ห้างหรือบริษัทกระทำความผิด : หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ ผิดด้วย
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
ห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด เมื่อจดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล
นิติบุคคลเป็นบุคคลสมมติตามกฎหมาย ไม่มีตัวตนที่แท้จริง
การแสดงออกหรือการดำเนินการของนิติบุคคลจึงต้องกระทำโดยบุคคลธรรมดา
ที่เป็นผู้แทนภายในกรอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ผู้แทนของนิติบุคคลในกรณี
เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนคือหุ้นส่วนผู้จัดการ ในกรณีเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัท
มหาชนจำกัด คือ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันบริษัท นิติบุคคลมีสิทธิ
และหน้าที่ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา
เว้นแต่สิทธิหน้าที่โดยสภาพจะมีได้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น อาทิเช่น การสมรส
คดีอาญาได้ ถ้าได้กระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด
ในการดำเนินคดีกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือบริษัทที่กระทำความผิด
ผู้ที่จะถูกหมายเรียกไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล เพื่อการสอบสวนไต่สวน
หรือพิจารณาคดีผู้แทนของห้างหรือบริษัท ซึ่งก็คือหุ้นส่วนผู้จัดการหรือ
กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันบริษัทดังกล่าวข้างต้น และเนื่องจาก
อยู่ในฐานะของผู้แทนของนิติบุคคลที่กระทำความผิด ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดเอง
อาจถูกออกหมายจับได้ถ้าหุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการบริษัทไม่ไปให้การ
หรือไม่ไปศาลในการพิจารณาคดี แต่จะขังหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการ
บริษัทดังกล่าวไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือบริษัทกระทำความผิด
หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการบริษัทอาจต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวด้วยก็ได้
ในกรณีเช่นนี้หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการจะถูกดำเนินคดีเฉกเช่นบุคคลธรรมดา
จึงอาจถูกจับกุมคุมขังได้ หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการบริษัท จะต้องรับผิด
ในฐานะส่วนตัวด้วย เมื่อห้างหรือบริษัทกระทำความผิด เป็นไปได้สองกรณี คือ
กรณีที่หนึ่ง จากแนวคิดทางกฎหมายที่เห็นว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือ
บริษัทเป็นนิติบุคคล จึงเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอำนาจของกฎหมาย
ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือบริษัทดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์
ของห้างหรือของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ ต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานโดยผู้แทน
คือ หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทเป็นผู้กระทำผิด
ได้ชื่อว่าเป็นการกระทำของกรรมการผู้จัดการของบริษัทนั้นด้วย
กรรมการผู้จัดการต้องรับโทษด้วย (อาทิเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1620/2508
คำพิพากษาฎีกาที่ 556/2530) หรือกรณีกรรมการบริษัทออกเช็คในนามบริษัท
โดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค ถือว่าได้ร่วมกับบริษัทกระทำความผิด
ตามกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 63/2517)
กรณีที่สอง กรณีเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ผู้กระทำ
ความผิดต้องรับโทษเป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ กรรมการ หรือผู้แทน
ของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย
เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของ
นิติบุคคลนั้น หรือบางฉบับใช้ถ้อยคำว่า "เว้นแต่จะพิสูจน์ได้การกระทำนั้น
ได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมหรือตนได้จัดการตามสมควร เพื่อ
ป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว" หรืออาจใช้ถ้อยคำอื่นแต่มีความหมาย
ในทำนองเดียวกัน คือ กำหนดให้การพิสูจน์เพื่อยกเว้นความผิดเป็นภาระ
การพิสูจน์ของหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการของห้างหรือของบริษัทที่
กระทำความผิดนั้น
กฎหมายที่มีบทบัญญัติทำนองดังกล่าวข้างต้น ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 63 ฉบับ
บางฉบับไม่มีบทบัญญัติทำนองนี้มาแต่ต้น แต่ได้บัญญัติเพิ่มเติมในภายหลัง
อาทิเช่น พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ ปี พ.ศ. 2543
พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ได้แก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2534 พ.ร.บ.
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ได้แก้ไขเพิ่มเติมในปี
พ.ศ. 2531 เป็นต้น
กฎหมายที่มีบทบัญญัติให้ผู้แทนของนิติบุคคลต้องรับโทษด้วย เมื่อ
นิติบุคคลกระทำความผิด ที่อาจกล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับห้าง
และบริษัทผู้ประกอบธุรกิจค่อนข้างมาก อาทิเช่น พ.ร.บ.การบัญชี
พ.ศ. 2543 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์
อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.
2542 พ.ร.บ. การแข่งทางการค้า พ.ศ. 2542 และกฎหมายที่เกี่ยวกับ
ทรัพย์สินทางปัญญาทุกฉบับ ที่สำคัญได้แก่ กฎหมายเครื่องหมายการค้า
กฎหมายสิทธิบัตร กฎหมายลิขสิทธิ์
สำหรับความผิดเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มีคำพิพากษา
ที่น่าสนใจ คือ คดีที่บริษัทกระทำความผิดละเมิดสิทธิบัตร กรรมการ
ของบริษัทดังกล่าวต้องร่วมรับผิดเป็นส่วนตัวร่วมกับบริษัทด้วย คือ
คำพิพากษาฎีกาที่ 1911/2540 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษนาย ก.
จำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการบริษัท ข. และบริษัท ข.จำเลยที่ 1 ฐานร่วม
กันผลิตผลิตภัณฑ์โดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ โดยไม่มีสิทธิ
ตามกฎหมายและฐานร่วมกันขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็น
ผลิตภัณฑ์ที่ผลิต หรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ
ตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85 และ
86 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกระทำ
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วยกัน โจทก์มาฟ้องจำเลย
ทั้งสองเป็นคดีนี้ว่าจำเลยทั้งสองได้ผลิตเครื่องผลิตก๊าซจากแกลบสำหรับ
ใช้เป็นเชื้อเพลิงตามกรรมวิธีการประดิษฐ์ของโจทก์ ซึ่งตรงกับข้อถือสิทธิ
ตามสิทธิบัตรของโจทก์ ซึ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว
การพิพากษาคดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดี
ส่วนอาญาว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดอันเป็นการ
กระทำละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ต่อโจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิด
เป็นส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์
จากแนวคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่หุ้นส่วนผู้จัดการ
หรือกรรมการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจที่อาจมีการกระทำที่เข้าข่าย
เป็นกระทำความผิดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะกฎหมายสิทธิบัตร
และกฎหมายลิขสิทธิ์ ในเรื่องของการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์
หรือลิขสิทธิ์ในเรื่องอื่น ต้องตระหนักว่าหากห้างหรือบริษัทกระทำ
ความผิดแล้ว ตนเองอาจต้องรับโทษทางอาญา และชดใช้ความ
เสียหายทางแพ่งเป็นการส่วนตัว ตามบรรทัดฐานของคำพิพากษาฎีกา
ดังกล่าวด้วย