ข้อกฎหมายจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ (๒๕๔๘)
ศ. เกษมสันต์ วิลาวรรณ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๗/๒๕๔๘ ลูกจ้างขึ้นไปบนกองถุงแป้งมันเพื่อตรวจนับจำนวนถุงแป้งมันในการทำงานให้นายจ้างตามหน้าที่ ลูกจ้างตกจากกองถุงแป้งมันทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ลูกจ้างมีอาการตับแข็งมาก่อน วันรุ่งขึ้น ตับที่ค่อนข้างแข้งทำให้เลือดออกมากและย้อนขึ้นมา ทำให้สำลักเลือดถึงแก่ความตาย การตายของลูกจ้างสืบเนื่องจากการตกกองถุงแป้งมันจึงเป็นการถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างซึ่งเป็นการประสบอันตราย นายจ้างต้องจ่ายเงินทดแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๙/๒๕๔๘ แม้คำฟ้องของโจทก์จะได้บรรยายถึงสิทธิของโจทก์ที่จะได้เงินโบนัสจากจำเลยเป็นจำนวนเท่าใด แต่โจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ในคำขอท้ายฟ้อง ศาลแรงงานจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนนามบัตรลูกค้าที่โจทก์ติดต่อประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าแผ่น นั้น โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่านามบัตรที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนให้โจทก์นั้น เป็นนามบัตรของใครบ้าง ศาลย่อมไม่สามารถบังคับจำเลยคืนนามบัตรที่ถูกต้องให้แก่โจทก์ หากศาลพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ จำเลยก็ไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๒–๓๓๙/๒๕๔๘ รายได้ของ รสพ. ก่อนหักค่าใช้จ่ายยังไม่เป็นของแผ่นดินอันจะยึดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๗ ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่ออายัดทรัพย์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๒/๒๕๔๘ นายจ้างประสบภาวะการขาดทุนอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องลดขนาดขององค์กรให้เล็กลง ยุบรวมหน่วยงานที่ลูกจ้างทำอยู่และลดพนักงานในหน่วยงานนั้นลง นายจ้างย้ายลูกจ้างไปหน่วยงานลูกค้าสัมพันธ์ ลูกจ้างไม่ยอมไปทำงานที่หน่วยงานใหม่ เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลและความจำเป็นโดยมิได้กลั่นแกล้ง มิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๑๒๑, ๑๒๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๓/๒๕๔๘ นายจ้างที่ประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จะต้องวางเงินตามจำนวนที่นายจ้างประสงค์จะโต้แย้งต่อศาลซึ่งอาจเป็นจำนวนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ในกรณีที่เป็นการโต้แย้งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานบางส่วน นายจ้างต้องชำระเงินส่วนที่ไม่ติดใจโต้แย้งแก่ลูกจ้างเสียก่อน จึงจะมีอำนาจฟ้องเมื่อไม่ปรากฏว่านายจ้างได้จ่ายเงินส่วนที่นายจ้างไม่โต้แย้งแก่ลูกจ้าง และไม่ได้วางเงินเต็มจำนวนตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงาน นายจ้างย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๔/๒๕๔๘ นายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างโดยให้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิมและอัตราค่าจ้างเท่าเดิม แม้ลูกจ้างจะไม่ได้ค่าน้ำมันรถ(เดือนละ ๔,๐๐๐ บาท) และค่าโทรศัพท์(เดือนละ ๕๐๐ บาท) แต่ก็ไม่ได้ตัดค่าจ้างเพราะค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์เป็นเงินสวัสดิการที่พนักงานเท่านั้นที่มีสิทธิที่จะได้ เมื่อลูกจ้างไม่ได้ทำงานอยู่ในฝ่ายขายต่อไป จึงไม่มีสิทธิได้ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ ส่วนอำนาจการบังคับบัญชาสั่งงานผู้ใต้บังคับบัญชานั้น จะมีหรือไม่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำ แม้อำนาจบังคับบัญชาลดน้อยลง ก็มิใช่ข้อที่จะถือว่าเป็นการลดตำแหน่งเสมอไป การที่นายจ้างย้ายลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ไม่ต่ำกว่าเดิมและไม่ลดค่าจ้าง จึงเป็นอำนาจในการบริหารของนายจ้างที่จะกระทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดสภาพการจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๔/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน นายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างจากสำนักงานสาขาในกรุงเทพมหานคร ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ จังหวัดนครนายก โดยไม่ได้ลดตำแหน่งและค่าจ้างกับได้สวัสดิการเช่นเดิม ซึ่งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ลูกจ้างไม่ยอมไป นายจ้างออกหนังสือเตือน ต่อมาวันที่ ๒๑ เดือนเดียวกัน นายจ้างมีคำสั่งย้ายลูกจ้างอีกครั้ง ลูกจ้างก็ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งอีก เป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนภายในเวลาไม่เกิน ๑ ปี นายจ้างย่อมเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๕–๓๘๘/๒๕๔๘ แม้ศาลจะสั่งเลิกห้างหุ้นส่วน จำกัด จำเลยที่ ๑ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๙ ก็ให้พึงถือว่าจำเลยที่ ๑ ยังคงตั้งอยู่ตาบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ส่วนการตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีก็มีผลเพียงให้ผู้นั้นมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๒๕๙ จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ ๑ ไม่มีจำกัดจำนวนตามมาตรา ๑๐๗๗(๒) จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดต่อลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๒–๔๘๓/๒๕๔๘ ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ก่อนวันที่นายจ้างจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายจ้างประกอบกิจการมาก่อนวันที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การคำนวณค่าชดเชยตามระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานมาจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๘–๖๘๐/๒๕๔๘ นายจ้างย้ายที่ทำการมายังอาคารใหม่ซึ่งมีเทคโนโลยีทันสมัย เจ้าของอาคารเป็นผู้รับผิดชอบในอาคารทรัพย์สินส่วนกลาง นายจ้างจึงไม่มีงานด้านช่างและคนดูแลสถานที่ให้ลูกจ้างทำต่อไป ทั้งลูกจ้างไม่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าพนักงานซึ่งทำงานประจำในแผนกอื่นที่จะย้ายให้ไปทำงานแทนด้วย การเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๑๒/๒๕๔๘ โจทก์เข้าไปบริหารงานของจำเลยในฐานะผู้ถือหุ้น การทำงานเป็นอิสระ ไม่ต้องมาทำงานทุกวัน ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้ใด ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย แม้จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ก็มิใช่ค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยหักเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมก็ไม่มีผลทำให้โจทก์กลับมีฐานะกลายเป็นลูกจ้างของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๒๓/๒๕๔๘ ค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับเกินไป เป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นผลให้นายจ้างเสียเปรียบ เป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๖ วรรคแรก มีอายุความ ๑ ปี ตามมาตรา ๔๑๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๒๔/๒๕๔๘ คดีแรกพนักงานอัยการฟ้องลูกจ้างข้อหายักยอกโดยมีนายจ้างเป็นผู้เสียหาย ศาลพิพากษาให้ลงโทษลูกจ้างและให้ลูกจ้างชดใช้ราคาทรัพย์ให้นายจ้างแทน เป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด คดีหลังนายจ้างฟ้องจากลูกจ้างเรียกค่าเสียหายจากกรณีที่ลูกจ้างยักยอกนั้น เป็นการเรียกร้องจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อมูลหนี้ในคำฟ้องของทั้งสองคดีเป็นคนละอย่างกัน ประเด็นที่วินิจฉัยจึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๖๕/๒๕๔๘ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานส่วนที่กำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุเมื่ออายุครบ ๕๕ ปีบริบูรณ์ และลูกจ้างหญิงเมื่ออายุครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์นั้น ขัดต่อมาตรา ๑๕ ตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๖๘/๒๕๔๘ การย้ายลูกจ้างตำแหน่งเลขานุการ พนักงานระดับ ๔ ไปเป็นพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ ซึ่งหัวหน้าแผนกเป็นพนักงานระดับ ๓ เป็นการย้ายที่ลดตำแหน่งของลูกจ้างลง แม้จะจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม ก็เป็นคำสั่งย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง ลูกจ้างปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง นายจ้างไม่อาจลงโทษลูกจ้างได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๗๕/๒๕๔๘ ข้าราชการตามพจนานุกรม คือคนที่ทำงานราชการตามทำเนียบผู้ปฏิบัติราชการในส่วนราชการซึ่งหมายถึงผู้ที่ปฏิบัติราชการหรือทำงานในหน้าที่ราชการ ดังนั้น พยาบาลนอกเวลา (PART TIME) (ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ) ที่ทำงานให้แก่นายจ้างซึ่งเป็นเอกชนนอกเวลาราชการในฐานะลูกจ้างจึงมิใช่ข้าราชการตามความในมาตรา ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ แต่เป็นลูกจ้างที่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ นายจ้างต้องนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๙๐/๒๕๔๘ หนี้เงินประเภทต่างๆ ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางล้วนแต่เป็นเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างนั่นเอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐ (๑) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาย่อมมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๐ ประกอบด้วยมาตรา ๓ จตุทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้อ้างเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในชั้นพิจารณาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยจะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยก็สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๐๗/๒๕๔๘ การที่สินค้าคงคลัง ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของลูกจ้างขาดหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ๕๒,๖๐๙.๕๔ กิโลกรัม มูลค่า ๖,๒๖๑,๒๒๒.๑๕ บาท แม้รับฟังไม่ได้ว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใด แต่ก็แสดงว่าลูกจ้างปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแล ขาดความระมัดระวัง เป็นกรณีประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๙๓/๒๕๔๘ การที่ศาลกำหนดค่าเสียหายให้ลูกจ้างชำระต่อนายจ้างในจำนวนต้นเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยไม่ได้นำดอกเบี้ยตามสัญญาในอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปีมาคิดคำนวณเป็นค่าเสียหายด้วย โดยวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๘ ย่อมชอบด้วยกฎหมาย และนายจ้างเรียกดอกเบี้ยของค่าเสียหายได้ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๙๕/๒๕๔๘ ลูกจ้างไม่ต้องไปทำงานที่ทำการนายจ้าง แต่ประจำอยู่ที่บ้าน เมื่อนายจ้างแจ้งว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นลูกจ้างจึงขับรถจักรยานยนต์ของลูกจ้างไปยังที่เกิดเหตุ ตรวจสอบอุบัติเหตุและดำเนินการเกี่ยวกับการประกันภัยให้แก่ลูกค้า เสร็จแล้วก็เดินทางกลับบ้านพัก เป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ตามมาตรา ๖๕(๖) ขณะที่ลูกจ้างเตรียมพร้อมอยู่ที่บ้านมิใช่การทำงานให้แก่นายจ้าง เวลาทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างที่กำหนดไว้ ๘.๓๐–๑๗.๐๐ นาฬิกา ใช้กับลูกจ้างอื่นที่ทำงานที่ทำการของนายจ้างเท่านั้น สำหรับลูกจ้างจะถือว่าทำงานให้แก่นายจ้างเมื่อออกไปตรวจสอบอุบัติเหตุตามหน้าที่ และต้องถือกำหนดเวลาทำงานปกติวันละ ๘ ชั่วโมงตามมาตรา ๒๓ วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๙๖/๒๕๔๘ การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุที่นายจ้างปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานโดยลดจำนวนพนักงานลง มิได้เกิดจากเหตุที่นำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาแทนกำลังคน นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา ๑๒๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๕๘/๒๕๔๘ แม้ลูกจ้างจะทำหนังสือยินยอมให้นายจ้างหักค่าจ้างเพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่สามีลูกจ้างได้กระทำความเสียหายต่อนายจ้าง ไว้ก็ตาม แต่ลูกจ้างมิได้เป็นผู้ก่อหนี้หรือความเสียหายแก่นายจ้าง กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา ๗๖ วรรคหนึ่ง(๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ที่นายจ้างจะหักค่าจ้างของลูกจ้างได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๖๑/๒๕๔๘ ลูกจ้างมาสาย ถูกตักเตือนด้วยวาจา ลูกจ้างมาสายอีก ถูกตักเตือนด้วยวาจาอีก ต่อมาลูกจ้างมาสายอีก ถูกตักเตือนเป็นหนังสือและตัดค่าจ้าง ๑๖๐ บาท ลูกจ้างมาสายอีกครั้ง ถูกตักเตือนด้วยวาจา ลูกจ้างก้าวร้าวผู้บังคับบัญชา ถูกตักเตือนเป็นหนังสือ ต่อมาลูกจ้างนำโทรศัพท์ส่วนกลางไปใช้โทรศัพท์ส่วนตัว การกระทำผิดในเรื่องก้าวร้าวและเรื่องใช้โทรศัพท์ มิใช่การกระทำผิดซ้ำคำเตือน นายจ้างไม่สามารถนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๒๘/๒๕๔๘ เงินโบนัสลูกจ้างได้รับเป็นประจำทุกปีในเดือนธันวาคมพร้อมเงินเดือนงวดที่ ๑๒ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของแต่ละปี มิได้แบ่งจ่ายเป็นงวดดังเช่นเงินเดือน ส่วนค่าน้ำและค่าไฟฟ้านั้นเดิมนายจ้างจะจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงประกอบการเบิกจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง เป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการโดยแท้ แม้ต่อมาลูกจ้างจะไม่ต้องนำใบเสร็จมาแสดงก็เป็นการอำนวยความสะดวกและให้เกียรติลูกจ้าง และเหมาจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือน ก็ยังคงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นสวัสดิการเช่นเดิม ดังนี้ ทั้งเงินโบนัส เงินค่าน้ำ และเงินค่าไฟฟ้า ย่อมไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๓๐–๑๕๓๒/๒๕๔๘ ค่าเสียหายอันเกิดจากหนี้ค้างชำระจากการขายแบตเตอรี่ให้ลูกค้าที่ลูกค้ามิได้ซื้อไปใช้ แต่ลูกค้าซื้อไปขายต่อเพื่อแสวงหากำไรอันเป็นการประกอบธุรกิจการค้าของลูกค้า มีอายุความ ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓ (๕) ผลเสียหายที่นายจ้างติดตามหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระไม่ได้เกิดจากนายจ้างเข้าใจคิดว่าหนี้ที่ลูกจ้างค้างชำระนั้นมีอายุความ ๒ ปี และขาดอายุความแล้ว จึงมิได้ฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้น มิใช่เป็นผลมาจากลูกจ้างไม่ ทวงหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๖๒/๒๕๔๘ นายจ้างกำหนดการเกษียณอายุแตกต่างกันโดยอาศัยตำแหน่งงานของลูกจ้างว่าลูกจ้างตำแหน่งใดจะเกษียณอายุเมื่อใด มิใช่เอาข้อแตกต่างในเรื่องเพศมาเป็นข้อกำหนด ย่อมไม่ขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๕ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๔๑–๑๖๔๒/๒๕๔๘ การที่ลูกจ้างซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการรักษาผลประโยชน์ของนายจ้างรับเงินค่าที่ปรึกษาเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท จากบริษัทที่นำเรือมารับขนส่งน้ำมันให้นายจ้าง ย่อมเป็นการขัดต่อตำแหน่งหน้าที่ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๘๑–๑๖๘๓/๒๕๔๘ สัญญาว่าจ้างที่ปรึกษา ที่จำเลยตกลงให้โจทก์ดำเนินการดัดแปลงอพาร์ตเม้นต์เป็นโรงแรม จัดหาบุคลากรที่เหมาะสมมาทำงานโรงแรม และวางแผนการตลาด โดยจ่ายเงินค่าตอบแทนให้โจทก์ เดือนละ ๑๔๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยนั้น มิใช่สัญญาจ้างแรงงาน แต่เป็นสัญญาจ้างทำของ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๘๕/๒๕๔๘ เงินที่จำเลยเรียกร้องตามฟ้องแย้งเป็นเงินที่โจทก์ทำสูญหายไปเพราะโจทก์ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลย ซึ่งจำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำฟ้องของโจทก์ หาใช่เรียกร้องเอาเงินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของโจทก์ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๔๒/๒๕๔๘ เงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญมีกำหนดอายุความ ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๒๒(๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๓๙–๑๙๕๔/๒๕๔๘ ลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลแรงงานอีก การที่ลูกจ้างนำมูลกรณีเลิกจ้างอันเดียวกันมายื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานในระหว่างที่พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการอยู่ ศาลแรงงานย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องนั้น แต่ลูกจ้างบางคนที่ถอนคำร้องที่ยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานก่อนที่จะยื่นคำฟ้อง ย่อมมีอำนาจฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๕๖/๒๕๔๘ แม้ในระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตร นายจ้างก็มีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างหญิงนั้นได้ หากไม่ปรากฏว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหญิงนั้นเพราะเหตุมีครรภ์ การเลิกจ้างนั้นก็ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔๓ การบอกกล่าวเลิกจ้างเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ลูกจ้างได้รับหนังสือเลิกจ้างและทำให้ความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างลูกจ้างสิ้นสุดลงในวันที่นายจ้างระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๕๘/๒๕๔๘ สัญญาจ้างแรงงานที่ลูกจ้างลงลายมือชื่อในประเทศ แล้วส่งสัญญาให้นายจ้างลงลายมือชื่อในประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าสัญญาฉบับดังกล่าวทำขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๘๑ มาตรา ๑๓ เมื่อสัญญาดังกล่าวตกลงให้อยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา จำต้องบังคับตามเจตนาของคู่สัญญา ข้อตกลงที่กำหนดให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทก่อน ไม่ขัดต่อกฎหมายไทยและกฎหมายมลรัฐนิวเจอร์ซี ลูกจ้างยังไม่ได้ดำเนินการให้อนุญาโตตุลาการ ชี้ขาด จึงไม่อาจเสนอคดีต่อศาลแรงงานได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๔
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๙๒/๒๕๔๘ ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นที่สุดแล้ว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ นั้น จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้น ไม่มีสิทธินำคดีในเรื่องเดียวกันไปสู่ศาลอีก ที่จำเลยฟ้องแย้งอ้างว่าโจทก์ยักยอกทรัพย์ของจำเลยขอนำเงินราคาทรัพย์มาหัก จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ศาลย่อมไม่รับฟ้องแย้งนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๔๑/๒๕๔๘ เมื่อนายจ้างถูกศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ คดีที่ลูกจ้างฟ้องนายจ้างและพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและบังคับนายจ้างจ่ายค่าชดเชยจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เป็นฟ้องที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๕ มาตรา ๙๐/๑๒ (๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๔๒/๒๕๔๘ เมื่อลูกจ้างเล่นการพนันสลากกินรวบโดยเป็นเจ้ามืออันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของนายจ้าง แม้การสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวจะฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้างไปบ้างก็ไม่ทำให้คำสั่งลงโทษให้ลูกจ้างออกจากงานเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๔๖/๒๕๔๘ เงินจูงใจนายจ้างตกลงจ่ายให้ลูกจ้างที่ทำยอดขายได้ตามเป้าที่นายจ้างกำหนด เพื่อจูงใจให้ลูกจ้างทำยอดขายเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง ทั้งยังจ่ายเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน มิใช่ค่าจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๔๘/๒๕๔๘ แม้โจทก์จะได้รับมอบหมายให้ดูแลงานของบริษัทจำเลยโดยต้องมาทำงานทุกวัน และได้รับเงินเดือนจากจำเลย แต่โจทก์ ก็กระทำไปในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของบริษัทจำเลยที่โจทก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมา ไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาโจทก์ การทำงานของโจทก์จึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๕๘/๒๕๔๘ ในกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๐ วรรคสอง จำเลยต้องแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายใน ๗ วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๗๕/๒๕๔๘ นายจ้างจัดประชุมและแจ้งในที่ประชุมให้ลูกจ้างลาออกโดยจะจ่ายค่าชดเชยให้และให้เวลาลูกจ้างปรึกษาครอบครัวก่อน ๓ วันกับให้ลูกจ้างคืนรถประจำตำแหน่งในวันนั้น โดยในช่วงระยะเวลา ๓ วันดังกล่าวลูกจ้างไม่ต้องไปทำงาน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตั้งแต่วันที่นายจ้างเรียกเอารถประจำตำแหน่งคืนแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๖๖-๒๙๖๘/๒๕๔๘ เหตุที่นายจ้างไม่ปรับขึ้นค่าจ้างและไม่จ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้าง เพราะนายจ้างอ้างว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้ลูกจ้าง เนื่องจากลูกจ้างเป็นพนักงานระดับบังคับบัญชาไม่มีสิทธิได้ปรับเงินเดือนขึ้นซึ่งเป็นข้อต่อสู้ที่มีเหตุอันสมควร จึงไม่ใช่การจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๗๐/๒๕๔๘ ลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕, ๕๘๓ ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ คือ ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่งและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้ เมื่อโจทก์ทำงานโดยไม่ปรากฏว่าต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของจำเลย โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๕๗-๓๐๕๘/๒๕๔๘ มาตรา ๒๖ มิได้กำหนดให้คู่ความต้องยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ แม้ระยะเวลาที่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานจะสิ้นสุดไปแล้ว คู่ความก็ยังมีสิทธิยื่น คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานได้โดยพิจารณาถึงความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๖๖–๓๑๘๙/๒๕๔๘ นายจ้างประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยการบริหารบุคคล กำหนดเวลาทำงานไว้ไม่เกินสัปดาห์ละ ๔๘ ชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัตินายจ้างให้ลูกจ้างบางกลุ่มทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ ๔๐ ชั่วโมง และใช้ฐานการทำงานสัปดาห์ละ ๔๐ ชั่วโมงในการคิดค่าล่วงเวลา กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่นายจ้างให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างบางกลุ่มได้ทำงานต่ำกว่าชั่วโมงทำงานที่กำหนดไว้ในระเบียบ นายจ้างย่อมมีสิทธิไม่ให้ประโยชน์ดังกล่าวต่อไป โดยประกาศยกเลิกทางปฏิบัติให้ลูกจ้างทุกกลุ่มทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ ๔๘ ชั่วโมงได้ ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๒๒/๒๕๔๘ หนังสือค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันทำกับนายจ้างระบุเพียงว่าขอค้ำประกันในการทำงานที่ลูกจ้างเข้าทำงานกับบริษัทนายจ้าง ไม่มีข้อความระบุว่าค้ำประกันเฉพาะตำแหน่งพนักงานบัญชี และไม่ได้ระบุยกเว้นว่าหากลูกจ้างทำงานในตำแหน่งอื่นจะไม่ยินยอมค้ำประกัน แสดงว่าผู้ค้ำประกันยอมค้ำประกันในการทำงานของลูกจ้างไม่ว่าตำแหน่งใด จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๖๑/๒๕๔๘ อายุความฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายกรณีลูกจ้างขับรถนายจ้างไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกและนายจ้างได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปนั้น เป็นการฟ้องในกรณีผิดสัญญาจ้างแรงงาน มีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๖๒/๒๕๔๘ ข้ออ้างของผู้ประกันตนที่อ้างว่าไม่ทราบว่าจะต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน ๑ ปี นับแต่วันสิ้นสถานภาพเป็นลูกจ้างนั้น มิใช่เหตุอันสมควรหรือมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิล่าช้าอันจะถือเป็นข้อยกเว้นที่ไม่อาจยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน ๑ ปี ตาม มาตรา ๕๖
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๗๔๐-๓๗๙๖/๒๕๔๘ ลูกจ้างทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน และมีข้อความว่าตกลง “ไม่เรียกร้องใด ๆ อีก” ซึ่งหมายถึงเงินเพื่อตอบแทนการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก ๖๐ วัน ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีด้วย การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกิดขึ้นหลังจากที่ลูกจ้างออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุแล้ว จึงมีอิสระแก่การพ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องในเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นมีผลใช้บังคับ ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีข้อความว่าตกลง “ไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆอีก” นั้น เงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานไม่ใช่ค่าเสียหาย ถือไม่ได้ว่าลูกจ้างสละสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าว สิทธิเรียกร้องเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานจึงไม่ระงับสิ้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๗๔๐-๓๗๙๖/๒๕๔๘ ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีเดิมยังไม่มีการประกาศใช้ประกาศของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ในเรื่องเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน สิทธิในเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานที่เพิ่มขึ้นอีกเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๖๐ วันยังไม่เกิดโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้น โจทก์มาฟ้องคดีเมื่อประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วและความในประกาศมีผลถึงโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประกาศนั้นได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๒๐/๒๕๔๘ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นนายจ้างจำเลยผิดสัญญาจ้าง ขอให้จำเลยรับผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นการฟ้องในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อจำเลยให้การต่อสู้และ ฟ้องแย้งว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลย ขอให้โจทก์ชำระเงินคืนและชดใช้ค่าเสียหาย โดยปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลย คำฟ้องแย้งจึงไม่ใช่ฟ้องมูลหนี้มาจากผิดสัญญาจ้างแรงงาน คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ ศาลชอบที่จะไม่รับฟ้องแย้งไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๐๙/๒๕๔๘ การที่ลูกจ้างซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ปกปิดไม่เสนอใบเสนอราคารายใหม่และใบเปรียบเทียบราคาแก่กรรมการผู้มีอำนาจของนายจ้างนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ซื่อตรงต่อ หน้าที่ และไม่รักษาผลประโยชน์ของนายจ้าง ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๒๕/๒๕๔๘ หนังสือเตือนที่ระบุการกระทำผิดของลูกจ้างว่า ลูกจ้างขาดงานในวันเดือนปีใด พร้อมทั้งมีข้อความเตือนมิให้ลูกจ้างกระทำผิดในลักษณะนี้อีก เป็นหนังสือเตือนที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๓๐/๒๕๔๘ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐมีกำหนดอายุความ ๒ ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อคณะ กรรมการสอบสวนได้เสนอเรื่องให้ผู้ว่าการของรัฐวิสาหกิจทราบข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างได้นำเงินของรัฐวิสาหกิจไปใช้ซึ่งจะต้องรับผิดต่อรัฐวิสาหกิจเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ จึงถือว่ารัฐวิสาหกิจรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตั้งแต่วันนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๔๒–๔๐๔๓/๒๕๔๘ การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวน เป็นการวินิจฉัยพยานหลักฐานเป็นอย่างอื่นนอกสำนวน เป็นการฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลแรงงานและย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงใหม่ แล้วพิพากษาใหม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๕๘/๒๕๔๘ ข้อบังคับเรื่องกองทุนบำเหน็จที่กำหนดให้นายจ้างนำหนี้สินที่ลูกจ้างก่อให้เกิดความเสียหายมาหักออกจากเงินบำเหน็จที่ลูกจ้างได้รับก่อนนั้น เป็นการกำหนดให้มีการหักกลบลบหนี้ ศาลย่อมนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยได้ สิทธิเรียกร้องที่นายจ้างอ้างว่ามีสิทธิเรียกเอาจากลูกจ้างและนำมาหักหนี้ ลูกจ้างยังต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดต่อนายจ้าง จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ นายจ้างจะนำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๔
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๑๖๗ /๒๕๔๘ สัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดระยะเวลาการจ้าง ๑ ปี หากผิดสัญญาจ้างต้องใช้ค่าเสียหาย ๖๐,๐๐๐ บาท และกำหนดระยะเวลาทดลองงาน ๔ เดือน หากความรู้ความสามารถฝีมือและความเอาใจใส่ของลูกจ้างไม่เป็นที่น่าพอใจ นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในระหว่างทดลองงานได้นั้น เป็นสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทำงานซึ่งไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามมาตรา ๑๗ วรรคสอง ดังนี้ การที่ลูกจ้างออก จากงานในระยะเวลาทดลองงานจึงไม่เป็นการผิดสัญญาจ้างเพราะเหตุออกจากงานก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง นายจ้างเรียกร้องเอาเบี้ยปรับ (ค่าเสียหาย) จากลูกจ้างมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๐๑–๔๓๐๒/๒๕๔๘ นายจ้างแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยกำหนดระยะเวลาทดลองงานจากเดิม ๑๑๕ วัน เป็น ๑ ปี ทำให้สิทธิของลูกจ้างซึ่งจะได้รับค่ารถ ค่าคูปองอาหาร และค่าครองชีพเปลี่ยนจากเคยได้รับเมื่อพ้นระยะเวลา ๑๑๕ วัน เป็น ๑ ปี เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๐ การแก้ไขดังกล่าวจึงไม่มีผล ต้องถือตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม การที่นายจ้างทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับอยู่ ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ นายจ้างต้องจ่ายค่ารถ ค่าคูปองอาหาร และค่าครองชีพให้ลูกจ้างที่พ้นระยะเวลาทดลองงาน ๑๑๕ วัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๒๑–๔๓๒๓/๒๕๔๘ นายจ้างไม่อาจประกาศให้ลูกจ้างไปทำงานในวันจันทร์ที่ ๗ เมษายน ซึ่งเป็นวันหยุดชดเชยวันจักรี(วันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน) เพื่อชดเชยวันเสาร์ที่ ๑๒ เมษายนได้ มีผลเท่ากับวันจันทร์ที่ ๗ เมษายน ยังเป็นวันหยุดตามประเพณีชดเชยวันจักรี การที่ลูกจ้างตกลงมาทำงานในวันที่ ๗ เมษายน เวลา ๘–๑๒ นาฬิกา นับว่าเป็นคุณแก่นายจ้าง ดังนั้น การที่ลูกจ้างหยุดทำงานในช่วง ๑๓–๑๗ นาฬิกา จึงมิใช่การละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๒๔/๒๕๔๘ เมื่อศาลแรงงานอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานและนำพยานเข้าสืบแม้จะมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๘,๙๐ ก็เป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๔
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๒๕/๒๕๔๘ มาตรา ๕๖ มิได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนไว้โดยเด็ดขาด กรณีที่ผู้ยื่นคำขอเกินกำหนด ๑ ปีอันจะทำให้เสียสิทธินั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิล่าช้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๓๘/๒๕๔๘ นายจ้างเปลี่ยนชื่อบริษัท มิใช่การเปลี่ยนแปลงนิติบุคคล ยังมีสภาพเป็นนิติบุคคลดังเดิม และยังให้ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งเดิม หน้าที่การงานเดิม โดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระมากขึ้น เมื่อลูกจ้างกระทำละเมิดต่อนายจ้าง ผู้ค้ำประกันย่อมต้องร่วมรับผิดด้วยในฐานะผู้ค้ำประกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๓๒/๒๕๔๘ การที่นายจ้างให้ลูกจ้างเกษียณอายุ เป็นกรณีที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากเกษียณอายุ จึงเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างใช้สิทธิเกษียณอายุตนเองหลังจากอายุครบ ๖๐ ปีแล้วเมื่อใดก็ได้โดยแจ้งให้นายจ้างทราบก็เป็นการมอบสิทธิให้แก่ลูกจ้างเป็นผู้พิจารณาเอง เป็นเรื่องที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุ มิใช่เรื่องลูกจ้างขอลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๓๓/๒๕๔๘ ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งว่าการใช้สิทธิประกันสังคมไม่คุ้มครองถึงโรคมะเร็ง ผู้ประกันตนจึงเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยไม่ใช้สิทธิประกันสังคมและเสียชีวิตเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๑ ต่อมาเมื่อต้นปี ๒๕๔๕ ผู้จัดการมรดกของผู้ประกันตนทราบว่าการประกันสังคมคุ้มครองถึงโรคมะเร็งจึงเรียกร้องเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าที่ผู้จัดการมรดกยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนล่าช้า(พ้นระยะเวลา ๑ ปีนับแต่วันที่มีสิทธิ) มิได้เกิดขึ้นจากการละเลยเพิกเฉยหรือจงใจไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด การยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนล่าช้าเป็นไปโดยมีเหตุผลอันสมควรหรือมีความจำเป็นโดยแท้ ถือว่าได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๕๖ วรรคหนึ่งแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๔๖–๔๗๔๙/๒๕๔๘ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุประกอบกิจการขาดทุน ถือว่ามีกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้กิจการยังคงดำรงอยู่ต่อไปโดยหวังว่ากิจการจะมีโอกาสกลับฟื้นตัวได้ใหม่ เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๒๙/๒๕๔๘ การกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ หมายถึง การกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๓๔/๒๕๔๘ ลูกจ้างทำหนังสือรับสภาพหนี้(ที่ก่อให้เกิดความเสียหายในการทำงาน)ให้นายจ้างไว้ อายุความจึงสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๔(๑) เมื่อการรับสภาพหนี้เกิดจากสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันรับสภาพหนี้นั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๔๒/๒๕๔๘ ค่าน้ำมันรถที่นายจ้างเหมาจ่ายให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลเป็นรายเดือนทุกเดือน เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท เพื่อชดเชยกับการที่ลูกจ้างใช้รถยนต์ส่วนตัวของลูกจ้างไปในการทำงานให้แก่นายจ้าง มิใช่เงินที่นายจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ไม่เป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๔๓/๒๕๔๘ ค่าตอบแทนในการทำงาน เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด อยู่ในความหมายของคำว่า “สินจ้างอย่างอื่น” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ มีกำหนดอายุความ ๒ ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๔๘–๔๘๕๑/๒๕๔๘ ผู้ประกันตนมิได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนด ๑ ปี เนื่องจากมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการส่งเงินสมทบระหว่างนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคม หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว นายจ้างจึงประกาศเรื่องการหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และได้มีการส่งเงินสมทบย้อนหลัง ผู้ประกันตนจึงอยู่ในฐานะที่อาจใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรได้ตั้งแต่วันที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบย้อนหลังให้สำนักงานประกันสังคม
แม้สามีของผู้ประกันตนจะขอและได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร ในส่วนที่เป็นค่าคลอดบุตรไปแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรแต่อย่างใด
แม้การจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนจะมีขั้นตอน หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกันสังคมโดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้พิจารณาก็ตาม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งไม่จ่ายประโยชน์ทดแทนให้จนผู้มีสิทธิได้ฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาล ศาลมีคำพิพากษาให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิ สำนักงานประกันสังคมจึงมีหนี้ต้องชำระแก่ผู้มีสิทธิตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นหนี้ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมที่สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย เมื่อไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี(นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๕๒/๒๕๔๘ ศาลแรงงานมีคำสั่งในคำบังคับว่า “ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดและให้มีผลเป็นการรับคำบังคับได้ทันที” เป็นการสั่งให้ย่นระยะเวลาให้มีผลเป็นการรับคำบังคับในทันทีที่ปิดคำบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๗๕/๒๕๔๘ ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีแรงงานได้ต้องเป็นบุคคลดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑(๑๑) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ บุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะตรวจคำคู่ความที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้ เมื่อศาลแรงงานตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าจำเลยที่โจทก์ฟ้องนั้นมิได้เป็นนิติบุคคลตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมายใด อันจะทำให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยอาจเข้าเป็นคู่ความหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ ศาลแรงงานชอบที่จะให้โจทก์เสนอหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ได้ เพราะเป็นการตรวจสอบถึงอำนาจฟ้องว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นในชั้นตรวจรับคำฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลอันจะเป็นคู่ความในคดีได้ ศาลแรงงานย่อมไม่รับคำฟ้องนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๘๒/๒๕๔๘ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างขอโอนย้ายไปทำงานหน่วยงานอื่น และไม่ผ่านการทดลองงานสำหรับงานในตำแหน่งอื่นนั้น และตำแหน่งเดิมของลูกจ้างก็ถูกยุบเลิกไปโดยลูกจ้างก็ทราบดีก่อนขอโอนย้ายและนายจ้างไม่สามารถจัดหางานอื่นที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างได้ เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๘๔/๒๕๔๘ ลูกจ้างอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเป็นผู้จัดการสาขา ใช้สถานที่ทำการ พนักงาน รถยนต์ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของนายจ้างเพื่อจำหน่ายสินค้าของลูกจ้าง แม้จะเป็นสินค้าซึ่งซื้อจากนายจ้างและมิได้ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าที่สาขาของนายจ้างลดลงก็ตาม ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๘๕/๒๕๔๘ แม้ผู้บอกเลิกจ้างลูกจ้างจะมีข้อบกพร่องในการแต่งตั้ง แต่เมื่อนายจ้างรับรองการแสดงเจตนาบอกเลิกจ้างนั้นว่าเป็นการแสดงเจตนาของนายจ้าง จึงมีผลเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๘๖/๒๕๔๘ ในระหว่างที่ลูกจ้างผู้ประกันตนป่วยมิได้ไปทำงาน นายจ้างได้ส่งเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างผู้ประกันตนให้พร้อมเงินสมทบของนายจ้าง ดังนี้ แม้จะเป็นเงินของนายจ้าง มิใช่เงินที่หักมาจากค่าจ้างของลูกจ้างผู้ประกันตน โดยมีเจตนาที่จะช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลตามสิทธิอันเป็นการแสดงถึงความเอื้ออาทรของนายจ้างต่อลูกจ้าง หาใช่เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อลูกจ้างผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ภริยาของลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๑๗–๕๐๒๓/๒๕๔๘ ลูกจ้างที่ไปทำงานกับนายจ้างที่ต่างประเทศโดยบริษัทจัดหางานทำสัญญาและส่งไปทำงาน นอกจากมีสิทธิฟ้องบริษัทจัดหางานให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะที่เป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ แล้ว ยังมีสิทธิฟ้องบริษัทจัดหางานให้รับผิดในฐานะที่เป็นตัวแทนทำสัญญาการจ้างแทนนายจ้างตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ อันเป็นการเรียกร้องให้ได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๔ ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๒๔/๒๕๔๘ เมื่อเงินประจำตำแหน่ง เงินค่ารถและค่ารับรองที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างรวมเดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาทนั้น ไม่ได้ความว่าเป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลืออื่นใดแก่ลูกจ้าง เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่มีจำนวนแน่นอนที่นายจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง ถือว่าเป็นค่าจ้างที่ต้องนำไปคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๒๕/๒๕๔๘ บทบัญญัติมาตรา ๔๙ ให้อำนาจศาลแรงงานเป็นพิเศษเฉพาะคดีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยหากศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลจะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานก็ได้ หรือจะกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทนก็ได้ แม้ลูกจ้างจะมีคำขอเพียงประการหนึ่งประการใดเท่านั้นก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๙๕/๒๕๔๘ โจทก์มีหนังสือมอบอำนาจให้นาย ก. และ/หรือนาย ข. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องร้องคดีตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยผู้รับมอบอำนาจทั้งสองจะกระทำการร่วมกันหรือต่างคนต่างกระทำการแยกจากกันก็ได้ ค่าอากรแสตมป์สำหรับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ ๓๐ บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ ๗(ค) ท้ายประมวลรัษฎากร โดยต้องปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ ๓๐ บาท รวม ๖๐ บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเพียง ๓๐ บาท ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐาน ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี่ได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายก. และ/หรือนายข. ฟ้องจำเลย นายก.หรือนายข.จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๗๔/๒๕๔๘ ลูกจ้างยื่นหนังสือลาออกระบุเหตุผลว่าถูกดำเนินคดีอาญา นายจ้างยับยั้งการลาออกไว้จนกว่าจะทราบผลคดีอาญา ต่อมาลูกจ้างขอกลับเข้าทำงาน นายจ้างอนุญาต และต่อมาลูกจ้างขอยกเลิกใบลาออก กรณีดังกล่าวเท่ากับนายจ้างตกลงให้ลูกจ้างถอนใบลาออก คำเสนอขอลาออกของลูกจ้างจึงเป็นอันสิ้นความผูกพัน หนังสือลาออกสิ้นผล นายจ้างไม่อาจอนุมัติให้ลูกจ้างลาออกได้อีก คำสั่งอนุมัติให้ลูกจ้างลาออกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๑๒/๒๕๔๘ แม้รัฐมนตรีจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบเกินกำหนด ๑๐ วัน นับแต่วันรับอุทธรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓ ก็ไม่ทำให้อำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีหมดไปหรือทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๑๒/๒๕๔๘ แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้ทั้งสองฝ่าย(นายจ้างและลูกจ้าง)ทราบเกินกำหนด ๑๐ วันนับแต่วันรับอุทธรณ์ ก็ไม่ทำให้อำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีหมดไปหรือทำให้คำวินิจฉัยไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๕๔/๒๕๔๘ ลูกจ้างผู้ประกันตนออกจากงานโดยไม่ทราบถึงสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ แม้จะยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกิน ๑ ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ ก็ถือเป็นเหตุสมควรที่ต้องใช้สิทธิยื่นคำขอล่าช้า จะนำระยะเวลาที่มิได้ยื่นคำขอภายใน ๑ ปีมาตัดสิทธิของลูกจ้างผู้ประกันตนมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๖๕/๒๕๔๘ นายจ้างบอกเลิกจ้างเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ซึ่งเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างเมื่อก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ ๒๕ มิถุนายน จึงมีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ อันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ลูกจ้างได้รับค่าจ้างคิดเป็นรายเดือน ให้ถือว่าเดือนหนึ่งมี ๓๐ วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๖ วรรคสุดท้าย นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน ๑ เดือน ๒๕ วัน มิใช่ ๑ เดือน ๒๖ วัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๖๖/๒๕๔๘ นายจ้างมีคำสั่งซื้อลดลงเป็นจำนวนมาก ย่อมไม่มีงานให้ลูกจ้างทำ ทั้งยังประสบภาวะขาดทุน เป็นหนี้ค่าวัสดุ ซึ่งหากยังคงสภาพการผลิตเท่าเดิมต่อไปก็จะส่งผลให้ขาดทุนมากยิ่งขึ้นจนต้องเลิกกิจการหรือล้มละลายต้องเลิกจ้างลูกจ้างที่เหลือทั้งหมด ย่อมถือได้ว่าเป็นเหตุจำเป็นที่นายจ้างสามารถสั่งหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ การที่นายจ้างประกาศให้ลูกจ้างในแต่ละแผนกสลับกันหยุดงานครั้งละ ๑ ถึง ๕ วัน ย่อมเป็นธรรมต่อลูกจ้างมากกว่าที่จะให้ลูกจ้างหยุดประจำเฉพาะกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเท่านั้น ก่อให้เกิดความเสมอภาคแก่ลูกจ้างทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาเลือกปฏิบัติ การประกาศให้ลูกจ้างหยุดงานดังกล่าวจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๙๕/๒๕๔๘ ตามหนังสือเลิกจ้างอ้างเหตุเพียงว่า ลูกจ้างไม่สนองตอบต่อความต้องการของนายจ้างอย่างเพียงพอเท่านั้น เท่ากับนายจ้างประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในหนังสือเลิกจ้างเพียงประการเดียวเป็นเหตุเลิกจ้าง ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย เมื่อลูกจ้างฟ้องเรียกค่าชดเชย นายจ้างจะยกเหตุอื่นขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๙๖–๕๒๙๗/๒๕๔๘ นายจ้างเพียงสงสัยว่าลูกจ้างกลุ่มหนึ่งน่าจะยักยอกเศษทอง เพราะเศษทองในแผนกที่ลูกจ้างทำอยู่มีความสูญเสียมากกว่าปกติที่ควรจะเป็นเท่านั้น ยังไม่มีความชอบธรรมเพียงพอที่จะให้ลูกจ้างหญิงถอดเสื้อผ้าออก และให้พนักงานรักษาความปลอดภัยหญิงปลดตะขอเสื้อชั้นในข้างหลังเพื่อเขย่าดูว่ามีของซุกซ่อนอยู่ในเต้าทรงของยกทรงของลูกจ้างหญิงหรือไม่ และให้ลูกจ้างหญิงนำเสื้อมาปิดบังส่วนช่วงล่างและให้ถอดกางเกงในและยืนถ่างขาออกเพื่อสำรวจดูว่ามีเศษทองที่ใช้ในการผลิตงานซุกซ่อนอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของลูกจ้าง เป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าที่สุจริตชนจะพึงยอมรับได้ หัวหน้างานของลูกจ้างดังกล่าวย่อมมีความชอบธรรมที่จะไปร้องขอต่อเจ้าหน้าที่แรงงานเพื่อให้นายจ้างเลิกการกระทำดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๙๘/๒๕๔๘ ลูกจ้างเป็นหัวหน้างานออกแบบ นำข้อมูลและราคากลางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลปริมาณงานและราคาที่แท้จริงซึ่งเป็นความลับของนายจ้างไปเปิดเผยแก่ผู้ประมูลก่อนมีการประมูลงานก่อสร้างโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งอาจทำให้นายจ้างต้องจ้างผู้ประมูลในราคาที่สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๓๗/๒๕๔๘ มูลคดีเกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีผลใช้บังคับ จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ ๑ ปี หรือ ๒ ปี ตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ลูกจ้างกระทำละเมิดต่อรัฐวิสาหกิจและยังเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องกรณีผิดสัญญาจ้างแรงงานมีอายุความ ๑๐ ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๓๘–๕๗๔๒/๒๕๔๘ ค่าบริการเป็นเงินที่นายจ้าง(ในกิจการโรงแรม)เรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราร้อยละ ๑๐ นายจ้างหักเป็นเงินสวัสดิการพนักงานร้อยละ ๒๒ ที่เหลือนำมาแบ่งให้พนักงาน เงินค่าบริการจึงเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการ ไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้าง ส่วนค่าอาหารเดือนละ ๖๐๐ บาท นายจ้างจ่ายเป็นประจำทุกเดือน ไม่ปรากฏว่าเป็นการจ่ายค่าอาหารตามที่ลูกจ้างจ่ายจริง จึงเป็นค่าจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๒๗/๒๕๔๘ วันที่ศาลแรงงานนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก จำเลยทราบนัดแล้วไม่มา เป็นกรณีที่จำเลยขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๔ โดยไม่จำต้องสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์และขอให้นัดสืบพยานจำเลยใหม่ จึงเป็นกรณีต้องห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ขาดนัดพิจารณานำพยานเข้าสืบเพราะจำเลยมาศาลเมื่อพ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๖ วรรคสี่ (๑)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๖๕๓/๒๕๔๘ เมื่อผู้ประกันตนไม่ทราบว่าตนจะต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน และมีเหตุสมควรที่ผู้ประกันตนต้องใช้สิทธิยื่นคำขอล่าช้า จึงนำระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพราะไม่ทราบว่ามีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพและต้องยื่นคำขอภายใน ๑ ปีมาตัดสิทธิของผู้ประกันตนไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๘๖/๒๕๔๘ เงินประจำตำแหน่งที่จ่ายให้แก่พนักงานระดับ ๘ ถึงระดับ ๑๑ ในจำนวนตายตัวแน่นอนลดหลั่นกันไป โดยไม่มีเงื่อนไข เป็นเงินที่รัฐวิสาหกิจจ่ายให้แก่พนักงานดังกล่าวเป็นการประจำและมีจำนวนแน่นอน เป็นเงินที่จ่ายตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ อันเป็นเงินเดือนค่าจ้างตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๘๖/๒๕๔๘ ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมีอายุความ ๑๐ ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๘๗/๒๕๔๘ ลูกจ้างยื่นใบลาออกจากการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นวันก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๖ ย่อมมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แม้นายจ้างจะมีระเบียบว่าจะต้องได้รับอนุมัติจากนายจ้างก่อน นายจ้างก็มิได้โต้แย้งหรือสั่งให้ระงับใบลาออกของลูกจ้าง แต่กลับจ่ายค่าจ้างถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ แสดงว่านายจ้างได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกโดยปริยายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๘๔๗/๒๕๔๘ การพิจารณาว่าบุคคลใดมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ต้องพิจารณาขณะยื่นคำฟ้องว่า บุคคลนั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิแล้วหรือไม่ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ลูกจ้างมาฟ้องนายจ้างต่อศาลเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๗ แม้ในคำฟ้องจะบรรยายว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ซึ่งนายจ้างยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิ แต่วันที่ลูกจ้างยื่นคำฟ้องนายจ้างได้โต้แย้งสิทธิแล้ว ลูกจ้างจึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๖๗/๒๕๔๘ ในขณะที่ลูกจ้างทั้ง ๒๒๔ คน ลงลายมือชื่อในเอกสารรับเงินจากนายจ้าง(ซึ่งปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้าง) ซึ่งมีข้อความว่า ไม่ติดใจใช้สิทธิเรียกร้องใด ๆ จากนายจ้างอีกนั้น ลูกจ้างทราบแล้วว่านายจ้างได้เลิกจ้างทั้ง ๒๒๔ คนแล้ว ลูกจ้างย่อมมีอิสระที่จะตัดสินใจได้โดยไม่อยู่ในภาวะที่จะต้องเกรงกลัวนายจ้างแต่อย่างใด เพราะไม่มีฐานะเป็นนายจ้างแล้ว เอกสารรับเงินที่ลูกจ้างลงลายมือชื่อไว้ย่อมมีผลผูกพันลูกจ้างนั้น การทำเอกสารดังกล่าวย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ลูกจ้างดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่เรียกร้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๖๐๘–๕๖๐๙/๒๕๔๘ ลูกจ้างเป็นพนักงานขายมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเงินของนายจ้าง ได้เบิกเงินจากนายจ้างโดยอ้างว่าเพื่อนำไปเลี้ยงรับรองลูกค้าและซื้อของขวัญให้ลูกค้า แต่ลูกจ้างมิได้นำเงินไปใช้ตามที่อ้าง ทั้งมิได้คืนเงินจำนวนที่ขอเบิกไปตามกำหนดเวลารวม ๒ ครั้ง จนนายจ้างต้องทวงถาม จึงค่อยคืนให้ แม้การส่งคืนล่าช้าจะเป็นเพียงระยะเวลาอันสั้น แต่พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมส่อไปในทางทุจริตอันเป็นเหตุให้จำเลยไม่ไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ การเลิกจ้างลูกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร หาใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๘๐/๒๕๔๘ โจทก์และจำเลยท้ากันให้ถือเอาคำเบิกความของพยานคนหนึ่งเป็นข้อแพ้ชนะคดี เพื่อพยานดังกล่าวเบิกความตรงตามคำท้า ซึ่งเงื่อนไขบังคับก่อนนั้นได้สำเร็จผลตามคำท้าสมประโยชน์แก่จำเลย คำท้าจึงบังเกิดผลแล้ว โจทก์ต้องแพ้คดีตามคำท้าโดยยอมรับข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างโดยไม่ต้องสืบพยานเพื่อพิสูจน์ตามประเด็นข้อพิพาท เป็นการพิพากษาคดีที่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔(๑) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
ย่อคำพิพากษาศาลแรงงาน ที่น่าสนใจ ปี 2549
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๘/๒๕๔๙ ลูกจ้างเป็นวิศวกรฝ่ายผลิตไม่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารบัญชีการเงิน ได้ให้ลูกจ้างอีกคนหนึ่งไปเอาบัญชีค่าจ้างมาถ่ายสำเนาเสร็จแล้วก็ได้นำกลับไปคืนที่เดิม แสดงว่าลูกจ้างไม่มีเจตนาจะเอาบัญชีค่าจ้างนั้นไปเป็นของตน ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๗/๒๕๔๙ ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้วพิจารณาพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗ ซึ่งเกินกำหนด ๗ วัน...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๖/๒๕๔๙ รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างใช้สิทธิเรียกให้ลูกจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากมูลหนี้ละเมิด ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๒/๒๕๔๙ ในการที่นายจ้างจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๑๑๙ (๑) ถึง (๖) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น ต้องเป็นกรณีที่นายจ้างถือเอากรณีดังกล่าว...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐/๒๕๔๙ ศาลแรงงานทำการพิจารณาคดีแล้ววินิจฉัยเสียเองว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน โดยไม่ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉั...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘/๒๕๔๙ ลูกค้าและลูกจ้างอื่นของนายจ้างแจ้งต่อนายจ้างว่าลูกจ้างนำงานบางส่วนของนายจ้างไปจ้างบุคคลภายนอกทำ และลูกจ้างเคยให้ข่าวร้ายต่อนายจ้างว่านายจ้างจะล้มละลาย จะปิดกิจการ...
ย่อคำพิพากษาศาลแรงงาน ที่น่าสนใจ ปี 2550
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๒๘๖/๒๕๕๐ นายจ้างย้ายลูกจ้างซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่แผนกบุคคลไปทำหน้าที่พนักงานขาย มีหน้าที่เกี่ยวกับการจำหน่ายรถยนต์ซึ่งรวมถึงการรับจ่ายเงินค่าสินค้าและอื่นๆ อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่ผู้ค้ำประกันมากเกินกว่าที่ระบุไว้...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๒๐/๒๕๕๐ โบนัสมิใช่เงินค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๘) และ (๙) กำหนดอายุความในการใช้สิทธิ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๑๕/๒๕๕๐ ตามคู่มือพนักงานของนายจ้าง กำหนดว่า บริษัทสงวนสิทธิที่จะจ่ายเงินโบนัสหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลกำไรของบริษัทและการพิจารณาของฝ่ายจัดการของบริษัทในแต่ละปี บริษัทจะจ่ายเงินโบนัสให้ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๔๔/๒๕๕๐ เมื่อนายจ้างมิได้เป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพื่อให้ลูกจ้างได้ใช้สิทธิหยุด แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างสามารถลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างอีกปีละไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน มากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นคุณแก่ลูกจ้างก็ตาม ลักษณะวันหยุดดังกล่าวก็หาใช่เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๘๗/๒๕๕๐ ปัญหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ศาลฎีกาก็รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหา...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๒๑/๒๕๕๐ ตามสัญญจ้างแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนกรณีทำงานนาน แต่ยังไม่ได้ใช้สิทธิลาหยุด จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนกรณีทำงานนาน...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๗๘/๒๕๕๐ ข้อตกลงที่รวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายไปกับค่าจ้างในเวลาทำงานตามปกติโดยไม่มีการคิดค่าล่วงเวลาที่ทำจริง เป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง ทั้งมีลักษณะเป็นการผูกพันให้ลูกจ้างต้องยอมทำงานล่วงเวลา...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๕๔/๒๕๕๐ เมื่อลูกจ้างออกจากงานด้วยความยินดีของลูกจ้างและนายจ้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินดังกล่าวจึงยังมีสภาพเป็นเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนมิได้กลับมา...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๓๓/๒๕๕๐ การบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างเป็นการกระทำของนายจ้างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง ซึ่งไม่ได้บัญญัติว่า...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๒๕-๕๙๓๒/๒๕๕๐ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างระบุถึงการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จำเป็นต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนไว้ ๗ กรณี...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๒๔/๒๕๕๐ เหตุแห่งการเลิกจ้างอันเกิดจากการที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีสาเหตุอันสมควรตามมาตรา ๑๑๙ (๕) จะเกิดขึ้นเมื่อลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ล่วงพ้น...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๒๑/๒๕๕๐ การกระทำของลูกจ้างที่นายจ้างกล่าวอ้างว่าลูกจ้างกระทำผิดเกี่ยวกับการเงินเป็นความผิดครั้งแรกซึ่งนายจ้างลงโทษลูกจ้างในขั้นตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งที่ ๒ การกระทำที่นายจ้างกล่าวอ้างว่า...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๖๘/๒๕๕๐ เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทเซลล์เอนจิเนียริ่ง จำกัด ต่อมาถูกโอนมาเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยทั้งโจทก์และจำเลยไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานการโอนและนับอายุงานต่อเนื่องได้ จึงมิใช่กรณีที่บริษัทเซลล์เอนจิเนียริ่ง จำกัด...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๓๑/๒๕๕๐ ประกาศ เรื่อง ระเบียบการค้ำประกันพนักงานของนายจ้างกำหนดการคืนเงินประกันการทำงานภายใน 4 เดือน และ 6 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๗๙/๒๕๕๐ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด จำนวน ๒๑๔,๙๙๙,๙๙๔ หุ้น ในหุ้นทั้งหมด ๒๑๕,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น จึงมีหุ้นที่รัฐวิสาหกิจถืออยู่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๓๐/๒๕๕๐ นายจ้างมิได้แจ้งเหตุในการเลิกจ้าง จึงไม่อาจยกเหตุที่อ้างในคำให้การและในอุทธรณ์อันเป็นเหตุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ....
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๒๙/๒๕๕๐ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ และให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามข้อบังคับของจำเลย โดยมิได้บรรยายฟ้องให้ได้ความชัดแจ้งว่า โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๐๒/๒๕๕๐ นายจ้างแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับปี ๒๕๑๗ ซึ่งไม่มีกำหนดการเกษียณอายุ เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับปี ๒๕๒๘ ซึ่งมีกำหนดเกษียณอายุ หลังจากนั้นก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกหลายฉบับ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๒๔/๒๕๕๐ โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าตอบแทนการขายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าได้ชำระให้โจทก์ครบถ้วนและฟ้องแย้งว่าโจทก์หยุดงานไป ๕ วัน ทำให้จำเลยเสียหาย ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๕๑๖/๒๕๕๐ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำการแทนนายจ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการลงโทษและจ้างลูกจ้าง ย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างตามมาตรา ๕ แม้ว่าผู้จัดการฝ่ายบุคคลจะเป็นลูกจ้างของนายจ้าง...
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๓๓/๒๕๕๐ ลูกจ้างเป็นผู้จัดการขายมีหน้าที่เร่งรัดติดตามทวงถามหนี้สินของลูกค้าที่ค้างชำระ แต่ไม่ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่การเงินส่งเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายให้ลูกจ้างไปทวงถามหรือรายงานให้ลูกจ้างทราบ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๐๑/๒๕๕๐ เงินค่าเช่าบ้านเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างไม่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ที่ตั้งบริษัท และนายจ้างไม่สามารถจัดที่พักอาศัยให้ลูกจ้างได้ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๓๕/๒๕๕๐ คำว่า “บุตร” ตามมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๔๖/๒๕๕๐ คำสั่งให้ชะลอการขึ้นเงินเดือนลูกจ้าง ในระหว่างที่ลูกจ้างถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๕๑/๒๕๕๐ ลูกจ้างเป็นผู้จัดการแผนกวิจัยต่างประเทศของนายจ้างซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ อาศัยประโยชน์จากการปฏิบัติงานและรับทราบข้อมูลภายในไปซื้อหลักทรัพย์ไว้ก่อนลูกค้า ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๘๙/๒๕๕๐ ลูกจ้างรับทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๕ นายจ้างจ่ายค่าจ้างก่อนวันที่ ๒๕ ของเดือน ดังนั้น การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างจึงมีผลให้เลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปถือในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๖๒/๒๕๕๐ ข้อความในใบสมัครงานที่ระบุให้พนักงานขาย พนักงานช่าง หรือพนักงานผู้มีส่วนได้รับค่านายหน้าซึ่งเป็นลูกจ้าง จะต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้าได้นั้น ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๗๘/๒๕๕๐ กรรมการลูกจ้างขับรถบรรทุกเทรลเลอร์โดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างแล้ว ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๗๗/๒๕๕๐ จำเลยขอแก้ไขคำให้การเพิ่มเติมประเด็นฟ้องซ้อนเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมขอแก้ไข...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๗๖/๒๕๕๐ รัฐวิสาหกิจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโดยกล่าวถึงบุคคลสามคนที่ทำให้รัฐวิสาหกิจเสียหายไม่ได้กล่าวถึงการกระทำใดของพนักงาน จึงเป็นกรณีที่รัฐวิสาหกิจมิได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๘๔-๗๘๖/๒๕๕๐ เมื่อกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุไว้ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๑๙/๒๕๕๐ เมื่อมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ แล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนนั้นย่อมเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายจ้าง ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๑๘/๒๕๕๐ ลูกจ้างขับรถตามคำสั่งกรรมการผู้จัดการไปเจรจาต่อรองเรื่องค่าเสียหายที่กรรมการผู้จัดการขับรถเฉี่ยวชนรถยนต์อื่นจนมีผู้ถึงแก่ความตาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าระหว่างทางลูกจ้างและกรรมการผู้จัดการถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๘๕/๒๕๕๐ คดีแรงงานไม่มีการชี้สองสถาน โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องซึ่งเป็นการแก้ไขในรายละเอียดและเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ไม่น้อยกว่า ๗ วัน...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๘/๒๕๕๐ ค่าเสียหายตามมาตรา ๔๑ (๔) เป็นค่าเสียหายที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรม เป็นคนละกรณีกับเงินช่วยเหลือพิเศษที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นกรณีพิเศษ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๙/๒๕๕๐ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแม้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่มิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องและมีการเจรจาต่อรองจนตกลงกันได้...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๐/๒๕๕๐ สัญญาฝึกอบรมและดูงานต่างประเทศกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างไปฝึกอบรมต่างประเทศ โดยกำหนดให้ลูกจ้างนำวิชาความรู้กลับมาใช้ในการทำงานให้เป็นประโยชน์แก่นายจ้าง มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗-๑๙๙/๒๕๕๐ คำว่า “ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย” หมายความว่า หากผู้รับเหมาค่าแรงมีนิติสัมพันธ์ต่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเท่าใด ผู้ประกอบกิจการก็ต้องรับผิดต่อลูกจ้างนั้นตามนั้น...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๔/๒๕๕๐ ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องไว้พิจารณา แต่ต่อมาเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน จึงเพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้อง แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้อง ให้จำหน่ายคดี แสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วว่า คดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗/๒๕๕๐ ความรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันเกิดเหตุทุจริตยักยอก เมื่อมีการรับสภาพหนี้ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖/๒๕๕๐ กรณีที่นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้าง ๗ วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดนั้น เป็นการให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว สภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างในระหว่างพักงานยังคงมีอยู่ ...
ย่อคำพิพากษาศาลแรงงาน ที่น่าสนใจ ปี 2551
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๐๔-๘๔๓๖/๒๕๕๑ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๐ ด้วยเหตุเกษียณอายุตามระเบียบดังกล่าว การเกษียณอายุ พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงต้องพิจารณาจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๙๘-๗๓๙๙/๒๕๕๑ พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๖ ได้นิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ไว้โดยเฉพาะแล้วว่าหมายถึง (๑) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๕๑/๒๕๕๑ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยให้การว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๕๐/๒๕๕๑ การสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้องพนักงานเรียกค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนตามสัดส่วนของการละเมิด บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ร้องสอด เมื่อการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้แปลงสภาพเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๐๓/๒๕๕๑ ลูกจ้างใช้ของแหลมมีคมขีดที่รถยนต์ของบุคคลอื่นที่จอดอยู่ในบริเวณที่จอดรถของนายจ้าง (นายจ้างติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้เพื่อตรวจสอบ) เป็นการกระทำที่ไม่สนใจใยดีในความเดือดร้อนของบุคคลอื่น ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๑๓/๒๕๕๑ นายจ้างประกอบกิจการโรงแรม ในช่วงที่นายจ้างจัดรายการส่งเสริมการขายอาหารแบบบุฟเฟต์ กำหนดให้ลูกค้าที่รับประทานอาหาร ๔ คน เก็บค่าอาหาร ๓ คน อัตราคนละ ๔๐๐ บาท ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๑๒/๒๕๕๑ ลูกจ้างเป็นวิศวกรเรียกค่าเสียหายค่าดำเนินการสำหรับการจะเข้ามารับงานก่อสร้างของนายจ้างจากพนักงานของบริษัทหนึ่งให้แก่อีกบริษัทหนึ่งซึ่งจะเข้ามาประมูลงานก่อสร้างจากนายจ้าง ...
- คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๗๑๑/๒๕๕๑ ตามหนังสือเลิกสัญญาจ้างระบุว่า “...ท่านได้มีพฤติการณ์เป็นนายทุนให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๙๕/๒๕๕๑ เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เวลาประมาณ ๒๒ นาฬิกา จนถึงวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ ก่อนแพทย์รักษาผู้ประกันตนด้วยวิธีสวนหัวใจ ผู้ประกันตนมีอาการเจ็บปวดแน่นหน้าอกมาโดยตลอด...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๙๒/๒๕๕๑ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีเมื่อวันจ่ายค่าจ้าง (วันสิ้นเดือนธันวาคม ๒๕๔๗) แต่ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๘ เป็นเพียงความแตกต่างกับคำฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยเลิกจ้าง...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๙๑/๒๕๕๑ ระเบียบนายจ้างที่กำหนดให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ถูกลงโทษอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการระดับสูงขึ้นไปและให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเป็นที่สุดนั้น เป็นระเบียบที่ใช้ภายในองค์กรของนายจ้างซึ่งหมายความเพียงว่า...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๙๗-๓๒๗๙/๒๕๕๑ นายจ้างหมดสัญญาที่ได้รับอนุญาตให้บริการขายอาหารในสถานประกอบการที่สาขาจังหวัดปราจีนบุรี จึงเสนอให้ลูกจ้างทั้งแปดสิบสองคนเลือกไปทำงานที่สาขาอื่นซึ่งมีอยู่หลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานคร...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๙๕/๒๕๕๑ หลังจากสืบพยานโจทก์แล้ว ในวันนัดสืบพยานจำเลย โจทก์ไม่มาศาล ศาลแรงงานต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลแรงงานไม่มีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีได้...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๙๒/๒๕๕๑ โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลพิพากษาตามยอม จำเลยผิดนัด โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัด ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๙๑/๒๕๕๑ เมื่อนายจ้างมีหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างตามสัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวทั้งนายจ้างยังมีคำสั่งห้ามลูกจ้างเข้าบริเวณโรงงาน...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๗๖/๒๕๕๑ เงินค่าชดเชยและเงินรีไทม์เมนต์เมื่อเกษียณอายุที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยจำแนกเป็นกรณีลูกจ้างที่มีระยะเวลาทำงานเกิน ๕ ปีที่ลาออกเนื่องจากไปปฏิบัติงานที่อื่นหรือมีเหตุผลส่วนตัว ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๖๒/๒๕๕๑ โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีเหตุทะเลาะวิวาทกับลูกจ้างอีกคนหนึ่งในเวลาทำงาน นายจ้างแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวน ระหว่างสอบสวนโจทก์ถูกนายจ้างสั่งพักงานโดยขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้าง ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๐๙/๒๕๕๑ แม้ผู้ประกันตนจะยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๓๗-๒๐๓๘/๒๕๕๑ ลูกจ้างทั้งสองเป็นนักร้องนักดนตรี วันเกิดเหตุ เมื่อลูกจ้างทั้งสองเลิกเล่นดนตรีแล้วได้เก็บอุปกรณ์ทั้งหมดแล้วไปขอรับเงินค่าจ้างจากพนักงานการเงินและเขียนเลขบัญชีเงินฝากให้พนักงานการเงินโอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีธนาคาร และขอลาหยุดงานกะทันหัน ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๓๕/๒๕๕๑ เมื่อลูกจ้างทราบว่านายจ้างมีคำสั่งให้ลงบันทึกเวลาที่ไปจัดการธุรกิจให้บริษัท ซึ่งเป็นคำสั่งในหน้าที่เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ปฏิบัติ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๓๖/๒๕๕๑ ลูกจ้างเป็นกรรมการลูกจ้าง ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ ๕๙.๔๑ บาท ต่อมานายจ้างและบริษัทในเครือได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลในระบบการจ่ายเงินเดือน การจัดทำบัญชี การลดงาน...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๐๕/๒๕๕๑ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๓ ใช้สำหรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างไม่ว่านายจ้างนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๕๓/๒๕๕๑ เมื่อนายจ้างไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา ๑๒๔ แล้วเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลแรงงาน นายจ้างต้องนำเงินที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานมาวางศาลจึงจะฟ้องคดีได้ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๕๐-๑๓๕๑/๒๕๕๑ สหภาพแรงงานกับนายจ้างทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า ให้ปรับสภาพการจ้างลูกจ้างรายวันที่ทำงานครบ ๑๐ ปี เป็นลูกจ้างรายเดือน ถ้าเข้าเงื่อนไขครบตามที่กำหนด ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๔๙/๒๕๕๑ ลูกจ้างผู้ประกันตนมีวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ ผู้ประกันตนประสบอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและหมดสติไป พลเมืองดีนำส่งโรงพยาบาลสุขุมวิท ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๐/๒๕๕๑ ถ้าโจทก์ไม่สามารถคัดคำพิพากษาศาลแรงงานเพื่อใช้ประกอบในการเขียนอุทธรณ์เนื่องจากกำลังรอพิมพ์อยู่ ย่อมเป็นความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๓/๒๕๕๑ คดีก่อน โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างต่อศาลจังหวัดเลยว่าจำเลยกระทำละเมิด ศาลจังหวัดเลยพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกิน ๑ ปีนับแต่รู้ถึงการละเมิด...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๘/๒๕๕๑ ลูกจ้างไปติดต่อนิติกรศาลแรงงานโดยไม่ลาให้ถูกต้องตามวิธีปฏิบัติในการขออนุมัติลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงเป็นการละทิ้งการงานไปเสีย นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าได้...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๑-๔๘๒/๒๕๕๑ นายจ้างมีคำสั่งปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างรายวันเข้าใหม่และระบุให้ลูกจ้างราย วันที่เข้าทำงานใหม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงประจำวัน วันละ ๑๐ บาท โดยรวมวันหยุดประจำสัปดาห์ด้วย ....
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๐/๒๕๕๑ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วได้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่สมาชิกของกองทุนไปโดยหลงลืมหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๗/๒๕๕๑ ตามคำสั่งเลิกจ้าง นายจ้างลงโทษไล่ลูกจ้างออกจากบริษัทฐานละทิ้งหน้าที่การงานติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า ๗ วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบพนักงานของนายจ้าง ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๖/๒๕๕๑ เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะอันเป็นตัวแทนทางทูตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ข้อ ๑ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๙-๒๖๐/๒๕๕๑ ลูกจ้างเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร ดื่มเบียร์ก่อนจะถึงเวลาเลิกงานเพียง ๕ นาที ไม่ปรากฏว่ามีอาการมึนเมาหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง ...
ย่อคำพิพากษาศาลแรงงาน ที่น่าสนใจ ปี 2552
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๐๗/๒๕๕๒ การพิจารณาว่านายจ้างต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เพียงใด จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๒๘/๒๕๕๒ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ เพราะจำเลยไม่ออกหนังสือรับรองการผ่านงานให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้ทำงานกับธนาคารที่โจทก์สมัครงานไว้ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๖๓/๒๕๕๒ เงินคอมมิสชั่นเป็นเงินที่ลูกจ้างได้รับจากการจำหน่ายสินค้าของนายจ้างซึ่งคิดคำนวณจากยอดสินค้าที่ลูกจ้างจำหน่ายได้ในแต่ละเดือน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๐๑/๒๕๕๒ เงินที่จำเลย (นายจ้าง) ฟ้องแย้งให้โจทก์ (ลูกจ้าง) คืนแก่จำเลยคือเงินของจำเลยที่โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยนำไปชำระค่าภาษีเงินได้ของโจทก์...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๔๔-๒๕๔๕/๒๕๕๒ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๓๙ (๒) บัญญัติว่า ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจทำหนังสือสอบถามหรือเรียกนายจ้าง ลูกจ้าง ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๒/๒๕๕๒ แม้โจทก์จะอ้างเอกสารโดยไม่ได้ซักถามพยานจำเลยไว้ก่อน แต่ศาลแรงงานรับฟังเอกสารดังกล่าว ถือเป็นพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาสืบเอง...
ย่อคำพิพากษาศาลแรงงาน ที่น่าสนใจ ปี 2553
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๘๕-๕๒๒๑/๒๕๕๓ การที่จำเลยจะยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแรงงานหรือไม่นั้น จำเลยจะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาท ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๔๐-๓๒๔๗/๒๕๕๓ สัญญาประนีประนอมยอมความที่จะระงับข้อพิพาทแรงงานตามกฎหมายนั้นต้องเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๓-๒๒๘/๒๕๕๓ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕ กำหนดคำนิยามคำว่านายจ้างในทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๓๐-๔๓๔๓/๒๕๕๓ สิทธิของโจทก์แต่ละคนที่จะฟ้องบังคับจำเลยชำระค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดของปี ๒๕๔๗ ระหว่างเดือนมกราคมถึงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ย่อมเกิดขึ้นถึงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๗๒-๕๙๘๒/๒๕๕๓ ประกาศฉบับเดิมของนายจ้างมีหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าชดเชยจากฐานเงินเดือนก่อนการปรับลดเงินเดือนของลูกจ้าง แต่ประกาศฉบับใหม่..
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๗๑/๒๕๕๓ ปัญหาว่าข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นการจำกัดสิทธิเกินสมควรตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๗๕๓-๗๗๗๒/๒๕๕๓ ใบสมัครงานเป็นแต่เพียงข้อผูกพันเบื้องต้นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเท่านั้น ต่อมาเมื่อได้มีการลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างแรงงานด้วยความสมัครใจ นายจ้างและลูกจ้างย่อมผูกพันตามสัญญาจ้างนั้น...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๗๕-๔๔๗๙/๒๕๕๓ พฤติการณ์ที่ลูกจ้างทั้งห้าออกจากที่ทำงานระหว่างเวลาทำงานไปแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานและพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางนาว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๓๐-๔๓๔๓/๒๕๕๓ การท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่มีหน้าที่ขนสินค้าไปส่งให้ลูกค้า การเคลื่อนย้ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าแล้วเก็บไว้ที่โกดังสินค้าหรือที่ลานกลางแจ้งเพื่อรอให้เจ้าของสินค้ามารับไป..
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๐๑-๓๘๒๔/๒๕๕๓ ลูกจ้างยี่สิบสี่คนร้องกล่าวหาว่านายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้นายจ้างมอบหมายงานให้ลูกจ้างทั้งยี่สิบสี่ นายจ้างให้ลูกจ้างทั้งยี่สิบสี่ไปทำงานที่โรงงานของนายจ้างอีกแห่งหนึ่ง…
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๐๒-๙๙๙/๒๕๕๓ หากจำเลยเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานก่อนวันสืบพยานเพื่อให้ศาลแรงงานจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณา...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๕๗/๒๕๕๓ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๕๗/๒๕๕๓ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๕๗/๒๕๕๓ คำฟ้องของโจทก์แสดงว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยซึ่งเป็นพนักงานขายสินค้า ทำให้สินค้าหาดขายไป เป็นการละเมิดต่อโจทก์..
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๓๙/๒๕๕๓ แม้เงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างจะกำหนดว่าผลประโยชน์อันพึงจะได้รับตามข้อบังคับฉบับนี้จะต้องถูกหักด้วยเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๗๔/๒๕๕๓ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๗ จัตวา บัญญัติไว้ชัดเจนแตกต่างจากมาตรา ๗๕ จัตวา โดยบัญญัติว่า “ทายาท” ของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ “ทายาท” ผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่งได้แก่ (๑) ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๗๕/๒๕๕๓ นายจ้างออกหนังสือเตือนลูกจ้างครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ กรณีขาดงาน ๑ วัน ครั้งต่อมาวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ และวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ กรณีมาสาย
-คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๘๗-๑๗๐๒/๒๕๕๓ อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นข้อกฎหมายไม่เป็นสาระแก่คดี...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๙/๒๕๕๓ อุทธรณ์ของโจทก์มีลักษณะสับสนไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานที่ไม่รับคำฟ้องของโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๖๒/๒๕๕๐ ข้อความในใบสมัครงานที่ระบุให้พนักงานขายพนักงานช่าง มีส่วนได้รับค่านายหน้าซึ่งเป็นลูกจ้าง จะต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้าได้นั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๗๗/๒๕๕๐ กรณีที่พนักงานอัยการฟ้องลูกจ้างในความผิดฐานยักยอกทรัพย์และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๘๔ – ๗๘๖/๒๕๕๐ เมื่อกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุไว้ ...
- คำพิพากษาฎีกาที่ 719/2550 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายจ้าง ลูกจ้าง(สมาชิก)ไม่มีอำนาจฟ้องนายจ้าง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๑๕/๒๕๕๐ การจ่ายโบนัสพนักงาน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๖๓/๒๕๔๘ การยุบตำแหน่งเดิมแล้วตั้งตำแหน่งใหม่ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
- ระเบียบขององค์กร ไม่ตัดสิทธิลูกจ้างที่ถูกลงโทษจะนำคดีขึ้นต่อศาลแรงงาน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๙๑/๒๕๕๒)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๒๘/๒๕๕๒ ไม่ออกหนังสือรับรองการผ่านงานให้ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้
- นายจ้างประสบปัญหาเพราะการบริหารจัดการไม่ดี ยังไม่เป็นเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๕๖/๒๕๔๘)
ความหมายข้อกฎหมาย"ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย"
-คำพิพากษาฎีกาที่ 197-199/2550
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๗๘/๒๕๕๐ ข้อตกลงที่รวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายไปกับค่าจ้างเป็นการต้องห้ามขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๐๗/๒๕๕๒ ลูกจ้างใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพ่วงกับอุปกรณ์ของนายจ้างในเวลาทำงาน เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เลิกจ้างเป็นธรรมเมื่อมีการตักเตือนแล้วหลายครั้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๔๔/๒๕๕๐ ค่าทำงานวันหยุดพักผ่อนประจำปี
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๗๑๙-๒๗๒๗/๒๕๕๓ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ข้อ ๑๐ ระบุว่ามีผลใช้บังคับ ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ถึงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ และข้อ ๑๑ ระบุว่าหากจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงใด ๆ ให้ทำได้ภายในวันที่ ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๕๔-๑๗๖๖/๒๕๕๓ “ค่าเที่ยว” ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานขับรถสินค้าโดยกำหนดเป็นอัตราแน่นอนตามระยะทาง และจ่ายให้ทั้งในเวลาทำงานปกติและนอกเวลาทำงานปกติในอัตราส่วน ๓๐ ต่อ ๗๐ ...
ย่อคำพิพากษาศาลแรงงาน ที่น่าสนใจ ปี 2554
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๘๕/๒๕๕๔ การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมที่นายจ้างสามารถเลิกจ้าง ลูกจ้างได้โดยไม่จำต้องตักเตือนเป็นหนังสือ และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น ต้องเป็นกรณีที่ร้ายแรงกล่าวคือผลสุดท้ายที่เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นเหตุให้นายจ้าง...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๐๕-๓๔๐๗/๒๕๕๔ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ ๑ เด็ดขาดเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ แล้วจำเลยที่ ๑ ย่อมหมดอำนาจที่จะดำเนินกิจการของตนอีกต่อไป แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ ๒ มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจัดการหรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๓๑/๒๕๕๔ การที่ลูกจ้างแบ่งการจัดซื้อพัสดุโดยแยกการสั่งซื้อแต่ละใบไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (โดยได้แบ่งใบขอซื้อเป็นหลายใบลงวันที่เดียวกัน สั่งซื้อจากผู้ขายรายเดียวกัน จำนวน ๒๒ รายการ...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๔๑/๒๕๕๔ จำเลยจ้างโจทก์ทำงานโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนว่าสัญญาจะสิ้นสุดเมื่อใด เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างซึ่งกำหนดจ่ายทุกวันสิ้นเดือน คือวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้าง...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๓๘/๒๕๕๔ เงินค่าตำแหน่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ ๑,๕๐๐ บาท โดยไม่ได้ความว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลืออื่นใดแก่ ลูกจ้างเช่นนี้ เงินค่าตำแหน่งจึงเป็น...
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๕๒-๗๘๐/๒๕๕๔ คดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายและพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงาน ให้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและพิพากษาใหม่ ศาลแรงงานดำเนินการตามคำสั่งของศาลฎีกา จำเลยอุทธรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีนี้เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่ง แล้วว่า ลักษณะงานของโจทก์ไม่ใช่งานขนส่ง...
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๔๙/๒๕๕๔ คดีนี้โจทก์ในฐานะนายจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ อันเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๔) และการพิจารณาคดีแรงงานนั้นจะต้องอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและ การยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความ การพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้โดยเฉพาะแล้ว ซึ่งหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ แล้วในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ และการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานอาจมีข้อบกพร่องซึ่งคู่ความอาจอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น
เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่าย ค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๕ ให้แก่นายชัยวัฒน์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะนายชัยวัฒน์ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อเรียกร้องเอาค่าทำงานใน วันหยุดเมื่อล่วงเลยกำหนดอายุความ ๒ ปีแล้ว ศาลแรงงานจึงต้องพิจารณาให้ได้ความจริงว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าทำงานในวันหยุดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวของนายชัยวัฒน์ขาดอายุความหรือไม่ การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวแต่เพียงว่าขณะที่ตัวแทนของโจทก์ไปชี้แจงกับจำเลยก็ไม่เคยชี้แจงว่าค่าทำงานในวันหยุดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวของนายชัยวัฒน์ขาดอายุความ แต่ในชั้นพิจารณาของศาลกลับนำข้อเท็จจริงที่ไม่เคยแจ้งต่อจำเลยมาเสนอต่อศาล เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จึงไม่อาจนำมาหักล้างคำสั่งของจำเลยได้ โดยศาลแรงงานมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์สืบเพิ่มเติมในประเด็นนี้ในชั้นพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วยจึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ อย่างไรก็ตาม แม้ศาลแรงงานจะมิได้วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดของนายชัยวัฒน์ระหว่างวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๕ ขาดอายุความหรือไม่ แต่คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยเสียก่อน ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดอันเป็นค่าจ้างนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๙) ให้มีกำหนดอายุความสองปี และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๗๐ (๓) บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานปรากฏว่า วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ นายชัยวัฒน์ได้ร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดที่นายชัยวัฒน์ได้ทำงานระหว่างวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๕ รวม ๖ วัน จึงเกินกว่ากำหนด ๒ ปี นับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๙) แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๕๐-๗๕๑/๒๕๕๔ เงินค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมันรถยนต์
จำนวน ๕,๐๐๐ บาท ค่าสึกหรอรถยนต์ ๒,๐๐๐ บาท และค่าโทรศัพท์ ๑,๐๐๐ บาท รวม ๘,๐๐๐ บาท จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานขายที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ เงินดังกล่าวมีการจ่ายประจำลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน ไม่คำนึงถึงว่าจะได้ใช้จ่ายเป็นค่าบำรุงรักษารถยนต์และค่าโทรศัพท์ไปหรือไม่เพียงใด ลูกจ้างไม่ต้องแสดงใบเสร็จเป็นหลักฐานในการรับเงิน การจ่ายเงินดังกล่าวจึงเป็นการจ่าย เพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับค่าจ้างจึงเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๕๒-๗๘๐/๒๕๕๔ คดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายและพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงาน ให้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและพิพากษาใหม่ ศาลแรงงานดำเนินการตามคำสั่งของศาลฎีกา จำเลยอุทธรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีนี้เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่งแล้วว่า ลักษณะงานของโจทก์ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๒๘ (๒) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหานี้ย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะรื้อฟื้นในประเด็นข้อกฎหมายนี้ที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้มาให้วินิจฉัยอีกไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔ ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
นายจ้าง (รัฐวิสาหกิจ) มีคำสั่งให้ลูกจ้าง ๒๙ คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาในวันปกติและวันหยุด สำหรับช่วงระยะเวลาที่กำหนดในวันและเวลาใดแน่นอน ส่วนลูกจ้างทั้ง ๒๙ คน จะเข้าเวรทำงานล่วงเวลาครบถ้วนหรือไม่ ก็เป็นไปตามเอกสารการลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานแน่ชัดอยู่แล้ว การเข้าเวรในลักษณะดังกล่าวมานี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง ๒๙ คน เต็มตามระยะเวลาที่เข้าเวรเพื่อทำงานล่วงเวลา จำเลยจะจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคำนวณเฉพาะเวลาที่ลูกจ้างปฏิบัติงานจริงเท่านั้น โดยไม่ยอมจ่ายค่าล่วงเวลาเต็มตามระยะเวลาที่ลูกจ้างทั้ง ๒๙ คน ต้องอยู่เวรรอปฏิบัติงาน ย่อมไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘ เมื่อพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๑๔ บัญญัติว่า “ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” สิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าดังกล่าวจะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓๙ แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย ศาลแรงงานมีคำสั่งงดการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าของจำเลยตามเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๓๘/๒๕๕๔ เงินค่าตำแหน่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ ๑,๕๐๐ บาท โดยไม่ได้ความว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลืออื่นใดแก่ลูกจ้างเช่นนี้ เงินค่าตำแหน่งจึงเป็นเงินที่มีจำนวนแน่นอนที่จำเลยตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นค่าจ้างตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงต้องนำค่าตำแหน่งไปรวมเข้ากับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเป็นฐานในการคำนวณจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๔๑/๒๕๕๔ จำเลยจ้างโจทก์ทำงานโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนว่าสัญญาจะสิ้นสุดเมื่อใด เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างซึ่งกำหนดจ่ายทุกวันสิ้นเดือน คือวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลทันทีในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ควรได้ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเท่ากับค่าจ้าง ๒ เดือน จำนวน ๔๗,๐๐๐ บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามาเพียง ๔๖,๙๙๙ บาท ซึ่งต่ำ กว่าสิทธิที่โจทก์ควรได้รับ เพราะการคำนวณผิดพลาด จึงเป็นเหตุสมควรที่ศาลแรงงานมีอำนาจพิพากษาเกินคำขอ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามสิทธิที่โจทก์ควรได้รับ จำนวน ๔๗,๐๐๐ บาท เพื่อความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ ซึ่งศาลแรงงานได้อ้างเหตุดังกล่าวไว้ในคำพิพากษาด้วยแล้ว คำพิพากษาศาลแรงงานจึงชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงาน ปี ๒๕๕๕ ศ.เกษมสันต์ วิลาวรรณ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๑/๒๕๕๕ ลูกจ้างมีหน้าที่ควบคุมการขนย้ายวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกไปจากโรงงาน แต่มิได้คัดเศษลวดออกก่อน ลูกจ้างยกถังขยะที่มีเศษลวดเทลงบนรถขยะโดยทราบว่าขดลวดดังกล่าวมีจำนวน ๑๕๐ กิโลกรัม ซึ่งเป็นขดลวดที่ใช้งานได้ และมิใช่ของเสียที่นำออกจากโรงงานโดยรถขยะ ขดลวดนั้นมีราคาประมาณกิโลกรัมละ ๓๙ บาท ดังนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าลูกจ้างจะได้นำขดลวดนั้นไปจำหน่ายหรือหากำไรอย่างไร แต่การที่ลูกจ้างประพฤติดังกล่าวส่อให้เห็นความไม่ซื่อตรง ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๒ -๑๘๔/๒๕๕๕ การที่ลูกจ้างซึ่งมิได้มีตำแหน่งที่สำคัญในสถานประกอบกิจการไม่มาทำงานในวันที่ ๑๘ ธันวาคม โดยได้ยื่นใบลากิจกรรมสหภาพแรงงานในวันที่ ๒๐ ธันวาคม แต่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติเนื่องจากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การยื่นใบลากิจกรรมสหภาพแรงงานที่ให้ยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑ วัน และถือว่าลูกจ้างขาดงานในวันที่ ๑๘ ธันวาคม เท่านั้น การกระทำดังกล่าวยังไม่ถือว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรง ที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันที
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๗/๒๕๕๕ การที่โจทก์เป็นผู้นำในการชุมนุมนัดหยุดงานโดยใช้บ้านของโจทก์เป็นศูนย์กลางการนัดหยุดงาน โจทก์ร่วมกับลูกจ้างอื่นใช้โฟมทำเป็นโลงศพพร้อมด้วยพวงหรีด นำไปตั้งที่หน้าที่ทำการของบริษัทจำเลย ร่วมทำพิธีไสยศาสตร์ เผาพริกเผาเกลือ สาปแช่งพนักงานที่ร่วมชุมนุมด้วยกันอยู่ก่อนแต่เปลี่ยนใจกลับเข้าทำงานให้จำเลย การกระทำดังกล่าวของโจทก์แม้จะไม่เหมาะสม หยาบคาย แต่การใช้วิธีการดังกล่าวไม่ได้มีความเป็นเหตุเป็นผลในทางวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้คนที่มีความรู้มีการศึกษาทั่วไปเชื่อว่าจะก่อให้เกิดผลที่เป็นจริงไปได้อย่างไร น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่ชอบ ไม่ให้ความเคารพนับถือ อยากเห็นภัยพิบัติเกิดแก่ผู้ที่ตนไม่ชอบ การทำพิธีสาปแช่ง เผาพริกเผาเกลือ ฝ่ายโจทก์ก็มุ่งหมายต่อพนักงานที่เปลี่ยนใจไม่ร่วมชุมนุมต่อ มิได้เจตนากระทำต่อจำเลย การกระทำดังกล่าวของโจทก์แม้จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งและอาจทำให้เกิดความระคายเคืองต่อความรู้สึกของจำเลยหรือผู้บังคับบัญชา แต่ก็ยังไม่ถึงขนาดทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อจำเลย จึงมิใช่กรณีร้ายแรง และยังมิใช่การกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๒๒/๒๕๕๕ เงินช่วยเหลือค่ายานพาหนะนั้น เดิมลูกจ้างได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ ๑๗,๘๓๐ บาท โดยนายจ้างเป็นผู้จัดหายานพาหนะและคนขับให้ ต่อมารัฐบาลมีนโยบายที่จะลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพาหนะลง นายจ้างเป็นรัฐวิสาหกิจจึงได้นำนโยบายดังกล่าวมาใช้บังคับ และปรับเปลี่ยนค่าพาหนะให้แก่ลูกจ้างเป็นเดือนละ ๗๐,๐๐๐ บาท โดยลูกจ้างจะต้องจัดหายานพาหนะและคนขับ ตลอดจนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเอง นายจ้างจ่ายเงินจำนวนนี้เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง เป็นเพียงค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานเท่านั้น แม้จะจ่ายเป็นประจำทุกเดือน โดยไม่ต้องนำหลักฐานมาแสดงเพื่อเบิกจ่ายก็มิใช่เงินเดือนค่าจ้างตามความหมายของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๒๓/๒๕๕๕ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องภายหลังศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทและก่อนเริ่มไต่สวนพยานหลักฐานนั้น ศาลแรงงานกลางได้สั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวให้จำเลยแล้ว และทนายจำเลยก็แถลงคัดค้านไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้โดยไม่จำต้องนำบทบัญญัติมาตรา ๑๘๐ และมาตรา ๑๘๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ประกอบกับข้อความที่โจทก์ขอแก้ไขก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาในการทำงานของโจทก์ก่อนที่จะมาทำงานกับจำเลย อันเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมที่โจทก์อ้างว่าการนับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องจนถึงวันที่จำเลยให้ออกจากงาน คำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องจึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๒๔/๒๕๕๕ จำเลยเลิกจ้างโจทก์สืบเนื่องมาจากจำเลยปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานทั้งหมดต้องลดอัตรากำลังลูกจ้างลง ทำให้ต้องยุบหน่วยงานและลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย มีการปรับลดหน่วยงานทั้งบริษัทจากระดับแผนกหรือฝ่ายลงเหลือระดับงาน รวมทั้งฝ่ายจัดซื้อที่โจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายก็ถูกปรับลดลงเป็นงานจัดซื้อ ไม่มีตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออีกต่อไป การดำเนินการทั้งหมดจำเลยไม่ได้เลือกปฏิบัติเลิกจ้างเฉพาะโจทก์รายเดียว ย่อมถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๒๕/๒๕๕๕ ลูกจ้างคือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างมอบหมายในเวลาทำงานตามที่นายจ้างกำหนด และต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ มาตรา ๑๑๙ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ดังนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยจ่ายเงินประจำตำแหน่งให้โจทก์เมื่อโจทก์ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยให้เป็นผู้จัดการเขต และจำเลยหักเงินดังกล่าวนำส่งเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมด้วย แต่เมื่อโจทก์สามารถทำงานได้โดยอิสระเพียงเพื่อให้ได้รับผลสำเร็จของงานคือมีผู้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโจทก์ก็จะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่านายหน้าคิดเป็นร้อยละของเบี้ยประกัน หากโจทก์ไม่ทำงาน ไม่สามารถหาผู้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยได้ก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยไม่มีการกำหนดวันเวลาทำงานที่แน่นอน ไม่มีการกำหนดวันหยุดวันลา แสดงว่าโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงไม่ทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจ้างแรงงานหรือเป็นลูกจ้างและนายจ้างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๒๖/๒๕๕๕ ก่อนที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง โจทก์ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอ้างว่าถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย ค่าบริหารทีมขาย และค่าคอมมิสชันการขาย พนักงานตรวจแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ค่าบริหารทีมขายและค่าคอมมิสชันการขายเป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง นอกเหนือค่าจ้างตามปกติ และลูกจ้างจะได้รับต่อเมื่อขายได้ เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แล้วมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๙ ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานเรียกค่าบริหารทีมขายและค่าคอมมิสชันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ แม้ว่าจะถอนฟ้องไปเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๙ แต่โจทก์ก็ใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายกลับมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ เรียกค่าบริหารทีมขายและค่าคอมมิสชั่นเช่นเดิมเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๙ และดำเนินคดีต่อมาโดยมิได้ถอนฟ้อง แสดงว่าโจทก์ยังคงมีเจตนาที่จะเรียกค่าบริหารทีมขายและค่าคอมมิสชั่นแยกต่างหากจากคดีที่ที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าจ้าง เพราะคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยไว้ชัดแจ้งว่าไม่รับพิจารณาเรื่องค่าบริหารทีมขายและค่าคอมมิสชัน และเมื่อจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยต่อศาลแรงงาน ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าว คดีนั้นก็มีประเด็นข้อพิพาทเฉพาะคำสั่งเรื่องค่าจ้าง ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าชอบหรือไม่เท่านั้น เมื่อโจทก์ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมกับพนักงานตรวจแรงงาน ศาลแรงงานอนุญาต คดีก็ยังมีประเด็นข้อพิพาทเช่นเดิม การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงย่อมอยู่ในกรอบของประเด็นข้อพิพาทเดิมเท่านั้น เว้นแต่จะกล่าวถึงเรื่องอื่นไว้โดยชัดแจ้ง ทั้งเมื่อพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในคดีที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวมเป็นเงิน ๑๒๕,๐๐๐ บาท และมีการตกลงยอมความกันโดยโจทก์ยอมรับเงินเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับว่าลดลงจากจำนวนตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานถึงหนึ่งในห้า จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะยอมสละสิทธิเรียกร้องในค่าบริหารทีมขายและค่าคอมมิสชันที่ฟ้องเรียกร้องรวมเป็นเงินกว่าห้าแสนบาทอีกด้วย นอกจากนั้นในการพิจารณาคดีนี้ต่อมาภายหลังที่โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าวแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยมีการเจรจาต่อรองเรื่องค่าบริหารทีมขายและค่าคอมมิสชันกันหลายนัด จนสามารถตกลงเรื่องค่าคอมมิสชันส่วนตัวได้ แสดงว่าทั้งโจทก์และจำเลยมิได้มีการตกลงในเรื่องดังกล่าวแล้วในคดีก่อนดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวมาแสดงให้เห็นว่า ข้อตกลงที่ว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอื่น ๆ อีกนั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องในค่าบริหารทีมขายและค่าคอมมิสชันด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๒๗/๒๕๕๕ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา๑๐ แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเกิดจากการกำหนดขึ้นของนายจ้าง มิใช่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในกรณีเช่นนี้ ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับให้นายจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องก่อนตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ หรือมิฉะนั้นนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน เมื่อลูกจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารซึ่งมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าได้อ่าน เข้าใจ ยินยอมและยินดีปฏิบัติตามข้อบังคับที่แก้ไขเรื่องเกษียณอายุตามหนังสือเวียน .. ทุกประการ” ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกจ้างก็ได้รับค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุไปแล้ว ถือได้ว่าลูกจ้างตกลงยินยอมให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้มีผลแตกต่างไปจากเดิมแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๖๑/๒๕๕๕ ในคดีแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติเรื่องการจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาจะต้องเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรื่องการชี้สองสถานและการคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทมาอนุโลมใช้บังคับแก่การจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานได้ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาและการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานเข้าสืบก่อนหรือหลังเป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลแรงงาน หากศาลแรงงานวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายครบถ้วนแล้ว
แม้ศาลแรงงานจะไม่ได้กำหนดข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ก็ตาม แต่จำเลยก็ได้นำสืบไว้ และศาลแรงงานก็ได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาในเรื่องเกี่ยวกับที่จำเลยนำสืบไว้ แสดงว่าศาลแรงงานได้พิจารณาคดีตามที่จำเลยต่อสู้ไว้ครบถ้วนแล้ว คำวินิจฉัยของศาลแรงงานจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒
อุทธรณ์ข้อกฎหมายที่อ้างในทำนองว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดกับจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องระบุในคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น เมื่อคำพิพากษาได้ระบุแล้วว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ซึ่งถือเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ แล้ว อุทธรณ์ข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันสมควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๖๒/๒๕๕๕ โจทก์เป็นพนักงานขับรถซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่สำคัญเพราะเป็นหน้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นและผู้โดยสาร จึงต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง ทั้งต้องให้ความร่วมมือในการทำงานเพื่อให้จำเลยสามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดพนักงานขับรถได้ ก่อนโจทก์ละทิ้งงาน จำเลยตักเตือนโจทก์เรื่องการทำงาน โจทก์ต้องปรับปรุงพฤติกรรมในการทำงาน แต่โจทก์กลับเพิกเฉย ทั้งยังไม่ให้ความร่วมมือและละทิ้งงาน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการของจำเลยและอาจก่อให้เกิดปัญหาในความไม่ปลอดภัยในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นได้ จำเลยจึงมีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๖๓ – ๒๙๖๔/๒๕๕๕ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๑ กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน ๒ เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่ง ต่อเมื่อลูกหนี้ถูกศาลล้มละลายมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อันมีความหมายชัดแจ้งว่าบุคคลที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นต้องมีลักษณะเป็นลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงจะมีหน้าที่ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ เมื่อปรากกว่าหนี้เงินต่าง ๆ ที่จำเลยที่ ๑ ต้องชำระแก่โจทก์ได้โอนไปยังจำเลยที่ ๓ ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๕ ที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงไม่อยู่ในลักษณะลูกหนี้ของโจทก์ โจทก์จึงย่อมไม่มีหน้าที่ตามมาตรา ๙๑ ดังกล่าวข้างต้น
สิทธิของลูกจ้างในค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๕ ถือเป็นสินจ้าง จึงมีอายุความ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๙) เมื่อโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องในค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ตั้งแต่วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๑ อันเป็นวันเลิกจ้าง แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเกินกำหนด ๒ ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้อง คดีเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๖๕/๒๕๕๕ แม้ตามหนังสือรับรองจะระบุชื่อและจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยซึ่งต้องมีกรรมการรวม ๒ คน และต้องประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างที่จำเลยจ้างบุคคลอื่นเข้าทำงานเช่นเดียวกับกรณีของโจทก์โดยผู้ลงลายมือชื่อในนามของจำเลย คือกรรมการผู้จัดการหรือผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการเพียงคนเดียว ซึ่งสัญญาจ้างดังกล่าวมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยด้วยแล้ว ทำให้เห็นว่าการทำสัญญาจ้างบุคคลเข้าทำงาน จำเลยมิได้ยึดถืออำนาจกรรมการและประทับตราสำคัญลงในสัญญาจ้างอันจะถือเป็นการกระทำของผู้แทนของจำเลย หากแต่เป็นการเชิดกรรมการหรือผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างว่าเป็นตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงปฏิเสธความรับผิดในการกระทำของตัวแทนโดยอ้างว่าสัญญาจ้างบุคคลเข้าทำงานต้องมีกรรมการลงลายมือชื่อร่วมกัน ๒ คน และต้องประทับตราสำคัญของจำเลยด้วยไม่ได้
คดีนี้ แม้ศาลแรงงานจะไม่กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มโดยมิได้วินิจฉัยให้ชัดเจนว่าจำเลยไม่จงใจที่จะไม่จ่าย แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยยังโต้เถียงอยู่ว่าสัญญาจ้างไม่ผูกพันจำเลย และไม่มีค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ การที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๖๖/๒๕๕๕ หนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) วรรคหนึ่ง จะต้องมีข้อความระบุถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของลูกจ้างพร้อมทั้งห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำผิดซ้ำอีก แต่เอกสารที่จำเลยอ้างว่าเป็นหนังสือเตือนนั้นมิได้มีข้อความดังกล่าวให้ชัดเจน เพียงแต่ระบุว่าโจทก์กระทำผิดอย่างไรอันเป็นเหตุให้กรรมการบริหารจำเลยต้องสั่งลดเงินเดือนลง ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๔๙ เป็นต้นไปเท่านั้น เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หนังสือเตือนตามกฎหมาย แต่เป็นเพียงหนังสือแจ้งเหตุผลที่จำเลยลดเงินเดือนโจทก์ลงเพียงอย่างเดียว และตามมาตรา ๑๑๙ (๔) วรรคสอง บัญญัติว่า หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด เมื่อจำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์กรณีละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ จึงมีผลบังคับได้ไม่เกินวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐ หนังสือเลิกจ้างในส่วนที่อ้างว่าโจทก์ขาดงานในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนด้วยจึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากในวันดังกล่าวหนังสือเตือนไม่มีผลบังคับเพราะล่วงพ้นเวลาใช้บังคับตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๙๐ – ๓๐๐๐/๒๕๕๕ การเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างอันเป็นการคุ้มครองกรรมการลูกจ้างนั้นต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒ กล่าวคือ นายจ้างจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนจึงจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ซึ่งศาลแรงงานจำต้องพิจารณาวินิจฉัยถึงมูลเหตุและความจำเป็นในการเลิกจ้างว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ตามพฤติการณ์แห่งคดีในแต่ละเรื่อง โดยพิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการกระทำของนายจ้างและกรรมการลูกจ้างประกอบเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่าการเลิกจ้างจะต้องคำนึงถึงจำนวนลูกจ้างและคณะกรรมการลูกจ้างที่คงมีอยู่ในสถานประกอบการเป็นตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงปฏิเสธ และจะต้องเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างภายหลังลูกจ้างธรรมดา ดังนั้น ที่ศาลแรงงานพิจารณาคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างเนื่องจากนายจ้างประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องเป็นเหตุให้ต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ลดจำนวนลูกจ้าง โดยพิจารณาผลประกอบการในแต่ละแผนก และประเมินลูกจ้างโดยวิธีการให้คะแนน และอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๕๒ -๓๐๕๗/๒๕๕๕ เมื่อโจทก์ทั้งหกสมัครเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรประจำปี และจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกลาออกได้ตามโครงการดังกล่าว โดยให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน คือ ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เงินบำเหน็จ ค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ เงินโบนัสประจำปี การเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล และนายจ้างรับภาระภาษีเงินได้ ซึ่งค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนั้น จำเลยประสงค์จะให้สอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ แต่ก่อนที่โจทก์ทั้งหกจะได้รับอนุมัติให้ลาออกตามโครงการร่วมใจจากองค์กรประจำปี คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้ออกประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙ โดยข้อ ๕๙(๕) ระบุให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน ดังนั้น ค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งให้จ่ายค่าชดเชยเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จึงขัดต่อประกาศฉบับดังกล่าว ใช้บังคับไม่ได้ จำเลยโดยต้องคำนวณและจ่ายค่าชดเชยตามอัตราที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ข้อ ๕๙(๕) และเนื่องจากจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ ประกาศฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับการจ่ายค่าชดเชยไว้เป็นกรณีเฉพาะ จึงต้องคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๖๑/๒๕๕๕ เมื่อได้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ... ซึ่งจดทะเบียนแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายจ้างตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๗ ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวมีหน้าที่จ่ายเงินให้ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพตามมาตรา ๒๓ นายจ้างไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจฟ้องนายจ้างให้จ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ... ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ให้แก่ลูกจ้างได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒(๕), ๒๔๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๖๒/๒๕๕๕ ตามข้อตกลงการว่าจ้างโจทก์เป็นพนักงาน ประกอบด้วยอำนาจในการบริหารงานทั่วไปของนายจ้าง จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีอำนาจโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างได้ตามความเหมาะสม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือลดค่าจ้างโจทก์ อีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการย้ายโจทก์เพราะจำเลยไม่พอใจที่โจทก์มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของจำเลย ทั้งโจทก์เป็นประธานสหภาพแรงงานและกรรมการลูกจ้าง การย้ายโจทก์เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์เช่นนี้ การย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ช่วยหัวหน้างานฝ่ายขนส่งจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลแรงงานพิพากษาเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่สั่งให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้างานฝ่ายขนส่งและให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าจึงชอบแล้ว
คดีนี้โจทก์ฟ้องและมีคำขอเพียงให้เพิกถอนคำสั่งจำเลย แม้การที่นายจ้างจะมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำหรือไม่เป็นสิทธิของนายจ้างเมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างแล้วก็ตาม แต่การที่นายจ้างจะไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำต้องไม่เป็นที่เสียหายแก่ลูกจ้างด้วย เช่นนี้ที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาต่อไปให้โจทก์ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์หรือเงินเพิ่มหรือสวัสดิการเหมือนเดิมนี้แสดงให้เห็นว่าก็เพื่อระงับข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยอาจจะโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ต่อไปได้ ทั้งเพื่อให้จำเลยสามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อย่างถูกต้องในการให้โจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถดังเดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๖๓/๒๕๕๕ เมื่อตามคำสั่งของจำเลย เรื่อง วินัยและโทษทางวินัย ข้อ ๒.๒ ระบุบทลงโทษทางวินัยไว้ว่า ความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ขาดงานในครั้งที่ ๓ ตัดคะแนน ๔๐ คะแนนหรือออก และข้อ ๒.๔ ระบุโทษปลดออกไว้ว่า กระทำต่อเมื่อพนักงานได้กระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นไล่ออกหรือถูกตัดคะแนนทางวินัยสะสมรวมกันถึง ๘๐ คะแนนหรือมากกว่านั้นขึ้นไปในปีนั้น การที่จำเลยลงโทษตัดคะแนนในครั้งที่ ๓ จำนวน ๔๐ คะแนน รวมกับการลงโทษตัดคะแนนในครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ครั้งละ ๒๐ คะแนน รวมเป็นคะแนนที่ถูกตัด ๘๐ คะแนน แล้วมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามใบแจ้งการเลิกจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๖๔/๒๕๕๕ เมื่อศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้จัดสวัสดิการให้พนักงานรวมทั้งโจทก์ซึ่งมีอายุงาน ๑๐ ปีขึ้นไปให้มีสิทธิซื้อหุ้นและถือหุ้นของบริษัท... จำกัด และจำเลยทั้งสองไม่ได้หักค่าจ้างโจทก์เพื่อชำระค่าหุ้นตามที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด แล้วพิพากษายกฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ รวมทั้งในฐานะส่วนตัวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑โดยไม่จำกัดจำนวน แม้จำเลยที่ ๒ ออกไปจากห้างจำเลยที่ ๑ ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลแรงงาน จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๖๗/๒๕๕๕ การที่จะถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ (ซึ่งต่างเป็นลูกจ้างของโจทก์กระทำการ)ทุจริต(ต่อหน้าที่)นั้น จำเลยที่ ๒ จะต้องทราบว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการทุจริต และจำเลยที่ ๒ มีเจตนาที่จะร่วมทุจริตกับจำเลยที่ ๑ ลำพังการที่จำเลยที่ ๒ เปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ก่อนเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์ ๒ ปีเศษแล้วมอบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยที่ ๑ แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ ๑ โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ ๒ แล้วถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปโดยทุจริต เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ทราบเรื่องการทุจริตของจำเลยที่ ๑ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ทุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๖๙/๒๕๕๕ โจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายของจำเลย โดยปรากฏในรายงานการประชุมของคณะกรรมการของจำเลย ในปีแรกโจทก์เข้าประชุมในฐานะเป็นทนายที่ปรึกษา ปีต่อมาเรียกตำแหน่งของโจทก์ว่าที่ปรึกษากฎหมาย โจทก์มาทำงานเฉพาะวันเสาร์ ไม่มีกำหนดเวลาการทำงานที่แน่นอน ไม่มีการบันทึกเวลาเข้าออกจากที่ทำงาน ไม่มีการกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของพนักงานและลูกจ้าง เมื่อพิจารณาลักษณะการทำงานของโจทก์ ความมีอิสระในการทำงาน ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ใดอย่างแน่ชัด ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่ใช้แก่พนักงานและลูกจ้างทั่วไป อาชีพทนายความที่ปรึกษาโดยพื้นฐานทั่วไปเป็นอาชีพอิสระที่จัดอยู่ในประเภทสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่จำเลยหักเงินเดือนโจทก์ส่งเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น อาจเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือเจตนาที่จะแสวงประโยชน์โดยแฝงเร้นจากการประกันสังคม ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานเห็นว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานนั้นชอบแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๗๑ – ๕๔๗๓/๒๕๕๕ ในการบอกเลิกสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลา นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าว และให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ต่อเมื่อลูกจ้างถูกนายจ้างให้ออกจากงานแล้ว การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยอ้างว่านายจ้างจ่ายให้ไม่ครบ ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์ยอมรับการเลิกจ้างของนายจ้าง เมื่อโจทก์ยอมรับการเลิกจ้าง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะทำงานกับนายจ้างอีกต่อไป การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กำหนดค่าเสียหายกรณีการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ (โดยมิได้สั่งให้นายจ้างรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำร้องขอของลูกจ้าง) จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๑(๔) แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๗๔/๒๕๕๕ ในการวินิจฉัยคดีของศาลแรงงาน ศาลแรงงานมิได้นำสำนวนการสอบสวนโจทก์หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนมาฟังเป็นข้อยุติถึงพฤติกรรมของโจทก์ แต่นำพยานหลักฐานที่ทั้งโจทก์และจำเลยนำสืบทั้งปวงมาชั่งน้ำหนักรับฟังข้อเท็จจริง ดังนั้น แม้การสอบสวนของคณะกรรมการอาจจะไม่ชอบดั่งที่โจทก์ยกขึ้นมาอ้างก็หาทำให้ผลเปลี่ยนแปลงไปไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๑๓๕ – ๖๑๓๗/๒๕๕๕ การที่จะพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง ดังนั้น การแจ้งการลดค่าจ้างโจทก์ทั้งสามและการลดค่าจ้างโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ มิใช่การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้อันเป็นการเลิกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว และกรณีการแจ้งลดค่าจ้างหรือการลดค่าจ้าง และกรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง(ที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่ยินยอมซึ่งจำเลยจะกระทำไม่ได้)ก็ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดว่าเป็นการเลิกจ้าง เมื่อจำเลยยังประสงค์จะให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไป แต่ฝ่ายโจทก์ทั้งสามไม่มาทำงาน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม ส่วนที่จำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยจะลดค่าจ้างโจทก์ที่ ๑ และลดค่าจ้างโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ลูกจ้างได้รับความเสียหายอย่างไรต่อการกระทำดังกล่าวก็มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างส่วนที่ลดลงและจ่ายไม่ครบได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๑๓๘๒๕๕๕ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ แต่โจทก์ยื่นหนังสือแสดงเจตนาขอใช้สิทธิรับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเมื่อคดีถึงที่สุด โดยจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์จะขอรับค่าชดแชยและเงินบำเหน็จเมื่อคดีถึงที่สุดทั้งที่จำเลยแจ้งให้โจทก์มารับเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดชำระหนี้ค่าชดเชยและเงินบำเหน็จแก่โจทก์ไม่ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๑๔๒ – ๖๑๔๔/๒๕๕๕ ตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ ๑ ระบุว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความประสงค์จะเลิกสัญญานี้จะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕/๓๐ วัน แสดงว่าแม้สัญญาจะกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ แต่ก็ยังให้สิทธิจำเลยเลิกสัญญาโดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ที่ ๑ ทราบล่วงหน้าได้ด้วย สัญญาจ้างที่ให้สิทธิจำเลยผู้เป็นนายจ้างบอกเลิกสัญญาได้ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่นนี้ ระยะเวลาการจ้างจึงไม่แน่นอน เมื่อไม่เป็นกรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสามแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ ๑ จำเลยก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ ๑ ส่วนกรณีของโจทก์ที่ ๒ จำเลยทำสัญญากับโจทก์ที่ ๒ รวม ๒ ฉบับ ซึ่งระยะเวลาการจ้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับต่อเนื่องกัน รวมแล้วเกินกว่า ๒ ปี จึงมิใช่งานที่จะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน ๒ ปี เมื่อมิใช่งานที่จะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน ๒ ปีตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสี่ จึงมิใช่กรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสาม จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ ๒ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ ๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๒๔๔/๒๕๕๕ ลูกจ้างทำหน้าที่ขับรถบรรทุกหัวลากตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้า เพื่อไปส่งสินค้าของห้างเทสโก้โลตัสไปยังสาขาทั่วประเทศตามที่นายจ้างมอบหมาย การที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่งานในหน้าที่ ๒ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่ได้ยื่นใบลาให้ถูกต้องตามระเบียบ และไม่แจ้งให้นายจ้างทราบจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง และช่วงที่ลูกจ้างละทิ้งงานในหน้าที่ไปนั้นเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกค้าของนายจ้างขายสินค้าได้ดี ลูกจ้างย่อมทราบดีว่าการละทิ้งงานในหน้าที่ของลูกจ้างช่วงดังกล่าวนั้นอาจทำให้นายจ้างส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าไม่ทันตามสัญญาและก่อความเสียหายให้แก่นายจ้าง การกระทำของลูกจ้างจึงเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างย่อมมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ การละทิ้งหน้าที่เพียง ๒ วันทำงานติดต่อกัน มิใช่กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ วรรคหนึ่ง (๕) และไม่เข้าเงื่อนไขที่นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างและไม่ใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง นายจ้างจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อน นายจ้างมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือในเรื่องดังกล่าวมาก่อนจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๘๓๑/๒๕๕๕ สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอให้โจทก์(นายจ้าง)ปรับค่าจ้าง ให้จ่ายค่าพาหนะ ให้จัดเอี๊ยมกันเปื้อนสำหรับการทำงานให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ จึงเป็นการยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ และได้มีการเจรจากันแล้วตามมาตรา ๑๖ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ถือได้ว่ามีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นตามมาตรา ๒๑ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ทำการไกล่เกลี่ยแล้วตามมาตรา ๒๒ แต่ไม่อาจตกลงกันได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงมีอำนาจตามมาตรา ๒๔ สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ทำการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานนี้ได้ โจทก์จะฟ้องและกล่าวอ้างว่าเป็นการก้าวก่ายอำนาจบริหารและจัดการของโจทก์หาได้ไม่
ในการวินิจฉัยและทำคำพิพากษานั้น ศาลแรงงานได้วินิจฉัยพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสิบสามได้อ้างส่งแล้ว จึงได้วินิจฉัยว่าไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบสามได้กระทำการอย่างใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสิบสามได้ปฏิบัติตามมาตรา ๒๔ ครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสิบสามจะนำวิธีการใดบ้างมาเป็นเหตุสนับสนุนวินิจฉัยสั่งการของจำเลยสิบสามย่อมเป็นดุลพินิจของจำเลยทั้งสิบสาม ซึ่งเมื่อพิจารณาตามคำสั่งที่ ๓/๒๕๔๘ ของจำเลยทั้งสิบสามแล้วเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๘๕/๒๕๕๕ ศาลแรงงานได้วินิจฉัยถึงกระบวนการสอบสวนทางวินัยตั้งแต่การแต่งตั้งคณะทำงานรวบรวมเอกสาร การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและการดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ในขั้นตอนต่างๆ ว่าเป็นไปโดยชอบ ในส่วนที่ไม่ได้ดำเนินการไปตามระเบียบก็เป็นเพียงส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะเป็นเหตุให้การสอบสวนต้องเสียไป อันเป็นการรับรองความชอบด้วยกระบวนการสอบสวน แต่ในส่วนของเนื้อหาการกระทำของโจทก์ตามที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยนั้น ศาลแรงงานได้วินิจฉัยต่อมาว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาแล้วเช่นนี้ แม้กระบวนการสอบสวนจะชอบแต่คำสั่งลงโทษนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้อง ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจที่จะเพิกถอน แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ คืนสิทธิที่โจทก์ต้องเสียไปตามคำสั่งลงโทษที่ไม่ถูกต้องให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาที่ ๙๘/๒๕๔๕-๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ และให้จำเลยที่ ๑ พิจารณาการขึ้นเงินเดือนให้โจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินเดือนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามสิทธิที่โจทก์ควรจะได้รับนั้น จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๙๗๑/๒๕๕๕ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๙ ได้บัญญัติเรื่องการกำหนดประเด็นและการกำหนดวันสืบพยานไว้โดยเฉพาะแล้วไม่จำต้องนำเรื่องการชี้สองสถานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๓ มาใช้บังคับ ถือได้ว่าคดีแรงงานไม่มีการชี้สองสถาน เมื่อไม่มีการชี้สองสถานโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันได้ เมื่อวันนัดสืบพยานจำเลย วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๘ ศาลแรงงานได้เลื่อนคดีไปเป็นนัดสืบพยานจำเลย วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๘ เวลา ๙ นาฬิกา เช่นนี้จะถือเอาวันนัดสืบพยานจำเลยเดิมคือวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๘ เป็นวันสืบพยานไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไข คำฟ้องวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๘ จึงยื่นก่อนวันสืบพยานในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแล้ว ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องที่ขอแก้ไขพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงมีสิทธิแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๙ และมาตรา ๑๘๐ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
ตามหนังสือสัญญาข้อตกลงและให้คำยินยอมของพนักงานที่มีต่อจำเลย และตามหนังสือให้คำยินยอมของพนักงานต่อจำเลย(ที่ห้ามโจทก์ประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับจำเลยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๑ เดือนนับจากวันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลย) แม้เป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของโจทก์ในการประกอบอาชีพแต่คงห้ามโจทก์ไม่ให้ไปทำงานในบริษัทคู่แข่ง หรือไม่ไปทำงานบริษัทอื่นใดที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับจำเลยและบริษัทในเครือในลักษณะที่จะสามารถแข่งขันกับจำเลยได้ภายในระยะเวลาตามกำหนดเท่านั้น มิได้เป็นการตัดการประกอบอชีพของโจทก์ทั้งหมด อีกทั้งตามข้อ ๔ ในหนังสือสัญญาข้อตกลงและให้คำยินยอมของพนักงานที่มีต่อจำเลย จำเลยยินดีมอบหุ้นในบริษัทจำเลยให้แก่โจทก์หลังจากที่จำเลยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้วโดยจะมอบแบบให้เปล่าเป็นจำนวนรวม ๑,๐๐๐ หุ้นเช่นนี้จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนต่อกันในเชิงการประกอบธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจขายแฟรนไซส์ร้านสะดวกซื้อมีคู่แข่งขันทางการค้ากับจำเลยโดยมีข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนในการวางระบบและอุปกรณ์เป็นความลับทางการค้าของจำเลย โจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการร้านสะดวกซื้อมีหน้าที่จัดวางระบบ จัดเตรียมอุปกรณ์และร้านให้แก่ลูกค้า อันเป็นการดูแลเกี่ยวกับงานโครงสร้างร้านค้าของลูกค้าจำเลยทั้งหมด โจทก์จึงมีโอกาสทราบความลับทางการค้าของจำเลย และในการติดต่อลูกค้าให้เปิดร้านแฟรนไซส์ได้จะต้องใช้เวลาดำเนินการระยะหนึ่ง ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยแล้ว การจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของโจทก์อันเป็นการแข่งขันกับจำเลยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๑ เดือนนับจากวันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลย จึงไม่ทำให้โจทก์ผู้ถูกจำกัดสิทธิต้องรับภาระมากว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ การที่ศาลแรงงานลดระยะเวลาจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของโจทก์ลงเหลือ ๖ เดือน นับแต่วันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลย ย่อมไม่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีต่อจำเลย ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำกัดสิทธิในการที่โจทก์เข้าทำงานกับนายจ้างอื่นเป็นเวลา ๑๑ เดือน นับถัดจากวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันพ้นจากการเป็นลูกจ้างจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๙๗๒/๒๕๕๕ คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลแรงงานเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่คดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ ๑ ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และตามหนังสือรับรองและสัญญาค้ำประกันการทำงาน ระบุว่า “หากจำเลยที่ ๑ ได้เข้าทำงานในธนาคารโจทก์แล้ว ภายหลังหลบหนีหายไปหรือฉ้อโกง ยักยอก หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำความเสียหายให้แก่โจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ตลอดจนบรรดาหนี้สินที่จำเลยที่ ๑ ได้มีอยู่กับโจทก์ จำเลยที่ ๒ ยินดีรับเป็นผู้ใช้แทนให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิงตามจำนวนที่โจทก์เสียหาย” ข้อผูกพันของจำเลยที่ ๒ ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ ๒ ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ โดยให้เริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา ๑๙๓/๑๒
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหายที่เกิดจากจำเลยที่ ๑ ทำละเมิด และผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๕ การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕ ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๕ เป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปี คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ จึงขาดอายุความส่วนจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว เมื่อคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ขาดอายุความ จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙๔ คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ จึงขาดอายุความด้วยเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๗๑๐/๒๕๕๕ ตามระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ รพช. จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นระเบียบที่จำเลยในฐานะ นายจ้างประกาศใช้บังคับเอง มิได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งใช้บังคับตั้งตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ จึงถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย ดังนั้นหากจำเลยประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกระเบียบดังกล่าวในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จำเลยจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือมิฉะนั้นจำเลยจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ จนมีการเจรจาตกลงกัน หรือหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ต่อไปเมื่อปรากฏจำเลยได้มีระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ รพช. จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้ยกเลิกความในข้อ ๗ ของระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ รพช. จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ แล้วใช้ข้อความใหม่แทนเป็นเหตุให้ขั้นเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ตำแหน่งผู้จัดการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยมีอัตราค่าจ้าง/เงินเดือน รวม ๔๐ ขั้น ขั้นต่ำสุด ๘,๓๖๐ บาท และขั้นสูงสุด ๕๔,๔๕๔ บาท เป็นอัตราค่าจ้าง/เงินเดือนรวม ๓๘ ขั้น ขั้นต่ำสุด ๘,๖๒๐ บาท และขั้นสูงสุด ๕๑,๒๗๐ บาท จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำให้ขั้นเงินเดือนลดลงจากเดิมที่เคยมี ๔๐ ขั้น เหลือเพียง ๓๘ ขั้น แม้ว่าในแต่ละขั้นเงินเดือนตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ถึงขั้นที่ ๓๘ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วขั้นเงินเดือนที่กำหนดขึ้นใหม่จะมีอัตราค่าจ้าง/เงินเดือนต่อขั้นที่สูงขึ้นในส่วนนี้เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างจึงชอบแล้ว แต่เมื่อลดขั้นเงินเดือนเหลือเพียง ๓๘ ขั้น เป็นเหตุให้ขั้นเงินเดือนที่ ๓๘.๕ ถึงขั้นเงินเดือนที่ ๔๐ ซึ่งมีอัตราค่าจ้าง/เงินเดือนที่สูงกว่าขั้นเงินเดือนสุดท้ายขั้นที่ ๓๘ ตามระเบียบที่แก้ไขใหม่ไม่มีอยู่อีกต่อไป จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะในส่วนดังกล่าวที่ไม่เป็นคุณต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมและจำเลยไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ก่อนเช่นนี้ ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ รพช. จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ และบัญชีอัตราค่าจ้าง/เงินเดือนของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ รพช. จำกัด พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่กำหนดขั้นเงินเดือนเพียง ๓๘ ขั้น จึงไม่ถูกต้อง จำเลยจึงต้องกำหนดขั้นเงินเดือนและอัตราค่าจ้าง/เงินเดือน สำหรับตำแหน่งผู้จัดการนับแต่ขั้นที่ ๓๘.๕ ขึ้นไปเพิ่มเติมให้ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ รพช. จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่และสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ต่อไป การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมีผลกระทบต่อโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการและต้องรับเงินเดือนตามอัตราค่าจ้าง/เงินเดือนที่จำเลยกำหนดขึ้นแม้จะเป็นขั้นเงินเดือนที่โจทก์ยังไม่ได้รับจริง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๗๑๓/๒๕๕๕ เมื่อปรากฏว่านายศักดาลูกค้า ผู้จัดจำหน่าย สินค้าเคยสั่งจ่ายเช็คและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คมาแล้ว นายสมชาย โพธิ์มั่น ผู้บังคับ บัญชาของโจทก์จึงทำสัญญากับนายศักดา ตามสัญญา ระบุว่า ผู้รับการสนับสนุนตกลงชำระราคาค่าผลิตภัณฑ์ให้แก่บริษัทภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับผลิตภัณฑ์จากบริษัท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การชำระค่าผลิตภัณฑ์ต้องชำระเป็นเงินสดเท่านั้น หากผู้รับการสนับสนุนมิได้ชำระค่าผลิตภัณฑ์ในเวลาที่กำหนดหรือมีหนี้ค้างชำระเกินกว่าวงเงินที่จำเลยกำหนด ผู้รับการสนับสนุนจะต้องมารับผลิตภัณฑ์ยังที่ทำการของจำเลยเองและต้องชำระค่าผลิตภัณฑ์เป็นเงินสด โดยโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาดังกล่าวด้วย โจทก์ย่อมทราบว่าลูกค้ารายนายศักดาไม่สามารถชำระค่าสินค้าด้วยเช็ค แต่ต้องชำระเป็นเงินสดเท่านั้น โจทก์ส่งผลิตภัณฑ์ให้นายศักดาหลายครั้ง แต่เมื่อครบกำหนด นายศักดาไม่ชำระค่าผลิตภัณฑ์เป็นเงินสด โจทก์ก็ควรจะระงับการส่งผลิตภัณฑ์อื่นให้แก่นายศักดาอีกจนกว่าได้รับชำระค่าผลิตภัณฑ์ครบถ้วนเสียก่อน แต่โจทก์ก็ยังคงส่งผลิตภัณฑ์ให้นายศักดาอีกหลายครั้ง กระทั่งมีการตรวจสอบยอดหนี้ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ โจทก์ยังคงส่งผลิตภัณฑ์ให้นายศักดาอีกทั้งยังไม่ได้รับชำระค่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจากนายศักดา ทำให้ยอดหนี้ค้างชำระค่าผลิตภัณฑ์มีจำนวนมากขึ้น นายศักดาจึงขอชำระด้วยเช็คจำนวน ๔ ฉบับ โจทก์รับชำระค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเช็คซึ่งเรียกเก็บเงินตามเช็คได้เพียงบางฉบับ หลังจากนั้นขณะที่การเรียกเก็บเงินตามเช็คยังได้รับเงินไม่ครบถ้วน โจทก์ยังคงส่งสินค้าให้นายศักดาอีกหลายครั้ง ทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเงิน ๖๓๑,๐๐๐ บาท นายศักดาไม่สามารถชำระเป็นเงินสดได้จึงขอชำระค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเช็คสำหรับสินค้าใหม่ โจทก์ยังคงรับเช็คเป็นการชำระค่าผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่สามารถเรียกยกเก็บเงินตามเช็คได้อีกเช่นกัน ดังนี้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยละเลยไม่ใส่ใจรักษาผลประโยชน์ของนายจ้าง เป็นการไม่ปฏิบัติตามนโยบายการบริหารของจำเลยการที่โจทก์อ้างว่าโจทก์พยายามติดตามทวงถามให้นายศักดาชำระค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเงินสดเมื่อครบกำหนดชำระแล้ว แต่นายศักดาไม่มีเงินสดชำระ โจทก์จึงยอมรับเช็คไว้เป็นประโยชน์ในดำเนินคดีอาญาเพื่อบังคับให้นายศักดานำเงินสดมาชำระและการที่โจทก์ได้รับมอบอำนาจการจากจำเลยให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อนายศักดานั้น ก็เป็นเพียงการบรรเทาผลร้ายอันเกิดจาการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์เท่านั้น การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว อย่างไรก็ตามการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายสมชาย หลังจากที่นายศักดามีปัญหาในการชำระค่าผลิตภัณฑ์แล้วนายสมชายยังคงไม่ระงับการให้เวลาชำระราคาดังกล่าวหรือระงับการส่งสินค้าให้นายศักดา แต่ยังคงให้โจทก์ส่งสินค้าให้นายศักดาต่อไปทั้งโจทก์ใช้ความพยายามติดตามทวงถามให้นายศักดาชำระค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเงินสดแล้ว แต่ลูกค้าไม่สามารถหาเงินสดมาชำระได้ โจทก์จำต้องยอมรับเช็คแทนเงินสด ดังนี้ การกระทำของโจทก์ที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำภายใต้ความยินยอมของผู้บังคับบัญชาของโจทก์ และเหตุที่ต้องรับเช็คแทนเงินสดเพราะลูกค้าไม่มีให้ หาใช่โจทก์มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยไม่ จึงไม่อาจถือว่าการกระทำของโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จึงชอบแล้ว แต่การกระทำของโจทก์ที่ยังคงปล่อยให้มีการนำส่งผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้ารายนายศักดาโดยไม่เรียกเก็บค่าผลิตภัณฑ์เป็นเงินสดจำนวนหลายครั้ง ทั้งที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ค่าผลิตภัณฑ์แล้ว จนกระทั้งนายศักดามีหนี้ค่าผลิตภัณฑ์ค้างชำระจำนวนมาก การกระทำของโจทก์เช่นว่านี้เป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจไว้วางใจให้ทำงานร่วมกันต่อไปได้ จึงมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่ธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๗๑๔/๒๕๕๕ คดีนี้เป็นคดีฟ้องขอให้ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่นำคดีมาสู่ศาลภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคสอง จำเลยไม่อาจยกข้อต่อสู้ใด ๆ ได้อีก รวมถึงเรื่องอำนาจฟ้องด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๗๒๑/๒๕๕๕ การที่โจทก์สั่งให้แผนกบุคคลนำข้อมูลเงินเดือนของพนักงานย้อนหลัง ๓ เดือนมาให้ เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องการล่วงรู้ถึงรายได้ของพนักงาน ซึ่งอาจจะนำไปใช้ประกอบในการชักชวนพนักงานมาทำงาน กับตนได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่ว่าได้สั่งให้แผนกบุคคลลักข้อมูลการเสนองานของจำเลยต่อผู้ว่าจ้างมาส่งมอบให้อันเป็นการล่วงรู้คามลับของจำเลย กับการให้พนักงานระดับหัวหน้างานชักชวนผู้ว่าจ้างมาเพื่อติดต่อติดสินบนในการจะเสนอขอรับงาน ลักษณะการกระทำดังกล่าวเห็นได้ว่าย่อมมีผลกระทบกับรายได้ของจำเลยผู้เป็นนายจ้างให้ลดลงได้ จึงเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๙๙ (๒) ทั้งเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและ สุจริต จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๗๒๓/๒๕๕๕ แม้โจทก์จะลาออกไม่ถูกต้องตามระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย (ซึ่งระบุว่าพนักงานต้องยื่นใบลาออกให้หัวหน้างานโดยตรงล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน) แต่การที่นายจิระผู้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งมีอำนาจอนุมัติให้ลูกจ้างลาออกได้ตามระเบียบของจำเลย ได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกโดยมิได้ทักท้วงแต่ประการใด ย่อมเท่ากับว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ยกเว้นไม่นำระเบียบเกี่ยวกับการบอกกล่าวล่วงหน้ามาใช้กับโจทก์ ดังนั้นจำเลยจะอ้างระเบียบ (ที่กำหนดว่าการลาออกโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบบริษัท ทางบริษํทจะไม่จ่ายค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้นในทุกกรณี) เพื่อที่จะไม่จ่ายค่าคอมมิชชั่นและเงินพิเศษทีม(ตามที่โจทก์ฟ้อง)หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๐๐/๒๕๕๕ จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อทราบวันนัดไกล่เกลี่ย พิจารณาและสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๙ แล้วดังที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙ แต่ไม่มาตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุที่ไม่มาจนศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดและให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จสิ้นการพิจารณากับมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน จึงต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ ทราบคำพิพากษาของศาลแรงงานแล้วในวันนั้น จำเลยที่ ๑ จะอ้างเพิ่งทราบคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ โดยจำเลยที่ ๒ ส่งโทรสารคำบังคับให้ทราบไม่ได้ เพราะเป็นความผิดหรือความบกพร่องของจำเลยที่ ๑ เองที่ไม่เอาใจใส่ติดตามของตนเองตรวจสอบคดีหลังจากวันนัดศาลแรงงานมีการดำเนินการกระบวนพิจารณาต่อไปหรือไม่ อย่างใดไม่ถือว่าเป็นความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานจะพึงขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ ส่วนที่จำเลยที่ ๑ อ้างต่อไปในคำร้องว่า เมื่อทราบคำพิพากษาแล้วไม่สามารถติดต่อทนายความเพื่อเขียนอุทธรณ์ได้ทันตามกำหนดเวลาอุทธรณ์เพราะเหตุน้ำท่วม ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ใช่ความจำเป็นที่ทำให้จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาอุทธรณ์ที่ศาลแรงงานยกคำร้องของจำเลยที่ ๑ ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๐๒ – ๑๓๘๐๓/๒๕๕๕ เมื่อในขณะที่โจทก์ยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จชราภาพและอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยนั้น โจทก์ยังไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งของจำเลยที่สั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์จึงชอบแล้ว อีกทั้งในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้โจทก์ก็ยังมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายซึ่งจะมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ โจทก์เพิ่งจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๗ และมาตรา ๑๕๕๗ (อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ) ระบุว่า การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แม้ว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะมีการแก้ไขมาตรา ๑๕๕๗ โดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๕๑ ระบุให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕๔๗ มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิดก็ตาม แต่ก็หาเป็นเหตุและมีผลให้สถานะของโจทก์กลับกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่เริ่มแรกในขณะที่ยื่นคำขอต่อจำเลย และอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ รวมถึงในขณะที่ยื่นฟ้องในคดีนี้ด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ในคดีนี้ เนื่องจากโจทก์มิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายในขณะยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตาย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพในคดีนี้ แต่โจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จชราภาพใหม่อีกครั้ง... พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๐๕/๒๕๕๕ เมื่อผู้คัดค้านยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำคัดค้านแล้วว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมโดยมิได้ระบุให้ชัดว่าผู้คัดค้านแสดงกิริยาก้าวร้าว กล่าวท้าทาย พูดจาไม่สุภาพและไม่เหมาะสมอย่างไร คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมหรือไม่ด้วย ที่ศาลแรงงานมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไว้ จึงไม่ถูกต้อง แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานวินิจฉัยเสียก่อนอีก เห็นว่า ผู้ร้องกล่าวบรรยายคำร้องว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง กระทำความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยไปยืนพูดโทรศัพท์ส่วนตัวในแผนกอื่นในเวลาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา แสดงกิริยาก้าวร้าว กล่าวท้าทาย พูดจาไม่สุภาพและไม่เหมาะสมต่อผู้บังคับบัญชา จึงขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านด้วยการพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างเป็นเวลา ๗ วัน คำร้องของผู้ร้องจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ แล้ว ส่วนผู้คัดค้านแสดงกิริยาก้าวร้าว กล่าวท้าทาย พูดจาไม่สุภาพและไม่เหมาะสมอย่างไรนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำร้องของผู้ร้องจึงไม่เคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๐๖/๒๕๕๕ ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ ๕.๓๐ นาฬิกา โจทก์กับนายอรรถพรพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุเพื่อนร่วมงานของโจทก์ได้โต้เถียงกันอยู่ประมาณ ๕ นาที ในสถานที่ทำงานของจำเลย แล้วโจทก์ใช้กำลังชกต่อยนายอรรถพร ๒ ครั้ง ครั้งแรกเฉียดแก้ม และครั้งที่สองถูกที่ท้ายทอย ไม่ปรากฏบาดแผล ต่อมาโจทก์ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรัก ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ในข้อหาใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งแม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวดที่ ๗ ข้อ ๓.๙ ระบุให้การทำร้ายหรือพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นในบริเวณบริษัทฯ เป็นการกระทำผิดวินัยกรณีร้ายแรงก็ตาม แต่การจะเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบด้วย หาใช่ถือตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่อย่างเดียวไม่ การที่โจทก์ใช้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงานนั้นเหตุเกิดขึ้นในห้องพนักงานสำรวจอุบัติเหตุในเวลาประมาณ ๕.๓๐ นาฬิกา เป็นเวลาก่อนการทำงานตามปกติของพนักงานทั่วไป และเมื่อมีผู้เข้าห้ามปรามก็เลิกรากันไป จึงไม่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ แต่การที่โจทก์ใช้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงานอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๐๗ - ๑๓๘๐๘/๒๕๕๕ จำเลยมีทุนจดทะเบียน ๕๔๐,๕๓๓,๐๐๐ บาท แต่ตามสำเนางบกำไรขาดทุนและขาดทุนสะสมก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังมีการขาดทุนสะสมมาโดยตลอด กระทั่งปี ๒๕๔๘ ปรากฏการขาดทุนสะสมถึง ๗๑๙,๑๒๐,๙๘๔ บาท และตามเอกสารหมาย ล.๑๒ ก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาก กระทั่งจำเลยต้องจ้างพนักงานขับรถบรรทุกเพิ่มอีก ๑ คน เป็นเหตุให้จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นจึงได้จัดทำตารางเปรียบเทียบผลต่างลี่ยต่อเดือนและต่อปี ซึ่งแสดงถึงเงินเดือน รายได้สวัสดิการของโจทก์ทั้งสองและพนักงานขับรถบรรทุกอีก ๑ คน นับจากขณะทำเอกสารไปจนเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุครบ ๖๐ ปี เปรียบเทียบกับการจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทรับเหมาภายนอก ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีผลเฉลี่ยต่อเดือนและต่อปีเป็นส่วนต่างจำนวนมาก ซึ่งแม้จะคำนวณจากเพียงส่วนของโจทก์ทั้งสองเปรียบเทียบกับของพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทผู้รับเหมาภายนอกก็ยังเห็นได้ว่า การที่จำเลยจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทรับเหมาภายนอกทำให้จำเลยสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึงเดือนละ ๒๑,๘๖๘ บาท หากคำนวณถึงวันเกษียณอายุการทำงานจะลดค่าใช้จ่ายได้รวม ๒,๒๒๕,๓๗๘ บาท และหากพิจารณาที่โจทก์ทั้งสองที่โจทก์ทั้งสองจะต้องมีพนักงานขับรถบรรทุกช่วยเพิ่มอีก ๑ คน ซึ่งจะทำให้จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกเมื่อคำนวณถึงวันเกษียณอายุการทำงานของพนักงานดังกล่าวเป็นเงิน ๕,๗๕๓,๒๒๐ บาท การที่จำเลยจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทผู้รับเหมาภายนอกเพียง ๒ คน จะช่วยให้จำเลยลดค่าใช้จ่ายระยะยาวได้ถึง ๗,๙๗๘,๕๙๘ บาท อันเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเลยจะต้องคำนึงถึงเพื่อลดส่วนของการขาดทุนสะสมลง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองกับลูกจ้างอื่นอีก ๙ คน เพื่อความอยู่รอดของจำเลยจึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ และเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าที่จำเลยกระทำไปเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๐๙/๒๕๕๕ แม้โจทก์จะบกพร่องต่อหน้าที่ไม่ควบคุมตรวจสอบดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีประสิทธิภาพอันควรแก่การปฏิบัติในฐานะผู้จัดการศูนย์บริการซ่อมบำรุงรถยนต์ของจำเลย แต่ความเสียหายที่จำเลยได้รับเกิดจากการร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่ของพนักงานในศูนย์บริการซ่อมบำรุงมิได้เกิดจากการกระทำผิดต่อหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อของโจทก์โดยตรงอันเนื่องมาจากจำเลยมิได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของโจทก์ไว้ให้ชัดเจน เพียงแต่การที่โจทก์ไม่สามารถควบคุมตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดีสมกับตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์จึงเป็นช่องทางให้พนักงานที่คิดทุจริตได้กระทำการดังกล่าวได้สะดวกขึ้นโดยอาศัยการที่จำเลยเปลี่ยนระบบการเขียนใบสั่งซ่อมและใบสั่งซื้ออะไหล่มาเป็นระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งยากแก่การตรวจสอบมาเป็นช่องทางกระทำการทุจริตด้วยเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่เข้ากรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๓) ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย อย่างไรก็ตาม การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๑๑/๒๕๕๕ เมื่อโจทก์และนางสมสมรพนักงานในฝ่ายผลิตทะเลาะโต้เถียงกันเกิดขึ้นในสถานประกอบการไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงของจำเลยไปยังภายนอก แม้ผลของการทะเลาะโต้เถียงจะทำให้การทำงานในเวลาดังกล่าวของโจทก์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของการผลิต และมีแปรงสีฟันเสียจำนวน ๑,๕๖๗ ด้าม แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏเป็นค่าเสียหายเพียงประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งความเสียหายดังกล่าวก็มิได้เป็นความจงใจของโจทก์ให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ดังนั้น แม้โจทก์จะกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในข้อต่าง ๆ ดังที่จำเลยอ้าง แต่ยังมิถึงกับเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๑๕/๒๕๕๕ โจทก์เคยชักชวนและสนับสนุนให้พนักงานขายใต้บังคับบัญชาขายสินค้าของภริยาโจทก์ชนิดเดียวกันกับจำเลยให้แก่ลูกค้าของจำเลย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าว นอกจากจะเป็นการประพฤติตนอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตแล้ว ยังถือได้ว่าโจทก์ประพฤติชั่ว ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยกรณีร้ายแรงอีกด้วย จำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๑๘/๒๕๕๕ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๗ จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามมาตรา ๗๗ ทวิ ถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทน หรือผู้รับเงินบำเหน็จชราภาพถึงแก่ความตายภายในหกสิบเดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพให้ทายาทของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ” และวรรคสองบัญญัติว่า “ทายาทผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ (๑) บุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นให้ได้รับสองส่วน ถ้าผู้ประกันตนที่ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน...” ตามบทบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพไว้โดยเฉพาะ โดยหากเป็นบุตรของผู้ประกันตนก็จะต้องมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๗ และมาตรา ๑๕๕๗ บัญญัติให้เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็จะมีผลนับแต่วันจดทะเบียน หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็จะนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงาน โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสมภพผู้ประกันตนที่จะเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๗ จัตวา วรรคสอง (๑) โจทก์จึงไม่เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะเรียกร้องเงินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๕ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ มาแต่ต้น แม้ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสมภพก็ตามแต่ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด คือนับแต่ระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๗ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังฟ้องคดีนี้แล้วและถึงแม้ว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๕๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทนว่า “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕๔๗ ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด” ก็ตาม แต่ในขณะที่จำเลยมีคำสั่ง การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตามมาตรา ๑๕๔๗ นั้น กฎหมายบัญญัติให้มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยโจทก์จึงชอบที่จะไปดำเนินการยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จชราภาพต่อจำเลยใหม่อีกครั้ง... (ศาลฎีกาพิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๑๙ – ๑๓๘๒๐/๒๕๕๕ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นคดีที่ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นสิทธิทางแพ่งโดยเฉพาะ มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องโดยอาศัยมูลความผิดทางอาญา แม้จำเลยจะให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุโจทก์ลักเงิน ๔๐ บาท อันเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์ และโจทก์ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดธัญบุรีก็ตาม ก็หาเป็นเหตุทำให้คดีของโจทก์กลับกลายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแต่อย่างใดไม่ กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ที่ระบุว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา มาบังคับใช้แก่คดีนี้ ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้ทำผิดโดยมิได้รอผลของคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลจังหวัดธัญบุรีเสียก่อน จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำพิพากษาของศาลแรงงานที่ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๒๓/๒๕๕๕ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมในฐานะพนักงานตรวจแรงงานขอให้สั่งจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าน้ำมันรถยนต์ และค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเลยร่วมสอบสวนแล้วมีคำสั่งที่ ๑๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๐ ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ ข้างต้น และส่งคำสั่งไปให้โจทก์รับทราบในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ จึงยังไม่พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ส่วนวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ไม่ใช่วันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คงเป็นแต่เพียงวันที่ศาลแรงงานสั่งให้โจทก์เรียบเรียงทำคำฟ้องซึ่งมีการแก้ไขหลายครั้งนำมายื่นต่อศาลใหม่ ถือได้ว่าโจทก์ยื่นฟ้องชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคหนึ่งแล้ว ศาลแรงงานต้องพิจารณาพิพากษาคดีตามประเด็นพิพาทต่อไป ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นฟ้องเกินกำหนด หลังจากคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุด และไม่วินิจฉัยประเด็นพิพาท ข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ อีกต่อไป แล้วพิพากษายกฟ้อง ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงาน ให้ศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยคดีตามประเด็นข้อพิพาท ข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๒๔/๒๕๕๕ การที่โจทก์ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐ ตามเอกสารท้ายคำให้การจำเลยร่วมหมายเลข ๔ เป็นการที่โจทก์ยอมรับว่ามีหนี้สินที่จะต้องชดใช้ให้จำเลยร่วม ๙๘,๙๘๙ บาท จากสาเหตุเงินสูญหาย หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีมูลหนี้โดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือด้วยความสมัครใจ ทำให้มีผลบังคับกันได้ โจทก์จึงต้องชำระหนี้ให้จำเลยร่วม แต่เนื่องจากมีเงินประกันการทำงานที่โจทก์มอบให้จำเลยร่วมไว้ ดังนั้น จำเลยร่วมจึงมีสิทธินำเงินประกันการทำงาน ๒๕,๐๐๐ บาท มาหักชำระหนี้ได้ หนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีข้อความตอนใดระบุเป็นเงื่อนไขว่า เมื่อโจทก์ยอมรับใช้หนี้แล้วจำเลยร่วมจะไม่เลิกจ้างโจทก์ ดังนั้น ต่อมาจำเลยร่วมเลิกจ้างโจทก์ก็ไม่ทำให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๒๕/๒๕๕๕ โจทก์ผู้รับจ้างต้องมีรถบรรทุกสินค้าของตนเอง จำเลยผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้เฉพาะวันที่ได้ปฏิบัติงานส่งสินค้าให้แก่จำเลยเท่านั้น วันที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง การจ้างงานขนส่งสินค้าเช่นนี้จึงมีลักษณะบ่งบอกถึงจำเลยมุ่งผลสำเร็จของงาน คือให้มีการขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าตามช่วงเวลานั้นจนสำเร็จเสร็จสิ้นไปเป็นสำคัญ หาได้มุ่งถึงแรงงานที่จำเลยจะได้รับจากการขับรถของโจทก์ไม่ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในการทำงานนั้นโจทก์จะมาทำงานในวันใดก็ได้ตามความสมัครใจ แสดงว่าจำเลยไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาโจทก์ว่าโจทก์ต้องมาทำงานวันใดหรือเวลาใด ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าโจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยและหากโจทก์ฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามจำเลยมีสิทธิลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ได้ ซึ่งอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้างเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ หาใช่สัญญาจ้างแรงงานไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๒๖/๒๕๕๕ ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เพื่อนบ้านโจทก์พบโจทก์ป่วยนอนหมดสติอาการหนักอยู่ภายในบ้านจึงรีบนำส่งโรงพยาบาลนนทเวชเพราะเห็นว่าอยู่ใกล้บ้านที่สุด ใช้เวลาเดินทางเพียง ๑๕ นาที หากนำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง การตัดสินใจนำโจทก์
ส่งโรงพยาบาลนนทเวชเช่นนี้ย่อมชอบด้วยเหตุผลแล้ว และเมื่อถึงโรงพยาบาลเวลา ๑๑.๔๗ นาฬิกา มีการตรวจวัดความดันโลหิตแล้วอยู่ที่ ๗๗/๔๗ มิลลิเมตรปรอท แพทย์ลงความเห็นว่าคนป่วยมีอาการป่วยเจ็บหนักเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน และลงความเห็นสมควรเข้ารับการผ่าตัดทันที แต่แพทย์ยังไม่ได้ทำการผ่าตัดในขณะนั้นทันที เพราะต้องทำการตรวจสอบตามขั้นตอนของการเตรียมการเพื่อความปลอดภัยของการผ่าตัดและทำการผ่าตัดในวันรุ่งขึ้นเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าผ่าตัดได้แล้ว เช่นนี้ระยะเวลาของการเตรียมการผ่าตัด เพื่อความปลอดภัยในการผ่าตัดย่อมอยู่ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องกับความฉุกเฉินที่จะต้องผ่าตัดทันทีและย่อมมีต่อเนื่องตลอดมา การที่จะให้โจทก์ซึ่งป่วยหนักเช่นนี้มีความคิดที่จะเปลี่ยนเป็นเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ การที่โจทก์เข้ารับการบริการแพทย์ที่โรงพยาบาลนนทเวชจึงมีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๒๗/๒๕๕๕ ผู้คัดค้าน(กรรมการลูกจ้าง)พูดโทรโข่งที่หน้าประตูโรงงานของผู้ร้อง(นายจ้าง) ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาพักของผู้คัดค้านและผู้ร้องอนุญาตให้พนักงานกลับบ้านได้ มีพนักงานกำลังเข้าออกประมาณ ๒๐๐ คน แสดงว่าผู้คัดค้านต้องการให้พนักงานดังกล่าวทั้งอยู่ภายในและภายนอกบริษัทใกล้เคียงได้ยินถ้อยคำที่ตนป่าวประกาศ ถือได้ว่าเป็นการกระทำในสถานที่และบริเวณของบริษัทผู้ร้องด้วย การที่ผู้คัดค้านประกาศว่า “...มีการเหยียบย่ำพวกเราตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้ล่ารายชื่อครับพี่น้อง ล่ารายชื่อมาให้ผม...ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น วีดีโอหนึ่ง ภาพหนึ่งไม่ต้องกลัว ขึ้นศาลก็ไม่ต้องกลัว แต่วันที่ ๓๐ ขอความร่วมมือ ถ้าหยุดได้ หยุดเลยงาน ไม่ต้องกลัว สโลว์ดาวน์ ก็สโลว์ไปเลย ไม่ต้องกลัว เพราะฉะนั้นเราต้องตัดไฟแต่ต้นลม ต้องหักไว้ก่อน ให้มันตายไปเป็นคน ๆ ไป...” ตามคำพูดถอดเทปของผู้คัดค้านทั้งที่เป็นเท็จ แต่เพราะโทสจริตดึงดันจะเอาชนะจึงทำให้ผู้คัดค้านกล้ากระทำการดังกล่าว พฤติกรรมของผู้คัดค้านไม่เป็นการประพฤติตนให้สุภาพเรียบร้อย เชื่อฟัง ให้เกียรติ ไม่ก้าวร้าว และแสดงความนับถือต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งงานสูงกว่าตน ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการทำงาน ไม่รักษาความสามัคคี ไม่รักษาเกียรติชื่อเสียง ละเว้นการเป็นผู้ประพฤติชั่ว ก่อความไม่สงบ จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือประกาศของบริษัทที่ห้ามพนักงานจัดประชุม นัดชุมนุม ภายในบริษัทก่อนได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากบริษัท ห้ามโฆษณาชวนเชื่อหรือจงใจที่จะหลอกลวงเพื่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานในหมู่พนักงาน ห้ามใช้เครื่องขยายเสียง เช่น โทรโข่ง เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใด ๆ พูดหรือประกาศในบริษัท โดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากบริษัท เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ ๙.๑.๒ ข้อ ๙.๑.๙ ข้อ ... ประกาศ เรื่อง การจัดระเบียบในสถานที่และบริเวณบริษัทฯ ข้อ ๑ ข้อ.. ทั้งยังเป็นการกระทำความผิดกรณีร้ายแรง (ที่ศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๘๘/๒๕๕๕ โจทก์เป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๓๕ ได้จ่ายเงินสมทบตลอดมา เดิมโจทก์ถือบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลซึ่งจำเลยออกให้ระบุโรงพยาบาลเพชรเวช ต่อมาวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ โจทก์ได้ยื่นขอเปลี่ยนสถานพยาบาลเพชรเวชเป็นโรงพยาบาลเกษมราษฎร์เป็นโรงพยาบาลตามสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้รับเรื่องไว้แล้วในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ เวลาเที่ยงคืน โจทก์ได้ป่วยเจ็บกะทันหันมีอาการปวดท้องรุนแรง จึงตัดสินใจเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สาขารัตนาธิเบศร์ซึ่งอยู่ใกล้บ้านและเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมกับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สาขาประชาชื่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่โจทก์ได้ระบุยื่นเปลี่ยนสถานพยาบาลตามสิทธิไว้แพทย์ได้รับตัวไว้ตรวจรักษา พบว่าไส้ติ่งอักเสบและซิสต์ที่รังไข่ แพทย์ได้รักษาโดยผ่าตัดในคืนเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยยังไม่ได้แจ้งรายชื่อโจทก์ ไปยังเครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ โจทก์ได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๘ และต้องชำระค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมดให้แก่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สาขารัตนาธิเบศร์ เป็นเงิน ๕๖,๕๗๑ บาท ออกจากโรงพยาบาลแล้วโจทก์ได้ยื่นแบบขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๘ จำเลยได้มีคำสั่งจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โจทก์ เป็นเงิน ๑๔,๖๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๘ ต่อมาวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๘ จำเลยได้ออกบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลใหม่ ระบุว่าโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น ให้แก่โจทก์ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ระยะเวลานับจากที่โจทก์ยื่นขอเปลี่ยนสถานพยาบาลจากโรงพยาบาลเพชรเวชเป็นโรงพยาบาลเกษมราษฎร์เป็นโรงพยาบาลตามสิทธิถึงวันที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์เป็นระยะเวลาถึง ๒๗ วัน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเพียงพอแก่การที่จำเลยจะพิจารณาตรวจสอบความสามารถ และประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลพร้อมทั้งแจ้งสิทธิให้ผู้ประกันตนทราบได้ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบ ของจำเลยที่มีอยู่นั้น ก็ปรากฏตามคำรับของคู่ความในรายงานกระบวนพิจารณาลง วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ว่าจำเลยไม่ได้มีประกาศกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้ประกันตนที่เปลี่ยนแปลงโรงพยาบาลตามสิทธิและแจ้งให้ผู้ประกันตนทราบแต่อย่างใด ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรและไม่ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการดังกล่าวไว้มาตัดสิทธิของโจทก์ที่จะได้สิทธิในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๙๔/๒๕๕๕ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) หาได้บัญญัติว่า การกระทำหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ลูกจ้างฝ่าฝืนต้องระบุว่าความผิดกรณีร้ายแรงเป็นอย่างไร คงบัญญัติเพียงว่าหากมีการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะเลิกจ้างหรือตักเตือนเป็นหนังสือ ดังนั้น แม้ระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ ไม่ระบุว่า การกระทำของโจทก์เป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรง จำเลยที่ ๑ ก็ยังมีสิทธิเลิกจ้างโดยพฤติการณ์ในการฝ่าฝืนระเบียบได้เองว่ากรณีใดเป็นกรณีร้ายแรง ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละกรณีว่าการฝ่าฝืนมีผลให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง ลูกจ้างอื่น สถานที่ทำงาน ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนมากน้อยเพียงใด โจทก์ยอมรับว่าได้พกพาอาวุธมีดเข้าไปก่อเหตุวิวาทในสถานที่ทำงานจนถูกดำเนินคดีอาญาทั้งในเหตุพกพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ และในเหตุทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีโทษทางอาญา การกระทำของโจทก์ย่อมเป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติงานซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๙๕/๒๕๕๕ เดิมจำเลยจ่ายค่าพาหนะให้โจทก์เมื่อไปปฏิบัติงานนอกสถานที่เป็นรายครั้งตามค่าใช้จ่ายที่โจทก์เบิกจ่าย ต่อมาจำเลยเปลี่ยนแปลงโดยให้โจทก์รับค่าพาหนะเป็นการเหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ตามคำสั่งที่ ๑๒/๒๕๒๗ ระบุว่า การอนุมัติค่าพาหนะให้แก่โจทก์ให้ถือว่าเป็นการให้เฉพาะตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นเท่านั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและลักษณะงานที่ไม่จำเป็นจะต้องได้รับค่าพาหนะ จำเลยมีสิทธิยกเลิกเงินได้ค่าพาหนะนั้น แปลความได้ว่าจำเลยตกลงให้ค่าพาหนะแก่โจทก์ ต่อเมื่อโจทก์มีตำแหน่งและลักษณะงานที่ต้องเดินทางมิได้ให้ค่าพาหนะเป็นการถาวรตลอดไปมีการเปลี่ยนแปลงได้ กรณีจึงเป็นการที่นายจ้างให้เงินเพิ่มแก่ลูกจ้างเป็นครั้งคราวตามลักษณะการทำงาน มิได้ให้เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง ไม่ถือเป็นค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและข้อตกลงการจ่ายเงินรางวัลประจำปี จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๗/๒๕๔๘ และไม่ต้องส่งเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ โดยนำค่าพาหนะดังกล่าวไปรวมเป็นเงินเดือน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๓๓/๒๕๕๕ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๓ ใช้กับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง จึงมีผลให้นายจ้างใหม่ต้องรับสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างที่มีอยู่กับนายจ้างเดิมทุกประการ แต่หากเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่นายจ้างใหม่นั้น กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗ ซึ่งนายจ้างเดิมและนายจ้างใหม่จะทำได้เมื่อลูกจ้างยินยอม และเมื่อลูกจ้างยินยอม ลูกจ้างนั้นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งการโอนโจทก์จากการทำงานกับจำเลยที่ ๑ ไปทำงานกับจำเลยที่ ๒ เป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่นายจ้างใหม่ จึงเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗ แม้จะเป็นเหตุให้สิทธิในการเกษียณอายุของโจทก์ลดลงก็ตาม แต่เมื่อการโอนดังกล่าวโจทก์ยินยอม โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างใหม่ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิเกษียณอายุเมื่ออายุครบ ๖๕ ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างใหม่ได้
เงินเบี้ยเลี้ยง เป็นเงินที่จำเลยที่ ๒ จ่ายให้แก่โจทก์เพื่อทดแทนการที่โจทก์ขาดรายได้จากส่วนแบ่งการขายที่โจทก์เคยได้รับอยู่เดิม เมื่อโจทก์ย้ายจากฝ่ายขายไปอยู่ฝ่ายดูแลสินค้าจึงไม่มีสิทธิได้รับ แต่จำเลยที่ ๒ ยังคงจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ ๒ ตกลงจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท เป็นประจำทุกเดือนพร้อมกับเงินเดือนจึงเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายเดือน จึงเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ที่จะต้องรวมเป็นฐานในการคำนวณอัตราค่าชดเชยที่จำเลยที่ ๒ ต้องจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๘ ด้วย และการที่จำเลยที่ ๒ ไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์นับแต่วันเลิกจ้าง จำเลยที่ ๒ จึงต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๓๖/๒๕๕๕ แม้จะปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติห้ามนายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ไม่เชื่อฟังแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบและธรรมเนียมของบริษัท ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่การงาน ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงาน ด้วยการตัดค่าจ้างของ เดือนกันยายน ๒๕๔๘ ในอัตราร้อยละ ๑๐ นั้น การลงโทษของจำเลยมิใช่เป็นการหักค่าจ้างโจทก์ แต่เป็นกรณีการลงโทษตามวินัยการทำงานซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทั้งไม่ปรากฏว่าคำสั่งตัดค่าจ้างของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ คำสั่งลงโทษโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๓๗/๒๕๕๕ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันยักยอกเงินไปจากโจทก์โดยร่วมกันนำเช็คของจำเลยที่ ๑ จำนวน ๙ ฉบับ ซึ่งไม่มีเงินอยู่ในบัญชีชำระหนี้ค่าไฟฟ้าแทนผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วยักยอกเงินสดไปจากโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ ยักยอกไปจำนวน ๒,๕๘๑,๔๐๐.๓๙ บาท และจำเลยที่ ๒ มีส่วนร่วมทุจริตกับจำเลยที่ ๑ โดยรับเงินไปจากโจทก์ ๖๔๐,๖๒๔.๕๐ บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันยักยอกและได้รับเงินไปจำนวน ๓,๒๒๒,๐๒๔.๘๙ บาท ซึ่งแม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะต้องชำระหนี้สิ้นเชิงในฐานะลูกหนี้ร่วมกัน แต่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะเรียกให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙๑ โดยเฉพาะคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นชัดเจนแล้วว่าแม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะร่วมกันยักยอกเงินของโจทก์ไปรวมแล้วเป็นเงิน ๓,๒๒๒,๐๒๔.๘๙ บาท แต่เมื่อเงินเฉพาะส่วนที่จำเลยที่ ๑ ยักยอกไปเป็นเงิน ๒,๕๘๑,๔๐๐.๓๙ บาท และเฉพาะส่วนที่จำเลยที่ ๒ รับไปเป็นเงิน ๖๔๐,๖๒๔.๕๐ บาท การที่โจทก์จะขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับผิดเฉพาะส่วนที่แต่ละคนยักยอกไปจึงเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙๑ ดังกล่าว มิได้เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมหรือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ ๑ เบียดบังเอาเงินค่าใช้ไฟฟ้าของโจทก์ไป ไม่ว่าจะมีพนักงานอื่นร่วมด้วยหรือไม่ หรือเป็นความบกพร่องของพนักงานอื่นด้วยหรือไม่ จำเลยที่ ๑ ก็ต้องรับผิดชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ มีใจความว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ขอเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ทำความเสียหายให้แก่โจทก์จะเป็นในหน้าที่การงาน หรือไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ ก็ตาม จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ยอมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ ๑ เท่าจำนวนที่โจทก์เสียหายจริง ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปจากพนักงานเก็บเงินค่าใช้ไฟฟ้า โดยจำเลยที่ ๑ อาศัยหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าและต้องปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานเก็บเงินค่าใช้ไฟฟ้าในการตัดบัญชีลูกหนี้ผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ ดังที่อ้างในอุทธรณ์จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์จึงต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๓๙/๒๕๕๕ จำเลยประกอบกิจการขนส่ง พนักงานของจำเลยอาจอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการบรรทุกสัมภาระโดยไม่ต้องชำระเงินค่าระวาง ทำให้จำเลยเสียประโยชน์ไม่ได้รับค่าธรรมเนียมบริการตามที่ควรจะได้รับ ซึ่งแม้จะไม่ถึงขั้นทุจริตต่อหน้าที่ก็ยังเป็นความผิดตามข้อ ๕ ที่ว่า บรรทุกสัมภาระและไม่ชำระค่าระวาง แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดข้อนี้ได้ก็ต่อเมื่อพนักงานผู้นั้นเจตนาให้มีการบรรทุกสัมภาระโดยไม่คิดเงินค่าระวางด้วย เพราะการจะลงโทษผู้ใดต้องคำนึงถึงเจตนาเป็นสำคัญ คดีนี้ศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงเพียงว่า โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องบอกพนักงานชานชาลาเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบริการ แต่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ มิได้ฟังข้อเท็จจริงไปถึงว่าโจทก์เจตนาให้มีการบรรทุกสัมภาระโดยไม่คิดค่าระวางอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้โดยสารเจ้าของสัมภาระซึ่งโดยสารมาด้วย ลำพังเพียงโจทก์ไม่สนใจใยดีในหน้าที่ที่จะต้องแจ้งโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เจตนาเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้โดยสาร ไม่ทำให้โจทก์มีความผิดฐานบรรทุกสัมภาระและไม่ชำระเงินค่าระวางซึ่งมีโทษทางวินัยก่อนลดให้ตัดเงินเดือนร้อยละ ๒๐ เป็นเวลา ๖ เดือน หากมีเหตุบรรเทาโทษให้ตัดเงินเดือนร้อยละ ๒๐ เป็นเวลา ๓ เดือน โจทก์คงมีความผิดเพียงฐานมีหน้าที่ แต่ไม่ตรวจดูสัมภาระเพื่อคิดค่าระวาง และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทั้ง ๒ กรณีมีโทษทางวินัยให้ภาคทัณฑ์ หากมีเหตุบรรเทาโทษก็ให้ทำทัณฑ์บนเท่านั้น คำสั่งของจำเลยที่กำหนดโทษก่อนลดให้ตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละ ๒๐ มีกำหนด ๖ เดือน และลดโทษลงเหลือตัดเงินเดือนร้อยละ ๒๐ มีกำหนด ๓ เดือน ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์มีมติให้ยืนตามคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดโทษสูงเกินกว่ามาตรฐานการลงโทษทางวินัย อันเป็นคำสั่งไม่ชอบ ต้องเพิกถอนเสีย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๕๐-๑๔๐๕๗/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจของจำเลยมีมติให้กำหนดระเบียบของจำเลยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ขึ้น โดยหมวด ๔ วิธีการคำนวณบำเหน็จข้อ ๑๗ กำหนดว่า การคำนวณบำเหน็จให้คำนวณผลรวม ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งคำนวณจากระยะเวลาตั้งแต่ปฏิบัติงานในการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยจนถึงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๕ คูณด้วยเงินเดือน ณ วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๕ ส่วนที่สองคำนวณจากระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในท่าอากาศยานไทยคูณด้วยเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ออกจากงานสำหรับพนักงานหรือลูกจ้างประจำซึ่งได้รับเงินเดือนสุดท้ายไม่เต็มเดือนให้ถือเอาอัตราสุดท้ายเต็มเดือนเป็นเกณฑ์คำนวณ ต่อมาวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๑ คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจจำเลยมีมติให้จำเลยจัดทำโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดและโครงการร่วมใจจากองค์กรประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๑ โดยเสนอผลตอบแทน โจทก์ทั้งแปดเข้าร่วมโครงการดังกล่าวและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งในส่วนของเงินกองทุนสงเคราะห์หรือเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ทอท. เช่นนี้ โจทก์ทั้งแปดพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดอันมีลักษณะเป็นข้อตกลงระงับสัญญาจ้างร่วมกัน โดยจำเลยตกลงให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่พนักงานซึ่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็มิได้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของของกฎหมายและมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด มีผลบังคับได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของจำเลยจำเลยตกลงให้ผลตอบแทนในส่วนของบำเหน็จ โดยกำหนดไว้ในข้อ ๔.๒.๓ ว่า “เงินกองทุนสงเคราะห์หรือเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของ ทอท.” ซึ่งข้อบังคับของ ทอท. ดังกล่าวได้แก่ ระเบียบบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๔๖ หาใช่ข้อบังคับการท่าอากาศยานแห่งประเทศ ฉบับที่ (๑๔) ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่ เมื่อระเบียบบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดวิธีการคำนวณบำเหน็จไว้ในหมวด ๔ ข้อ ๑๗ โจทก์ทั้งแปดและจำเลยจึงต้องผูกพันตามนั้น จำเลยจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งแปดโดยคำนวณบำเหน็จตามข้อ ๑๗ แห่งระเบียบท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว จึงเป็นไปตามข้อตกลงตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดแล้ว การที่โจทก์ที่ ๑ เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของจำเลย โดยได้รับผลตอบแทนมีลักษณะเป็นข้อตกลงระงับสัญญาจ้างร่วมกัน ไม่ใช่การเลิกจ้างแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ ๓๓ ให้แก่โจทก์ที่ ๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๐๗๗/๒๕๕๕ การกระทำผิดของลูกจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกันหลายประการ อาทิ ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง ลักษณะและพฤติการณ์การกระทำความผิดของลูกจ้าง ตลอดจนผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่านางสาวระเบียบทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรที่ประกอบชิ้นงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น รูปงานเกี่ยวกับร้อยสายไฟเป็นต้น โดยต้องยืนทำงานอยู่หน้าเครื่องจักรที่พิมพ์ชิ้นงาน เมื่อเครื่องจักรพิมพ์ชิ้นงานเสร็จแล้ว แม่พิมพ์จะเลื่อนลงมาด้านล่าง เมื่อแม่พิมพ์เปิดออกนางสาวระเบียบจะใช้ปืนลมหรือท่อลมเป่าหรือใช้อุปกรณ์ช่วยเพื่อให้ชิ้นงานหลุดออกจากแม่พิมพ์แล้วนำชิ้นงานไปไว้ในถาดที่ใส่ชิ้นงาน เป่าลมที่แม่พิมพ์ แล้วปิดแม่พิมพ์เพื่อให้แม่พิมพ์เลื่อนขึ้นไปทำการพิมพ์ชิ้นงานต่อไป ซึ่งระยะเวลาที่พิมพ์ชิ้นงานขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของชิ้นงานที่โจทก์กำหนดไว้ ตั้งแต่ ๒ นาทีครึ่ง ถึง ๓ นาทีครึ่ง ชิ้นงานที่เครื่องจักรพิมพ์ออกมาแต่ละครั้งก็มีจำนวนตามประเภทของชิ้นงาน ครั้งละ ๖ ชิ้น ๘ ชิ้น หรือมากกว่า ๓๐ ชิ้นก็มี ในระหว่างที่เครื่องจักรเลื่อนขึ้นไปทำการพิมพ์ชิ้นงานนางสาวระเบียบก็จะหยิบชิ้นงานที่ใส่ถาดไว้ออกมาดึงหรือตัดส่วนที่เกินออก ชิ้นงานที่เสียก็จะส่งให้หัวหน้างานแก้ไข ชิ้นงานที่ดีก็จะส่งแผนกตรวจสอบเพื่อตรวจสอบต่อไป เครื่องจักรที่พิมพ์ชิ้นงานโดยปกติจะทำงานติดต่อกันไป หากต้องหยุดเครื่องจักรทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ใดหยิบชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์หรือหยิบชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์แล้วมิได้ให้เครื่องจักรทำงานต่อไปเป็นระยะเวลานานจนแม่พิมพ์เย็น ชิ้นงานที่พิมพ์ครั้งต่อมาจะเสียทรงใช้การไม่ได้ นางสาวระเบียบนำอาหารมาวางขายไว้ใกล้กับเครื่องจักรที่นางสาวระเบียบทำงาน สินค้าที่เป็นชิ้นผู้ซื้อจะหยิบสินค้านั้นและมาจ่ายเงินแก่นางสาวระเบียบบางครั้งนางสาวระเบียบก็ทอนเงินแก่ลูกค้า บางครั้งก็ไปหยิบอาหารใส่ถุงส่งให้ลูกค้าด้วยตามข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยลักษณะหน้าที่ของนางสาวระเบียบจึงต้องปฏิบัติงานประจำที่เครื่องจักร เพื่อจะใช้ปืนลมหรือท่อลมหรืออุปกรณ์ช่วยเพื่อให้ชิ้นงานหลุดออกจากแม่พิมพ์แล้วนำชิ้นงานออกมาดึงหรือตัดส่วนที่เกินออก ชิ้นงานที่เสียจะส่งให้หัวหน้างานแก้ไข ชิ้นงานที่ดีจะส่งให้แผนกตรวจสอบ ความเสียหายจากการที่ต้องหยุดเครื่องจักรทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ใดหยิบชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ตามที่ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่โจทก์อุทธรณ์ว่าหากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานจะก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น แท่นพิมพ์เย็น ชิ้นงานเสียรูปทรง ส่งงานล่าช้าได้ปริมาณงานไม่ตรงตามที่กำหนด ซึ่งศาลแรงงานวินิจฉัยว่า การซื้อขายสินค้าดังกล่าวใช้เวลาเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับขัดขวางการทำงานของนางสาวระเบียบ หรือเป็นเหตุให้งานที่นางสาวระเบียบทำอยู่เกิดความล่าช้าหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ทั้งการที่นางสาวระเบียบนำสินค้ามาวางและจำหน่ายก็ยังไม่เคยเกิดความเสียหายใด ๆ อย่างชัดแจ้งแก่ชิ้นงานหรืองานในหน้าที่ของนางสาวระเบียบแต่อย่างใด ตามลักษณะงานและพฤติการณ์ที่ปรากฏดังกล่าว แม้นางสาวระเบียบจะฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ แต่นางสาวระเบียบก็ยังคงปฏิบัติงานได้ตามขั้นตอนการทำงานปกติ โดยไม่ปรากฏความเสียหายแก่ชิ้นงานหรือเกิดความเสียหายอื่นใด ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสาวระเบียบเคยนำสินค้ามาจำหน่ายแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งหัวหน้าผู้ควบคุมการทำงานก็เพียงแต่ตักเตือนนางสาวระเบียบด้วยวาจาเท่านั้น การกระทำของนางสาวระเบียบแม้จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแต่ก็เป็นเพียงกรณีที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งโจทก์จะตักเตือนเป็นหนังสือ หากนางสาวระเบียบกระทำการฝ่าฝืนดังกล่าวขึ้นอีกภายในหนึ่งปี โจทก์จึงเลิกจ้างได้โดยไม่จ้องจ่ายค่าชดเชยให้นางสาวระเบียบ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) โจทก์เลิกจ้างนางสาวระเบียบโดยมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อน โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้นางสาวระเบียบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๔๗๒/๒๕๕๕ คดีก่อนและคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าถูกจำเลยกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดเกี่ยวข้องในงานเปลี่ยนมาตรวัดน้ำของผู้รับเหมา แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนแกล้งลงโทษโจทก์ เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดแล้วโดยศาลวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีว่าโจทก์กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และทั้งสองคดีคู่ความเป็นรายเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๔๗๓/๒๕๕๕ (ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ดำเนินการบรรจุจำเลยที่ ๒ เป็นพนักงาน และจำเลยที่ ๓ แต่งตั้งจำเลยที่ ๒ เป็นที่ปรึกษาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ เพิกถอนกระบวนการบรรจุจำเลยที่ ๒ ห้ามจำเลยที่ ๒ ใช้อำนาจหน้าที่ใด ๆในตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุ ให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ นั้น) ตามคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์ดังกล่าว โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่จากการกระทำของจำเลยทั้งสามโดยตรง ยังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมาย สัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือเป็นกรณีที่โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๔ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๗๘๓/๒๕๕๕ โจทก์เบิกความยอมรับเอง ว่า นายสมานแจ้งแก่โจทก์ว่าเงินที่ให้โจทก์กู้ยืมเป็นเงินที่นายสมานยืมทดรองมาจากจำเลยเพื่อนำไปจ่ายให้แก่สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (สำนักงานทีวีพูลแห่งประเทศไทย) ในการถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอล แต่โจทก์ไม่สามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนให้ได้ทัน นายสมานจึงแจ้งให้โจทก์ทำใบเสร็จรับเงินปลอมขึ้นมา ๓ ฉบับ โดยระบุว่าได้จ่ายเงินค่าถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลให้แก่สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและโจทก์ก็ได้จัดทำใบเสร็จปลอมทั้งสามฉบับและจำเลยไม่ได้โต้แย้งข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์ จึงแสดงว่าโจทก์ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าใบเสร็จปลอมที่โจทก์อ้างว่านายสมานสั่งให้โจทก์ทำขึ้นมา นายสมานย่อมต้องนำไปใช้ยื่นต่อฝ่ายการเงินของจำเลย เพื่อแสดงความอันเป็นเท็จว่าได้มีการจ่ายค่าถ่ายทอดงานฟุตบอลให้แก่สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยแล้ว การกระทำของโจทก์จึงถือได้ว่าเป็นการทำผิดทั้งอาญาและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอันใดอันได้ชื่อว่าเป็น ผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อ ๑๗ วรรคท้าย และข้อ ๒๑ แห่งข้อบังคับองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ. ๒๕๒๑ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ หมวด ๖ ข้อที่ ๔๖(๑) (๓) คำสั่งลงโทษของจำเลยที่ ๑ ที่ไล่โจทก์ออกจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๘๔๙/๒๕๕๕ สัญญาจ้างแรงงานนั้นไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเมื่อโจทก์รับโอนจำเลยที่ ๑ มาเป็นพนักงานของโจทก์ และจำเลยที่ ๑ ได้เข้าทำงานปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานของโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และ จำเลยที่ ๑ ย่อมเกิดขึ้นแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงเป็นลูกจ้างของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ ๑ กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดต่อโจทก์ได้ ส่วนสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องนั้น จำเลยที่ ๒ และ ที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ให้แก่บริษัทดอก.. จำกัด เท่านั้น ไม่ได้ทำสัญญากับโจทก์ และไม่มีข้อความใดยินยอมให้สัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ มีผลเป็นการค้ำประกันให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๕๕๒/๒๕๕๕ จำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์เป็นหนังสือตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙ สิ้นสุดสัญญาวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๙ แล้วมีการตกลงต่อสัญญาปีต่อปีตลอดมาทุกปีจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์เป็นหนังสืออีก แต่คงให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปในตำแหน่งและสภาพการจ้างเดิม ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ โจทก์มีหนังสือตอบจำเลยว่าประสงค์จะต่อสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนกับจำเลยอีกโดยมีสภาพการจ้างเหมือนเดิม แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีการต่อสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนในปี ๒๕๔๗ อีกโดยปริยายและให้สิ้นสุดสัญญาในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ เหมือนปีที่ผ่านมา เพียงแต่ไม่ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือเท่านั้น หาใช่เป็นกรณีสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ แต่โจทก์ยังคงทำงานต่อไปจำเลยรู้แล้วก็ไม่ทักท้วง จึงเกิดสัญญาจ้างที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไม่ เมื่อจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลสัญญาจ้างสิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญาเพราะเหตุที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยว่าไม่มีความจำเป็นต่อสัญญาอีกต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๘๐๔/๒๕๕๕ ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ข้อ ๒ ระบุว่าจำเลยที่ ๒ ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในกรณีที่จำเลยที่ ๑ ทำความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่โจทก์ ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือประมาทหรือก่อหนี้อันจะต้องชดใช้ต่อโจทก์ รวมทั้งบรรดาความเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้าง การที่จำเลยที่ ๑ แจ้งเท็จว่าภริยาของจำเลยที่ ๑ ป่วย แต่ความจริงพี่สาวของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ป่วย เพื่อขอหนังสือรับรองการรักษาพยาบาลจากโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลไป หรือกรณีที่จำเลยที่ ๑ ถอดเอาเครื่องเล่นวีดีโอและเครื่องเสียงประจำรถของโจทก์ไป ล้วนแต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ ก่อหนี้ที่จะต้องชดใช้ต่อโจทก์ซึ่งหนังสือสัญญาค้ำประกันมีขอบเขตครอบคลุมถึงทั้งสิ้น จำเลยที่ ๒ จึงต้องผูกพันร่วมรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๘๐๖/๒๕๕๕ โจทก์ร่วมเล่นการพนันไฮโลว์ในบริเวณสถานที่ทำการของจำเลยนอกเวลาปฏิบัติงาน และถูกศาลแขวงนครปฐมพิพากษาลงโทษปรับ ๑,๖๐๐ บาท การกระทำของโจทก์จึงเป็นการขัดคำสั่งของจำเลยที่ ๕๖๘/๒๕๒๗ ข้อ ๓.๓ ซึ่งข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ ๔๖ ข้อ ๘.๔ ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งหรือระเบียบข้อบังคับของจำเลย และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยจึงลงโทษไล่โจทก์ออกจากงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั่นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ ๖๐ (๔)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๘๐๗/๒๕๕๕ เมื่อเลขที่บ้านของจำเลยที่ ๔ ตามที่ระบุในคำฟ้องและแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร สำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตทุ่งครุ ซึ่งพนักงานเดินหมายใช้ปิดหมายเรียกและคำบังคับแตกต่างจากเลขที่บ้านระบุในสำเนาสัญญาค้ำประกันและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ ๔ อันเป็นเอกสารที่โจทก์แนบมาท้ายคำฟ้อง แสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่าจำเลยที่ ๔ มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ใดกันแน่ อันเป็นประเด็นสำคัญตามคำร้องจำเลยที่ ๔ ที่กล่าวอ้างว่าตนไม่ทราบว่าถูกฟ้อง และไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลแรงงานด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ ๔ (ที่ขอให้พิจารณาคดีของจำเลยที่ ๔ ใหม่) โดยไม่ไต่สวนให้ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๔ ดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๒๕๕/๒๕๕๕ เอกสารแสดงผลประเมินการปฏิบัติงาน ข้อ ๖ ได้ให้ผลตามการประเมินว่าเกรด D หมายถึง ผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุง และเอกสารหมาย ล.๓ ข้อ ๖ ให้ผลการประเมินว่าเกรด F หมายถึง ผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ประสบผลสำเร็จตามเงื่อนไขในการพิจารณาให้ได้รับเงินรางวัลพิเศษ ไม่ใช่เงื่อนไขในการกำหนดเพื่อใช้ในการเลิกจ้าง และผู้ที่ได้รับผลการประเมินแม้จะได้ลำดับ เกรด D หรือ เกรด F ก็ไม่ได้กำหนดให้เลิกจ้างได้ ทั้งไม่ได้ระบุว่าบุคคลที่ได้เกรดดังกล่าวถือว่าขาดประสิทธิภาพหรือบกพร่องต่อหน้าที่การงาน แต่ระบุ เกรด D ต้องปรับปรุงและ เกรด F ไม่สามารถปฏิบัติงานให้ประสบผลสำเร็จได้ ตามคำเบิกความของนางวลัยภรณ์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยได้เบิกความว่า เกรด ระดับ F แปลว่าเป็นการทำงานที่ใช้ไม่ได้แล้ว ต้องมีการพัฒนาอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพนักงานผู้นั้น ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีการพัฒนาโจทก์อย่างหนึ่งอย่างใด แต่กลับนำมาอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ เหตุเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงยังไม่พอให้รับฟังว่าการเลิกจ้างเช่นนี้ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๒๕๙/๒๕๕๕ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นคณะบุคคลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๓๑ มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒ โดยอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๕๒ เป็นอำนาจหน้าที่ประการหนึ่งที่ระบุไว้ตามมาตรา ๓๒ (๕) การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีมติยืนตามคำวินจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทราที่วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงเป็นการฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ ในฐานะที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ เป็นคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวเท่านั้น มิใช่ฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ ในฐานะส่วนตัวเพราะจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ ไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสามเป็นการส่วนตัว ที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ ร่วมรับผิดกับสำนักงานประกันสังคมจำเลยที่ ๑ ชำระเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามด้วยจึงไม่ถูกต้อง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ ไม่ต้องร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๘๑๕/๒๕๕๕ คดีนี้ได้ความว่าโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าชดเชย โดยจำเลยให้การต่อสู้และโต้แย้งมาว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว กรณียังมีข้อโต้เถียงกันอยู่ว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่ม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๘๑๘/๒๕๕๕ เมื่อลูกจ้างได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นายจ้างย่อมมีสิทธิใช้ดุลพินิจลงโทษลูกจ้างได้ โดยอาจลงโทษตามวินัยที่นายจ้างกำหนด แต่นายจ้างไม่มีสิทธิลงโทษลูกจ้างซ้ำในการกระทำความผิดเดิมซึ่งนายจ้างได้ลงโทษไปแล้ว เพราะความผิดย่อมระงับไปด้วยการลงโทษจากนายจ้าง เมื่อศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่โจทก์ปล่อยปละละเลยลงนามในเอกสารการขออนุมัติเบิกเงินงวดงาน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว จำเลยได้ลงโทษโจทก์โดยการงดจ่ายเงินโบนัสประจำปี งดจ่ายเบี้ยเลี้ยงประจำเดือน งดจ่ายค่าน้ำมันรถประจำเดือน และงดขึ้นเงินเดือนสำหรับปี ๒๕๔๙ แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับทราบและยอมรับการลงโทษ คำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งลงโทษโจทก์ในการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว ส่วนการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ติดตามทวงถามผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นคำสั่งเพื่อให้โจทก์ได้บรรเทาผลร้ายในความผิดของตน การที่โจทก์ไม่สามารถติดตามทวงถามนำเงินที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเบิกเกินกว่าค่างวดมามอบให้แก่จำเลย เป็นเพียงการที่โจทก์ไม่สามารถบรรเทาผลร้ายในการกระทำผิดของตนเท่านั้น ไม่ถือเป็นความผิดของโจทก์จำเลยจึงไม่สามารถนำเหตุที่จำเลยลงโทษโจทก์ไปแล้วหรือเหตุที่โจทก์ไม่สามารถบรรเทาผลร้ายในการกระทำความผิดของตนมาลงโทษโจทก์ซ้ำได้อีก เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าว การเลิกจ้างของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๘๗๙/๒๕๕๕ การที่คณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งที่ปรากฏค่า Serum BUN ต่ำกว่า ๑๐๐ mg% และ Serum Creatinine ต่ำกว่า ๑๐ mg% และยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงมีสิ่งตรวจพบครบ ๓ ประการดังที่ระบุไว้ในประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน (ฉบับที่ ๘ ) ลงวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๒ และเป็นการวินิจฉัยจากการให้ข้อเท็จจริงของแพทย์ที่วินิจฉัยโรคโจทก์ว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายตามหลักวิชาแพทย์ทั่วไปซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่จำเลยได้ประกาศไว้ดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่อาจนำมาตัดสิทธิของโจทก์ในการรับการบริการทางการแพทย์โดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ดังนั้นที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายตามหลักวิชาการแพทย์ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๓ แล้ว ซึ่งโจทก์เป็นมาก่อนเป็นผู้ประกันตนจึงไม่มีสิทธิได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดเครื่องไตเทียมนั้นจึงไม่ถูกต้อง พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งที่ รง. ๐๖๒๕/๑๐๖๒๘ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ ๑๑๔๐/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ และให้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีการบำบัดทดแทนไต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๘๘๒/๒๕๕๕ บทบัญญัติมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นเรื่องการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียม ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลแรงงาน แต่คดีนี้เป็นเรื่องการนำคดีไปสู่ศาลในกรณีที่นายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน โดยนายจ้างจะต้องวางเงินตามคำสั่งนั้นต่อศาลแล้วจึงจะฟ้องคดีได้ ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจฟ้อง อันเป็นเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างแจ้งชัดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคสาม ทั้งนี้ เพื่อห้ามมิให้นายจ้างฟ้องคดีเพื่อประวิงเวลาการจ่ายเงินและเป็นการยืนยันว่านายจ้างพร้อมที่จะจ่ายเงินได้ ดังนั้น ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องกับเรื่องการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียม จึงเป็นคนละเรื่องคนละกรณีต่างขั้นตอนกันหาอาจนำมาบังคับใช้ด้วยกันได้ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ไม่วางเงินต่อศาลตามจำนวนตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า การที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์ใช้ค่าจ้างเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คำสั่งจึงไม่ชอบและไม่อาจใช้บังคับโจทก์ได้ เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์ในเนื้อหาของคดีเกี่ยวกับคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นเรื่องในชั้นพิจารณา แต่เมื่อศาลแรงงานมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นเรื่องในชั้นรับฟ้อง กรณีจึงไม่มีคดีของโจทก์ในการพิจารณาของศาลแรงงานที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๘๘๗/๒๕๕๕ การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรเพียงพอในการเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมาผลประกอบกิจการของจำเลยลดลงบ้างเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ แต่จำเลยก็ยังคงมีกำไรตลอดมา โดยในปี ๒๕๕๐ จำเลยและบริษัทในเครือมีผลกำไรสุทธิ ๑๔๑ เปอร์เซ็นต์ และจำเลยยังคงเปิดรับสมัครพนักงานตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าแม้ผลประกอบการของจำเลยจะลดลง แต่กิจการของจำเลยยังคงมีผลกำไรอยู่ เพียงแต่กำไรลดลงบ้างเท่านั้น ซึ่งผลดังกล่าวเกิดขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจอันเป็นความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจตามปกติธรรมดา แม้จำเลยจะอ้างว่าการพิจารณาเลิกจ้างโจทก์ได้นำผลการทำงานของโจทก์มาพิจารณาประกอบด้วย แต่เมื่อเหตุผลหลักที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มาจากข้อที่จำเลยอ้างว่าผลกำไรลดลงดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พยายามหาหรือใช้วิธีทางอื่นเพื่อพยุงกิจการของจำเลยไว้นอกเหนือจากการเลิกจ้างประการใด ทั้งศาลแรงงานก็ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างร้ายแรงตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานปรากฏว่า ศาลแรงงานได้กำหนดค่าเสียหายโดยคำนึงถึงอายุ ระยะเวลาการทำงาน ความเดือนร้อนเมื่อถูกเลิกจ้างมูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๒๐๖/๒๕๕๕ เหตุที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์มีกำหนด ๖๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๖ มีนาคม ถึงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ตามเอกสารหมาย ล.๒ กับเหตุที่จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๙ ตามเอกสารหมาย ล.๔ นั้น มีมูลเหตุสืบลูกจ้างมาทำงานไม่สม่ำเสมอ มาทำงานสาย ขาดงาน และลางานอยู่เป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์นั้นก็เป็นวันแรกที่โจทก์กลับเข้าไปทำงานกับจำเลยภายหลังที่โจทก์ถูกสั่งพักงาน ซึ่งโจทก์ได้ไปร้องเรียนเรื่องการพักงานต่อพนักงานตรวจแรงงานและได้รับแจ้งให้กลับเข้าไปทำงานได้ตามที่ตกลงกันกับจำเลย กรณีจึงย่อมส่อแสดงให้เห็นได้อย่างแจ้งชัดว่าใน ขณะที่จำเลยออกหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.๔ โจทก์มิได้กระทำการเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานขึ้นใหม่อีก ดังนั้นมูลเหตุพฤติกรรมการทำงานของโจทก์ที่ระบุอ้างถึงในหนังสือเตือนดังกล่าวจึงเป็นเหตุเดิมเดียวกันกับเหตุที่จำเลยสั่งพักงานอันเป็นการลงโทษโจทก์ไปแล้ว เหตุดังกล่าวนั้นจึงสิ้นสุดยุติไปแล้วไม่มีอยู่ในขณะที่จำเลยออกหนังสือเตือน หนังสือเตือนตามเอกสารหมาย ล.๔ จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย แม้ภายหลังหากว่าโจทก์ยังมีพฤติกรรมในการทำงานตามที่ระบุอ้างถึงไว้ในหนังสือเตือนดังกล่าวก็ตาม ก็หาใช่การกระทำที่ผิดซ้ำคำเตือนแต่อย่างใดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๓๒๓/๒๕๕๕ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙ โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยในข้อ ๓ ระบุว่า จำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์ลางานเพื่อไปศึกษาต่อปริญญาโท ในเวลาทำงานตามปกติของวันเสาร์ระหว่างเวลา ๑๕ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา โดยโจทก์ต้องยื่นใบลาตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจนกว่าโจทก์จะศึกษาจบปริญญาโทโดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ เป็นต้นไป จากข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์จะต้องลางานเพื่อไปศึกษาต่อปริญญาโทในเวลาทำงานตามปกติของวันเสาร์ระหว่างเวลา ๑๕ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา ไปจนกว่าจะศึกษาจบ จึงตกลงยินยอมเช่นนั้น แต่ครั้นวันรุ่งขึ้นจากวันทำสัญญาประนีประนอมความคือ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙ โจทก์ยื่นใบลา จำเลยกลับสั่งให้โจทก์นำตารางเรียน บัตรนักศึกษาและใบเสร็จการลงทะเบียนเรียนมาแสดง จึงมีลักษณะเป็นการให้โจทก์เกิดความยุ่งยากลำบากในการลาเพื่อเอาชนะมากกว่าที่ประสงค์จะให้รู้ว่าโจทก์ลาไปศึกษาจริงหรือไม่ เพราะจำเลยก็ได้ตกลงลงยินยอมไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลแล้วก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว และหากจำเลยเห็นว่าระยะเวลาที่ลาตั้งแต่ ๑๒ ถึง ๑๗ นาฬิกา นานเกินสมควรก็น่าจะพิจารณาอนุญาตเท่าเวลาที่เหมาะสมการที่จำเลยไม่ยอมอนุมัติให้ลาและถือว่าขาดงานโดยออกหนังสือตักเตือนมีลักษณะ ส่อไปในทางใช้อำนาจเพื่อกดดันโจทก์เสียมากกว่า คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่เห็นได้ว่าไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จึงไม่เป็นหนังสือตักเตือนที่ชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าจำเลยเคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๔๒๖ – ๑๘๔๓๕/๒๕๕๕ หากจำเลยเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานก่อนวันสืบพยานเพื่อให้ศาลแรงงานจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ เมื่อจำเลยมิได้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาคดีนี้ได้ และเมื่อศาลแรงงานพิจารณาคดีนี้แล้ว แม้ต่อมาโจทก์ทั้งสิบจะได้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาและศาลฎีกาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานและให้ศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จำเลยก็ไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขี้นอ้างได้เนื่องจากเป็นการล่วงเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว ที่ศาลแรงงานยกคำร้อง(ของจำเลยที่)ขอให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังความเห็นของศาลปกครองก่อนนั้น ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๙๔๕/๒๕๕๕ โจทก์เป็นพนักงานของธนาคารศรีนคร จำกัด ต่อมาธนาคารดังกล่าวเปลี่ยนสถานะจากบริษัท(เอกชน)เป็นรัฐวิสาหกิจ หลังจากนั้นโอนกิจการให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลังธนาคารผู้เป็นนายจ้างเปลี่ยนกลับคืนสู่สถานะบริษัทอีกครั้ง ระหว่างระยะเวลาของการเป็นผู้ประกันตนทั้งสองช่วงโจทก์ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สาเหตุที่ทำให้โจทก์สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ (ไปช่วงหนึ่ง) เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรของรัฐมีคำสั่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าไปถือหุ้นนามของทางราชการเกินกว่าร้อยละห้าสิบในหุ้นของธนาคารศรีนคร จำกัด ผู้เป็นนายจ้าง ผลคือสถานะของธนาคารดังกล่าวเปลี่ยนจากบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์จึงสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนด้วยผลของมาตรา ๔(๖) ที่มีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อภายหลังจากธนาคารศรีนคร จำกัด โอนกิจการให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้มีคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลดจำนวนการถือครองหุ้นลงต่ำกว่าร้อย ๕๐ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด อันเป็นผลทำให้สถานะธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจกลับคืนสู่บริษัทอีกครั้ง ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด (มหาชน) ผู้เป็นนายจ้างจึงมีหน้าที่หักค่าจ้างของโจทก์นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม การที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนหรือกลับเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ อีกครั้ง ล้วนเป็นผลโดยตรงจากคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งสิ้น โดยที่โจทก์ไม่ได้มีส่วนกระทำการใดหรือมีพฤติการณ์ใดที่จะต้องรับผิดชอบ โจทก์ยังทำงานเป็นพนักงานของธนาคารผู้เป็นนายจ้าง สภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างมีอยู่ตลอดมาไม่ขาดตอน นอกจากนี้ แม้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ไม่ได้ห้ามโจทก์สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ แต่การที่จำเลย(สำนักงานประกันสังคม)ซึ่งเป็นองค์การของรัฐด้วยกันผลักภาระให้โจทก์มีหน้าที่สมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ เพื่อปกป้องรักษาสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมต่อไป ย่อมเป็นการสร้างภาระที่เกินสมควรแก่โจทก์ เพราะการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ ต้องออกเงินสมทบสองเท่าของอัตราเงินสมทบและรัฐบาลออกให้หนึ่งเท่า ขณะที่ผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนออกเงินสมทบฝ่ายละเท่ากันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๖ อีกทั้งสิทธิประโยชน์ทดแทนที่พึงได้จำกัดเพียง ๓ ประเภท กล่าวคือ ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ในกรณีทุพพลภาพและในกรณีตายเท่านั้น ตามมาตรา ๔๐ ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนซึ่งมิใช่ลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๓๗ นอกจากนี้การผลักภาระดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ เพราะโจทก์ไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการสิ้นสภาพหรือกลับคืนสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ การที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๙ และคณะกรรมการอุทธรณ์ หน่วยงานของจำเลยซึ่งเป็นองค์กรของรัฐอาศัยผลจากการสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ที่มีสาเหตุจากคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยมาปฏิเสธสิทธิของโจทก์ในการรับบริการทางการแพทย์โดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จึงเป็นการใช้กฎหมายและตีความกฎหมายประกันสังคมที่ไม่ชอบ การตีความและใช้กฎหมายประกันสังคมจะต้องมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของโจทก์ผู้ประกันตน โดยเฉพาะกรณีที่สาเหตุเนื่องจากการกระทำขององค์กรรัฐด้วยกัน และด้วยผลของกฎหมายที่ทำให้การเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดและกลับมีขึ้นใหม่ กรณีนี้จึงต้องถือว่าการเป็นผู้ประกันตนทั้งสองช่วงของโจทก์เป็นการประกันตนตามมาตรา ๓๓ คราวเดียวกัน โดยให้นับระยะเวลาการประกันตนทั้งสองช่วงต่อเนื่องกันตามมาตรา ๔๒ เมื่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาการเป็นผู้ประกันตนดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิขอรับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตามมาตรา ๖๓ ประกอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน กรณีบำบัดทดแทนไต ฉบับลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ข้อ ๘(๔) และหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการบริการทางการแพทย์แนบท้ายประกาศฉบับดังกล่าว ข้อ ๒. คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๙ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย และคำพิพากษาของศาลแรงงานที่ปฏิเสธการให้บริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแก่โจทก์ตามคำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๙ ที่ รง ๐๖๒๑/๗๙๘๓๕ ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๘ และวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑๗๙๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ และให้โจทก์มีสิทธิรับประโยชน์ค่าบำบัดทดแทนไตโดยวิธีฟอกเลือดเครื่องไตเทียมตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ เป็นต้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๙๔๖/๒๕๕๕ การที่จำเลยที่ ๑ ลูกหนี้กับธนาคาร ศ.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันมิได้ตกลงในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วย จำเลยที่ ๒ ย่อมหลุดพ้นความรับผิด แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนั้นเฉพาะหนี้ตามหนังสือ รับสภาพหนี้ ๒ ฉบับ ที่ธนาคาร ศ. ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๔๕๙,๗๔๗ บาท จำเลยที่ ๒ จึงหลุดพ้นความรับผิดเพียงจำนวนดังกล่าว แต่ยังคงต้องร่วมรับผิดในหนี้สินส่วนอื่นอีกจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท
สัญญาค้ำประกันกำหนดให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการกระทำใดๆ รวมทั้งการฉ้อโกง ยักยอก หรือทุจริตต่อหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ โดยร่วมชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคาร ศ. ทั้งข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันยอมจะไม่ยกเอาเหตุผลใด ๆ เข้าเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากภาระความรับผิดอันเป็นการสละสิทธิในข้อต่อสู้ต่างๆ ในฐานะของผู้ค้ำประกันตามกฎหมายก็ไม่ทำให้จำเลยที่ ๒ หมดสิทธิที่ยกข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาจ้างที่มีต่อโจทก์ขึ้นต่อสู้ด้วย จึงเป็นข้อตกลงที่ชอบกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙๔ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ไม่เป็นโมฆะและไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๙๕๐/๒๕๕๕ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างตกลงสมัครใจทำหนังสือยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย โดยขอรับผิดชอบในวงเงิน ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้าที่สูญหาย และให้ถือว่าสินค้าที่สูญหายโดยคิดเป็นราคาต้นทุนซึ่งเป็นค่าเสียหายจำนวน ๓๓๔,๘๑๔.๕๕ บาท อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ ทำให้หนี้เดิมซึ่งลูกจ้างจะต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานต่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเต็มตามจำนวนค่าเสียหายเป็นอันระงับไป โดยจำเลยผ่อนผันรับชำระเพียง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินจำนวน ๒๗๐,๐๕๘.๗๕ บาท อันเป็นมูลหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยตามจำนวนยอดเงินในสัญญาประนีประนอมยอมความที่แจ้งชัดนั้น ไม่อาจให้โจทก์รับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าในราคาต้นทุนซึ่งระงับไปได้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๙๖๖/๒๕๕๕ โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ โดยทำสัญญากับบริษัทยู.... ทำการบินจากฐานปฏิบัติการทหารเรือ จังหวัดสงขลา เพื่อรับส่งคนวัสดุภัณฑ์และสินค้าของบริษัทดังกล่าวจากฝั่งไปยังแท่นขุดเจาะในทะเล งานของโจทก์จึงเป็นการลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายบุคคลหรือสิ่งของทั่ว ๆ ไป ลักษณะงานของโจทก์จึงเป็นงานขนส่งตามกฎหมาย ซึ่งจำเลย (ลูกจ้าง)ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ส่วนการนอนพักค้างคืนที่แท่นขุดเจาะเป็นลักษณะการทำงานซึ่งจำเลยทราบตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานและโจทก์ไม่เคยกำหนดให้จำเลยทำการบินเกินกว่า ๘ ชั่วโมงต่อวันและจำเลยไม่เคยทำการบินเกินกว่า ๘ ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น การพักค้างคืนที่แท่นขุดเจาะน้ำมันจึงมิใช่การทำงานเกินเวลาทำงานปกติ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๙๖๗/๒๕๕๕ จำเลยยื่นคำให้การว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยพิเศษให้แก่โจทก์ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยย้ายสถานประกอบกิจการตามขั้นตอนของกฎหมาย จำเลยชี้แจงความจำเป็นในการย้ายให้พนักงานรับทราบตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๐ และเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ และจัดสวัสดิการต่างๆ ให้แก่พนักงานที่ย้าย พนักงานทุกคนพอใจเท่านั้น โดยจำเลยมิได้ยกประเด็นว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างเกินกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการขึ้นอ้างแต่อย่างไร ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของคู่ความ ทั้งสองฝ่ายว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างเกินกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการหรือไม่ เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างโดยแจ้งชัดในคำให้การเช่นนี้ จึงถือว่าคดีไม่มีปัญหานี้เป็นประเด็นข้อพิพาท ที่ศาลแรงงานไม่วินิจฉัยให้ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๙๗๐ – ๑๘๙๗๓/๒๕๕๕ เมื่อศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจะสิ้นสุด จำเลยแจ้งให้โจทก์ต่ออายุสัญญาจ้าง แต่โจทก์ไม่ประสงค์ต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างยังคงมีงานให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำและยังคงต้องการให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไป แต่โจทก์เป็นฝ่ายปฏิเสธและได้แสดงความประสงค์ต่อจำเลยว่าไม่ประสงค์จะทำงานให้กับจำเลยอีกต่อไปเมื่อครบอายุสัญญาจ้างแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหาได้เลิกจ้างโจทก์ไม่ ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่โจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไปไม่ใช่กรณีที่จำเลยกระทำการใดที่ไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ที่จะเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๔๔๖/๒๕๕๕ แม้จำเลยจะให้การต่อสู้เรื่องอำนาจศาล แต่ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ จำเลยยอมรับว่าเป็นลูกจ้างโจทก์จริง แล้วศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับเดียวกันนั้นโดยมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจศาลไว้ จำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่วินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๔๔๘ - ๒๐๕๐๑/๒๕๕๕ เมื่อโจทก์ทั้งห้าสิบสี่ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงฯ ข้อ ๑๗ ที่ระบุว่าเรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำปีของลูกจ้างนั้น ให้นายจ้างพิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์การพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจในขณะนั้น ๆ ซึ่งหลังจากทำบันทึกข้อตกลงนี้แล้วจำเลยก็ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์ทุกคนตามมติคณะรัฐมนตรีทุกครั้งโดยไม่มีเงื่อนไข จึงถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่นายจ้างและลูกจ้างจะต้องปฏิบัติต่อกันต่อไป แต่เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ๓ ครั้ง (คือเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙ และวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๐) แต่จำเลยไม่ปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหมด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มและได้รับบำเหน็จน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ เป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒ เมื่อจำเลยไม่ได้ปรับค่าจ้างของโจทก์ตามมติคณะรัฐมนตรี เงินที่จะได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างตามที่โจทก์ฟ้องนั้นจึงยังไม่มีสภาพเป็นสินจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ และยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ทั้งเงินที่โจทก์ดังกล่าวจะได้รับตามคำฟ้องเป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรี จะถือว่าโจทก์เรียกค่าจ้างหรือส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่มีอายุความฟ้องร้อง ๒ ปีไม่ได้ สิทธิเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
องค์การค้าของจำเลย (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา) เป็นเพียงหน่วยงานภายในส่วนหนึ่งของจำเลยเท่านั้นมิใช่ส่วนราชการตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ จึงไม่สามารถขอรับงบประมาณจากทางราชการได้โดยตรงหากมีค่าใช้จ่ายที่กิจการดำเนินการตามภารกิจที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณผ่านจำเลย แต่จำเลยกลับปฏิบัติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยโดยไม่เท่าเทียมกัน (ปรับค่าจ้างให้เฉพาะพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ไม่ปรับค่าจ้างให้พนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้า) การที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องเสนอให้คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาปรับค่าจ้างให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีโดยจะอ้างว่างองค์การค้าของจำเลยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจและขาดสภาพคล่องทางการเงินจึงไม่ยอมปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้นั้น เป็นการพิจารณาถึงระดับค่าจ้างที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของโจทก์ทั้งห้าสิบสี่กับระดับค่าจ้างที่ได้รับการปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลย ทั้งที่ลูกจ้างทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็ทำงานเป็นลูกจ้าง ของจำเลยด้วยกัน อันเป็นการพิจารณาเพื่อให้เป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๘ แล้ว
ข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภากับองค์การค้าของคุรุสภา เกิดขึ้นหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อกันและเพื่อยุติข้อพิพาทแรงงานที่มีขึ้นทั้งสองฝ่ายจึงเจรจาและทำข้อตกลงดังกล่าว เมื่อมีการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นมาโดยตลอดจนกระทั่งมีสภาพเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายแล้ว หากจำเลยเห็นว่าการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน จำเลยก็ควรจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ บัญญัติไว้สำหรับการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือได้รับความยินยอมจากฝ่ายลูกจ้างหรือทั้งสองฝ่ายตกลงกันใหม่ต่อไป การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยต้องดำเนินการตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับปฏิบัติต่อกันมาโดยตลอดนั้น จึงเป็นการตีความมุ่งหมายในการทำข้อตกลงทั้งสองฝ่ายโดยชอบแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณามติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจปรับค่าจ้างแก่พนักงานของตนเองนั้น มีวัตถุประสงค์ปรับค่าจ้างเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ที่ยังมีสภาพเป็นพนักงานอยู่ในวันที่คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติ หาใช่ให้ปรับอัตราค่าจ้างแก่พนักงานที่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างไปแล้วในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ การปรับค่าจ้างให้เจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยซึ่งนำหลักการของมติคณะรัฐมนตรีมาปรับใช้ย่อมต้องเป็นไปตามหลักการดังกล่าวด้วยเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ที่ ๔๘ พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยเพราะเกษียณอายุในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ อันเป็นวันก่อนที่คณะรัฐมนตรีมีมติครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ จำเลยจึงไม่ต้องปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ในส่วนดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างนั้น เมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับเป็นเงินที่จำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเนื่องมาจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลง เงินนั้นจึงยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง และมิใช่ค่าจ้างที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คงเป็นหนี้เงินที่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ในส่วนของวันผิดนัดอันเป็นวันเริ่มต้นที่จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แต่ละคนนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ดังกล่าวถามให้จำเลยชำระเงินที่ได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างและเงินบำเหน็จในวันใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่นับวันที่โจทก์แต่ละคนฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของค่าจ้างที่ค้างจ่ายนับแต่วันเกิดสิทธิ และจ่ายดอกเบี้ยของเงินบำเหน็จนับแต่วันที่จำเลยจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์แต่ละคนไม่ครบจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๕๐๒/๒๕๕๕ องค์การค้าของคุรุสภาเป็นเพียงหน่วยงานภายในส่วนหนึ่งของจำเลย(สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา)เท่านั้น และมิใช่ส่วนราชการตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ จึงไม่สามารถขอรับงบประมาณจากทางราชการได้โดยตรง หากมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ก็ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณผ่านจำเลย แต่จำเลยกลับปฏิบัติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยโดยไม่เท่าเทียมกัน การที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษา(ให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ โดยคิดคำนวณปรับอัตราค่าจ้างจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายฯ)ก็โดยเห็นว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(จำเลย)พิจารณาปรับค่าจ้างให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีตามที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายต่อกัน แต่จำเลยยังอ้างว่าองค์การค้าของจำเลยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจและขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่ยอมปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้นั้น จึงเป็นการพิจารณาถึงระดับค่าจ้างที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของโจทก์กับระดับค่าจ้างที่ได้รับการปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยทั้งที่ลูกจ้างทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยกัน อันเป็นการพิจารณาเพื่อกำหนดให้เป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๘ แล้ว
หลังจากที่มีบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๕ แล้ว องค์การค้าของคุรุสภาก็ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างให้โจทก์ตามมติคณะรัฐมนตรีทุกครั้งโดยไม่มีเงื่อนไข จึงถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่นายจ้างและลูกจ้างจะต้องปฏิบัติต่อกันต่อไป (ต่อมา)เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ๓ ครั้ง แต่จำเลยไม่ยอมปรับค่าจ้างให้โจทก์ตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสามครั้ง เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย จำเลยต้องรับผิดปรับต่าจ้างและจ่ายค่าจ้างตามมติคณะรัฐ มนตรี อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒ และเมื่อจำเลยยังไม่ได้ปรับค่าจ้างของโจทก์ตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสามครั้งดังกล่าว เงินที่จะได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างตามที่โจทก์ทั้งหมดฟ้องนั้นจึงยังไม่มีสภาพเป็นสินจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ และยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ เป็นกรณีจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างแต่ละครั้งถึงวันฟ้องยังไม่เกิน ๑๐ ปี คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างนั้น เมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์มีสิทธิที่จะไดัรับเป็นเงินที่จำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเนื่องมาจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลง เงินนั้นยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง และมิใช่ค่าจ้างที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คงเป็นหนี้เงินที่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่งเป็นตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงปฏิเสธ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๕๑๓ - ๒๐๖๕๗/๒๕๕๕ โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของจำเลยเมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปรับเงินเดือนแก่ข้าราชการและลูกจ้างตลอดมา แต่เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ๒ ครั้ง (คือเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ และวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙) จำเลยกลับเพิกเฉยไม่ปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับเงินตามมติคณะรัฐมนตรีและได้รับบำเหน็จน้อยกว่าควรที่จะได้รับ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้งดังกล่าว เงินที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างนั้นยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง จะถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างหรือส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่มีอายุความฟ้องร้อง ๒ ปีไม่ได้ สิทธิเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
คดีนี้โจทก์ทั้งหมดฟ้องขอให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรี และจ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์แต่ละคนในแต่ละช่วงเวลา ตามสิทธิ โดยให้เป็นไปตามหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้ง และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดสิทธิ แม้คำพิพากษาศาลแรงงานจะไม่ได้ระบุถึงจำนวนเงินและวันที่ที่เกิดสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์แต่ละคนไว้อย่างชัดเจน แต่จำเลยก็สามารถนำหลักการตามคำพิพากษาศาลแรงงานไปเป็นหลักในการคิดคำนวณและดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้เมื่อคำพิพากษาศาลแรงงานได้กล่าวและแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นครบถ้วน จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง แล้ว
การที่ทนายความจำเลยทราบถึงกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบของ ศาลแรงงานแล้วยังคงดำเนินการในหน้าที่ของตนต่อไปโดยไม่ได้คัดค้านเท่ากับจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จำเลยจึงยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลแรงงานดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานในส่วนของโจทก์ที่ ๑๑๙ ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
ในส่วนดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างนั้น เมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับเป็นเงินที่จำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเนื่องมาจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย เงินนั้นจึงยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง มิใช่ค่าจ้างที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คงเป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่งเท่านั้น ในส่วนของวันผิดนัดอันเป็นวันเริ่มต้นที่จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แต่ละคนนั้นเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินที่ได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างและเงินบำเหน็จส่วนที่จำเลยจ่ายขาดไปในวันใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
๑๕/๑๑/๕๖