กรรมการกับความผิดทางอาญา
โดย ภัทรานิษฐ์ อุดมพรสุขสันต์
ความรับผิดชอบของผู้ที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทนั้น
นอกจากจะต้องรับผิดชอบกิจการและผลกำไรของบริษัทแล้ว
ในปัจจุบันยังจะต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ
ระมัดระวังมิให้มีการดำเนินกิจการของบริษัทไปในทางที่เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย
แนวความคิดเรื่องการลงโทษผู้กระทำที่เป็นบริษัทนิติบุคคลนั้น
ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า นิติบุคคลเช่น บริษัททั้งหลายเหล่านี้
จะรับโทษทางอาญาได้หรือไม่ เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่มีตัวตนอยู่จริง
ไม่มีความรู้สึกนึกคิดของตนเองจะกระทำความผิดได้อย่างไร
ดังนั้นจึงถือว่าตามปกตินิติบุคคลจะกระทำความผิดได้อย่างไร
ดังนั้นจึงถือว่า ตามปกตินิติบุคคลไม่อาจทำผิดและรับโทษอาญาได้
เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าให้
นิติบุคคลรับผิดทางอาญาในความผิดนั้น ส่วนเจตนาของนิติบุคคล
นั้นย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนนิติบุคคล เช่น กรรมการ เมื่อผู้แทน
นิติบุคคลแสดงเจตนาซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้แทนในการดำเนิน
กิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล เจตนานั้นก็ผูกพันนิติบุคคล
และต้องถือว่าเป็นเจตนาของนิติบุคคลนั้นเอง ฉะนั้น นิติบุคคลจึง
อาจมีเจตนาเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญาและกระทำ
ความผิด ซึ่งผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนา รวมทั้งต้องรับโทษ
ทางอาญาเท่าที่ลักษณะแห่งความผิดเปิดช่องให้ลงโทษแก่นิติ
บุคคลได้ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามลักษณะความผิด พฤติการณ์แห่ง
การกระทำและอำนาจหน้าที่ของผู้แทนนิติบุคคลประกอบกับวัตถุ
ประสงค์ของนิติบุคคลรายๆไปโดยมีกฎหมายหลายฉบับที่บัญญัติไว้ว่า
ในกรณีที่บริษัทกระทำผิดให้เอาโทษแก่กรรมการด้วย เช่น
1. พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มาตรา 54
บัญญัติว่า “ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราช
บัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้
ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลในเรื่องนั้น ต้องรับโทษ
ตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการ
กระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้หรือยินยอมหรือตนได้จัดการตาม
สมควร เพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว”
2. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 บัญญัติว่า
“ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า
กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความ
ผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคล
นั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย”
3. พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 63 บัญญัติว่า
“ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือนิติบุคคลอื่นกระทำผิดตาม
พระราชบัญญัตินี้ กรรมการ ผู้จัดการ หรือนิติบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบ
ในการกระทำอันเป็นความผิดนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้
สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้
กระทำโดยตนมิได้รู้หรือยินยอมด้วย”
อนึ่ง ในทางปฏิบัติมีคดีอยู่มากมายหลายคดีที่ศาลตัดสินลงโทษ
กรรมการบริษัทในการกระทำความผิดของบริษัทด้วย เช่น
1. จำเลยเป็นกรรมการและผู้จัดการบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล
จำเลยในฐานะผู้จัดการบริษัทได้สั่งน้ำนมโคผงจากต่างประเทศ
ปรากฏว่าน้ำนมโคผงมีน้ำมันเนยไม่ถึงร้อยละ 26 ดังนั้น แม้จำเลย
จะอ้างว่าทำในฐานะของผู้แทนนิติบุคคล ก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวให้พ้น
ผิดได้ เพราะจำเลยเป็นผู้สั่งให้บริษัทต่างประเทศส่งสินค้าเข้ามา
จำเลยจึงเป็นผู้กระทำการซึ่งเป็นความผิด ตามคำพิพากษา
ศาลฎีกาที่ 482/2497
2. กรรมการของบริษัทนิติบุคคลสั่งของต้องห้ามจากต่างประเทศ
แทนบริษัทนิติบุคคลโดยมิได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน
แม้จะอ้างว่าสำคัญผิดในของที่สั่งมานั้นว่าไม่ใช่ของต้องห้าม
ก็ยังคงต้องมีความผิด กรณีเช่นนี้ถือว่ากรรมการบริษัทและบริษัท
เป็นผู้ร่วมกระทำผิด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1328/2503
3. การที่ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเลียนแบบเครื่องหมาย
การค้าของผู้อื่นโดยกระทำไปในอำนาจหน้าที่ทางการค้าอันเป็นวัตถุ
ที่ประสงค์และเพื่อประโยชน์ทางการค้าของห้างหุ้นส่วน ถือได้ว่า
เป็นเจตนาและการกระทำของห้างหุ้นส่วน ฉะนั้น ห้างหุ้นส่วนจึง
ต้องรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกับหุ้นส่วนผู้จัดการด้วย ตามคำพิพากษา
ศาลฎีกาที่ 737-788/ 2506
4. ผู้จัดการบริษัทจำกัด โฆษณาหลอกขายที่ดินแก่ประชาชน
แม้มีผู้สั่งจองโดยยังไม่ชำระเงิน ซึ่งมีผู้ซื้อเพียงรายเดียวที่แจ้ง
ความร้องทุกข์ก็เป็นความผิด และบริษัทจำกัด ก็มีความผิดด้วย
ศาลลงโทษปรับบริษัทและจำคุกผู้จัดการได้ ตามคำพิพากษาศาล
ฎีกาที่ 97/ 2518
แต่ในกรณีของการกระทำผิดกฎหมายแล้วจะต้องรับโทษ เช่น
จำคุกนั้น กรรมการจะอ้างเอามติที่ประชุมผู้ถือหุ้นมาเป็นข้อแก้ตัว
ให้พ้นจากความรับผิดนั้นไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน การได้รับ
อนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นเรื่องที่ทำให้กรรมการไม่ต้องถูก
บริษัทหรือผู้ถือหุ้นฟ้องร้อง เพราะได้ทำตามที่ผู้ถือหุ้นบอก แต่เรื่อง
การกระทำผิดกฎหมายแล้วต้องรับโทษทางอาญานั้น จะอ้างว่าทำ
ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่กรรมการต้อง
คอยระมัดระวังเอาเองว่าอย่าไปทำผิดกฎหมายอาญาเข้า ทางออก
ของกรรมการก็เห็นจะมีอยู่อย่างเดียวว่า ตามปกติในกฎหมายฉบับ
ต่างๆที่บอกว่าถ้าบริษัททำผิดกรรมการไม่ต้องรับผิด ถ้าพิสูจน์ได้ว่า
การกระทำนั้นได้กระทำโดยสุจริต ดังนั้น ถ้าหากไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
จริงๆก็สามารถอ้างเป็นข้อแก้ตัวได้