กฎหมายแรงงานหลายฉบับได้กำหนดความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยและในการคำนวณเงินประเภทต่าง ๆ ที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายนั้นหรือในการคำนวณจำนวนเงินที่ได้รับการคุ้มครองในกฎหมายนั้น เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ ค่าชดเชยพิเศษแทนการยอกกล่าวล่วงหน้า เงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เงินสมทบกองทุนประกันสังคม และหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน เป็นต้น
เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้แตกต่างจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ ดังนั้น การพิจารณาว่า เงินจำนวนใดเป็น “ค่าจ้าง” ตามความหมายของกฎหมายฉบับใดหรือไม่ นั้น จักต้องพิเคราะห์จากบทนิยามของกฎหมายฉบับนั้น ๆ โดยเฉพาะ กฎหมายแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์ในการบัญญัติหลักเกณฑ์แตกต่างกันและได้กำหนดความหมายไว้แตกต่างกัน กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับก่อน ๆ (เช่น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน) ได้กำหนดความหมายคำว่า “ค่าจ้าง” ให้รวมถึงเงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ( แม้แต่สิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างก็ถือว่าเป็นค่าจ้างด้วย) โดยบัญญัติว่า “ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” เมื่อมีคดีไปสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยว่าเงินจำนวนใดเป็นค่าจ้างหรือไม่ จึงต้องยึดถือบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งมีผลให้เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างหลายประเภท ทั้งที่มีจำนวนเล็กน้อยและที่มีจำนวนมากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นค่าจ้าง ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารกฎหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่และปัญหาในการปฏิบัติตามกฎหมายของนายจ้างและลูกจ้าง เนื่องจากไม่ทราบและไม่อาจวินิจฉัยได้โดยง่ายว่าเงินจำนวนใดเป็นค่าจ้างบ้าง แต่เมื่อมีการยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการกำหนดความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ใหม่ โดยให้หมายความถึงเฉพาะ “เงิน” เท่านั้น(ไม่รวมสิ่งของ) และหมายเฉพาะเงินในส่วนที่ “นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน” ไว้ในสัญญาจ้างเท่านั้น โดยถือเอาเพียงเงินเดือนหรือเงินจำนวนมากที่สุดอันเป็นค่าจ้างหลักที่ได้ตกลงกันไว้ ไม่รวมถึงเงินประเภทต่าง ๆ ที่มีจำนวนเล็กน้อยอื่น ดังนั้น “ค่าจ้าง” ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงมีความหมายแคบกว่าที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเดิม และแคบกว่า “ค่าจ้าง” ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดความหมายไว้ว่า “ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอย่างอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลของงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน...”
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาว่าเงินประเภทต่าง ๆ เป็นค่าจ้างหรือไม่ โดยพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนั้นว่าอยู่ในความหมายดังกล่าวหรือไม่ มิได้พิจารณาเพียงชื่อเรียกเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากแต่ละสถานประกอบกิจการกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการจ่ายเงินประเภทนั้นแตกต่างกัน เช่น ค่าน้ำมันรถ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็น “ค่าจ้าง” ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๗๓/๒๕๒๘ ที่ ๗๓๑๖/๒๕๔๙ ที่ ๗๕๐ – ๗๕๑/๒๕๕๔ และวินิจฉัยว่าไม่เป็น “ค่าจ้าง” ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๐๑/๒๕๒๖ ที่ ๔๘๔๒/๒๕๔๘ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีที่เกี่ยวกับค่าจ้างแล้ว ก็จะได้ได้บทสรุปในการพิจารณาดังนี้
เงินจำนวนใด ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร หากจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ(โดยตรง) หรือจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำ มีอัตราหรือจำนวนที่แน่นอน โดยไม่ปรากฏวัตถุประสงค์การจ่ายเป็นประการอื่น ย่อมถือว่าเป็น “ค่าจ้าง”
เงินจำนวนใด ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร หากจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์แจ้งชัดว่าเพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง หรือเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างทำงานเพิ่มขึ้น หรือเพื่อเป็นรางวัลแก่ลูกจ้าง หรือเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง หรือเพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ลูกจ้างได้ออกไปเพื่อกิจการของนายจ้าง ย่อมไม่ถือว่าเป็น “ค่าจ้าง”
นับวันปัญหาว่าเงินจำนวนใดเป็น “ค่าจ้าง” หรือไม่ คงจะเพิ่มความสับสนและซับซ้อนยิ่งขึ้น หากมีการพิจารณาทบทวนกันใหม่โดยตระหนักถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เปลี่ยนไปดังกล่าวข้างต้น ก็อาจได้หลักการวินิจฉัยที่ทำให้ปัญหาลดลงหรือหมดไปได้
เกษมสันต์ วิลาวรรณ