หลักสำคัญการเขียนข้อบังคับการทำงานสำหรับนายจ้าง
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการคุ้มครองลูกจ้างที่รัฐกำหนดให้นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างห้ามต่ำไปกว่านี้) มาตรา 108 บัญญัติว่า “ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จัดให้มีข้อบังคับการทำงานเป็นภาษาไทย และข้อบังคับนั้นอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการดังต่อไปนี้
(1) วันทำงาน เวลาทำงานปกติ และเวลาพัก
(2) วันหยุด และหลักเกณฑ์การหยุด
(3) หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด
(4) วันและสถานที่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
(5) วันลาและหลักเกณฑ์การลา
(6) วินัยและโทษทางวินัย
(7) การร้องทุกข์
(8) การเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ
ให้นายจ้างต้องประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป และให้นายจ้างจัดเก็บสำเนาข้อบังคับนั้นไว้ ณ สถานที่ประกอบกิจการ หรือสำนักงานของนายจ้างตลอดเวลา และให้ส่งสำเนาข้อบังคับให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันประกาศใช้ข้อบังคับดังกล่าว
ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งให้นายจ้างแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ขัดต่อกฎหมายให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
ให้นายจ้างเผยแพร่และปิดประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยเปิดเผย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบและดูได้สะดวก” และตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 (ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีหลักการสำคัญประการหนึ่งกำหนดรับรองถึงสิทธิของลูกจ้างในการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่สามารถยื่นข้อเรียกร้อง และเจรจาต่อรองกับนายจ้างในลักษณะทวิภาคีเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ดีกว่าเดิมได้และอาจจะดีกว่าขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ด้วยก็ได้) มาตรา 10 บัญญัติว่า “ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไปจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามความในหมวดนี้ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้ทำเป็นหนังสือ ในกรณีเป็นที่สงสัยว่า ในสถานประการกิจการนั้นมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ ให้ถือว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญํตินี้” และมาตรา 11 ก็บัญญัติว่า “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอย่างน้อยต้องมีข้อความดังต่อไปนี้
(1) เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน
(2) กำหนดวันและเวลาทำงาน
(3) ค่าจ้าง
(4) สวัสดิการ
(5) การเลิกจ้าง
(6) การยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ของลูกจ้าง
(7) การแก้ไขเพื่มเติมหรือการต่ออายุข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง”
เจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานและพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มีขึ้นเพื่อให้สิทธิหน้าที่และความสัมพันธ์อื่น ๆ ในระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานมีความชัดเจน เป็นหนังสืออ้างอิงกันและกันได้ และลดการเอารัดเอาเปรียบกันเพื่อความสงบสุขในแวดวงอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็มีลักษณะเป็นอุดมการณ์ (IDEOLOGY) อย่างหนึ่ง แต่ใน
โลกทัศน์หรือมุมมองของนายจ้างซึ่งเป็นผู้ประกอบการแล้ว ความสำเร็จของธุรกิจอยู่ที่การกำหนดยุทธศาสตร์ (STRATEGY) ที่ชัดเจนและคนทั้งองค์กรหรือทั้งสถานประกอบการ ทั้งนายจ้างและลูกจ้างทุกระดับชั้นต้องคิดและเดินไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะเป็นหลักประกันในความสำเร็จขององค์กรธุรกิจได้ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงของนายจ้างนอกจากจะต้องมีวิสัยทัศน์ (VISION) วิสัยทำ (JUST DO IT) และบารมีแล้ว การมีอำนาจในการปกครองบังคับบัญชาลูกจ้าง (MANAGEMENT RIGHT) อย่างเต็มที่ก็จะช่วยให้นายจ้างมีหลักประกันดังกล่าวและมีแต้มต่อในการแข่งขันทางธุรกิจและเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นด้วย โดยนายจ้างและลูกจ้างอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเสมือนหนึ่งคนในครอบครัวเดียวกันที่จะต้องมีความเอื้ออาทร ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน
ฉะนั้น นายจ้างต้องมียุทธศาสตร์ในการบริหารคน (นายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างได้ทุกอย่าง แต่นายจ้างสามารถให้ความเข้าใจได้) และทำให้ลูกจ้างมีความรู้สึกว่าเขามีความสนุกหรือสุขเบื้องต้นก่อน ซึ่งหากทำได้แล้วก็จะตอบสนองต่อเวลาในนโยบายปลอดสหภาพแรงงาน (UNION FREE STRATEGY) ไปในตัวอีกด้วย ในเวลาเดียวกันก็ใช้มาตรการทางวินัยอย่างสร้างสรรค์เดินคู่ขนานกันไปเพื่อเพิ่มหรือขยายฐานอำนาจปกครองบังคับบัญชาโดยมีการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานและการบริหารการจัดการ มาตรการทางวินัยที่มีประสิทธิภาพเป็นเครื่องมือสำคัญของนายจ้างได้มีและใช้กฎระเบียบข้อบังคับการทำงานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง(1) อย่างทรงประสิทธิภาพ ถูกต้องตามกฎหมายและได้น้ำใจลูกจ้างจะต้องอิ่ม ลูกของเขาต้องได้เรียนหนังสือ ครอบครัวและใจของเขาต้องมีความสุข เห็นอนาคตในชีวิตการทำงาน (ไม่ใช่มีแต่ค่าตัว แต่ไม่มีอนาคต) ก่อน (หากจะเปรียบเปรยแล้วก็คล้าย ๆ กับก่อนจะล่องเรือในทะเล คลื่นลมต้องสงบก่อนจึงจะเดินเรือถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย) ซึ่งระเบียบหรือข้อบังคับการทำงานที่จะช่วยส่งเสริมอำนาจการปกครองบังคับบัญชาของนายจ้างและส่งเสริมให้สถานะภาพทางเศรษฐกิจของนายจ้างมีความมั่งคั่งยั่งยืนในระยะยาวควรมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้ ( โปรดติดตามตอนต่อไป)
... เกรียงไกร เจียมบุญศรี