยเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงหรือความบกพร่องของผู้ดำเนินการ เมื่อดำเนินการผิดระเบียบไปแล้ว หากศาลทราบเมื่อใดก็สามารถเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้เมื่อนั้นโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๕๐,๖๓๑,๙๙๐.๔๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จำเลยขาดนัด และศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ ต่อมาในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๙ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลย หลังจากนั้นศาลแรงงานกลางออกหมายบังคับคดีในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๒ แล้วต่อมาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม แล้วมีคำสั่งใหม่ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความนั้น เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๙ มีผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลย รวมทั้งว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒ และ ๒๕ บรรดาเจ้าหนี้ของผู้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ก็ต่อเมื่อได้ยืนคำขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายนี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว และแม้คดีจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม เจ้าหนี้จะต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด ๒ เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๗ และ ๙๑ เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายภายในกำหนดโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ของโจทก์ในคดีล้มละลายนี้ได้ การพิจารณาคดีนี้ย่อมจะไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด และที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๒ ให้ยกคำร้องขอจำหน่ายคดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปย่อมเป็นการไม่ยุติธรรมต่อเจ้าหนี้รายอื่นที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดตามกฎหมาย ทั้งอาจทำให้โจทก์สามารถที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้อีก ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาให้โจทก์โดยที่ความผิดพลาดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้นเกิดจากความบกพร่องของโจทก์เอง แม้หนี้ที่เกิดจากการทุจริตอันเป็นการทำละเมิดก็เป็นหนี้เงินแม้ยังกำหนดได้ไม่แน่นอนโจทก์ก็ต้องนำหนี้นั้นมายื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางให้เพิกถอนคำสั่งนัดสืบพยานโจทก์และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจึงชอบแล้ว
เลิกจ้าง / ไม่ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๕๙/๒๕๕๗ เมื่อนายวุฒิ... และนายผดุง... ได้บอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้รับมอบหมายจากนายคัทซุ... หรือนายมาซา... ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย จึงไม่มีผลเป็นการเลิกจ้าง ส่วนการกระทำที่นายวุฒิ... ได้แนะนำให้โจทก์ลาออก แต่โจทก์ขอเวลาในการตัดสินใจ จากนั้นโจทก์ไม่กลับเข้าทำงานให้กับจำเลย โดยจำเลยได้มีหนังสือแจ้งเตือนและโทรศัพท์แจ้งให้โจทก์กลับเข้าทำงานแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมาจนถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ แต่โจทก์ไม่กลับเข้าทำงาน จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์นั้น นายวุฒิ... ได้เรียกโจทก์ไปพบในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ และแนะนำให้โจทก์ลาออก แต่โจทก์ได้ขอเวลาในการตัดสินใจว่าจะลาออกหรือไม่ จากนั้นในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ นายวุฒิ... ได้โทรศัพท์แจ้งให้โจทก์กลับเข้าทำงาน และจำเลยมีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์กลับเข้าทำงานแต่โจทก์ไม่กลับเข้าทำงานนั้น ย่อมเป็นการแสดงว่าในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ จำเลยยังไม่ประสงค์จะเลิกจ้างโจทก์ ทั้งยังเห็นว่าโจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยอีกต่อไปจึงเรียกให้โจทก์กลับเข้าทำงานในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ ดังนั้น จำเลยจึงมิได้เลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓
ค่าจ้าง / ค่ารถยนต์
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๔๑๖/๒๕๕๗ ตามสัญญาจ้างได้ระบุแยกค่าตอบแทนไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นเงินเดือนพื้นฐานเดือนละ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนค่ารถยนต์ที่เป็นปัญหาโต้เถียงกันได้กำหนดว่าเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับค่ารถยนต์และค่าคนขับเดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท โดยแยกไว้ต่างหากและให้รวมทั้งภาษีจากการใช้รถยนต์บนท้องถนน ค่าน้ำมัน ค่าประกันภัย ค่าซ่อมแซมและค่าบำรุงรักษากับค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องอย่างอื่นอีกด้วย เห็นได้ชัดว่า เป็นสวัสดิการให้โจทก์ได้รับความสะดวกเกี่ยวกับพาหนะที่จะต้องใช้ในการเดินทางไปทำงาน ค่ารถยนต์ที่จำเลยตกลงจ่ายให้เดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาทจึงมิใช่ค่าตอบแทนในการทำงานที่จะถือเป็นค่าจ้าง ตามความหมายในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
นิติทัศน์
โปรดศึกษาใน “นิติทัศน์” ท้ายย่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๓ – ๑๕๑๔/๒๕๕๗, ๒๐๖๗ – ๒๐๖๘/๒๕๕๗, ๓๙๓๔/๒๕๕๗, ๔๗๘๔/๒๕๕๗ ประกอบด้วย
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
อำนาจฟ้อง / ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๔, ๑๒๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๔๙๒/๒๕๕๗ คดีนี้โจทก์(นายจ้าง)ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๔ วรรคสาม โดยอ้างว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายที่สั่งว่านายสุพรรณ (ลูกจ้าง) ไม่ได้กระทำผิดกรณีร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๙ และให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายสุพรรณ ทำให้โจทก์เสียหายเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ดังนี้ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่เป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ทำละเมิดต่อโจทก์ และการออกคำสั่งที่ ๖๐/๒๕๕๓ ของจำเลยที่ ๓ ได้กระทำไปโดยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๔ วรรคสาม หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งก็ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ตามมาตรา ๑๒๕ วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยที่ ๒ มีหนังสือถึงโจทก์เพื่อส่งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้แก่โจทก์ก็เป็นการปฏิบัติราชการในส่วนงานสารบรรณของทางราชการเท่านั้น จำเลยที่ ๒ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งดังกล่าวแต่ประการใด เมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ก็มิได้มีส่วนต้องร่วมรับผิด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
วันหยุดพักผ่อนประจำปี / ไม่อนุญาต / ละทิ้งหน้าที่
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๐๒/๒๕๕๗ ลูกจ้างขอลาหยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่วันที่ ๙ ถึงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ แล้วออกจากงานไปเองตั้งแต่เวลา ๑๒ นาฬิกา ของวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๐ โดยยังไม่ได้รับการอนุมัติจากนายจ้าง และหยุดงานไปเองต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ รวม ๒ วันครึ่ง ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๒ วันครึ่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงที่ละทิ้งหน้าที่ คงมีสิทธิได้รับค่าจ้างเฉพาะการทำงานครึ่งวันของวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๐
ฟ้องซ้อน / ฟ้องลูกจ้างคดีอาญาฐานฉ้อโกงและฟ้องคดีแรงงานเรียกเงินที่ฉ้อโกง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๐๕/๒๕๕๗ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงและทำลายเอกสารโดยให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ การขอให้บังคับในส่วนแพ่งจึงมาจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด ข้ออ้างอันเป้นหลักแห่งข้อหาจึงมิได้เป็นอย่างเดียวกัน มิใช่เป็นการฟ้องร้องในเรื่องเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งของคดีอาญาดังกล่าว
ศาลแรงงานพิจารณาคดีที่ลูกจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือเตือนของนายจ้างได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙(๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๖๖/๒๕๕๗ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือโดยไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยลงโทษโจทก์โดยไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจำเลยให้การว่าโจทก์ทำผิดตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จึงลงโทษโจทก์ได้โดยชอบ จึงมีประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่าโจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับหรือไม่ และจำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือได้โดยชอบด้วยระเบียบข้อบังคับหรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจที่ศาลแรงงานจะพิจารณาพิพากษาได้ กรณีมิใช่การก้าวล่วงเข้าไปในเรื่องการบริหารจัดการองค์กรของนายจ้างแต่อย่างใด
โจทก์เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีหน้าที่สำคัญตามระเบียบข้อบังคับที่จะต้องตรวจสอบอายุของหนังสือเดินทางของตนให้ใช้การได้เสมอ เมื่อโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ขวนขวายกระตือรือร้นในการต่ออายุหนังสือเดินทางให้มีอายุเพียงพอจนทำให้หนังสือเดินทางมีอายุใช้งานเหลือไม่ถึง ๖ เดือน เป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังเมืองดูไบซึ่งตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่อนุญาตให้โจทก์เดินทางเข้าประเทศได้ จึงถือว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับของจำเลย จึงเป็นความผิดทางวินัย การที่จำเลยลงโทษโจทก์โดยตักเตือนเป็นหนังสือ จึงเป็นดุลพินิจของจำเลยที่เหมาะสมตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของจำเลยแล้ว
ขออนุญาตลงโทษกรรมการลูกจ้าง / ชิงลาออกก่อน / ใช้สิทธิไม่สุจริต
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๙๘/๒๕๕๗ จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยการไล่ออก เนื่องจากโจทก์กระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่เรียกเงินจากลูกหนี้ของจำเลยที่มาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๗๑๕/๒๕๕๐ โจทก์ยื่นคำคัดค้านโดยโจทก์เบิกความในคดีดังกล่าวว่าได้รับเงินจากลูกหนี้ของจำเลยจริง แต่เป็นเงินที่ลูกหนี้ประสงค์จะให้นำไปทำบุญโดยโจทก์นำไปทำบุญแล้ว ซึ่งโจทก์ไม่เคยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นปฏิเสธตั้งแต่ในชั้นที่โจทก์ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลย เพิ่งยกขึ้นมาอ้างขณะเบิกความต่อศาลในคดีดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานสืบพยานทั้งสองฝ่ายในคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นและนัดฟังคำพิพากษา โจทก์กลับยื่นใบลาออกก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา หากโจทก์ไม่ลาออกศาลแรงงานก็ต้องพิจารณาว่าโจทก์กระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากโจทก์กระทำผิดศาลแรงงานก็ต้องมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยลงโทษไล่โจทก์ออกได้ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกเนื่องจากเห็นว่าคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาและโจทก์มิได้ยื่นใบลาออกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ตามระเบียบของจำเลย อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์คาดหมายได้ว่าศาลแรงงานอาจจะอนุญาตให้จำเลยลงโทษโจทก์โดยการไล่ออกหรือเลิกจ้าง โจทก์จึงชิงลาออกเสียก่อนเพื่อไม่ให้กระบวนการพิจารณาในการขอลงโทษกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการลาออกของโจทก์ เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออกเนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกเพราะเหตุทุจริต ย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕ โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุจากการลาออกโดยไม่สุจริตมาขอเพิกถอนคำสั่งไล่โจทก์ออกของจำเลยเพื่อให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการลาออกและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕), ๒๔๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
นิติทัศน์
กรณีที่โจทก์(ลูกจ้าง)ฟ้องจำเลย(นายจ้าง)ต่อศาลในคดีนี้เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของนายจ้างนั้น หากพิจารณาในแง่ของกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน การออกคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างก็คือการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานต่อลูกจ้างเป็นหนังสือนั่นเอง โดยแท้จริงแล้ว นายจ้างมีสิทธิที่จะบอกเลิกจ้างลูกจ้างได้ทั้งด้วยวาจาหรือโดยทำเป็นหนังสือ เช่นเดียวกันลูกจ้างก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างต่อนายจ้างทั้งด้วยวาจาและเป็นหนังสือ ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานมาตราใดบัญญัติให้นายจ้างมีอำนาจหรือมีสิทธิที่จะออกคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างได้ (นายจ้างที่ออกคำสั่งเลิกจ้างอาจเข้าใจว่าตนเองมีอำนาจที่จะออกคำสั่งเลิกจ้างได้ หรือมิฉะนั้นก็อาจเอาอย่างหรือเลียนแบบวิธีการลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการซึ่งกระทำโดยการออกคำสั่งอันเป็นการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการ)
เมื่อนายจ้างไม่มีอำนาจหรือไม่มีสิทธิที่จะออกคำสั่งเลิกจ้าง และคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวมีผลเพียงเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างต่อลูกจ้าง ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกการแสดงเจตนาในการบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งของนายจ้าง และไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างหรือเพิกถอนการบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างดังกล่าวได้ (หากลูกจ้างเห็นว่านายจ้างเลิกจ้างตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือโดยไม่เป็นธรรม ลูกจ้างก็มีสิทธิฟ้องนายจ้างข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานหรือให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙) ลูกจ้างจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างได้ ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อกฎหมายข้างต้นได้
ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ นายจ้างพบว่าลูกจ้างกระทำการทุจริตต่อหน้าที่จึงดำเนินการไล่ออก(เลิกจ้าง) แต่เนื่องจากลูกจ้างดังกล่าวมีตำแหน่งเป็นกรรมการลูกจ้างซึ่งได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒ นายจ้างไม่อาจเลิกจ้างทันทีได้ ต้องขอและได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนจึงจะเลิกจ้างได้ ในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ลูกจ้างยื่นใบลาออกซึ่งมีผลทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างยุติลง นายจ้างไม่อาจเลิกจ้างลูกจ้างได้อีกต่อไป คดีที่นายจ้างขออนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้างลูกจ้างก็ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ศาลต้องพิพากษายกคำร้องของนายจ้าง การที่ลูกจ้างลาออกก่อนศาลวินิจฉัยและมีคำสั่งอนุญาต(หรือไม่อนุญาต)ให้เลิกจ้างดังกล่าวมีลักษณะเป็น “การชิงลาออก” เพื่อมิให้นายจ้างไล่ออก(เลิกจ้าง)ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับเงินและประโยชน์ต่าง ๆ จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากนายจ้าง และจากบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนี้ จะถือว่าการลาออกของลูกจ้างกรณีเช่นนี้เป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเพื่อให้ตนได้รับประโยชน์ที่ตนไม่มีสิทธิได้รับและเพื่อมิให้นายจ้างใช้สิทธิไล่ออกตามข้อบังคับหรือระเบียบหรือเลิกจ้างตามกฎหมายได้ การลาออกของลูกจ้างจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีผลเป็นการลาออกตามกฎหมาย เมื่อต่อมานายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้าง กรณีจึงเป็นการเลิกจ้าง มิใช่การลาออกที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องในคดีนี้แต่อย่างใด ศาลชอบที่พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้เช่นกัน
เพื่อมิให้มีกรณีที่ลูกจ้าง “ชิงลาออก” อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ในข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือในระเบียบการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง นายจ้างจึงอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการลาออกที่จะได้รับเงินกองทุนเลี้ยงชีพหรือได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ไว้ด้วยว่า จะต้องเป็น “การลาออกโดยสุจริต” ซึ่งอาจระบุความหมายให้เป็นที่เข้าใจชัดขึ้นว่า การลาออกเนื่องจากลูกจ้างได้กระทำการโดยทุจริตต่อหน้าที่หรือได้กระทำความผิดอื่นที่เป็นเหตุให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานไว้ก่อนการลาออก ให้ถือเป็น “การลาออกโดยไม่สุจริต” ด้วย
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
คำร้องขอถอนอุทธรณ์ / คำคัดค้าน
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๘๔/๒๕๕๗ การที่โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องหลังจากจำเลยทั้งสิบเจ็ดทำคำแก้อุทธรณ์แล้ว โดยมีข้อความระบุว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป จึงขอถอนฟ้องต่อศาลฎีกา พอแปลความได้ว่าโจทก์ต้องการขอถอนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพื่อยุติการดำเนินคดีที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ไว้ จำเลยทั้งสิบเจ็ดได้รับสำเนาแล้วไม่ได้ทำคำคัดค้าน หลังจากนั้นไม่นานโจทก์ยื่นคำร้องขอยกเลิกคำร้องขอถอนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา จำเลยทั้งสิบเจ็ดทำคำคัดค้าน ดังนี้ เมื่อศาลฎีกายังไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ และโจทก์ยื่นคำร้องขอยกเลิกคำร้องขอถอนอุทธรณ์นั้นเสียก่อน จึงยังไม่มีผลเป็นการลบล้างของการยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นไว้เดิมจึงยังคงอยู่ และศาลฎีกายังพิจารณาอุทธรณ์ต่อไปได้
สิทธิเรียกร้อง / ค่าเสียหายกรณีลูกจ้างทำผิดระเบียบปฏิบัติ / มีอายุความสิบปี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๙๒๒/๒๕๕๗ พฤติการณ์ในการทำผิดของจำเลยเป็นกรณีทำผิดระเบียบปฏิบัติในการใช้บัตรโดยสารเครื่องบินผิดระเบียบของโจทก์ จึงถูกลงโทษตักเตือนและให้ใช้ราคาบัตรโดยสาร การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถือว่ามีอายุความ ๑๐ ปี
ลูกจ้าง / นายจ้าง / ทำงาน / จ่ายค่าจ้าง / บังคับบัญชา
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๙๘๕/๒๕๕๗ โจทก์ว่าจ้างนายพรตทำงานในหน้าที่ที่ปรึกษาด้านการตลาด โดยจ่ายค่าจ้างให้เป็นรายเดือน เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดเวลาที่ทำงานให้โดยไม่กำหนดปริมาณงานว่าต้องทำมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องด้วยคำนิยาม “นายจ้าง” “ลูกจ้าง” และ “ค่าจ้าง” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้ปรากฏอีกว่านายพรตต้องปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ที่ให้ทำรายงานการซื้อขายสินค้า รวมทั้งทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้โจทก์ตรวจสอบทุกเดือน เป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือนายพรตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ แล้ว แม้นายพรตไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ในเรื่องอื่นก็ตาม จึงถือได้ว่านายพรตเป็นลูกจ้างของโจทก์
นายจ้างเจ้าหนี้กองมรดกย่อมฟ้องทายาทของลูกจ้างคนใดให้รับผิดได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๗, ๑๗๔๕, ๑๗๕๕
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๙ (๑), ๒๔๕ (๑)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๔๔/๒๕๕๗ ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการ ได้เก็บเงินค่าสินค้าแล้วไม่นำส่งให้นายจ้าง ต่อมาก็ตายลง นายจ้างฟ้องผู้ค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างและทายาทของลูกจ้างให้ร่วมรับผิดชดใช้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๔๕ บัญญัติให้ทายาทมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว เมื่อลูกหนี้ตายความรับผิดของลูกหนี้ย่อมตกแก่ทายาท ทายาททุกคนต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมแต่ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนและเจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนก็ได้ตามมาตรา ๑๗๓๗ มูลความแห่งคดีนี้จึงเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อทายาทบางคนยกอายุความขึ้นต่อสู้ย่อมถือว่าทำแทนทายาทคนอื่นด้วย ทายาทคนอื่นย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้เรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๙ (๑) และ ๒๔๕ (๑) (เมื่อนายจ้างฟ้องทายาทเกินกว่าหนี่งปีนับแต่ลูกจ้างเสียชีวิต คดีจึงขาดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๕)
นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ / ห่างบ้านลูกจ้าง ๕๐ กิโลเมตร
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๒๐๙ – ๑๑๒๑๑/๒๕๕๗ (นายจ้างประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร เดิมวิ่งรับส่งผู้โดยสารจากต้นสายอู่ปากน้ำ ตำบลบางเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ไปยังปลายสายสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ใหม่(ปิ่นเกล้า) แล้ววนกลับอู่ปากน้ำ ต่อมานายจ้างย้ายสถานที่ทำงานจากอู่ปากน้ำ ไปยังอู่สายใต้ใหม่ แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งห่างจากบ้านพักของลูกจ้างถึง ๕๐ กิโลเมตร) หากโจทก์ทั้งสามย้ายไปทำงานที่ใหม่ย่อมมีความลำบากและเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิมอันเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามมีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิม และไม่มีเวลาดูแลครอบครัวได้เช่นเดิม จึงเป็นกรณีที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ทั้งสามและครอบครัว โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยชอบ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่โจทก์ทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๐