ปัญหาข้อกฎหมายแรงงานในกระแส
เดือนตุลาคม ๒๕๖๔
วันที่ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณี
เกษมสันต์ วิลาวรรณ
202110.13 วันพุธ
20:20 Arthi Mee
อาจารย์ครับ
ตามที่รัฐบาลประกาศเลื่อนวันหยุดชดเชยวันปิยมหาราช จากวันจันทร์ที่ ๒๕ ตุลาคมมาเป็นวันศุกร์ที่ ๒๒ ตุลาคมปีนี้นั้น ในเชิงกฎหมายแรงงาน สถานประกอบกิจการสามารถประกาศวันหยุดตามประเพณีแบบนั้น ได้หรือเปล่าครับ / อาทิวัชร.
คุณอาทิวัชร ครับ
เรื่องที่ถามมา คุณคงทราบดีว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับวันหยุดตามประเพณี ซึ่งได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๙
“มาตรา ๒๙ ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป
ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีหรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้”
กรณีต้องเสาะหาที่มาของการประกาศเลื่อนวันหยุดชดเชยวันปิยมหาราชฯดังกล่าวมาอ่านประกอบ ก็ได้เนื้อหาจากข่าวไทยรัฐออนไลน์ดังนี้
ไทยรัฐออนไลน์ ข่าวการเมือง
๒๙ ธ.ค. ๑๕๖๓ ๑๕.๔๕ น.
ครม.กำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ และการกำหนดวันหยุดราชการประจำภูมิภาค และเลื่อนวันหยุดชดเชย ประจำปี 2564 เพื่อเป้าหมาย กระตุ้นการบริโภค-การท่องเที่ยว ภายในประเทศ ให้ได้รับผลเชิงบวก
วันที่ ๒๙ ธ.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ การกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ และการกำหนดวันหยุดราชการประจำภูมิภาค รวมทั้งการเลื่อนวันหยุดชดเชยวันหยุดราชการ ประจำปี ๒๕๖๔ ดังนี้ กำหนดให้วันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ วันจันทร์ที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๔ วันอังคารที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ และวันศุกร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๔ เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ส่วนวันศุกร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๔ เป็นวันหยุดราชการประจำภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในช่วงประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี ส่วนวันจันทร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เป็นวันหยุดราชการประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประเพณีงานบุญบั้งไฟ ขณะที่วันพุธที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นวันหยุดราชการประจำภาคใต้ ซึ่งมีประเพณีสารทเดือนสิบ และวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นวันหยุดราชการประจำภาคกลาง ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลออกพรรษา
นอกจากนี้ ยังให้เลื่อนวันหยุดชดเชยวันปิยมหาราช จากวันจันทร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นวันศุกร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ ซึ่งในกรณีที่หน่วยงานใด มีภารกิจในการให้บริการประชาชนหรือมีความจำเป็นหรือราชการสำคัญในวันหยุดดังกล่าวที่ได้กำหนดหรือนัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว หากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และกระทบต่อการให้บริการประชาชน โดยในส่วนของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดเป็นวันหยุดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณี
ความเห็นในเบื้องต้น
ในการตอบข้อสอบทางกฎหมายนั้น ได้เคยแนะนำให้นักศึกษาเก็บคำตอบไว้เขียนในบรรทัดสุดท้าย ให้อ้างข้อเท็จจริงที่สัมพันธ์กับข้อกฎหมายซึ่งจะนำมาใช้วินิจฉัยปัญหาก่อน แต่ก็มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งถนัดที่จะเขียนคำตอบไว้ในบรรทัดแรก แล้วจึงยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นอธิบายวิเคราะห์ตาม จึงขอทำตัวเป็นนักศึกษาตอบข้อสอบที่ส่งมาทาง line ในบรรทัดแรก ว่า
สถานประกอบกิจการเอกชนที่มีข้อเท็จจริงตรงกับที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่สามารถประกาศวันหยุดตามประเพณีแบบนั้นได้
ไม่ได้ ไม่ได้อย่างแน่นอน !
Line
2021.10.13 วันพุธ
21:36 kasemsant vila
ถ้านายจ้างรายนั้นประกาศกำหนดให้ “วันปิยมหาราช” ในปีนี้เป็นวันหยุดตามประเพณีด้วยวันปิยมหาราช (วันที่ ๒๓ ตุลาคม) ปีนี้ก็ตรงกับวันเสาร์ ดังนั้น หากลูกจ้างของนายจ้างรายนั้นคนใดถูกจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ (วันที่ ๒๓ และวันที่ ๒๔) จะเป็นกรณีที่วันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้างคนนั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๒๙ วรรคสาม ที่กำหนดไว้ว่า “ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป” ซึ่งวันทำงานถัดไปของลูกจ้างดังกล่าวก็คือวันจันทร์ที่ ๒๕ ตุลาคม เพียงวันเดียว ดังนั้น การหยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีเฉพาะวันปิยมหาราชปีนี้ของลูกจ้างที่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย คือได้หยุดชดเชยในวันที่ ๒๕ ตุลาคม (แต่ถ้าลูกจ้างนั้นมีวันหยุดประจำสัปดาห์เพียงวันเดียวและไม่ใช่วันเสาร์ เช่น หยุดเฉพาะวันอาทิตย์ ก็จะไม่ตรงกับวันปิยมหาราชปีนี้)
กรณีที่สถานประกอบกิจการประกาศเลื่อนไปหยุดชดเชยในวันศุกร์ที่ ๒๒ แทนวันจันทร์ที่ ๒๕ จึงไม่เป็นไปตามมาตรา ๒๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
21:49 Arthi Mee
แต่ในทางปฏิบัติจริง แทบจะทุกที่ก็ย้ายมาหยุดวันศุกร์กันหมดเลยครับ
21:54 kasemsant vila
วันหยุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มี ๓ ประเภท คือ วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี
โดยเจตนารมณ์ในการบัญญัติกฎหมาย วันหยุดประจำสัปดาห์มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในด้านสุขภาพและร่างกาย ให้ลูกจ้างได้หยุดงานเพื่อพักผ่อนร่างกายและคลายความเคร่งเครียดจากการงานที่ทำติดต่อกันมาหลายวัน ส่วนวันหยุดตามประเพณีนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างสามารถไปปฏิบัติจัดทำหรือร่วมกิจกรรมในวันสำคัญของชาติซึ่งทางราชการจัดเป็นวันหยุดราชการประจำปี เป็นวันสำคัญอันพิธีกรรมทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
ตามประเพณีที่กระทำกันในวันนั้นหรือเพื่อเฉลิมฉลองรัฐพิธีหรือร่วมกิจกรรมทางสาสนาที่มีในวันดังกล่าว วันหยุดประจำสัปดาห์จึงมีความสำคัญมากกว่าวันหยุดตามประเพณี เมื่อมาตรงกันหรือซ้อนทับกัน วันหยุดตามประเพณีจึงต้องกระเด็นไปหยุดชดเชยหลังวันหยุดประจำสัปดาห์นั้น
22:08 kasemsant vila
หากพิเคราะห์จากมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเลื่อนวันหยุดชดเชยวันหยุดราชการประจำปี ๒๕๖๔ ข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีผลบังคับแก่หน่วยงานทางราชการเท่านั้น และในตอนท้ายยังได้กล่าวถึงหน่วยงานอื่น ๆที่มิใช่หน่วยงานทางราชการด้วย........ “โดยในส่วนของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดเป็นวันหยุดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณี” มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับแก่นายจ้างในสถานประกอบกิจการเอกชน และไม่มีผลเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา 29. วรรคสามแต่อย่างใด
รัฐบาลท่านประกาศเลื่อนวันหยุดชดเชยนั้นน่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีวันหยุดราชการติดต่อกัน เพื่อประโยชน์แห่งการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ เพื่อให้วันสุดท้ายของการหยุดเป็นวันอาทิตย์
22:47 kasemsant vila (ขอตั้งคำถามเองตอบเอง)
ถ้านายจ้างในสถานประกอบกิจการเอกชนประกาศเลื่อนวันหยุดชดเชยวันปิยมหาราช จากวันจันทร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นวันศุกร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ โดยถือแบบอย่างหน่วยงานของทางราชการล่ะ จะมีความผิดตามกฎหมายใดหรือไม่ เพียงใด
หากนายจ้างในสถานประกอบกิจการเอกชนปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว กล่าวคือ ให้ลูกจ้างหยุดงานในวันศุกร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ และให้ลูกจ้างมาทำงานในวันจันทร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ นั้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามมาตรา ๒๙ วรรคสามดังกล่าวข้างต้น วันจันทร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ ยังเป็นวันที่หยุดชดเชยวันปิยมหาราชอยู่นั่นเอง เมื่อให้ลูกจ้างทุกคนมาทำงาน ก็ถือว่าเป็นการทำงานในวันหยุดตามประเพณี และนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างทุกคนที่มาทำงาน หากนายจ้างไม่จ่ายให้ลูกจ้าง ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๙ มาตรา ๖๒ มาตรา ๗๑ และมาตรา ๑๑๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน. หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนวันศุกร์ที่. 22 ตุลาคม ๒๕๖๔ ซึ่งเดิมเป็นวันทำงาน เมื่อนายจ้างเปลี่ยนไปให้ลูกจ้างหยุดชดเชย ก็คงเป็นไปตามความเชื่อของนายจ้างเท่านั้น หาได้กลับมาเป็นวันหยุดชดเชยตามกฎหมายไม่ หากลูกจ้างที่ได้หยุดงานโดยได้ค่าจ้างตามปกติ ก็ไม่ถือว่านายจ้างกระทำการใดที่ผิดกฎหมาย
สรุปว่า การประกาศเปลี่ยนวันหยุดชดเชยตามคำถาม จะมีผลทำให้นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุด ซึ่งก็เชื่อว่านายจ้างทุกรายที่ประกาศเปลี่ยนคงไม่จ่ายให้ลูกจ้าง
2021.10.14 วันพฤหัสบดี
07:33 Arthi Mee
จะช่วยนายจ้างที่ไม่เข้าใจข้อกฎหมายนี้อย่างไรดี โทษทางอาญาก็หนักอยู่นะครับ
10:54 kasemsant vila
การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างนั้น ลูกจ้างต้องเป็นผู้ดำเนินการโดยต้องไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า นายจ้างให้ทำงานในวันหยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณี แล้วไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดซึ่งมีจำนวนเท่ากับค่าจ้าง ๑ วันให้ พนักงานตรวจแรงงานจะสอบข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายต่อไป อย่างไรก็ตาม ในโลกของความเป็นจริง ลูกจ้างที่ทราบถึงสิทธิดังกล่าวและไปยื่นคำร้องคงมีน้อยมาก จำนวนเงินที่เรียกร้องก็ไม่คุ้มกับเวลาที่ต้องเสียไปในการฟ้องร้อง ลูกจ้างเองก็ได้หยุดงานแล้วด้วย เพียงแต่ต่างวันเท่านั้น ไม่ได้สูญเสียเงินหรือต้องเสียเปรียบนายจ้างแต่อย่างใด
สำหรับข้อถามที่ว่า จะช่วยนายจ้างอย่างไรดีนั้น ?
นายจ้างต้องช่วยตัวเองโดยปรึกษาหารือกับบุคคลหรือแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด หรือสอบถามขอคำชี้แจงจากพนักงานตรวจแรงงาน รวมทั้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นบุคคลหรือหน่วยงานที่นายจ้างและลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับการปรึกษาหารือ
12.55 Arthi Mee
ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๒๙ วรรคสาม ให้นายจ้างมีสิทธิเลือกกำหนดวันหยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในลักษณะเดียวกันกับมติคณะรัฐมนตรี จะเป็นการช่วยเหลือนายจ้างหรือไม่ครับ เช่นแก้ไขเป็นว่า
“ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไปหรือนายจ้างจะกำหนดล่วงหน้าให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานแรกก่อนวันหยุดนั้นก็ได้”
13:54 kasemsant vila
โดยความเป็นจริง บทบัญญัติมาตรา ๒๙ วรรคสาม นั้น ไม่มีปัญหาในการตีความหรือในการใช้บังคับเลย กฎหมายดังกล่าวได้ออกแบบไว้สำหรับกิจการทุกประเภท นายจ้างเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่าย ไม่ควรแก้ไข
ปัญหาที่ไม่น่าเป็นปัญหา
ด้วยความที่ชะตาชีวิตลิขิตไว้ให้เป็นผู้สอนวิชากฎหมายแรงงาน วิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์และองค์การ และวิชาการแรงงานสัมพันธ์มานานปี จึงมีลูกศิษย์ที่ทำงานฝ่ายการบุคคลมาเล่าเรื่องและซักถามปัญหาเกี่ยวกับงานในหน้าที่อยู่เสมอ นี่เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งนำมาหารือ
ปัญหาว่าจะถือเอาวันใดเป็นวันหยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีที่เผอิญเดินมาซ้อนทับกับวันหยุดประจำสัปดาห์เข้า บริษัทแห่งหนึ่งกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์ละ ๒ วัน คือวันเสาร์และวันอาทิตย์ และกำหนดให้วันที่ ๓๑ ธันวาคม (วันเริ่มเทศกาลปีใหม่ ปัจจุบันเรียกว่า วันสิ้นปี) กับวันที่ ๑ มกราคม (วันขึ้นปีใหม่) เป็นวันหยุดตามประเพณี ปัญหาเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ปีนั้นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ตรงกับวันเสาร์ และวันที่ ๑ มกราคมปีต่อไปตรงกับวันอาทิตย์ ดังนั้น ลูกจ้างบริษัทนี้จะได้หยุดชดเชยวันเริ่มเทศกาลปีใหม่ในวันที่เท่าใด ข้อ ๑. ข้อ ๒. ข้อ ๓. หรือข้อ ๔.โปรดเลือกเพียงข้อเดียว
๑.วันศุกร์ที่ ๓๐ ธันวาคม (เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑๓ วัน ปีในที่นี้ต้องถือตามปีปฏิทิน (๑ มกราคม ถึง ๓๑ ธันวาคม) วันหยุดตามประเพณีของปีพุทธศักราชใด หากจะหยุดชดเชยก็จะต้องพิจารณาจากวันทำงานในปีพุทธศักราชนั้น วันทำงานที่ใกล้วันที่ ๓๑ ธันวาคมมากที่สุดย่อมเป็นวันหยุดชดเชย)
๒.ไม่มีวันให้ได้หยุดชดเชย จึงไม่ต้องหยุดชดเชย (เนื่องจากไม่มีวันทำงานถัดไปในปีพุทธศักราชเดียวกับวันหยุดตามประเพณีที่จะไปหยุดชดเชยได้)
๓.วันจันทร์ที่ ๒ มกราคมปีต่อมา (เนื่องจากกฎหมายให้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป แม้วันทำงานนั้นจะอยู่ในปีพุทธศักราชถัดไปก็ตาม)
๔. วันที่ใดก็ได้ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันในปีพุทธศักราชถัดมา (เมื่อไม่อาจกำหนดวันหยุดชดเชยได้ ก็ต้องใช้บทบัญญัติใกล้เคียง คือมาตรา ๒๙ วรรคสี่ โดยให้หยุดชดเชยในวันทำงานตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน สิทธิของลูกจ้างย่อมไม่อาจสูญเสียไป)
เชื่อไหม หลังจากถกเถียงกันนานแสนนาน บริษัทดังกล่าวมีมติให้ประกาศหยุดชดเชยในวันศุกร์ที่ ๓๐ ธันวาคม ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ว่า เพื่อมิให้ได้ชื่อว่าวันหยุดตามประเพณีที่บริษัทได้กำหนดไว้ในปีนี้ขาดหายไป ๑ วัน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ถูกกล่าวหาว่าบริษัทไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้
ท่านเห็นเช่นไร ?
หมายเหตุ ก. เหตุการณ์ทำนองเดียวกันจะเกิดขึ้นอีกครั้งในการกำหนดวันหยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณี (วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕)
ข. วันจันทร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๖ /