คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๘/๒๕๕๖ หลังจากจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ วันเดียวกันผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการของจำเลยพูดกับโจทก์ว่าถ้าโจทก์ไม่ยอมลงลายมือชื่อในใบรับเงินจะทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง เมื่อนอนคิดหนึ่งคืนโจทก์ตัดสินใจไปลงลายมือชื่อในใบรับเงินเพื่อรับเงินมาใช้จ่ายระหว่างว่างงาน แสดงให้เห็นว่าการที่โจทก์ตัดสินใจไปลงลายมือชื่อในใบรับเงินหลังวันเลิกจ้างเป็นไปโดยความสมัครใจของโจทก์ เมื่อใบรับเงินดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์และได้จ่ายเงินผลประโยชน์แก่โจทก์ดังนี้ เงินเดือนเดือนพฤศจิกายน ๓๑,๓๔๓ บาท ค่าเสียหายการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓๑,๓๔๓ บาท ค่าชดเชย ๓๑๓,๔๓๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๗๖,๑๑๖ บาทตอนท้ายมีข้อความว่าโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และไม่ติดใจเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดจากจำเลยอีก โดยลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินต่อหน้าพยานสองคนย่อมถือได้ว่าใบรับเงินฉบับนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนี ประนอมยอมความ มีผลผูกพันโจทก์ว่าหลังจากโจทก์ได้รับเงินสามจำนวนข้างต้นอันเป็นเงินตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานครบถ้วนแล้ว โจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินอื่นใดตามกฎหมาย ซึ่งมีความหมายรวมทั้งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันมิใช่เงินตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามคำฟ้องจากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๗๑/๒๕๕๖ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างจึงกระทำได้เมื่อลูกจ้างยินยอมให้มีการโอนสิทธิในความเป็นนายจ้างจากนายจ้างเดิมไปยังนายจ้างใหม่ด้วย ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเพื่อแจ้งโจทก์ให้ทราบว่าจำเลยรับโจทก์เข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งช่างยนต์ตั้งแต่วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๗ ระบุว่า “บริษัทมีสิทธิที่จะโยกย้าย แต่งตั้ง ถอดถอน หรือให้ท่านไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ของบริษัทฯ หรือบริษัทในกลุ่มบริษัทสยาม... จำกัด แล้วแต่ความเหมาะสมได้” เมื่อโจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงดังกล่าว จึงมีความหมายว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยอาจจะโอนย้ายโจทก์ไปเป็นลูกจ้างของบริษัทสยาม... จำกัด ได้ และโจทก์ยินยอมให้จำเลยโอนย้ายโจทก์ได้ การที่จำเลยมีคำสั่งโอนย้ายโจทก์ไปทำงานที่บริษัทดังกล่าวเป็นเวลาถึง ๕ วัน ก่อนที่จะนำคดีมาฟ้อง โดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าในระหว่างนั้นโจทก์ได้คัดค้านหรือไม่ยินยอมกับการโอนย้ายตามคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าโจทก์ยินยอมพร้อมใจให้จำเลยโอนสิทธิการเป็นนายจ้างให้แก่บริษัทสยาม... จำกัดแล้ว มิใช่กรณีที่จำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้อันจะเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๗๕ – ๑๔๓๗/๒๕๕๖ เมื่อโจทก์ทั้งหกสิบสามบรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างแรงงานแทนบริษัทริท.. จำกัด นายจ้างซึ่งเป็นตัวการในต่างประเมศ แม้ในชั้นพิจารณาข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดตั้งบริษัทริท.. จำกัด ขึ้นในประเทศกาตาร์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการก่อสร้างในประเทศกาตาร์ และจำเลยส่งโจทก์ทั้งหกสิบสามไปทำงานที่ประเทศกาตาร์ จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ทั้งหกสิบสามโดยเป็นตัวแทนของบริษัทริท.. จำกัด หรือฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยเป็นผู้ตกลงรับโจทก์ทั้งหกสิบสามเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ หากจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ทั้งหกสิบสามตามคำบรรยายฟ้อง จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการที่อยู่ในต่างประเทศหรือรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่นั่นเอง จึงไม่อาจถือได้ว่าศาลแรงงานวินิจฉัยหรือพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งหกสิบสามกับจำเลย ข้อ ๒ ระบุให้ลูกจ้างได้รับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไทย อันเป็น ข้อสัญญาระบุชัดเจนเฉพาะเจาะจงไว้แล้ว แม้สัญญาข้อ ๑๐ จะระบุให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่ลูกจ้างไปทำงานโดยเคร่งครัด ก็เป็นเพียงการกำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติโดยทั่วไปให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศกาตาร์ ซึ่งไม่รวมกรณีเรียกร้อง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดที่ยังคงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ตามที่กำหนดในสัญญาข้อ ๒ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าประกาศตามเอกสารหมาย ล. ๑๒ เป็นข้อตกลงซึ่งโจทก์ทั้งหกสิบสามกับจำเลยตกลงให้คิดค่าล่วงเวลาตามกฎหมายของประเทศกาตาร์นั้น ประกาศดังกล่าวเป็นการตกลงระหว่างลูกจ้างบางส่วนกับจำเลยที่ทำขึ้นระหว่างอยู่ที่ประเทศกาตาร์และเป็นประกาศฝ่ายเดียวของจำเลย ข้อตกลงที่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิตามกฎหมายแรงงานของประเทศกาตาร์ซึ่งเป็นสิทธิที่ต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงไม่อาจใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งหกสิบสามซึ่งเป็นลูกจ้างที่ไม่ยินยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาจ้างแรงงานเดิมได้ จำเลยคิดคำนวณค่าล่วงเวลาตามที่กำหนดในเอกสารหมาย ล. ๑๒ ซึ่งมีอัตราต่ำกว่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานในต่างประเทศ ข้อ ๒ จึงเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ทั้งหกสิบสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๕๘ – ๑๗๕๙/๒๕๕๖ การที่นายไน ประธานกรรมการของจำเลยพูดกับโจทก์เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๙ ว่า ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ให้ลาออกไป คำพูดเช่นนี้ย่อมไม่ใช่การบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ใช่บอกให้ออกจากงาน แต่เป็นคำแนะนำโจทก์ว่าถ้าโจทก์ทำไม่ได้ก็ให้ลาออกไป เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปว่านายไนมิได้ข่มขู่เพื่อเลิกจ้างโจทก์การกระทำของนายไนจึงไม่ใช่การบอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๙ โจทก์เข้ามาที่ทำงาน กรรมการผู้จัดการจำเลยได้สอบถามโจทก์ โจทก์บอกว่าไม่ทำงานแล้ว มีการถ่ายทอดงานให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ และส่งมอบทรัพย์สินให้แก่พนักงานของจำเลย แม้ว่าตามระเบียบของจำเลยมีเงื่อนไขว่าการลาออกจะต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า ๓๐ วันก็ตาม แต่การลาออกจากการเป็นลูกจ้างนั้นเป็นการแสดงเจตนาแต่เพียงฝ่ายเดียวก็เป็นการลาอออกแล้ว ดังนั้นการกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการลาออกจากการเป็นลูกจ้างโดยปริยาย จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายเลิกจ้างโจทก์จึงไม่มีการกระทำใดที่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามพฤติการณ์ที่นายไนแนะนำโจทก์ว่างานเพียงเท่านี้ทำไม่ได้ให้ลาออกไป โจทก์จึงได้ลาออกซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของนายไน พร้อมทั้งถ่ายทอดงาน ส่งมอบงานและทรัพย์สินของจำเลยคืนให้แก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการผิดสัญญาที่ว่าต้องลาออกล่วงหน้า ๓๐ วัน และส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย แต่เป็นการกระทำที่จำเลยรับรู้และคาดการณ์ได้ ทั้งการกระทำของนายไนเป็นการแสดงว่าไม่ติดใจที่จะยึดถือตามสัญญาว่าโจทก์จะต้องลาออกล่วงหน้า ๓๐ วัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๖๓/๒๕๕๖ เงินเดือนที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานนั้นเป็นเงินเดือนค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์โดยอาศัยฐานที่ว่าจำเลยเพียงมีคำสั่งพักงานโจทก์และโจทก์ยังเป็นพนักงานของจำเลย จึงยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินเดือนค่าจ้างจากจำเลย แม้ศาลแรงงานจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์จนถึงวันสั่งรับโจทก์กลับเข้าทำงานก็หมายความเพียงว่าให้จ่ายให้แก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์ยังเป็นพนักงานของจำเลย ดังนั้น หลังจากจำเลยเลิกจ้างแล้ว โจทก์ก็มิใช่พนักงานของจำเลยอีกต่อไปแล้ว จึงไม่มีเงินเดือนค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยอีก คำพิพากษาศาลแรงงานดังกล่าวเป็นการแก้ไขเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์โดยไม่ถูกต้อง มิใช่เป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยที่มีอยู่ตามกฎหมายในอันที่จะเลิกจ้างโจทก์แม้มีเหตุผลใหม่ที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ หากโจทก์เห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายประการใดขึ้นอีก โจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ได้โดยอาศัยเหตุที่เกิดขึ้นใหม่นั้น ซึ่งโจทก์ก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งแล้ว ความเสียหายที่โจทก์อ้างจึงชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในคดีใหม่เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๐๑/๒๕๕๖ การที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ประสบปัญหาการสั่งซื้อและนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศล่าช้านั้นเป็นปัญหาในการบริหารจัดการของโจทก์เอง ซึ่งหากโจทก์บริหารจัดการธุรกิจได้ดีแล้วโจทก์ย่อมไม่ต้องหยุดกิจการในช่วงเวลาภายหลังจากที่ลูกจ้างในแผนกที่หยุดกิจการต้องทำงานล่วงเวลา โจทก์ควรต้องวางแผนการบริหารกิจการของโจทก์ให้ลูกจ้างได้ทำงานต่อเนื่อง มิใช่การเร่งทำงานล่วงเวลาแล้วหยุดกิจการในเวลาต่อมาเนื่องจากไม่มีงานทำ ดังนั้นสาเหตุการหยุดกิจการของโจทก์จึงมิใช่สาเหตุที่จำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๐๒ – ๑๙๐๔/๒๕๕๖ การที่ผู้ร้องมีคำสั่งพักงาน ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างก่อนยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแรงงานโดยจ่ายค่าจ้าง การพักงานเช่นนี้เป็นการสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสองหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแรงงานเสียก่อน อีกทั้งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องก็กำหนดโทษทางวินัยไว้ว่าโทษทางวินัยคือการพักงานไม่เกิน ๗ วันโดยไม่จ่ายค่าจ้าง/ค่าตอบแทน เมื่อผู้ร้องได้จ่ายค่าจ้างในระหว่างที่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้ทำงานจึงไม่ถือเป็นการลงโทษแก่ผู้คัดค้านทั้งสองและการกกระทำของผู้ร้องไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่อย่างใด
แม้ตามคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องจะขอให้ศาลแรงงานอนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านที่ ๑ ด้วยการเลิกจ้างก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานเห็นว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ละทิ้งหน้าที่ แต่ยังไม่ถึงขนาดหรือมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านที่ ๑ โดยเห็นว่าการกระทำของผู้คัดค้านที่ ๑ ดังกล่าวผู้ร้องควรลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือก่อน ศาลแรงงานก็สามารถอนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านที่ ๑ ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือซึ่งเป็นโทษที่อยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง และเป็นโทษในสถานเบากว่าการเลิกจ้างได้ ถือเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี และไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอแต่ประการใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๐๕/๒๕๕๖ การที่ผู้คัดค้านร่วมกับนายดนใช้โทรโข่งประกาศ โดยผู้คัดค้านเป็นผู้ขักชวนให้พนักงานของผู้ร้องมาฟังนายดนประกาศโจมตีผู้ร้องมีเนื้อความ เช่น ...เป็นบริษัทใหญ่โตแต่กระทำเยี่ยงอย่างคล้ายสัตว์... ให้บริษัทพิจารณาระดับบริหารที่มีมันสมองอยู่ในกะโหลกเพียงพอ ไม่ใช่มีสมองไว้แต่คิดนักธุรกิจอย่างเดียว... บริษัทไม่เคยพัฒนามีแต่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงาน... มีการฉีกใบลาของพวกเรา... พฤติกรรมดังกล่าวมันเยี่ยงอย่างคล้ายสัตว์เนรคุณ...การบริหารแบบนี้มันเฮงซวย... เป็นต้น แม้จะเป็นการประกาศอยู่บริเวณถนนฝั่งตรงข้ามกับบริษัทผู้ร้องก็ตาม เจตนาก็เพื่อปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ กระด้างกระเดื่อง อคติ และความเกลียดชังผู้บริหารของผู้ร้องขึ้นในหมู่พนักงานที่มาทำงานในตอนเช้ากับประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวซึ่งได้ยินและไม่ทราบความจริง การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง จึงมีเหตุสมควรที่ (ศาลแรงงานจะอนุญาตให้) ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๖๙/๒๕๕๖ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยอ้างว่าทนายโจทก์ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อพามารดาของทนายโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ทั้งที่มีบิดาของทนายโจทก์ก็อยู่กับมารดา และมีเหตุขัดข้องใดที่บิดาไม่นำมารดาส่งโรงพยาบาลเองก็ไม่ปรากฏ และเกิดเหตุทำให้รถยนต์ของทนายโจทก์เสียหายนั้น ก็มีแต่หลักฐานบิลเงินสดโดยไม่ได้ความว่าซ่อมที่ไหน อีกทั้งเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ทนายโจทก์ทราบว่ามารดาป่วยก็ย่อมจะต้องแจ้งทนายโจทก์อีกสองคนซึ่งอยู่สำนักงานเดียวกันทราบเพื่อเตรียมการหากเกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถกลับมาได้ทัน หรือแจ้งโจทก์เพื่อให้โจทก์แต่งตั้งทนายความคนใหม่เพื่อทำการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้อีก ทั้งเหตุที่รถยนต์ของทนายโจทก์เสียก็ไม่ถือเป็นเหตุแห่งความจำเป็น เพราะทนายโจทก์สามารถเดินทางโดยพาหนะอื่นได้ กรณีจึงไม่ถือว่าพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุแห่งความจำเป็นในการขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ ทั้งไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ที่ศาลแรงงานมีคำสั่งไม่ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๗๐/๒๕๕๖ ในการพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของนั้น หาจำต้องพิจารณาเพียงแต่ข้อความในสัญญาไม่ หากแต่ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในการทำงานของนายจ้างและลูกจ้างด้วยจึงจะทราบถึงเจตนาในการทำสัญญาของคู่สัญญาว่าเจตนาทำสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ แม้สัญญาจ้างหาโฆษณาระหว่างโจทก์และจำเลยจะมีรายละเอียดมุ่งถึงผลสำเร็จของงานอันได้แก่การหาโฆษณาให้แก่หนังสือพิมพ์ของจำเลยให้ได้ตามเป้าประสงค์ในสัญญา แต่ในทางปฏิบัติเมื่อโจทก์กับพวกไม่สามารถหาโฆษณาให้จำเลยได้ตามเป้าประสงค์ในสัญญา จำเลยก็ผ่อนผันให้แก่โจทก์กับพวก ทั้งยังจ่ายเงินเดือนและ ค่านายหน้าให้ตามสัญญา และเมื่อระยะเวลาตามสัญญาจ้างหาโฆษณาครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าจำเลยยังทำสัญญาจ้างโจทก์กับพวกอีก จึงแสดงเจตนาของจำเลยในการจ้างโจทก์หาโฆษณาว่าแม้มีการกำหนดเป้าประสงค์ในการให้โจทก์กับพวกหาโฆษณามีมูลค่าไม่ต่ำกว่าในสัญญาข้อ ๓ แต่จำเลยมิได้มุ่งถึงผลสำเร็จของการงานที่ว่าจ้างนั้นเป็นสำคัญ ทั้งในการจ้างโจทก์กับพวกดังกล่าวจำเลยกำหนดให้โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณา ส่วนพวกของโจทก์ก็มีตำแหน่งในฝ่ายโฆษณาทั้งสิ้น จำเลยมอบบัตรประจำตัวพนักงานแก่โจทก์ โจทก์จะต้องลงเวลาเข้าทำงาน และโจทก์มีอำนาจลงโทษตักเตือนลูกจ้างที่กระทำผิดแทนจำเลยได้ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงล้วนแสดงถึงอำนาจบังคับบัญชาที่จำเลยมีต่อโจทก์กับพวก นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการจ้างแรงงานอย่างแจ้งชัด หาใช่สัญญาจ้างทำของไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๗๑/๒๕๕๖ ตามคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยระบุว่า โจทก์ไม่อุทิศเวลาทำงานให้บริษัทฯ มีการมาปฏิบัติงานสาย ลาป่วย ลากิจมากผิดปกติ ซึ่งจำเลยได้ออกหนังสือเตือนว่าโจทก์มาทำงานสายถึง ๓๘ ครั้ง ทั้งข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ ถือว่าเป็นการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๕๙/๒๕๕๖ โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภท ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โจทก์จ้างลูกจ้างเป็นคนงานหรือกรรมกรก็เพื่อให้ทำงานก่อสร้างตามงานที่ได้รับจากผู้ว่าจ้าง งานที่โจทก์ให้ลูกจ้างทำจึงเป็นงานหลักของโจทก์ แม้โจทก์จะจ้างลูกจ้างทำงานตามแต่จะมีงานรับเหมาก่อสร้างเป็นครั้งคราว ซึ่งลูกจ้างจะสมัครใจทำงานหรือหยุดงานก็ได้โดยมีการจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน สภาพงานของโจทก์ก็มิใช่งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล ลูกจ้างของโจทก์จึงไม่เป็นลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาลด้วย โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกำหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างดังกล่าวเป็นผู้ประกันตน และนำส่งเงินสมทบตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๔๗ เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติ จำเลยจึงมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา ๔๗ ทวิ เรียกให้โจทก์ส่งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๖๓/๒๕๕๖ โจทก์เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดตีบในสมองทำให้ร่างกายซีกขวาอ่อนแรงใช้การไม่ได้ ร่างกายซีกซ้ายพอใช้การได้ พูดได้แต่ช้า ฟังรู้เรื่อง เดินได้โดยใช้ไม้เท้าพยุง ช่วยเหลือตัวเองในการประกอบกิจวัตรประจำวันได้บ้าง ต้องรับการรักษาจากแพทย์โรงพยาบาลหลายแห่งตลอดมา จนเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙ แพทย์ตรวจร่างกายโจทก์มีความเห็นว่าโจทก์มีอาการหรืออัมพาตของร่างกาย การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ แขน ขา และเท้าข้างขวามีมาก การลีบของกล้ามเนื้อ แขน ขา และเท้าข้างขวามีน้อย เดินได้แต่ต้องมีคนหรือเครื่องช่วยพยุง มีการสูญเสียสมรรถภาพในการใช้แขนและมือข้างขวา จนไม่สามารถใช้ในการช่วยตนเองได้ ฟังเข้าใจแต่นึกคำพูดได้บ้างไม่ได้บ้าง สามารถเข้าใจและแสดงภาษาในการสื่อความหมายกับบุคคลอื่นได้ลำบาก แต่พอสื่อความหมายได้ มีความผิดปกติในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระโดยควบคุมได้บ้าง กลั้นไม่ได้บ้างเป็นบางครั้ง ช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันโดยรับประทานอาหารได้บ้าง แต่งตัวได้บ้างโดยมีผู้อื่นช่วยเหลือฯ สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายมากกว่าร้อยละ ๕๐ จึงเห็นควรให้เป็นผู้ทุพพลภาพ ดังนี้ แสดงว่าโจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายตลอดมาตั้งแต่เริ่มป่วย เมื่อแพทย์ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของโจทก์เช่นนี้โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๑ และประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีทุพพลภาพ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๖ ข้อ ๑ (๙) ตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มป่วยเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ แล้ว มิใช่ตั้งแต่วันที่แพทย์ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายของโจทก์เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตั้งแต่วันที่ขาดรายได้หรือวันที่นายจ้างเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๕ ส่วนประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ข้อ ๑ เป็นเพียงการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้การวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพได้ถูกต้องเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดวันเริ่มต้นแห่งสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๕๕-๓๕๕๘/๒๕๕๖ ก่อนจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจดทะเบียนในธนาคารจำเลย จำเลยได้จัดสวัสดิการโดยจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเองโดยให้ผลประโยชน์กองทุนในอัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปี ต่อมาจำเลยกับลูกจ้างตกลงจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจดทะเบียนโดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างยังคงให้ผลประโยชน์ในอัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปี เท่าเดิมตลอดมา การปฏิบัติต่อเนื่องกันมาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการจัดสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างทั้งเป็นประโยชน์อื่นของลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานอันถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕ ซึ่งตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวนี้ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้กองทุนนำเงินส่วนนี้ไปบริหารหาผลกำไรเพิ่มเติมแล้วนำมาแบ่งจ่ายแก่สมาชิกของกองทุนตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มิใช่เป็นการจ่ายผลประโยชน์ส่วนต่างให้ครบอัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปีแก่สมาชิกของกองทุนตามที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างมาในฟ้องแต่ประการใด ส่วนที่สมาชิกของกองทุนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากกองทุนอย่างใดนั้น ก็เป็นไปตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้ว และตามสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งคณะกรรมการกองทุนได้กำหนดข้อบังคับดังกล่าวและตกลงทำสัญญาไว้แทนสมาชิกของกองทุน จำเลยจึงมิได้ปฏิบัติฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินส่วนต่างให้ครบในอัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปีแก่โจทก์ทั้งสี่ตามที่ฟ้องมา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๑๑๕/๒๕๕๖ หนังสือมอบอำนาจที่ระบุว่าบริษัทยู... จำกัด มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนกระทำการทุกอย่างแทนในการจัดหาคนหางานไปทำงานในประเทศไนจีเรีย ซึ่งจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ได้จัดทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์ จำเลยที่๒ ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของจำเลยที่ ๑ ในนามนายจ้างนั้นเป็นกรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๔ ที่จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างงานแทนบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างงานนั้นแต่ลำพังตนเอง
จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดแทนบริษัทยู... จำกัด ผู้เป็นกิจการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๔ ตาม(ที่กล่าว)ข้างต้น ไม่ใช่กรณีจำเลยทั้งสองเป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๖๗ ประกอบมาตรา ๘๒๐, ๘๒๑ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ ๑ ในขอบอำนาจ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องร่วมรับผิด (ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๕๕/๒๕๕๖ โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความเสียหายของโจทก์ว่าการที่จำเลยแจ้งยืนยันในการรับโจทก์เข้าทำงานแล้ว โจทก์ก็ได้ลาออกจากที่ทำงานเดิม การที่จำเลยมีคำสั่งไม่รับโจทก์เข้าทำงานทำให้โจทก์กลายเป็นคนตกงานขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพและครอบครัว ทำให้โจทก์เสียโอกาสในการทำงาน โจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน ๖๒๐,๐๐๐ บาท ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายเกี่ยวกับความเสียหายไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ สำหรับหลักฐานแห่งความเสียหายนั้นเป็นแต่เพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายจึงไม่เคลือบคลุม (คดีนี้ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๘๑/๒๕๕๖ แม้ตามหนังสือขออนุมัติเลิกจ้างโจทก์จะระบุเพียงจำเลยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหน่วยงานเท่านั้น แต่การพิจารณาว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่จะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ และบทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติว่าถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้วนายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าโจทก์รับแทงและเป็นเจ้ามือหวยใต้ดิน เป็นเจ้ามือรับแทงพนันฟุตบอล เป็นนายทุนปล่อยเงินกู้เรียกดอกเบี้ยในอัตราสูง จำเลยก็ย่อมยกเหตุในการเลิกจ้างดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในการไม่จ่ายเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๙๙/๒๕๕๖ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กร ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏว่ากิจการของจำเลยประสบภาวะทางเศรษฐกิจยากลำบากถึงขนาดต้องปรับลดจำนวนลูกจ้างเพื่อพยุงกิจการให้ดำเนินต่อไปได้ ทั้งก่อนเลิกจ้างจำเลยไม่ได้เสนองานใหม่ให้โจทก์อันจะเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยพยายามหาหนทางช่วยเหลือมิให้เกิดการเลิกจ้างขึ้น ขณะที่การเลิกจ้างมีผลทำให้โจทก์ต้องสูญเสียอาชีพและรายได้เลี้ยงตัวและครอบครัว การเลิกจ้างดังกล่าวย่อมเป็นการคำนึงแต่ประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุสมควรถึงขนาดที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๓๘/๒๕๕๖ การที่โจทก์ยอมรับเงินจากนางพิชญ์ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ ๑ ไม่ว่าโจทก์จะเรียกร้องหรือไม่ ย่อมเป็นการฝ่าฝืนวินัยข้อที่ห้ามมิให้อาศัยอำนาจหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนหรือผู้อื่นอย่างชัดเจน ทั้งการกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นเหตุให้มีการเอื้อประโยชน์แก่ลูกค้ารายนี้ได้ หากมีการรู้แพร่หลายออกไปความเชื่อถือของบุคคลภายนอกในความเที่ยงธรรมที่จะได้รับจากธนาคารจำเลยที่ ๑ ย่อมลดน้อยถอยลงซึ่งมีผลกระทบไปถึงชื่อเสียงและกิจการของจำเลยที่ ๑ ได้ การกระทำผิดวินัยของโจทก์กรณีนี้จึงถือเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
การที่พนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เป็นการขอเรียกทรัพย์หรือราคาทรัพย์ที่จำเลยที่ ๑ ลักไปแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ลูกจ้างโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานมีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ ๑ ทุจริตต่อหน้าที่จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ ยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยมีจำเลยที่ ๒ ตกลงทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างจำเลยที่ ๑ ทำงานอยู่กับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ทุจริตต่อหน้าที่ลักเอาเงินของโจทก์ไป อันเป็นการจงใจละเมิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างและจำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการฟ้องคดีในมูลหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นสัญญาทางแพ่ง แม้จะมีคำขอให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินที่ลักเอาไปเหมือนกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีที่พนักงานอัยการขอให้บังคับในส่วนแพ่งนั้นสืบเนื่องมาจากความผิดทางอาญา อันเป็นการเรียกร้องในมูลละเมิด แต่คดีนี้สำหรับจำเลยที่ ๑ มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงานซึ่งพนักงานอัยการไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นข้ออ้างในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคำขอส่วนแพ่งของคดีอาญาได้ และสำหรับจำเลยที่๒ มีที่มาจากมูลสัญญาค้ำประกัน ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาจึงไม่ได้เป็นเหตุอย่างเดียวกัน ประเด็นที่ศาลอาญาธนบุรีวินิจฉัยไม่ใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีนี้ โจทก์ไม่ต้องห้ามนำคดีนี้มาฟ้องจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ และแม้ว่าจำเลยที่ ๑ ลูกจ้างจะพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์ไปแล้วก็ตาม แต่จำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดได้ก็ต่อเมื่อหนี้ของจำเลยที่ ๑ ลูกจ้างระงับสิ้นไปแล้วเท่านั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙๘ กรณีจึงไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาค้ำประกันในคดีนี้ต้องระงับสิ้นไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒